อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บทบัญญัติเรื่องการซื้อขาย





بسم الله الرحمن الرحيم
ملخص كتاب البيوع

สรุป
บทบัญญัติเรื่องการซื้อขาย

การซื้อขายเป็นสิ่งที่อนุมัติตามหลักการศาสนา

            อัลลอฮ์และร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กำหนดบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องภาคสังคมไว้ครบถ้วนชัดเจนเพื่อที่มนุษย์จะได้นำปฏิบัติได้โดยสะดวก ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีความประสงค์สนองความต้องการบางประการของตน หากไม่สังคมกับผู้ใดแล้ว บางทีเขาอาจไม่สามารถสนองความต้องการของตนได้ เช่นความต้องการอาหารเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง ต้องการเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และสิ่งจำเป็นต่างๆ ในการดำรงชีวิตรวมถึงส่วนที่ทำให้การดำรงชีวิตสมบูรณ์ขึ้น
การซื้อขายถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของภาคสังคมที่อนุมัติตามหลักการที่ปรากฏใน อัลกุรอ่าน อัซซุนนะห์ อัลอิจมาอ์ และอัลกิยาส

- อัลลอฮ์ตรัสว่า

( وَأَحَلَّ اللهُ اْلبَيْعَ )
 “อัลลอฮ์ทรงอนุมัติการซื้อขาย”[1]

  لَيْسَ عَلَيْكَ جُنَاحٌ أَنْ تَبْتَغُوْا فَضْلاً مِنْ رَّبِّكُمْ )
“ไม่เป็นสิ่งผิดต่อพวกเจ้าที่จะแสวงหาความประเสริฐจากพระผู้อภิบาลของพวกเจ้า”[2]

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

( َالْبَيِّعَانِ بِالْخِيَارِ مَا لَمْ يَتَفَرَّقَا أَوْ قَالَ حَتَّى يَتَفَرَّقَا فَإِنْ صَدَقَا وَبَيَّنَا بُوْرِكَ لَهُمَا فِي بَيْعِهِمَا وَإِنْ كَتَمَا وَكَذَبَا مُحِقَتْ بَرَكَةُ بَيْعِهِمَا)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า “ผู้ซื้อผู้ขายมีสิทธิ์เลือกได้ ตราบใดที่ทั้งคู่มิได้แยกจากกัน หากทั้งคู่สัจจริงและไม่ปกบิดอำพราง (ซึ่งกันและกัน) การซื้อขายของทั้งสองได้รับความจำเริญ แต่หากทั้งคู่โกหกและปกปิดอำพราง การซื้อขายของทั้งคู่ถูกลบความจำเริญ” [3]

- ปราชญ์เห็นพ้องต้องกันว่าการซื้อขายโดยทั่วไปนั้น เป็นที่อนุมัติ

- ส่วนหลัก “กิยาส-เทียบเคียงหลักการ” คือการซื้อขายถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิต บางคนอาจต้องการในสิ่งที่ตนไม่มีแต่ผู้อื่นมี ดังนั้นจึงต้องมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน

ลักษณะการซื้อขาย

การซื้อขายเกิดขึ้นด้วยสองวิธีคือ หนึ่งด้วยคำพูด สองด้วยการกระทำ

            – การซื้อขายที่เกิดขึ้นจากคำพูด คือการกล่าวเสนอและสนอง การเสนอเรียกว่า “อัลอีญาบ” และการสนองเรียกว่า “อัลก็บู้ล” การเสนอคือคำพูดของผู้ขายที่เสนอขายสิ่งที่ตนเป็นเจ้าของอยู่ เช่น ข้าพเจ้าขายสิ่งนั้นสิ่งนี้ ส่วนการสนองคือคำพูดของผู้ซื้อ เช่น ข้าพเจ้าซื้อสิ่งนั้น เป็นต้น

            – การซื้อขายที่เกิดจากการกระทำ คือการให้และการรับ เรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “อัลอัคซุ – อัลเอี๊ยอ์ฏออ์” เช่นผู้ขายยื่นสินค้าให้ผู้ซื้อ ผู้ซื้อก็รับสินค้านั้นพร้อมกับมอบราคาสินค้านั้นแก่ผู้ขาย ซึ่งอาจเป็นเงินทองหรือสิ่งที่มีค่าอื่นๆ ก็ได้

            – การซื้อขายที่ผสมผสานระหว่างคำพูดและการกระทำ  นักวิชาการกล่าวว่า การซื้อขายลักษณะ “มุอาฏ๊อต” (การซื้อขายที่เกิดจากการกระทำ) นั้นเป็นได้หลายรูปแบบดังนี้

            ประการที่หนึ่ง เกิดการเสนอขายเป็นคำพูดจากผู้ขายเท่านั้น ส่วนผู้ซื้อก็เพียงแต่รับสินค้ามา เช่น ผู้ขายยื่นสินค้าให้ผู้ซื้อพร้อมกล่าวว่าหมวกใบนี้ราคาห้าสิบบาท ผู้ซื้อก็รับหมวกมาพร้อมจ่ายราคาค่าหมวกนั้นตรงตามราคาที่ผู้ซื้อเสนอขาย

            ประการที่สอง เกิดการเสนอซื้อเป็นคำพูดจากผู้ซื้อเท่านั้น ส่วนผู้ขายก็เพียงแต่ส่งมอบสินค้าแก่ผู้ซื้อ

            ประการที่สาม เกิดการซื้อขายขึ้นจากทั้งสองฝ่ายโดยมิได้พูดกล่าวถ้อยคำใดๆ เลย เช่น ผู้ขายส่งสินค้าให้ผู้ซื้อหรือวางสินค้าไว้ ผู้ซื้อรับหรือหยิบสินค้านั้นพร้อมส่งมอบราคาค่าสินค้านั้นแก่ผู้ขาย ซึ่งเป็นวิธีการที่ถือปฏิบัติมาช้านานและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป การซื้อขายลักษณะดังกล่าวนักวิชาการเรียกว่า “อัลมุอาฏ๊อต” อ่านต่อ...

[1] อัลบะก่อเราะห์ / 275

[2] อัลบะก่อเราะห์ / 198

[3] อัลบุคอรี,บทซื้อขาย /2004, มุสลิม,บทซื้อขาย / 1532 และท่านอื่นๆ


เงื่อนไขสำคัญในการซื้อขาย

            การซื้อขายจะถือว่าถูกต้องตามหลักการศาสนานั้น ต้องครบเงื่อนไขต่างๆ ที่ศาสนากำหนด เงื่อนไขบางส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ซื้อผู้ขาย บางส่วนเกี่ยวกับสิ่งที่ซื้อที่ขาย หากการซื้อขายนั้นขาดเงื่อนไขหนึ่งเงื่อนไขใด การซื้อขายนั้นถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนา (ไม่เศ๊าะห์)


เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับผู้ซื้อผู้ขาย

            เงื่อนไขที่หนึ่ง ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย การซื้อขายใดๆ หากมีการบังคับหรือถูกฝืนใจให้ขายโดยมิชอบ การซื้อขายนั้นๆ ถือว่าไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนา (หรือที่เรียกตามภาษาปากบ้านเราว่าไม่เศ๊าะห์) แต่หากถูกบังคับให้ขายโดยชอบ การซื้อขายนั้นย่อมถือว่าถูกต้อง เช่น ศาลตัดสินให้ขายทอดตลาด อย่างนี้เป็นต้น อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

(إِلاَّ أَنْ تَكُوْنَ تِجَارَةً عَنْ تَرَاضٍ مِنْكُمْ)
“ยกเว้นเป็นการซื้อขาย (ที่เกิดขึ้น) จากความพึงพอใจของพวกเจ้า” [1]

 ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

(إِنَّمَا الْبَيْعُ عَنْ تَرَاضٍ)
“แท้จริงการซื้อขายต้องเกิดจากความพึงพอใจเท่านั้น”[2]

ทั้งนี้หากเป็นการบังคับให้ขายโดยชอบ การขายนั้นก็ถือว่าถูกต้อง เช่น ศาลหรือผู้มีอำนาจออกคำสั่งให้ขายทอดตลาด ตามที่กล่าวแล้ว

            เงื่อนไขที่สอง ผู้ซื้อผู้ขายต้องอยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการได้ กล่าวคือต้องเป็นไท (ไม่ตกอยู่ในสภาพเป็นทาส) ต้องอยู่ในเกณฑ์บังคับ (บรรลุศาสนภาวะ) หรือจำแนกแยกแยะสิ่งดีและไม่ดีได้ (มีสัมปชัญญะครบถ้วน) ดังนั้นการซื้อขายของเด็ก คนสติไม่สมบูรณ์ คนบ้า หรือทาสจึงถือว่าไม่ถูกต้อง (ไม่เศ๊าะห์) ในกรณีของเด็กที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะแต่สามารถแยกแยะสิ่งดีและไม่ดีได้รวมถึงกรณีทาส มีรายเอียดอีกหลายประการ ซึ่งขอเว้นจะกล่าวในที่นี้ ส่วนหลักฐานในเงื่อนไขที่สองนี้ได้จากการวิเคราะห์หลักการอื่นๆ ประกอบ ซึ่งต้องการคำอธิบายค่อนข้างยืดยาว ดังนั้นจึงขอเว้นที่จะไม่กล่าวถึงเช่นกัน
            เงื่อนไขที่สาม ผู้ซื้อผู้ขายต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่จะแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันหรือได้รับมอบหมายโดยชอบจากผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้น ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวไว้ในรายงานของฮะกีม อิบนุ ฮิซาม ว่า

(لاَ تَبِعْ مَا لَيْسَ عِنْدَكَ)
“อย่าได้ขายสิ่งที่ไม่มีอยู่ ณ ที่เจ้า”[3]

หมายถึง อย่าได้ขายสิ่งที่เจ้ามิได้ครอบครองเป็นเจ้าของ หรือยังมิได้ครองสิทธิ์ในสิ่งนั้น “นักวิชาการต่างเห็นพ้องต้องกันว่าห้ามขายสิ่งที่ผู้ขายยังไม่มีหรือยังมิได้ถือครองสิทธิ์ และหากกระทำไปดังว่านี้ก็ถือว่าการซื้อขายนั้นโมฆะ”

เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ซื้อขาย

            เงื่อนไขที่หนึ่ง ต้องเป็นสิ่งที่อนุมัติ(ตามหลักการศาสนา)ให้ใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นจึงไม่อนุญาตซื้อขายสิ่งที่ศาสนาห้ามนำไปใช้ประโยชน์ เช่น สุรา สุกร ซากสัตว์ที่มิได้เชือดตามหลักการ และรวมถึงอุปกรณ์ดนตรีต่างๆ เป็นต้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวไว้ว่า

إِنَّ اللَّهَ وَرَسُوْلَهُ حَرَّمَ بَيْعَ الْخَمْرِ وَالْمَيْتَةِ وَالْخِنْزِيْرِ وَاْلأَصْنَامِ

             “แท้จริงอัลลอฮ์และร่อซู้ลของพระองค์ ห้าม (ซื้อ) ขายสุรา ซากสัตว์ (ที่ตายโดยมิได้เชือดตามหลักการศาสนา) สุกร และเจว็ด” [4]

ท่านกล่าวอีกว่า

إِنَّ اللَّهَ حَرَّمَ الْخَمْرَ وَثَمَنَهَا وَحَرَّمَ الْمَيْتَةَ وَثَمَنَهَا وَحَرَّمَ الْخِنْزِيْرَ وَثَمَنَهُ

           “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงห้ามสุราและราคาของมัน ทรงห้ามซากสัตว์ (ที่ตายโดยมิได้เชือดตามหลักการศาสนา) และราคาของมัน ทรงห้ามสุกรและราคาของมัน” [5]

มีผู้ถามท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า

أَرَأَيْتَ شُحُوْمَ الْمَيْتَةِ فَإِنَّهَا يُطْلَى بِهَا السُّفُنُ وَيُدْهَنُ بِهَا الْجُلُوْدُ وَيَسْتَصْبِحُ بِهَا النَّاسُ فَقَالَ لاَ هُوَ حَرَامٌ

            “ท่านเห็นอย่างไรเกี่ยวกับไขมันสัตว์ที่ตาย (โดยมิได้เชือดตามหลักการศาสนา) ซึ่งมันถูกนำไปทาเรือ ทาหนัง และคนนำไปจุดไฟให้แสงสว่าง ท่านกล่าวว่า ไม่ได้ มันคือสิ่งที่ต้องห้าม”[6]

            เงื่อนไขที่สอง เกี่ยวข้องกับราคาและสิ่งที่นำมาซื้อขาย (สินค้า) ว่าต้องเป็นสิ่งที่สามารถส่งมอบแก่กันและกันได้ เพราะสิ่งที่ไม่สามารถส่งมอบแก่กันและกันได้เปรียบได้กับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ดังนั้นจึงไม่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ (ซื้อขายไม่เศ๊าะห์) เช่น ซื้อขายทาสที่หนีไป อูฐที่หลุดไปด้วยความตื่นตระหนก นกที่บินอยู่ในอากาศ อย่างนี้เป็นต้น
เงื่อนไขที่สาม เกี่ยวข้องกับราคาและสิ่งที่นำมาซื้อขาย(สินค้า) ว่าต้องเป็นสิ่งที่ทราบชัดเจนระหว่างทั้งสองฝ่าย (ผู้ชื้อผู้ขาย) เพราะความไม่ชัดเจนก่อเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นการซื้อขายสิ่งที่ไม่เห็นหรือเห็นแต่ไม่ทราบโดยละเอียดถือว่าไม่ถูกต้อง ทำนองเดียวกันการซื้อขายสัตว์ที่อยู่ในครรภหรือเพียงนมที่อยู่ในเต้าจึงไม่ถูกต้องเช่นกัน และการซื้อขายผ้าเพียงแค่สัมผัส กล่าวคือหากผู้ซื้อสัมผัสผ้าชิ้นใด ชิ้นนั้นก็ตกเป็นของผู้ซื้อ ก็เป็นการซื้อขายที่ไม่ถูกต้อง การกระทำดังกล่าวเรียกเป็นภาษาอาหรับว่า “อัลมุลาบะซะห์” ส่วน “อัลมุนาบะซะห์” หมายถึงผู้ขายโยนสินค้าให้กับผู้ซื้อสินค้านั้นก็ตกเป็นของผู้ซื้อ การกระทำดังกล่าวก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะมีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่าท่านห้ามวิธีการดังกล่าว

أَنَّ رَسُوْلَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ نَهَى عَنْ الْمُلاَمَسَةِ وَالْمُنَابَذَةِ
“ท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้าม (การซื้อขายลักษณะ) อัลมุลามะซะห์และอัลมุนาบะซะห์” [7]

ดังนั้นการซื้อขายลักษณะ “ฮุศ๊อด” ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน การซื้อขายลักษณะดังกล่าวคือมีการตั้งเงื่อนไขว่าหากโยนก้อนหินไปโดนสินค้าชิ้นใด ชิ้นนั้นก็ตกเป็นของผู้ซื้อ การซื้อขายลักษณะดังกล่าวมีตัวบทห้ามไว้เช่นกัน อ่านต่อ …

[1] อันนิซาอ์ / 29

[2] อิบนุมาญะห์ บทค้าขาย / 2185

[3] อัตติรมิซี อัลบุยั๊วอ์ / 1232, อันนะซาอี บทเดียวกัน / 4613 , อบูดาวูด บทเดียวกัน / 3503 และอิบนุ

มาญะห์ อันติญาร๊อต / 2183, ท่านอิหม่า

[4] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2121, มุสลิม อัลมุซาก๊อต 1581 และท่านอื่นๆ

[5] อบูดาวูด อัลบุยั๊วอ์ /3485

[6] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2121, มุสลิม อัลมุซาก๊อต / 1541 และท่านอื่นๆ

[7] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2040, อิบนุมาญะห์ อัตติญาร๊อต / 2170 และท่านอื่นๆ


  อัลลอฮ์ทรงอนุญาตการซื้อขาย ทั้งนี้ต้องไม่ทำให้สิ่งดีกว่าและเป็นประโยชน์สูงสุดต้องเสียหาย เช่น ซื้อขายกันในเวลาที่ต้องปฏิบัติอิบาดะห์ที่จำเป็นหรือซื้อขายสิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น
ดังนั้นการซื้อขายใดๆ หากเกิดหลังจากอะซานครั้งสุดท้ายในละหมาดวันศุกร์(ญุมอะห์) การซื้อขายนั้นๆ ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะอัลลอฮ์ตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوْا إِذَا نُوْدِيَ لِلصَّلاَةِ مِنْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَى ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ذَلِكُمْ خَيْرٌ لَكُمْ إِنْ كُنْتُمْ تَعْلَمُوْنَ

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย หากเมื่อมีการเรียกร้องไปสู่ละหมาดในวันศุกร์แล้ว ก็จงเร่งรีบไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮ์เถิด และจงละการซื้อขายไว้ (ก่อน) สิ่งดังกล่าวดีกว่าสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้าทราบ”[1]

            อัลลอฮ์ทรงห้ามการซื้อขายขณะที่มีการเรียกร้อง(อะซาน)ไปสู่การละหมาดวันศุกร์ เพราะการซื้อขายอาจยืดเยื้อจนไม่ทันละหมาดในวันศุกร์ซึ่งถือว่าสำคัญกว่า และที่ระบุถึงการซื้อขายไว้เป็นการเฉพาะก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นในแง่ของการดำรงชีพ การห้ามย่อมสื่อถึงความไม่ถูกต้อง กล่าวคือการซื้อขายนั้นๆ ไม่ถูกต้องตามหลักการของศาสนา (ไม่เศ๊าะห์)

            การละหมาดที่จำเป็นอื่นๆ เช่นละหมาดประจำวันห้าเวลา ก็ไม่แตกต่างจากละหมาดในวันศุกร์ ซึ่งหากมีการเรียกร้อง(อะซาน)แล้ว ก็ไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายกันหรือดำเนินการซื้อขายกันต่อแม้การซื้อขายจะเริ่มก่อนการเรียกร้องนั้นก็ตาม[2]

            การซื้อขายใดๆ ที่เป็นการส่งเสริมหรือสนับสนุนการละเมิดบทบัญญัติของอัลลอฮ์ การซื้อขายนั้นก็ไม่ถูกต้อง เช่นการขายองุ่นที่ทราบดีว่าจะถูกนำไปทำสุรา (ไวน์) เพราะอัลลอฮ์ตรัสว่า

لاَ تَعَاوَنُوْا عَلَى الإِثْمِ وَ العُدْوَانِ
“(พวกเจ้า) อย่าได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องบาปและการเป็นศัตรู”[3]

ทำนองเดียวกัน การขายอาวุธในห้วงเวลาที่เกิดความรุนแรงและไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะผู้ที่ซื้อไปอาจนำไปประทุษร้ายต่อผู้บริสุทธิ์ได้ และหากผู้ที่ถูกประทุษร้ายนั้นเป็นมุสลิมด้วยแล้วย่อมเกิดบาปมหันต์ ทั้งนี้รวมถึงวัตถุและอุปกรณ์ใดๆ ที่เป็นส่วนประกอบของอาวุธนั้นๆ ด้วย เพราะอัลลอฮ์ตรัสไว้ว่า

لاَ تَعَاوَنُوْا عَلَى الإِثْمِ وَ العُدْوَانِ
“(พวกเจ้า) อย่าได้ให้ความช่วยเหลือในเรื่องบาปและการเป็นศัตรู” [4]

ท่านอิบนุก๊อยยิมกล่าวว่า “มีตัวบทหลักฐานมากมายระบุชัดว่าเจตนาและเป้าหมายย่อมได้รับการพิจารณาเสมอในการทำข้อตกลงระหว่างกัน และมันส่งผลต่อข้อตกลงนั้นในแง่ความถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง กล่าวคือต้องห้ามหรือไม่ต้องห้าม ดังนั้นอาวุธใดๆ ที่ถูกขายไปให้แก่ผู้ที่ทราบดีว่าจะนำไปสังหารมุสลิม การขายนั้นมิชอบด้วยหลักการ เพราะเป็นการส่งเสริมหรือช่วยเหลือในสิ่งที่เป็นบาปและเป็นศัตรู แต่หากขายอาวุธนั้นไปแก่ผู้ที่ทำการปกป้องศาสนา การขายนั้นเป็นเรื่องดีและถูกต้อง ในทางกลับกันหากมันถูกขายไปแก่ผู้สร้างความเสียหายให้สังคม เช่นปล้นสะดม ขู่ ฆ่า และบังคับคืนใจผู้อื่น หากผู้ถูกกระทำเป็นมุสลิมด้วยแล้ว การขายนั้นย่อมมิชอบด้วยหลักการของศาสนา
ศาสนากำหนดว่าห้ามมิให้ซื้อขายตัดหน้ากัน เช่น พ่อค้าที่ขายของตัดหน้าผู้อื่น ลูกค้าได้ตกลงจะซื้อสินค้าจากผู้ขายรายหนึ่งในราคาหนึ่งร้อยบาท แต่มีพ่อค้าอีกรายหนึ่งเสนอราคาตัดหน้าว่าหากซื้อของเขา เขาคิดเพียงเก้าสิบบาท หรือถ้าเปลี่ยนใจมาซื้อของเขา เขาจะนำสินค้าที่ดีกว่ามาให้ในราคาเดียวกัน อย่างนี้เป็นต้น การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนาและเป็นที่ต้องห้าม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

لاَ يَبِيعُ بَعْضُكُمْ عَلَى بَيْعِ أَخِيهِ
“ผู้หนึ่งผู้ใดจากพวกเจ้าอย่าได้ขายตัดหน้าพี่น้องของเขา”[5]

  لاَ يَبِيعُ الرَّجُلُ عَلَى بَيْعِ أَخِيهِ
“ผู้หนึ่งอย่าได้ขายตัดหน้าพี่น้องของเขา” [6]
ทั้งนี้รวมถึงการซื้อตัดหน้ากันด้วย เช่น มีผู้ขายของให้ผู้หนึ่งในราคาหนึ่งร้อยบาท ในขณะนั้นก็มีอีกผู้หนึ่งขอซื้อในราคาหนึ่งร้อยห้าสิบบาท การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการซื้อตัดหน้า ซึ่งต่างจากวิธีการประมูลที่จะได้กล่าวในลำดับต่อไป
การซื้อขายที่ต้องห้ามอีกประเภทหนึ่งคือ การที่คนในเมืองขายให้กับคนชนบท เรียกตามที่ปรากฏในตัวบทฮะดีษว่า “บัยอุฮาดิรินลิบาด” ซึ่งพิจาณาตามวิธีการแล้วอาจจะมิใช่เป็นการซื้อขายโดยตรงแต่เป็นการแทรกแซงตลาดมากกว่า วิธีการดังกล่าวคือ ผู้มาจากชนบทที่ตั้งใจนำสินค้าของตนมาขายในตลาดในเมือง โดยกำหนดราคาที่ตนพอใจไว้แล้ว ส่วนใหญ่มักไม่ทราบราคาสินค้านั้นๆ ว่าในเมืองเขาซื้อขายกันเท่าใด บังเอิญเขามีเพื่อน พี่น้อง หรือญาติอยู่ในเมือง ผู้คนเหล่านั้นอาจอาสาขายสินค้านั้นแทนผู้มาจากชนบทเพราะเห็นว่าตั้งราคาต่ำเกินไปจากราคาที่ซื้อขายกันในตลาดในเมือง มองโดยภาพรวมแล้วน่าจะเป็นสิ่งที่ดีและถูกต้อง แต่ศาสนาระบุว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้อง ท่านนบีกล่าวไว้ว่า

لاَ يَبِعْ حَاضِرٌ لِبَادٍ
“ผู้อยู่ในเมืองอย่าขายแทนผู้มาจากชนบท”[7]

ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า

قال بن عباس رضي الله عنه ” لاَ يَكُوْنُ لَهُ سِمْسَارًا – أَيْ: دَلاَّلاً- يَتَوَسَّطُ بَيْنَ اْلبَائِعِ وَاْلمُشْتَرِي
“อย่า (อาสา) เป็นตัวกลาง (แนะนำ) ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ” [8]

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

دَعُوا النَّاسَ يَرْزُقِ اللَّهُ بَعْضَهُمْ مِنْ بَعْضٍ
“จงปล่อยผู้คนให้ได้รับริซกีจากอัลลอฮ์โดยผ่านซึ่งกันและกันเถิด” [9]



สิ่งที่ต้องห้ามนั้นคือการที่คนในเมืองเสนอเป็นตัวกลางขายสินค้าให้กับคนชนบทซึ่งรวมถึงการซื้อด้วยเช่นกัน แต่ถ้าผู้อยู่ในชนบทเป็นผู้ขอร้องให้ผู้อยู่ในเมืองทำการแทนไม่ว่าจะเป็นการขายหรือซื้อก็ตาม การกระทำดังกล่าวก็ไม่ถือว่าเป็นที่ต้องห้าม เราเห็นได้ชัดเจนว่าศาสนาห้ามมิให้ผู้อื่นแทรกแซงตลาดเช่นกรณีของชาวเมืองที่อาสาเป็นตัวกลางระหว่างผู้ขายที่มาจากชนบทกับลูกค้าที่อยู่ในเมือง

            การซื้อขายอีกประเภทหนึ่งที่นับว่าต้องห้ามคือการซื้อขายที่เรียกว่า “อัลอีนะห์” ตัวอย่างเช่น มีผู้หนึ่งขายสินค้าผ่อนให้กับอีกผู้หนึ่ง แล้วเขาซื้อคืนในราคาเงินสดที่ต่ำกว่าราคาขาย กล่าวคือผู้ขายในตอนแรกเป็นผู้ซื้อสินค้านั้นคืนจากผู้ซื้อในราคาที่ต่ำกว่า การกระทำดังกล่าวเรียกว่าการซื้อขายแบบ “อัลอีนะห์” ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะเป็นวิธีเลี่ยงดอกเบี้ยเพราะจริงๆ แล้วก็เท่ากับการกู้เงินลักษณะผ่อนส่ง คือให้เงินกู้ไปและคืนเงินใช้หนี้ที่มากกว่าหนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

إِذَا تَبَايَعْتُمْ بِالْعِيْنَةِ وَأَخَذْتُمْ أَذْنَابَ الْبَقَرِ وَرَضِيْتُمْ بِالزَّرْعِ وَتَرَكْتُمْ الْجِهَادَ سَلَّطَ اللَّهُ عَلَيْكُمْ ذُلاًّ لاَ يَنْزِعُهُ حَتَّى تَرْجِعُوْا إِلَى دِيْنِكُمْ

  “เมื่อพวกเจ้าซื้อขายกันลักษณะ“อัลอีนะห์” ถือหางวัว (วุ่นอยู่กับการเลี้ยงสัตว์) พอใจในพืชผล ละทิ้งการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ อัลลอฮ์จะให้ความตกต่ำเกิดแก่พวกเจ้า พระองค์จะไม่ถอนมันคืนไปจนกว่าพวกเจ้าจะหวนกลับไปสู่ศาสนาของพวกเจ้า” [10]

يَأْتِيْ عَلىَ النَّاسِ زَمَانٌ يَسْتَحِلُّوْنَ الرِّبَا بِاْلبَيْعِ
“จะมียุคหนึ่งมาถึงมนุษย์ พวกเขาจะทำดอกเบี้ยเป็นที่อนุมัติด้วย (เล่ห์ของ) การซื้อขาย”[11]  อ่านต่อ…

[1] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2040, อิบนุมาญะห์ อัตติญาร๊อต / 2170 และท่านอื่นๆ

[2] ดู อัลนูร / 36-38

[3] อัลมาอิดะห์ / 2

[4] อัลมาอิดะห์ / 2

[5] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2043, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1515 และท่านอื่นๆ

[6] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2033, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1515 และท่านอื่นๆ

[7] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2034, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1515 และท่านอื่นๆ

[8] อัลมุลัคค็อศ อัลฟิกฮี่ , อิบนุ้ลเฟาซาน / 327

[9] มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1522 , อัตติรมิซี อัลบุยั๊วอ ์ / 1223 และท่านอื่นๆ

[10] อบูดาวูด อัลบุยั๊วอ์ / 3462 , อะห์หมัด 2/84

[11] อิฆอษะตุ้ลละห์ฟาน เล่ม 1 หน้า 352 อ้างถึงบันทึกของ อิบนุบัฏเฏาะห

มติรมิซีบอกว่าเป็นฮะดีษศ่อเฮี๊ยห์


เงื่อนไขในการซื้อขาย

            เงื่อนไขในการซื้อขายนั้นอาจเกิดขึ้นมากมายหลายทาง ซึ่งผู้ซื้อผู้ขายอาจตั้งเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมจากเงื่อนไขทั่วๆ ไปซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของการซื้อขาย ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้และศึกษาให้ละเอียดเพื่อจะได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้ถูกต้องและเพื่อให้ทราบว่าเงื่อนไขใดถูกต้องตามหลักการศาสนาและเงื่อนไขใดไม่ถูกต้อง
นักวิชาการฟิกห์ให้นิยาม (ความหมาย)ของเงื่อนไขในการซื้อขายว่าหมายถึงข้อกำหนดของฝ่ายหนึ่งใช้บังคับอีกฝ่ายหนึ่งที่เกิดจากพันธะสัญญาที่ทำขึ้นโดยทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นพันธะสัญญาที่ก่อเกิดประโยชน์ เงื่อนไขใดๆ หากมิได้กระทำหรือระบุในพันธะสัญญานั้น เงื่อนไขนั้นๆ ไม่มีผล กล่าวคือต้องกระทำหรือระบุในข้อตกลงซื้อขายนั้นทันที ไม่อนุญาตให้ระบุก่อนหรือหลังเกิดการซื้อขายแล้ว เพราะเงื่อนไขมีสองประเภทคือถูกต้องและไม่ถูกต้อง

เงื่อนไขที่ถูกต้อง

            เงื่อนไขใดๆ ที่ไม่ค้านต่อนัยของพันธะสัญญานั้น เงื่อนไขนั้นๆ ถือว่าถูกต้องและมีผลบังคับใช้ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

َالْمُسْلِمُونَ عَلَى شُرُوْطِهِمْ
“บรรดามุสลิม (ต้อง) อยู่บน (ปฏิบัติตาม) เงื่อนไขของพวกเขา (ที่ให้ไว้แก่กันและกัน)” [1]

ทั้งนี้เพราะมีหลักว่าเงื่อนไขใดๆ ถือว่าเป็นที่อนุมัติหากเงื่อนไขนั้นๆ ไม่ค้านต่อสาระสำคัญของพันธะสัญญานั้นๆ หรือที่มีตัวบทระบุว่าเป็นโมฆะ

            เงื่อนไขที่ถูกต้องแบ่งได้เป็นสองประเภทดังนี้

            ประเภทที่หนึ่ง คือเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลดีต่อพันธะสัญญานั้นๆ เช่น การให้หลักประกันหรือของประกันแก่ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ซื้อ หรือตั้งเงื่อนไขว่าให้ชำระผ่อนส่งในเวลาที่แน่นอน ซึ่งก็เป็นผลดีต่อผู้ซื้อ อย่างนี้เป็นต้น หากเป็นเงื่อนไขประเภทดังกล่าว เงื่อนไขนั้นๆ ก็ถือว่าถูกต้องและต้องปฏิบัติตาม ทำนองเดียวกันหากผู้ซื้อตั้งเงื่อนไขว่าสินค้านั้นต้องเป็นประเภทชั้นดี หรือมีแหล่งผลิตจากที่นั่นที่นี่ จากผู้ผลิตคนนั้นคนนี้ เงื่อนไขเช่นว่านี้ก็ถูกต้องเช่นกัน เพราะความประสงค์ของผู้บริโภคย่อมแตกต่างกัน และหากสินค้านั้นตรงตามที่ระบุไว้ การซื้อขายย่อมเกิดขึ้น และหากไม่ตรงตามเงื่อนไขผู้ซื้อก็มีสิทธิ์ยกเลิกพันธะสัญญานั้น หรือปล่อยให้สัญญาดำเนินไปพร้อมกับรับค่าชดเชยจากเงื่อนไขที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งอาจจะเป็นในรูปของการลดราคาหรือเพิ่มปริมาณสินค้าให้ก็แล้วแต่จะตกลงกัน

            ประเภทที่สอง คือการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตั้งเงื่อนไขเพื่อได้ประโยชน์จากสิ่งที่ขายแล้ว อันเป็นประโยชน์ที่ไม่ผิดต่อหลักการศาสนา เช่น ผู้หนึ่งขายบ้านแต่มีเงื่อนไขว่าขออยู่ต่อเป็นระยะเวลาหนึ่งที่แน่นอน หรือผู้หนึ่งขายรถแต่มีข้อแม้ว่าขอใช้ในระยะเวลาหนึ่งที่แน่นอน หากผู้ซื้อยินดี เงื่อนไขดังกล่าวก็ถือว่าถูกต้องและการซื้อขายดังกล่าวก็ถือว่าถูกต้อง เพราะในรายงานบทหนึ่งระบุว่าท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ซื้ออูฐของท่านญาบิรด้วยราคาสี่ดีนารโดยมีเงื่อนไขว่าให้ท่านญาบิรขี่หลังมันจนถึงมะดีนะห์ ตามรายงานดังกล่าวเป็นการระบุเงื่อนไขว่าหลังจากซื้อขายกันแล้ว ผู้ซื้ออนุญาตให้ผู้ขายใช้ประโยชน์จากสินค้านั้นในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งก็คือการใช้อูฐที่ขายแล้วนั้นเป็นพาหนะสู่เมืองมะดีนะห์[2] ยังมีตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันอีก เช่น ผู้ซื้อสินค้าประเภทหนึ่งตั้งเงื่อนไขว่าให้ผู้ขายส่งของถึงที่ หรือผู้ซื้อผ้าตั้งเงื่อนไขว่าให้ผู้ขายปักชื่อหรือลายดอกที่ระบุให้ อย่างนี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่มิได้ขัดต่อนัยของพันธะสัญญาหลักซึ่งก็คือการซื้อขายนั่นเอง ดังนั้นจึงเป็นเงื่อนไขที่ถูกต้อง

            เงื่อนไขที่ไม่ถูกต้องแบ่งได้หลายประเภท

            ประเภทที่หนึ่ง คือเงื่อนไขที่ทำให้สัญญาซื้อขายนั้นเสียไป คือทำให้การซื้อขายนั้นไม่ถูกต้อง (ไม่เศ๊าะห์) เช่น ผู้ขายกล่าวแก่ผู้ซื้อว่าฉันขายสินค้านี้ให้แก่ท่านแต่ท่านต้องเช่าบ้านฉัน หรือกล่าวว่าฉันขายสินค้านี้ให้แก่ท่าน แต่ท่านต้องให้ฉันทำงานนั้นงานนี้กับท่าน หรือกล่าวแก่ผู้ซื้อว่าฉันขายสินค้านี้ให้แก่ท่านแต่ท่านต้องให้ฉันกู้เท่านั้นเท่านี้ เงื่อนไขเช่นว่านี้ไม่ถูกต้อง อีกทั้งทำให้การค้าขายดังกล่าวไม่ถูกต้องด้วยเช่นกัน เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามการซื้อขายซ้อนการซื้อขาย[3] (กล่าวคือมีสัญญาซ้อนสัญญา)

            ประเภทที่สอง คือเงื่อนไขที่เป็นโมฆะแต่เพียงลำพัง แต่ไม่ทำให้สัญญาซื้อขายนั้นต้องถูกยกเลิกไปด้วย เช่น ผู้ซื้อตั้งเงื่อนไขว่าหากซื้อสินค้าไปแล้วเกิดขาดทุนก็จะคืนสินค้านั้นแก่ผู้ขาย เช่นมีผู้ซื้อรถไปในราคาหนึ่งแสนบาท โดยตั้งใจว่าจะนำไปขายในราคาหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท แต่ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดสนใจยกเว้นในราคาหกหมื่นบาทเท่านั้น ผู้ซื้อจะนำมาคืนผู้ขายมิได้ และเงื่อนไขใดๆ ที่ตั้งไว้ก็ไม่เป็นผลในทางปฏิบัติ ส่วนการซื้อขายรถดังกล่าวก็มิต้องถูกยกเลิกแต่ประการใด อีกตัวอย่างหนึ่งคือผู้ขายตั้งเงื่อนไขว่าห้ามผู้ซื้อนำสิ่งที่ซื้อขายกันแล้วนำไปขายต่อ เงื่อนไขนี้ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน มันเป็นโมฆะเพียงลำพังและไม่ถึงกับทำให้การซื้อขายก่อนหน้านั้นเป็นโมฆะตามไปด้วย ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

مَنِ اشْتَرَطَ شَرْطًا لَيْسَ فِي كِتَابِ اللَّهِ فَلَيْسَ لَهُ وَإِنْ شَرَطَ مِائَةَ مَرَّةٍ

            “ผู้ใดก็ตามตั้งเงื่อนไขใดๆ โดยไม่ปรากฏในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ เขาย่อมไม่ได้ตามเงื่อนไขนั้น แม้เขาจะกำหนดไว้เป็นร้อยครั้ง”[4]

คำว่า ไม่ปรากฏในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ ในฮะดีษข้างต้นนี้ หมายถึงไม่ปรากฏเป็นข้อบัญญัติ(หุก่ม)ไว้ ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมถึงซุนนะห์ของท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย

            เงื่อนไขที่กล่าวแล้วนั้นเป็นโมฆะ แต่ก็มิได้ทำให้สัญญาซื้อขายนั้นเป็นโมฆะ เพราะมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในยุคของร่อซูลุ้ลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือเหตุการณ์ของท่านบรีเราะห์ผู้เป็นศ่อฮาบะห์ที่ขายทาสของตนและตั้งเงื่อนไขว่าหากผู้ซื้อจะปล่อยทาสให้เป็นไท ก็ให้สิทธิ์ในการรับมรดกตกเป็นของตนตามเดิม (ในภาษาอาหรับเรียกว่า “วะลาอ์” ซึ่งหมายถึงสิทธิ์ในการรับมรดกจากทาสที่ได้รับการปล่อยให้เป็นไท ซึ่งเป็นสิทธิ์ของผู้ปล่อยทาส) ดังนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงกล่าวว่า

فَإِنَّمَا الْوَلاَءُ لِمَنْ أَعْتَقَ
“สิทธิในวะลาอ์ (การรับมรดก) ตกแก่ผู้ปล่อยทาสเท่านั้น” [5]

            เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องศึกษาเรียนรู้ว่าเงื่อนไขใดถูกต้องและไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการซื้อขาย เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องดังกล่าว และเป็นการป้องกันความเสียหาย การทะเลาะเบาะแว้ง และความไม่ดีงามต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความไม่รู้และไม่เข้าใจในหลักการซื้อขายและเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องการซื้อการขายมักมาจากความไม่รู้ไม่เข้าใจของคนส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่ทุกคนเคยเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย แต่น้อยคนจะเข้าใจเรื่องดังกล่าวอย่างถูกต้องเที่ยงตรงตามหลักการของศาสนา ดังนั้นเราจึงเห็นการกำหนดเงื่อนไขผิดๆ อยู่เนืองๆ ในการซื้อการขาย ไม่ว่าจะมาจากผู้ซื้อหรือผู้ขายก็ตาม อ่านต่อ…

[1] อบูดาวูด อัลอุกฎิยะห์ / 3594

[2] อัลบุคอรี อัลวะกาละห์ / 2185, มุสลิม อัลมุซาก๊อต / 715 และท่านอื่นๆ

[3] อบูดาวู๊ด อัลบุยั๊วอ์ / 3003 , อัตติรมิซี อัลบุยั๊วอ ์ / 1153

[4] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2047, มุสลิม อัลอิตก์ / 1504 และท่านอื่นๆ

[5] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2048, อันเนะซาอี อัลบุยั๊วอ์ / 4644 และท่านอื่นๆ


สิทธิ์ในการซื้อการขาย

            ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีหลักการครอบคลุมทุกด้าน ละเอียด และยืดหยุ่น รักษาประโยชน์ของทุกคนทุกฝ่าย ขจัดความสับสน ยุ่งยาก และความเดือดร้อนต่างๆ ให้หมดไป ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงมีบัญญัติว่าผู้ซื้อขายย่อมมีสิทธิ์ในการเลือก มีระยะเวลาที่จะเลือก หรือยกเลิกการซื้อขายนั้นๆ

            คำว่า “เลือก” ในที่นี้หมายถึงสิทธิ์ของผู้ซื้อและผู้ขายที่จะทำการซื้อขายต่อไปหรือยกเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้น ซึ่งมีอยู่ด้วยกันแปดประการดังนี้

คิยารุ้ลมัจลิส (การเลือก ณ ที่ๆ ทำการซื้อขาย)

ผู้ซื้อผู้ขายมีสิทธิ์ที่จะปล่อยให้ข้อตกลงซื้อขายนั้นดำเนินไปหรือถูกยกเลิกตราบใดที่ทั้งสองไม่แยกจากกัน สิทธิ์ดังกล่าวนี้เรียกว่า “คิยารุ้ลมัจลิส” ซึ่งมีตัวบทฮะดีษจากท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ระบุไว้ชัดเจนดังนี้

إِذَا تَبَايَعَ الرَّجُلاَنِ فَكُلُّ وَاحِدٍ مِنْهُمَا بِالْخِيَارِ مَا لَمْ يَتَفَرَّقَا وَكَانَا جَمِيْعًا

            “เมื่อบุคคลสองคนทำการซื้อขายกัน ทั้งคู่ต่างมีสิทธิ์เลือกเฟ้นตราบใดที่ทั้งคู่ไม่แยกจากันคือยังอยู่ด้วยกัน” [1]

            ท่านอิบนุก็อยยิม อัลเญาซีย์ กล่าวว่า “การที่ศาสนาอนุญาตให้ผู้ซื้อผู้ขายที่ยังไม่แยกจากกันมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้น นับเป็นสิทธิ์ที่เอื้อประโยชน์แก่ทั้งคู่ และเป็นส่วนสมบูรณ์ของคำว่าเต็มใจและพอใจอันเป็นเงื่อนไขหลักของการซื้อการขายตามที่ศาสนากำหนด”

إِلاَّ أَنْ تَكُوْنَ تِجَارَةً عَنْ تَرَاضٍ مِنْكُمْ
 “ยกเว้นเป็นการซื้อขาย (ที่เกิดขึ้น) จากความพึงพอใจของพวกเจ้า” [2]

อีกทั้งยังอยู่ในความหมายของอายะห์อัลกุรอ่านที่ว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِيْنَ آَمَنُوْا أَوْفُوْا بِالْعُقُوْدِ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงปฏิบัติตามพันธะสัญญาอย่างครบถ้วน”[3]

            ข้อตกลงใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยพลันและไม่มีเวลาที่จะคิดทบทวนว่าดีหรือไม่ดี เหมาะหรือไม่เหมาะ เป็นข้อตกลงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสียใจได้ในภายหลัง ดังนั้นศาสนาจึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่จะตกลงซื้อขายกันมีเวลาสำหรับการตัดสินใจ มีเวลาที่จะคิด และมีเวลาที่จะเลือก ดังนั้นผู้ซื้อขายต้องปฏิบัติตามนัยของฮะดีษข้างต้น ทั้งนี้เพราะถือว่าสิ่งดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ต้องปฏิบัติตาม จะละเลยมิได้ กล่าวคือทั้งคู่มีสิทธิ์เต็มที่จะเลือกตัดสินใจว่าจะปล่อยให้ข้อตกลงซื้อขายนั้นดำเนินต่อไปหรือยกเลิกมัน ตราบใดที่ทั้งคู่ยังอยู่ในสถานที่ๆ ทำการตกลงซื้อขายกันและยังมิได้แยกจากกันไปไหน แต่ถ้าทั้งคู่ตกลงและพอใจว่าจะไม่เลือกหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตกลงและพอใจว่าจะไม่เลือก การซื้อขายนั้นย่อมเกิดขึ้นและดำเนินไป การซื้อขายนั้นถือว่าถูกต้องเช่นกัน ทั้งนี้เพราะการเลือกเป็นสิทธิ์ของทั้งสองฝ่ายในการทำข้อตกลงซื้อขาย หากทั้งคู่หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสละสิทธิ์นั้น เขาย่อมกระทำได้ ตามที่ปรากฏตัวบทดังนี้

مَا لَمْ يَتَفَرَّقَا وَكَانَا جَمِيعًا أَوْ يُخَيِّرُ أَحَدُهُمَا اْلآخَرَ        

“ตราบใดที่ทั้งคู่ (ผู้ซื้อผู้ขาย) ยังไม่แยกจากกัน หรือฝ่ายหนึ่งยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เลือก (กล่าวคือมอบสิทธิ์นั้นแก่อีกฝ่ายหนึ่ง)[4]

          หากผู้ซื้อผู้ขายตกลงว่าให้อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์เลือกได้แต่อีกฝ่ายหนึ่งขอสงวนสิทธิ์นั้น ข้อตกลงซื้อขายดังกล่าวก็ยังถือว่าถูกต้อง เพราะสิทธิ์ดังกล่าวเป็นของทั้งฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดขอถอนสิทธิ์นั้นเขาก็ย่อมกระทำได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ดี หากเกิดการตกลงซื้อขายกันแล้วและอีกฝ่ายหนึ่งรีบแยกตัวจากไปเพื่อมิให้อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิ์ในการเลือก การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นที่ต้องห้าม ท่านนบีกล่าวไว้ว่า

وَلاَ يَحِلُّ لَهُ أَنْ يُفَارِقَ صَاحِبَهُ خَشْيَةَ أَنْ يَسْتَقِيْلَهُ                    

“ไม่อนุญาตให้เขา (ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย) แยกจากคู่กรณีของเขา เหตุเพียงเพื่อกันมิให้อีกฝ่ายหนึ่งขอยกเลิก (ข้อตกลงซื้อขาย) ต่อเขา”[5]

คิยารุ้ลชัรฏ์ (การเลือกประเภทเงื่อนไข)

            หมายถึงทั้งสองฝ่ายคือผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันว่าทั้งคู่มีสิทธิ์เลือกว่าจะให้การซื้อขายนั้นดำเนินไปหรือถูกยกเลิกในเวลาที่แน่นอน เช่น มีสิทธิ์เฉพาะขณะทำสัญญาซื้อขายเท่านั้น หรือมีสิทธิ์เฉพาะหลังจากการซื้อขายเพียงระยะเวลานับจากเกิดการซื้อขายเป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้ การตั้งเงื่อนไขเช่นว่านี้ก็มิได้ผิดแต่ประการใด และทั้งคู่ก็มีสิทธิ์กระทำได้ ทั้งนี้ต้องเป็นการยินยอมของทั้งสองฝ่าย สิทธิ์ดังกล่าวถูกเรียกว่า “คิยารุ้ลชัรฏ์”

คิยารุ้ลฆ๊อบน์ (การเลือกเพราะความเสียหาย)

            ความเสียหายที่ว่านี้หมายถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด(ผู้ซื้อผู้ขาย)โดยมีเหตุมาจากอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น ซื้อขายกันแล้วปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวไม่ครบถ้วนหรือครบถ้วนแต่มีตำหนิ หรือว่าจำนวนเงินที่จ่ายเป็นราคาสินค้านั้นไม่ครบถ้วนตามที่ตกลงกัน หรือครบถ้วนแต่มีตำหนิ อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งเป็นความเสียหายที่เกินปกติ

            ผู้ที่เป็นฝ่ายได้รับความเสียหายนั้นมีสิทธิ์ที่จะยกเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้น เพราะมีตัวบทว่า

لاَ ضَرَرَ ولاَ ضِرَارَ
“ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและไม่ตอบโต้ด้วยการสร้างความเดือดร้อน” [6]

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

لاَ يَحِلُّ مَالُ امْرِئٍ إِلاَّ بِطِيْبِ نَفْسٍ مِنْهُ
“ทรัพย์ของผู้หนึ่งผู้ใดจะไม่เป็นที่อนุมัติจนกว่าเขาจะยินยอมน้อมใจ” [7]

ผู้ที่ได้รับความเดือนร้อนและเสียหายย่อมไม่ยินยอมน้อมใจแน่นอน ได้กล่าวแล้วข้างต้นว่าความเสียหายที่กล่าวถึงนี้ต้องเป็นความเสียหายที่เกินปกติ หากเป็นความเสียหายตามปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ธนบัตรเก่าบ้างเล็กน้อย หรือสินค้ามีรอยขีดข่วนเป็นรอยขนแมว อย่างนี้ไม่นับว่าเป็นความเสียหายเดือดร้อนตามนัยที่กล่าวถึง เพราะความเสียหายเหล่านี้ไม่จัดว่าเป็นความเสียหายร้ายแรงจนต้องยกเลิกข้อตกลงซื้อขาย อ่านต่อ…

[1] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2006, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1531 และท่านอื่นๆ

[2] อันนิซาอ์ / 29

[3] อัลมาอิดะห์ / 1

[4] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2006, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1531, และท่านอื่นๆ

[5] อัตติรมิซี อัลบุยั๊วอ์ / 1247, อันนะซาอี่ อัลบุยั๊วอ์ / 4483 และท่านอื่นๆ

[6] อิบนุมาญะห์ อัลอะห์กาม / 2340, อะห์หมัด 5/327

[7] อะห์หมัด 5/73


สิทธิ์ยกเลิกการซื้อขายอันเกิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวง ซึ่งมีสามรูปแบบดังนี้

            รูปแบบที่หนึ่ง ออกไปดักรอสินค้าก่อนถึงตลาด เรียกตามที่ระบุในฮะดีษว่า “ตะลักกอรรุ๊กบาน” ซึ่งหมายถึงบรรดาพ่อค้าที่ออกไปดักรอผู้นำสินค้ามาสู่ตลาดและซื้อด้วยราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ส่วนใหญ่บรรดาผู้ผลิตสินค้าหรือผู้ค้าขายที่ไม่คุ้นกับตลาดนั้น ๆ มักไม่ทราบว่าสินค้าที่ตนนำมาขายในตลาดดังกล่าว มีราคาสูงขึ้นหรือลดลงมากน้อยเพียงใด จึงเป็นโอกาสของพ่อค้าหัวใสออกไปดักรอก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะนำสินค้ามาถึงตลาดและซื้อด้วยราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ดังนั้นเมื่อเจ้าของเดิมของสินค้านั้นมาถึงตลาดและทราบต่อมาภายหลังว่าสินค้าของเขาถูกซื้อไปในราคาต่ำเกินจริงจากราคาในตลาด เขาก็มีสิทธิ์ยกเลิกการค้าขายนั้นได้ ท่านนบีกล่าวว่า

لاَ تَلَقَّوْا الْجَلَبَ فَمَنْ تَلَقَّاهُ فَاشْتَرَى مِنْهُ فَإِذَا أَتَى سَيِّدُهُ السُّوقَ فَهُوَ بِالْخِيَارِ

“พวกเจ้าอย่าได้ดักผู้นำสินค้าเข้าตลาด หากผู้ใดซื้อจากเขาเมื่อเจ้าของเขาถึงตลาดเขาย่อมมีสิทธิ์เลือก (คือหากเห็นว่าถูกเอาเปรียบเกินไปก็สามารถยกเลิกการซื้อขายนั้นได้)” [1]

แต่ถ้าเจ้าของเดิมไม่ติดใจก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ถ้าเขาไม่พอใจเขาย่อมมีสิทธิ์ขอยกเลิกการค้าขายนั้นกับบรรดาผู้ที่ออกไปดักรอเขาก่อนที่เขาจะนำสินค้ามาถึงตลาด เพราะถือว่าเขาเป็นผู้เสียหาย ท่านชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะห์กล่าวว่า

أَثْبَتَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لِلرُّكْبَانِ الخِيَارَ إِذَا تُلُقُّوْاِلأَنَّ فِيْهِ نَوْعُ تَدْلِيْسٍ وَغِشٍّ

“ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยืนยันสิทธิ์ในการยกเลิกหรือให้การค้าดำเนินไป แก่ผู้นำสินค้าเข้าตลาดหากพวกเขาถูกดักซื้อนอกตลาด ก็เพราะการดักซื้อสินค้านอกตลาด มีอะไรที่ไม่ชอบและไม่ซื่อ” [2]

         ท่านอิบนุก๊อยยิม อัลเญาซีย์ กล่าวว่า “ (ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ห้ามเช่นนั้นก็เพราะว่ามันเกิดผลเสียแก่ผู้ขายเพราะเขาอาจไม่ทราบราคาที่แท้จริงตามราคาตลาด และผู้ที่ซื้อไปจากเขาก็มักซื้อในราคาที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงเปิดโอกาสให้เขามีสิทธิ์ที่จะปล่อยการค้าขายนั้นให้ดำเนินไปหรือจะยกเลิกมัน การยืนยันในสิทธิ์ดังกล่าวไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ (ในหมู่ปวงปราชญ์) หากว่าเกิดความเสียหายแก่ผู้ขายจริงๆ เพราะผู้นำสินค้าเข้าตลาดหากเขาไม่ทราบราคาสินค้าในตลาด แน่นอนเขาย่อมไม่ทราบราคาที่เหมาะสม ดังนั้นผู้ที่ออกไปดักซื้อจากเขา(นอกตลาด) ย่อมเอาเปรียบและทำความเสียหายแก่เขา ดังนั้นจึงเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะคงการซื้อขายนั้นไว้หรือยกเลิกมันเมื่อทราบราคาที่เหมาะสมหลังจากที่เขามาถึงตลาดแล้ว” [3]

            รูปแบบที่สอง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มราคาสินค้าโดยหน้าม้าหน้าม้าคือผู้ที่ไม่ประสงค์จะซื้อสินค้าแต่อย่างใด หากแต่ทำทีเป็นต่อรองเพื่อให้ผู้ประสงค์จะซื้อสินค้าที่แท้จริงหลงกลซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้น ในภาษาอาหรับเรียกว่า “อัลนาญิช” การกระทำลักษณะดังกล่าวเป็นที่ต้องห้าม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

وَلاَ تَنَاجَشُوْا
“อย่าปฏิบัติลักษณะหน้าม้า”[4]

ทั้งนี้เพราะเป็นการหลอกผู้ซื้อซึ่งก็อยู่ในความของคำว่าโกงหรือเป็นวิธีโกงประเภทหนึ่ง

การที่ผู้ขายกล่าวว่า ฉันได้รับสินค้าหรือซื้อมาเท่านั้นเท่านี้โดยที่เขาโกหกเพื่อหวังว่าผู้ซื้อจะได้ซื้อในราคาที่สูงขึ้น การกระทำเช่นนี้ก็จัดว่าอยู่ในความหมายของ “อัลนาญิช” ทำนองเดียวกันการที่ผู้ขายกล่าวว่าฉันจะไม่ขายยกเว้นราคาเท่านั้นเท่านี้ แต่จริงๆ แล้วหากได้สูงกว่าราคาจริงเพียงเล็กน้อยเขาก็ขาย เช่น ราคาจริงอยู่ยี่สิบบาท (ก็ได้กำไรและพอใจจะขาย) แต่กลับทำทีกล่าวว่าหากไม่ได้ห้าสิบบาทก็จะไม่ขาย ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะไม่ขายจริงๆ หากแต่ต้องการหลอกผู้ซื้อให้ซื้อสูงกว่ายี่สิบบาทเท่านั้นเอง การกระทำเช่นว่านี้ นักวิชาการจัดว่าเป็นลักษณะหนึ่งของ “อัลนาญิช” ซึ่งต่างจากการที่ผู้หนึ่งต้องการขายสินค้าของเขาในราคาห้าสิบบาทตั้งแต่ต้น และหลังจากที่ลูกค้าต่อรองเขาก็ลดให้ภายหลัง อย่างนี้เป็นลักษณะการค้าทั่วไปที่อนุญาต

            รูปแบบที่สาม คือความเสียหายของผู้ที่ไม่ประสาในเรื่องการซื้อโดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจในผู้ขายเป็นที่ตั้ง เรียกตามที่ปรากฏในตัวบทว่า “อัลมุสตัรสิ้ล” หากผู้ขายเอาเปรียบผู้ซื้อประเภทดังกล่าวจนเกินไป และผู้ซื้อทราบความจริงภายหลังว่าถูกหลอก เขาย่อมมีสิทธิยกเลิกการซื้อขายนั้นได้ เพราะมีบางรายงานระบุว่า

غَبْنُْالمُسْتَرْسِلِ رِبَا
“(สิ่งที่ได้มาโดยการ) หลอกผู้ที่เชื่อใจ (ตน) ถือเป็นดอกเบี้ย” [5]

            การหลอกแน่นอนเป็นเรื่องต้องห้ามและเป็นวิธีการโกงผู้ซื้ออีกลู่ทางหนึ่ง

           การซื้อขายอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมกันโดยทั่วไปคือ เมื่อมีผู้หนึ่งผู้ใดนำสินค้ามาสู่ตลาด พ่อค้าทั้งหลายก็รวมหัวกันส่งคนไปต่อรองเพียงคนเดียวด้วยการกดราคาให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฝ่ายผู้ขายก็เห็นว่าไม่มีพ่อค้าคนอื่นสนใจเลยหากปล่อยไว้นานสินค้าก็อาจเสียหายได้ จึงจำใจขายในราคาที่ต่ำเกินจริง ส่วนพ่อค้าที่ซื้อสินค้าไปก็นำมาแบ่งกันภายหลัง การกระทำเช่นนี้ผิดต่อหลักการศาสนา และหากผู้ขายทราบภายหลักว่าถูกหลอกเขาก็มีสิทธิ์เลือกว่าจะยกเลิกการค้านั้นหรือไม่ หรือจะเรียกร้องราคาที่เหมาะสมได้ในภายหลัง

            รูปแบบที่สี่ หากมีการปกปิดอำพรางสินค้า เช่น ตกแต่งด้านหน้าของสินค้าให้ดูดีแต่ซ่อนของไม่ดีไว้ด้านล่างหรือด้านใต้ และหากเป็นรถยนต์ก็พนสีให้ดูดีและใหม่ แต่ตัวถังผุและเป็นสนิม การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการหลอกลูกค้าให้หลงเชื่อจนซื้อสินค้าดังกล่าวในราคาที่สูงเกินจริง หากผู้ซื้อทราบภายหลังว่าถูกหลอกเขาย่อมมีสิทธิ์ยกเลิกการค้านั้นได้ในภายหลัง การหลอกประเภทนี้เรียกว่า “อัตตัดลีส” ซึ่งมาจากคำว่า “ดะละสะห์” ซึ่งหมายถึงความมืด ฉะนั้นการ “ตัดลีส” คือการทำให้สินค้าไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ผู้ซื้อ การหลอกลักษณะดังกล่าวมักเป็นได้สองทางคือ

            ปกปิดข้อบกพร่อง
            ตกแต่งให้ดูดี

            การกระทำลักษณะดังกล่าวถือว่าต้องห้าม และศาสนาก็ให้สิทธิ์แก่ผู้ซื้อที่ถูกหลอกด้วยวิธีการดังกล่าว ยกเลิกการค้านั้นได้ในภายหลัง เพราะเขาจ่ายทรัพย์ไปก็เพราะเห็นว่าสินค้านั้นดีไม่ข้อเสียหายอะไร แต่เมื่อซื้อแล้วพบว่าผู้ขายปิดบังอำพรางสินค้านั้นหรือตกแตกมันให้ดูดีเกินจริง
ตัวอย่างการตกแต่งสินค้าอีกรูปแบบหนึ่งที่เคยมีมาตั้งแต่อดีตคือ การไม่รีดนมสัตว์เลี้ยง (แพะ แกะ วัว ควาย ฯ ) กล่าวคือปล่อยให้นมคัดเต้า แล้วจึงนำสัตว์ไปขายเพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ซื้อเห็นว่าสัตว์ดังกล่าวมีน้ำนมมาก แท้ที่จริงแล้วมันเกิดจากการที่ผู้ขายไม่ยอมรีดหรือให้ลูกมันดูดกินต่างหาก การกระทำเช่นนี้ก็จัดได้ว่าเป็นการ “ตัดลีส” อีกรูปแบบหนึ่ง

            ประการที่ห้า สินค้ามีตำหนิ กล่าวคือผู้ขายไม่ยอมบอกผู้ซื้อว่าสินค้าของตนมีตำหนิอะไร หรือบางทีผู้ขายก็ไม่ทราบก่อนเช่นกันว่าสินค้าของตนมีข้อตำหนินั้น เมื่อผู้ซื้อพบว่าสินดังกล่าวมีตำหนิหลังจากซื้อไปแล้ว ผู้ซื้อมีสิทธิ์ที่จะคืนสินค้านั้นหรือบอกเลิกการซื้อขายนั้น แต่ถ้าไม่ติดใจก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หลักเกณฑ์ของตำหนิคือต้องส่งผลต่อราคาของสินค้านั้นหรือตัวของสินค้านั้นมีประโยชน์ลดลง ในส่วนของตำหนิที่ส่งผลต่อราคาสินค้านั้น ผู้ค้าขายทั่วไปมักทราบดี หากตำหนิไม่ส่งผลทั้งทางด้านราคาและประโยชน์ สิทธิ์ในการเลือกที่จะคืนสินค้าหรือยกเลิกการค้านั้น หรือรับสิ่งชดเชยก็ตกไป สิทธิ์ในการเลือกลักษณะที่ห้าเรียกตามภาษาอหรับว่า “คิยารุ้ลอัยบ์”

            ประการที่หก หากผู้ซื้อบอกกับผู้ขายว่าเขาขายสินค้าให้ในราคาทุน คือซื้อมาในราคาเท่าใดก็ขายให้ในราคานั้น แต่ผู้ซื้อทราบภายหลังว่ามันไม่จริงตามที่ผู้ขายอ้าง สิ่งนี้เรียกตามภาษาอหรับว่า “คิยารุ้ลตัคบีริบิษษะมัน” ซึ่งอาจเป็นไปได้สี่รูปแบบ รูปแบบที่หนึ่งคือตามที่กล่าวแล้ว
สอง ผู้ขายชวนผู้ซื้อร่วมทุน
สาม ผู้ขายระบุต้นทุนว่าเท่านี้และต้องการำไรเท่านี้แก่ผู้ซื้อ
สี่ ผู้ขายระบุว่าต้นทุนเท่านี้และขายลดราคาให้เท่านี้
ทั้งสี่รูปแบบที่กล่าวนั้น หากผู้ขายบอกผิดไปจากต้นทุนจริงที่ซื้อมา ผู้ซื้อก็มีสิทธิ์เลิกการซื้อขายนั้นหรือจะคงการซื้อขายไว้ก็ได้ ข้อวินิจฉัยนี้เป็นขอวินิจฉัยหนึ่งของปราชญ์ อีกข้อวินิจฉัยหนึ่งคือผู้ซื้อไม่มีสิทธิ์ดังกล่าว กล่าวคือแม้จะทราบภายหลังว่าผู้ขายมิได้บอกราคาต้นทุนจริง ผู้ซื้อก็ไม่ได้รับสิทธิ์ที่จะเลือกยกเลิกการซื้อขายนั้น

            ประการที่เจ็ด ในกรณีที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเกิดความขัดแย้งกันในเรื่องราคา สินค้า เวลาส่งมอบ และ ฯลฯ ทั้งคู่ต้องสาบานต่ออัลลอฮ์ตามที่ตนอ้าง (ในกรณีที่เป็นมุสลิมทั้งคู่) หลังจากกล่าวคำสาบานแล้ว แต่ละฝ่ายก็มีสิทธิ์ที่จะยกเลิกการซื้อขายนั้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังไม่พอใจในคำสาบานนั้นๆ

            ประการที่แปด หากผู้ซื้อได้ซื้อสินค้าตามที่ตนเคยเห็นตัวอย่างมาก่อนหน้านั้น แล้วพบว่าสิ่งที่ซื้อมาไม่ตรงตามตัวอย่างที่เคยเห็น ผู้ซื้อมีสิทธิ์ที่จะบอกเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้นหรือให้ผู้ขายเปลี่ยนสินค้าให้ตรงตามตัวอย่าง

สินค้าที่ยังมิได้ครองสิทธิ์เต็มและการยินยอมเลิกข้อตกลงซื้อขาย

ในบทนี้จะได้พูดถึงสินค้าที่ผู้ซื้อยังไม่ได้ครองสิทธิ์ ผู้ซื้อจะสามารถจัดการกับมันได้หรือไม่อย่างไร เช่น โอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นหรือขายมันต่อให้ผู้อื่น

            เป็นที่ทราบดีและชัดเจนในหมู่นักวิชาการว่า ผู้ซื้อไม่อาจจัดการใดๆ ในลักษณะเป็นเจ้าของสินค้านั้น หากสินค้านั้นอยู่ในประเภทต้องชั่ง ตวง วัด และนับ กล่าวคือจะนำไปขายต่อ โอนกรรมสิทธิ์ หรือการกระทำใดๆ ในลักษณะเป็นเจ้าของมิได้ ข้อตัดสินนี้เป็นเรื่องเอกฉันท์ในหมู่ปวงปราชญ์ ซึ่งเรียกว่า “อิจมาอ์” และหากสินค้านั้นมีลักษณะอื่นจากที่กล่าวแล้ว มุมมองที่ถูกต้องและแข็งแรงของปราชญ์ถือว่าสินค้าอื่นจากลักษณะที่กล่าวมาอยู่ในวิสัยต้องห้ามเช่นกัน ทั้งนี้เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุฮะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวไว้ว่า

مَنْ ابْتَاعَ طَعَامًا فَلاَ يَبِعْهُ حَتَّى يَسْتَوْفِيَهُ
“ผู้ใดที่ซื้ออาหาร เขาอย่าได้ขายมันจนกว่าเขาจะครอบครองมันครบถ้วน” [6]

อีกกระแสหนึ่งมีสำนวนว่า

حَتَّى يَقْبِضَهُ
“จนกว่าจะได้จับต้องมัน”[7]

อีกสำนวนหนึ่งมีว่า

حَتَّى يَكْتَالَهُ
“จนกว่าจะได้ตวงมัน” [8]

ท่านอิบนุอับบาสกล่าวว่า “ฉันไม่คิดว่าสิ่งอื่นจะแตกต่างไปจากอาหาร สิ่งดังกล่าวก็เหมือนอาหาร (คือต้องห้ามเช่นกัน)”[9]

ในบันทึกของอิหม่ามอะห์หมัดมีดังนี้

فَإِذَا اشْتَرَيْتَ بَيْعًا فَلاَ تَبِعْهُ حَتَّى تَقْبِضَهُ
“หากท่านซื้ออะไรแล้ว อย่าได้ขายมันไปจนกว่าจะได้จับต้องมัน” [10]

ในบันทึกของอบูดาวูดมีดังนี้

نَهَى أَنْ تُبَاعَ السِّلَعُ حَيْثُ تُبْتَاعُ حَتَّى يَحُوزَهَا التُّجَّارُ إِلَى رِحَالِهِمْ

               “(ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ห้ามมิให้ขายสินค้า ณ สถานที่ๆ ซื้อสินค้าจนกว่าพ่อค้าจะนำมันกลับไปที่พักของพวกเขาเสียก่อน” [11]

            มุสลิมทุกคนต้องตระหนักให้ดีในเรื่องดังกล่าว เพราะมีตัวบทหลักฐานแน่นหน้าและชัดเจนจนไม่อาจจะตีความเป็นอื่นได้ ผู้หนึ่งผู้ใดอย่าได้ขายสิ่งที่เขายังมิได้จับต้องมันหรือยังมิได้ครอบครองมันโดยสมบูรณ์ เพราะท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามการกระทำลักษณะดังกล่าว แต่ผู้คนส่วนใหญ่ดูเหมือนไม่ใส่ใจต่อข้อห้ามนั้น ยังมีการซื้อขายในลักษณะดังกล่าวกันดาษดื่น เช่น บางคนซื้อของยังมิทันที่จะเอามาจากผู้ขาย เขาก็นำมันไปขายต่อเสียแล้ว หรือบางทีก็นำกลับมาเพียงบางส่วน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นครอบครองโดยสมบูรณ์ตามที่ปรากฏในฮะดีษ บางทีก็ใช้วิธีนับถุง นับกล่อง หรือนับกองไว้ ซึ่งของก็ยังอยู่ ณ ผู้ขาย แต่ผู้ซื้อก็ขายมันต่อไปเสียแล้ว วิธีนี้มิใช่การครอบครองที่สมบูรณ์เช่นกัน

             หากมีผู้ตั้งคำถามว่าการครอบครองที่สมบูรณ์ ที่ผู้ซื้อสามารถจะนำสินค้าหรือสิ่งที่ได้ซื้อแล้วขายต่อ โอนกรรมสิทธิ์ หรือจัดการกับมันได้ตามต้องการ นั้นต้องทำอย่างไร คำตอบก็คือ สินค้าแต่ละชนิดและแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ดังนั้นการครอบครองที่สมบูรณ์ต่อสิ่งหนึ่งๆ มีความแตกต่างกันไป เช่น สิ่งที่ซื้อขายกันด้วยวิธีตวง ก็ต้องตวงให้เรียบร้อยและรับมันมาครอบครอง มิใช่ปล่อยไว้กับผู้ขายแล้วประกาศขายสินค้านั้น และหากต้องชั่งก็ต้องชั่งให้สมบูรณ์ตามที่ตกลงกันพร้อมรับมาครอบครองโดยสมบูรณ์ สิ่งอื่นๆ ก็ต้องปฏิบัติให้สมบูรณ์และชัดเจนเช่นกัน เช่น แก้วแหวน เครื่องเงิน หรือเครื่องทอง ก็ต้องจับต้องครองไว้เป็นของตน รถยนต์ก็ต้องขับกลับบ้าน ในกรณีของสิ่งที่เคลื่อนย้ายมิได้ ผู้ขายก็ต้องมอบสิทธิ์นั้นแก่ผู้ซื้อ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น มอบเอกสารสิทธิ์ หากเป็นบ้านก็มอบกุลแจ เปิดประตู (ไม่ปิดลอกอะไรไว้) อย่างนี้เป็นต้น

            ฮะดีษต่างๆ ที่กล่าวถึงแล้วนั้น เป็นหลักฐานชัดเจนว่าห้ามขายสินค้าหรือสิ่งใดๆ ที่ซื้อแล้วแต่ยังมิได้ครอบครองโดยสมบูรณ์ รวมถึงห้ามทำธุรกรรมใดๆ ต่อสิ่งที่ยังมิได้ครอบครองด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการขัดแย้ง โต้แย้ง หรือป้องกันความสูญเสียใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นการรักษาประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขายก็ตาม
ส่วนการยินยอมเลิกข้อตกลงซื้อขายนั้นปรากฏในฮะดีษดังนี้

مَنْ أَقَالَ مُسْلِمًا أَقَالَهُ اللَّهُ عَثْرَتَهُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ
“ผู้ใดยอมยกเลิก (การขาย) ต่อมุสลิม อัลลอฮ์ก็จะยกเลิกความลำบากของเขาในวันกิยามะห์” [12]

กรณีที่มีผู้ซื้อของหรือสินค้าไปแล้ว แต่ต้องการบอกเลิกการซื้อขายนั้น คือหลังจากที่การค้าขายเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว การบอกเลิกนี้จะมาจากสาเหตุใดก็แล้วแต่ หากผู้ขายยินยอมโดยไม่เรียกเก็บค่าเสียหายใดๆ จากผู้ซื้อ ท่านนบีบอกว่าในวันกิยามะห์อัลลอฮ์ก็จะผ่อนปรนความลำบากต่างๆ แก่เขา ดังนั้นหากผู้ใดต้องการคืนสินค้าหรือสิ่งที่ซื้อไปแล้ว ด้วยเหตุผลใดๆ ที่ไม่อาจนำมาเป็นเหตุยกเลิกการค้าขายนั้นได้ โปรดขอร้องพี่น้องของเขาด้วยการเจรจาที่ดีๆ ส่วนผู้ที่ถูกขอร้องหากไม่เสียหายจนเกินไปก็โปรดยินยอมยกเลิกการซื้อขายนั้นเสีย เพราะอย่างน้อยเขาก็จะได้รับการผ่อนปรนมิให้ลำบากนักในวันกิยามะห์ จากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

            สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นการกล่าวถึงข้อบัญญัติในเรื่องการซื้อขาย ซึ่งเป็นการกล่าวลักษณะสรุปเท่านั้น หากต้องการศึกษาละเอียดกว่านี้คงต้องเขียนเป็นตำราเล่มโต อย่างไรก็ดีสิ่งที่นำเสนอนี้มีประสงค์เพียงเป็นคู่มือการบรรยาย ผู้ที่สามารถจะเข้าใจได้ดีนั้นต้องฟังคำบรรยายด้วย เพราะมีคำหรือความหลายวรรคหลายตอน มีความหมายเฉพาะในวิชาฟิกห์ ดังนั้นผู้ใดอ่านแล้วเกิดข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจก็สามารถสอบถามได้ระหว่างการบรรยายหรือหลังบรรยายก็สุดแท้แต่ ผู้เขียนหวังว่าในโอกาสต่อๆ ไปหากมีผู้สนใจจะศึกษาลงลึกในรายละเอียด ผู้เขียนจะได้ทำเป็นตำราที่สมบูรณ์โดยมีรายละเอียดครบถ้วนมากกว่านี้ อินชาอัลลอฮ์


[1] มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1519, อัตติรมิซี อัลบุยั๊วอ์ / 1221, และท่านอื่นๆ

[2] อัลมุลัคค็อศ อัลฟิกฮี่ อัลเฟาซาน / 333

[3] ฮาชิยะตุรเราฎุ้ลมุร๊อบบะอ์ 4/434

[4] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2033, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1515, และท่านอื่นๆ

[5] อัลบัยฮะกี 5/349,ฮาฟิศอิรอกีกล่าวว่าเป็นสายรายงานทีดี ตัครีจญ์เอี๊ยห์ยาอ์ ฮะดีษที่ 1601, อัฏฏอบรอนี ฟิ้ลกะบีร

, อัลบานีกล่าวว่าเป็นรายงาน “ฎ่ออีฟ” 2/118

[6] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2019, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ 1526, และท่านอื่นๆ

[7] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2026, มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ 1526, และท่านอื่นๆ

[8] มุสลิม อัลบุยั๊วอ์ / 1525

[9] อัลบุคอรี อัลบุยั๊วอ์ / 2135, มุสิลม อัลบุยั๊วอ์ / 3815

[10] อะห์หมัด 3/402, อันนะซาอี่ อัลบุยั๊วอ์ / 4603

[11] อบูดาวูด บุยั๊วอ์ / 3499

[12] อบูดาวูด อัลบุยั๊วอ์ / 3460, อิบนุมาญะห์ อัตติญาร๊อต / 2199 (สำนวนนี้อยู่ในบันทึกของอิบนุมาญะห์), อะห์หมัด

2/252

............................................................................

สรุป บทบัญญัติเรื่องการซื้อขาย – مُلَخَّصُ كِتاَبِ الْبُيُوْعِ
รวบรวมและเรียบเรียง จากหนังสือ “อัลมุลักค๊อศอัลฟิกฮี่”
ของฟะฎีละตุ้ชเชค ศอและห์ อิบนุ เฟาซาน อัลเฟาซาน
(สมาชิกสภาอุละมาอาวุโส ประเทศซาอุดิอาราเบีย)
โดย อ.อิสฮาก พงษ์มณี แปลเรียบเรียง
จากเว็บ "เพื่อนร่วมเเนวทางสะลัฟ"





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น