อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กรณีไม่เห็นด้วยกับการจัดโต๊ะจีน




อธิบาย ปัญหาของโต๊ะจีน
เรียบเรียงโดย อิสฮาก พงษ์มณี
[วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558]

بسم الله الرحمن الرحيم

الحمد والصلاة والسلام علي رسول الله أما بعد

กล่าวนำ

ผม อิสฮาก พงษ์มณี ได้พูด เขียน และแสดงออก ต่างกรรมต่างวาระว่า ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบการหาเงินแบบโต๊ะจีนไม่ต่ำกว่าสิบปีมาแล้ว ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะมีประสงค์เพื่อหากำไรส่วนตัวหรือเพื่อส่วนรวม เพราะเห็นว่ามันเข้าข่ายข้อห้ามของศาสนาหลายประการ อาจมีคนเห็นด้วยกับผมหรือไม่ ผมก็มิได้ใส่ใจ เพราะจะให้ทุกคนเห็นเหมือนกันเราหมดคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นหากจะมีคนโต้แย้ง ไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ผู้โต้แย้งก็ต้องนำเสนอหลักการ เหตุผล ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนกว่า

เดิมทีนั้นยังไม่มีใครออกมาชี้แจ้งเป็นเรื่องเป็นราว แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็มีอาจารย์บางท่านออกมาชี้แจงว่าการขายโต๊ะจีนนั้นไม่ผิด โดยอ้างหลักการเหตุผลมาสนับสนุนหลายประการ ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ขที่จะมีคนไม่เห็นด้วย และก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะแสดงความเห็นต่าง ผมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนผู้อ่านหรือฟังก็มีสิทธิ์จะเลือกสิ่งที่ดี        ที่ถูกต้องให้แก่ตัวเอง หากสิ่งที่ผมชี้แจงนี้ท่านมองว่าไม่มีน้ำหนัก ไม่เข้าใจ สู้คนที่ท่านรักและนับถือไม่ได้ เพราะชัดเจนกว่า ดีกว่า เข้าใจง่ายกว่า แล้วท่านจะเลือกตามคนที่ท่านรักและนับถือ มันก็เป็นสิทธิ์ของท่านเช่นกัน ผมคงไม่สามารถจะไปห้ามใครได้

ผมว่าเป็นการดีด้วยซ้ำไปที่มีคนเห็นต่าง เพราะแต่ละฝ่ายจะได้นำเสนอข้อมูลหลักฐานแก่ผู้สนใจและรักความถูกต้องจะได้พิจารณา แต่ก็ต้องถามใจตัวเองด้วยว่าตนมั่นใจหรือไม่อย่างไรที่จะตามข้อมูลของใคร  ข้อมูลที่จะนำเสนอนี้คือสิ่งทำให้ผมมั่นใจว่าการซื้อขายลักษณะโต๊ะจีนนั้นผิดหลักการศาสนาแน่นอน ส่วนใครอ่านแล้วไม่เข้าใจ  ก็ไม่เป็นไร ท่านก็เชื่อตามสิ่งที่ท่านเข้าใจและพยายามศึกษาต่อไปให้เข้าใจ แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ยอมรับแล้วว่าผิด เราก็เลิกทำสิ่งผิดก็เท่านั้น

อิสฮาก พงษ์มณี
วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทำความเข้าใจเบื้องต้น “หลักพื้นฐานของธุรกรรม”

            เป็นที่ยอมรับและทราบในเชิงวิชาการว่า ธุรกรรมต่างๆ โดยพื้นฐานแล้วถือว่ากระทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นธุรกรรมนั้นขัดต่อหลักหนึ่งหลักใดในศาสนา ฉะนั้นผู้ใดจะทำธุรกรรมอะไร อย่างไร วิธีใด ศาสนามิได้ห้ามแต่อย่างใด ศาสนาเปิดให้ทำอย่างอิสระ แต่มีข้อแม้เพียงเล็กน้อยว่าต้องไม่ไปค้านต่อหลักหนึ่งหลักใดที่ศาสนากำหนดขึ้น ดังนั้นธุรกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ในยุคนี้จึงไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องไปตั้งข้อสังเกตหรือรังเกียจรังงอนอะไร เพราะศาสนาเปิดกว้างอยู่แล้ว ธุรกรรมนั้นๆ จะมีรูปแบบอย่างไร รายละเอียดอย่างไร ขั้นตอนอย่างไร จะมีผู้ร่วมกี่ฝ่าย จะจบลงอย่างไร ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ที่สำคัญคือมีขั้นตอน ข้อปลีกย่อย รายละเอียด หรือรูปแบบใดผิดหลักการหรือไม่เท่านั้น สรุปคือว่าต้องไม่มีข้อใดค้านกับหลักการศาสนา ธุรกรรมนั้นย่อมถือว่าถูกต้อง

ประเภทของเงื่อนไข (สำคัญมาก)

            เงื่อนไขต่างๆ ก็ให้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการจะตกลงกัน จะกี่ฝ่ายก็แล้วแต่ จะตั้งกันอย่างไร จะตกลงกันอย่างไร ไม่ใช่ปัญหา เพียงแต่เงื่อนไขนั้นๆ ต้องไม่ไปยกเลิกเงื่อนไขที่ศาสนากำหนด หรือไม่ไปค้านกับเนื้อหาหลักของธุรกรรมนั้น  ดังนั้นเราจึงเข้าใจข้อจำแนกของปราชญ์ที่แยกระหว่าง “เงื่อนไขของข้อตกลง” กับ “เงื่อนในข้อตกลง” เงื่อนไขของข้อตกลง ศาสนาเป็นผู้กำหนด ใครจะยกเลิกไม่ได้ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือจะลดหย่อนไม่ได้ ผิดกับเงื่อนไขในข้อตกลง ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ทำข้อตกลงกัน หากทั้งคู่    ตกลงยอมความกัน เห็นชอบกัน โดยเพิ่มหรือลดเงื่อนไขนั้นๆ ทั้งคู่ย่อมทำได้

            เรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะทั้งชาวบ้านและนักวิชาการบางส่วนสับสน นำเงื่อนไขทั้งสองประเภทมาปะปนกัน ผลที่ได้คือออกหุก่ม (ข้อตัดสิน) ว่าผิดหรือถูก ได้หรือไม่ได้) คลาดเคลื่อนไปหมด

            จะขอยกตัวอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง “เงื่อนไขของข้อตกลง” กับ “เงื่อนไขในข้อตกลง” ดังนี้

            เงื่อนไขของการซื้อขายทั่วไปมีหลายประการ เงื่อนไขเหล่านี้ได้มาจากหลักการที่ปรากฏในอัลกุรอ่าน อัซซุนนะห์ อัลอิจมาอ์ และอัลกิยาส เช่น ต้องพอใจทั้งสองฝ่าย คือผู้ซื้อผู้ขายต้องไม่ถูกบังคับขืนใจให้ทำธุรกรรม ยกเว้นกรณีศาลสั่งให้ขายทอดตลาดเพื่อนำไปชดใช้หนี้หรือเพื่อการอื่นที่จำเป็น เงื่อนไขนี้ได้จากอัลกุรอ่าน (อันนิซาอฺ อายะห์ที่ 29) สิ่งที่จะนำมาซื้อขายกันต้องไม่ใช่สิ่งต้องห้าม เช่น สุกร สุรา หรือสิ่งที่ขโมยมา เงื่อนไขนี้ได้จากซุนนะห์ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม (อัลบุคอรี 2283, อะห์หมัด 5982) สองตัวอย่างคงพอเพียงที่จะอธิบายถึงความของ “เงื่อนไขของข้อตกลง” ได้กล่าวแล้วว่า “เงื่อนไขของข้อตกลง” ศาสนาเป็นผู้กำหนด ใครก็ยกเลิกไม่ได้

            ส่วนเงื่อนไขในข้อตกลง เป็นเรื่องที่ผู้ตกลงจะกำหนดกันขึ้นเองโดยมีหลักว่า หนึ่งต้องไม่ไปยกเลิกเงื่อนไขที่ศาสนากำหนด สองต้องไม่เป็นปรปักษ์กับข้อตกลงนั้น เช่น ผู้ซื้อขายตกลงกันว่า ให้ผู้ขายนำส่งสินค้าให้ถึงมือผู้ซื้อ หรือให้ผู้ซื้อมารับสินค้าเอง หรือให้ผู้ขายจัดสินค้าไว้ในหีบห่อตามที่ตกลงไว้ อย่างนี้เป็นต้น หากเราพิจารณาแล้ว เงื่อนไขเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผู้ซื้อผู้ขายกำหนดกันขึ้นมาเอง ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเงื่อนไขที่ศาสนากำหนด เมื่อพิจารณาแล้วก็ไม่ค้านกับสิ่งที่ศาสนากำหนด เงื่อนไขเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่ผู้ซื้อหรือไม่ก็เป็นประโยชน์กับผู้ขายหรืออาจเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย อย่างนี้แหละที่เรียกว่า “เงื่อนในข้อตกลง” ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงกล่าวว่า

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ، قَالَ:قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: «الْمُسْلِمُونَ عَلَى شُرُوطِهِمْ» زَادَ أَحْمَدُ، «إِلاَّ صُلْحًا أَحَلَّ حَرَامًا، أَوْ حَرَّمَ حَلاَلاً»

มีรายงายจากอะบีฮุรอยเราะว่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า “บรรดามุสลิม(ต้องยึด)บน(ตาม)เงื่อนไขของพวกเขา(คือตามที่ได้ตกลงกัน)” ในสำนวนของ(อิหม่าม)อะห์หมัดเพิ่มเติมว่า “ยกเว้นข้อตกลงที่ทำให้สิ่งต้องห้ามเป็นอนุมัติหรือนุมัติสิ่งที่ต้องห้าม” (อะบูดาวูด  3594)

            ส่วนตัวอย่าง “เงื่อนไขในข้อตกลง” ที่เป็นปรปักษ์ต่อข้อตกลงเองคือ การซื้อขายคือการครอบครองสิทธิ์เต็ม เช่น เมื่อท่านซื้อนาฬิกาหรือสิ่งของใดๆ มาแล้ว สิ่งนั้นเป็นกรรมสิทธิ์เต็มของท่าน ท่านจะนำไปขายต่อ มอบให้ผู้อื่น หรือจะเก็บไว้ใช้เอง ก็เป็นสิทธิ์ของท่าน แต่ถ้าผู้ขายตั้งเงื่อนไขว่าอย่านำไปให้ใคร หรือห้ามเอาไปขายต่อ เงื่อนไขนี้ถือว่าเป็นปรปักษ์ต่อข้อตกลงซื้อขาย เพราะไปลดทอดสิทธิ์ของการซื้อ คือผู้ซื้อมีสิทธิ์เพียงครอบครองสินค้าเท่านั้น ไม่สามารถนำไปให้หรือขายผู้อื่นได้ ดังนั้นเงื่อนเช่นนี้ถือว่าเป็นปรปักษ์กับข้อตกลงซื้อขาย เงื่อนไขนี้จึงผิดและเป็นโมฆะ ส่วนว่าการซื้อขายนี้จะโมฆะด้วยหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพิจารณาต่างหากซึ่งนักวิชาการยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ แต่ที่แน่ๆ เงื่อนไขดังกล่าวเป็นโมฆะแน่นอนอย่างเอกฉันท์

            นี่คือพื้นฐานสำคัญที่จะเป็นบันใดพาไปสู่ความเข้าใจที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ธุรกรรมทางการเงินในสมัยนี้มีความซับซ้อนมาก หากไม่เข้าใจพื้นฐานต่างๆ แล้ว จะเกิดความสับสนยิ่ง ผมเองมิได้อ้างว่าเก่งกล้าสามารถเหนือกว่าผู้อื่นหรือรู้มากกว่าผู้อื่น เพียงแต่ผมให้ความสนใจในเรื่องนี้มายาวนาน ในเวลาหลายปีที่ผ่านมา พยายามศึกษาจากตำราเก่าๆ และบทความข้อเขียนใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธนาคารอิสลาม ธนาคารดอกเบี้ย อัลวะดีอะห์ (ฝากเงินหรือฝากของ) อัชชะริกะห์ (หุ้นส่วน) อัลมุฏอรอบะห์ (หุ่นส่วนชนิดหนึ่ง) อัลอัสฮุม (หุ้น) อัตตะมีน (ประกัน) อัลบุยู๊วอ์ (การซื้อขายรูปแบบต่างๆ) และอีกหลายๆ เรื่อง  เพราะผมถูกถามเกี่ยวกับการขายลดเช็ค เกี่ยวกับ”แชร์” ในรูปแบบต่างๆ เช่น แชร์ข้าวสาร แชร์ลูกโซ การขายตรง และคำถามเกี่ยวกับเรื่องหุ้น ผมไม่กล้าตอบเพราะความรู้ในเรื่องดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมไม่ ลุ่มลึก จึงต้องหันมาศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจัง

เรื่องการค้าขาย การเงิน การลงทุน หุ้น และธุรกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องเข้าใจยาก ศัพท์แสงก็ยาก  รูปแบบก็ซับซ้อน บางครั้งแม้อ่านภาษาไทยก็ยังเข้าใจยาก ดังนั้นผมจึงไม่รีบร้อนที่จะตอบเรื่องดังกล่าวจนกว่าจะมั่นใจว่าได้อ่านได้ศึกษาในประเด็นนั้นๆ อย่างละเอียด และผมก็ไม่ตำนิใครหากจะผิดพลาดในเรื่องนี้เพราะมันเป็นเรื่องยาก ขอแต่เพียงหากทราบว่าอะไรผิดอะไรถูกก็หันกลับมาสู่ความถูกต้องดีกว่า ไม่ดื้อหรือเบี่ยงเบนประเด็นต่างๆ เพื่อรักษาสภาพทางสังคมของตัวเองแม้จะผิดก็ตาม         เพราะนักวิชาการนั้นต้องมีผู้ตามไม่มากก็น้อย หากนักวิชาการผิด ผู้ตามก็ผิดตามไปด้วย และผู้ตามส่วนใหญ่คือชาวบ้านไม่อาจแยกแยะได้ว่าใครพูดผิดพูดถูก หลักการของชาวบ้านก็จะดูที่ใครพูดเก่ง พูดคล่อง ดูน่าเชื่อถือ หรืออาศัยจำนวนผู้เห็นด้วยไม่เห็นด้วยเป็นหลักในการตัดสินใจและก็เชื่อตามนั้น จะตำนิเขาก็ไม่ได้ จะไปโกรธเขาก็ไม่ได้ เพราะอย่างไรเสียพวกเขาก็คือคนไม่รู้

มีหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าผมอยากเด่นอยากดัง นักวิชาการท่านอื่นๆ ไม่เห็นมีใครเขาพูดหรือตำนิเลย มีเพียงคนๆ เดียวที่ค้านโน้นค้านนี่ ชี้โน่นชี้นี่ แน่นอนไม่มีใครรู้ความในใจของผมมากไปกว่าอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ต่อมาคือตัวผม หากผมพูดว่าผมไม่ได้อยากเด่นอยากดัง และผมมิใช่คนขวางโลก แต่ต้องการความถูกต้อง ต้องการให้นักวิชาการทั้งหลายหันมาศึกษาเรื่อง “มุอามะลาต” ให้มากยิ่งขึ้น เพราะส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่อง “อิบาดาต” เรื่อง “อะกีดะห์” เป็นหลัก และละเลยเรื่อง “อัลมุอามะลาต” ผู้อ่านจะเชื่อสิ่งที่ผมพูดหรือไม่ก็แล้วแต่ เพราะผมบังคับใครไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ได้พูดความในใจให้ทุกท่านได้รับทราบก็พอแล้ว ประโยชน์ใดๆ หากมีก็ขอมอบแด่ทุกท่านทั้งหลาย ส่วนบุญกุศลใดๆ ที่เกิดขึ้น แน่นอนผมขอต่ออัลลอฮ์ให้มีแด่ผมและทุกคนที่ช่วยให้ความรู้เหล่านี้ไปสู่ผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนทั้งหลาย หากผู้ใดจะกล่าวหาผมในสิ่งที่ผมไม่ได้เป็น ผมขออัลลอฮ์เมตตาคนเหล่านั้นและอภัยให้พวกเขา เพราะข้อกล่าวหาเหล่านั้น ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากความเข้าใจผิด เกิดขึ้นจากความรักในครูบาอาจารย์ที่เขารัก  เกิดขึ้นจากความรักในสถาบันที่เขาสังกัด แล้วเพราะจู่ๆ มีคนมาตำหนิว่าผิดโน่นผิดนี่ มันก็รับยากและทำใจยากจริงๆ ผมก็เห็นใจจึงไม่คิดเอาความผู้ใด เพียงแต่ขออย่างเดียวคืออย่าถึงกับให้ร้ายป้ายสีหรือด่าทอกันเสียๆ หายๆ ก็พอ ส่วนจะไม่เชื่อหรือไม่ตามก็ไม่เป็นไร เพราะแต่ละคนก็รักอิสระและรักความเป็นตัวของตัวเอง แต่ต้องไม่ละความพยายามที่จะศึกษาต่อไป

เมื่อเข้าใจพื้นฐานเช่นนี้แล้ว การศึกษาในรายละเอียดก็จะง่ายขึ้น  ดังนั้นเรามาเริ่มวิเคราะห์เรื่องโต๊ะจีนได้กันแล้วครับ

โต๊ะจีน

            เป็นชื่อการเลี้ยงอาหารแบบหนึ่งโดยมีโต๊ะกลมเพื่อใช้วางอาหาร อยู่ตรงกลางและมีเก้าอี้ลอมรอบโต๊ะกลมนั้น โดยทั่วไปจะมีจำนวนเก้าอี้ประมาณ 8-10 ตัว เพื่อรองรับผู้ที่จะร่วมรับประทานอาหาร ส่วนอาหารก็จะมีหลากหลายเมนู อย่างน้อยก็ต้องมีสี่ห้าเมนูขึ้นไปแล้วแต่สภาพการจัดเลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจัดเลี้ยงในวาระต่างๆ ผู้ที่มารับประทานก็ไม่ต้องเสียเงินเสียทองอะไร เพราะถูกเชิญมารับประทานฟรี

            ต่อมาได้มีการประยุคนำรูปแบบการจัดเลี้ยงดังกล่าวมาทำในเชิงธุรกิจเพื่อหากำไร  ส่วนกำไรที่ได้อาจเพื่อการกุศลหรือเข้ากระเป๋าใครก็แล้วแต่

ขั้นตอนการว่าจ้างและขายโต๊ะจีน

            รูปแบบง่ายๆ ที่ปฏิบัติกันคือ ผู้ขายโต๊ะจีนจะทำข้อตกลงกับผู้รับเหมาทำอาหาร โดยสั่งทำอาหารตามที่ต้องการ อาจคิดเป็นโต๊ะหรือคิดเป็นหัว (ที่นั่ง) ก็แล้วแต่ ข้อตกลงนี้เรียกตามหลักการศาสนาว่า “อัลอิศติศนาอฺ” แปลง่ายๆ ว่า “ว่าจ้างทำของ” ซึ่งต่างจากการว่าจ้างธรรมดาที่เรียกว่า “อัลอิญาเราะห์” เพราะว่าการว่าจ้างทำของจะรวมค่าจ้างและค่าของด้วย แต่การว่าจ้างธรรมดาจะมีก็แต่เพียงค่าแรงเท่านั้น ส่วนวัสดุ  ผู้ว่าจ้างต้องจัดหาให้ ทั้งสองข้อตกลงนั้นมีรายละเอียดเฉาะตัวที่ต้องศึกษา จะถูกจะผิดอย่างไรตามหลักการ ก็ต้องดูที่รายละเอียด แต่ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึง เพราะเป็นส่วนที่ยังมิได้มีการวิภาควิจารณ์อะไร

            เมื่อผู้ว่าจ้างทำอาหาร ได้ทำการตกลงกับผู้รับเหมาแล้ว ย่อมสามารถทราบต้นทุนของตัวเองว่าโต๊ะหนึ่งราคาเท่าไดหรือหัวละเท่าใด ดังนั้นผู้ว่าจ้างจะออกบัตรหรือตั๋วโดยกำหนดว่าจะเอากำไรหัวละเท่าใด เช่น ทุนตกหัวละสามร้อยบาท ก็บวกกำไรไปอีกสองร้อยบาท ดังนั้นราคาขายตามรายหัวคือห้าร้อยบาท อย่างนี้เป็นต้น    การขายจริงๆ ไม่ได้ขายเป็นรายหัวแต่จะขายเป็นโต๊ะ เช่น โต๊ะหนึ่งมีแปดที่นั่ง ดังนั้นราคาโต๊ะหนึ่งก็อยู่ที่สี่พันบาทหรือห้าพันบาท สาเหตุที่ต้องขายเป็นโต๊ะก็เพราะว่าต้องการให้ผู้ซื้อมาจากคนกลุ่มเดียวกันหรือครอบครัวเดียวกัน และต้องมาพร้อมๆ กัน ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาคนมาก่อนจะทานก่อน คนมาที่หลังไม่มีอะไรทาน

            ถ้าหากมองตามสภาพที่กล่าวนี้เราก็จะเห็นว่ามีข้อตกลงถึงสองขอตกลง และมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงสามฝ่าย คือฝ่ายที่หนึ่งคือผู้ค้าโต๊ะจีน(ผู้ว่าจ้างทำอาหาร) ฝ่ายที่สองคือผู้ทำโต๊ะจีน (ผู้รับจ้างทำอาหาร) และฝ่ายที่สามคือผู้ซื้อโต๊ะจีน( ผู้ซื้อบัตรหรือตั๋วเพื่อทานอาหาร)

ข้อตกลงระหว่างผู้ขายโต๊ะจีนกับผู้ซื้อโต๊ะจีน

            ข้อตกระหว่างสองฝ่ายนี้คือข้อตกลงซื้อขาย คือฝ่ายหนึ่งเป็นพ่อค้าและอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกค้า สองเป็นการซื้อขายอาหาร สามเป็นการซื้อขายอาหารล่วงหน้า

            ในเมื่อข้อตกลงดังกล่าวเป็นการซื้อขาย ฉะนั้นก็ต้องนำเงื่อนไขของการซื้อขายมาบังคับใช้ จะไปนำเงื่อนไขเรื่องอื่นมาบังคับใช้ไม่ได้ เพราะแต่ธุระกรรมจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป  เงื่อนไขของธุรกรรมใดๆ นี้ ไม่มีใครมีสิทธิ์จะกำหนดขึ้นได้เอง หากผู้ใดระบุเงื่อนไขขึ้นมา เขาก็ต้องอ้างหลักการจากกิตาบุลลอฺ์ ซุนนะห์ อิจมาอฺ หรือกิยาสที่ถูกต้องเป็นหลัก

            ในเรื่องเงื่อนไขนี้ นักวิชาการได้แบ่งเงื่อนไขออกเป็นสองปรเภทคือ “เงื่อนไขของ” และ “เงื่อนไขใน” เช่น เงื่อนไขของการซื้อขายและเงื่อนไขในการซื้อขาย เงื่อนไขของการซื้อขายไม่มีใครมีสิทธิ์กำหนดเองได้ ศาสนาเท่านั้นกำหนดให้ แต่ถ้าเป็นเงื่อนไขในการซื้อขาย ศาสนาอนุญาตให้ผู้ซื้อผู้ขายหรือคู่สัญญากำหนดกันขึ้นมาเอง แต่มี    ข้อแม้ว่าต้องไม่ไปค้านหรือยกเลิกเงื่อนไขที่ศาสนากำหนด เรื่องนี้มีรายละเอียดที่จะต้องศึกษา ในที่นี้ขอกล่าวพอสังเขปแค่นี้ก่อน

            การซื้อขายมีหลายรูปแบบ เช่น สด ผ่อน ล่วงหน้า การซื้อขายแต่ละรูปแบบ     มีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปและก็มีเงื่อนไปที่แตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน

            ในที่นี้จะขอกล่าวแต่เพียงการซื้อขายอาหารและเป็นการซื้อขายล่วงหน้าเท่านั้น เพื่อไม่ให้เสียเวลากับผู้อ่านที่ต้องไปอ่านเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง

การขายโต๊ะจีนลักษณะข้างต้นผิดหลักการหรือไม่

            สำหรับผู้เขียน เห็นว่าการขายโต๊ะจีนดังที่กล่าวแล้วผิดหลักการศาสนาหลายประการดังนี้

ความผิดที่หนึ่ง

            เป็นการขายอาหารโดยที่ผู้ขายยังมิได้อาหารนั้นมาอย่างครบถ้วน  ท่าน นบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามการซื้อขายลักษณะดังกล่าวไว้ชัดเจนดังนี้

عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ، أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ: «مَنِ ابْتَاعَ طَعَامًا فَلاَ يَبِعْهُ حَتَّى يَسْتَوْفِيَهُ»، قَالَ ابْنُ عَبَّاسٍ: وَأَحْسِبُ كُلَّ شَيْءٍ مِثْلَهُ

มีรายงานจากอิบนุอับบาสว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า ” ผู้ใดซื้ออาหารมา ก็จงอย่าขายอาหารนั้นจนกว่าจะได้อาหารนั้นมาจนครบถ้วนก่อน” ท่านอิบนุ อับบาสกกล่าวว่า “ฉันเห็นว่าทุกอย่างก็เหมือนอาหาร”  อัลบุคอรี (2136) มุสลิม (1525) ในสำนวนการบันทึกของอัลบุคอรีมีว่า

عَنِ ابْنِ عُمَرَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا: أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، قَالَ: «مَنِ ابْتَاعَ طَعَامًا فَلاَ يَبِعْهُ حَتَّى يَسْتَوْفِيَهُ»، زَادَ إِسْمَاعِيلُ: «مَنِ ابْتَاعَ طَعَامًا فَلاَ يَبِعْهُ حَتَّى يَقْبِضَهُ»

มีรายงานจาก อิบนุอุมัร ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า ” ผู้ใดซื้ออาหารมา ก็จงอย่าขายอาหารนั้นจนกว่าจะได้อาหารนั้นมาจนครบถ้วนก่อน” ในสำนวนของอิสอาอีลมีสำนวนเพิ่มว่า ” ผู้ใดซื้ออาหารมา ก็จงอย่าขายอาหารนั้นจนกว่าจะได้ครอบครองอาหารนั้นก่อน”   อัลบุคอรี (2136)

ส่วนคำว่าอาหารที่กล่าวนี้หากดูตามนิยามโดยทั่วไปของนักวิชาการแล้วจะหมายถึงสิ่งใดๆก็ตามที่ใช้บริโภคหรือเก็บไว้บริโภค เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาเล่ห์ และอินทผลัม (อัลเมาซูอะห์ อัลฟิกฮียะห์ อธิบายคำว่า ” أطعمة” เล่ม 5 หน้า 123           อัลมักตะบะห์ อัชชามิละห์)  ไม่ว่าจะปรุงสุกแล้วหรือไม่ก็ตาม

            อิบนุลมุนซิรกล่าวว่า

وَقَالَ ابْنُ الْمُنْذِرِ: أَجْمَعَ أَهْلُ الْعِلْمِ عَلَى أَنَّ مَنْ اشْتَرَى طَعَامًا فَلَيْسَ لَهُ أَنْ يَبِيعَهُ حَتَّى يَسْتَوْفِيَهُ، وَلَوْ دَخَلَ فِي ضَمَانِ الْمُشْتَرِي جَازَ لَهُ بَيْعُهُ وَالتَّصَرُّفُ فِيهِ، كَمَا بَعْدَ الْقَبْضِ

“นักวิชาการต่างมีมติเอกฉันท์ว่า ผู้ใดก็ตามซื้ออาหารมา เขาจะนำอาหารนั้นไปขายต่อไม่ได้ จนกว่าจะได้อาหารนั้นมาอย่างครบถ้วนก่อน และหากอาหารนั้นมาอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ซื้อแล้ว จึงจะสามารถนำไปขายได้หรือจัดการใดๆ ได้ เฉกเช่นหลังการครอบครอง” ( อัลมุฆนี ของอิบนุกุดามะห์ เล่ม 4 หน้า 83 – อัลมักตะบะห์ อัชชามิละห์)

การขายโต๊ะจีนคือการขายอาหารที่ผู้ขายซื้อมาจากผู้อื่น(ผู้รับเหมาทำอาหาร) และยังมิได้อาหารนั้นมาอย่างครอบถ้วน แต่กลับนำเอาไปขายผ่านทางบัตรโต๊ะจีน ไม่ว่าผู้ขายจะเลี่ยงอย่างไร ผู้ซื้อจะหลบอย่างไร ก็หนีไม่พ้นข้อห้ามตามฮะดีษข้างต้นนี้

ความผิดที่สอง

            เป็นการขายสิ่งที่ยังไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ขาย เช่น สินค้าอาจจะยังไม่แล้วเสร็จ ส่งมาไม่ถึง อยู่ระหว่างการส่งมอบ อย่างนี้เป็นต้น  ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามทำกำไรจากสิ่งที่ยังมิได้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ขาย

(753) – وَعَنْ عَمْرِو بْنِ شُعَيْبٍ عَنْ أَبِيهِ عَنْ جَدِّهِ – رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا – قَالَ: قَالَ رَسُولُ اللَّهِ – صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ … وَلاَ رِبْحُ مَا لَمْ يَضْمَنْ، …» رَوَاهُ الْخَمْسَةُ، وَصَحَّحَهُ التِّرْمِذِيُّ وَابْنُ خُزَيْمَةَ وَالْحَاكِمُ

รายงานจากอัมร์ อิบนุ ชุอัยบ์ จาบิดาท่าน จากปู่ของท่าน ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า “… และต้องไม่เอากำไรจากสิ่งยังไม่อยู่ในความรับผิดชอบ” ทักทึกโดยห้าท่าน อิหม่ามติรมิซีย์ อิบนุ คุซัยมะห์ และอัลฮาเกม บอกว่าเป็นฮะดีษ ศ่อเฮี้ยห์ (สุบุลุสสลาม เล่ม 2 หน้า 21 อัลมักตะบะห์ อัชชามิละห์)

            คำว่าต้องไม่เอากำไรนี้ หมายถึงต้องไม่นำไปขายเอากำไรหากว่าผู้ขายยังมิต้องรับผิดชอบสิ้นค้านั้นๆ เช่น ยังไม่ได้รับสินค้า สินค้ายังส่งมาไม่ถึง สินค้ายังอยู่ที่ผู้ขายคนแรก ฯลฯ เพราะหากเกิดการเสียหาย ผู้ขายคนแรกยังต้องรับผิดขอบในสินค้านั้นอยู่ ผู้ซื้อที่เป็นพ่อค้าที่จะนำสินค้าไปขายต่อยังไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ผู้ขายโต๊ะจีนแม้จะ    ตกลงสั่งทำอาหารเรียบร้อยแล้ว แต่ตัวเองยังไม่ได้รับสินค้านั้นมา หากเกิดความเสียหาย ผู้รับทำอาหารต้องรับผิดขอบแต่ผู้เดียว ปลาเน่า แกงบูด ผักแห้ง แกงหก  ความรับผิดชอบเหล่านี้ยังอยู่ที่ผู้รับทำอาหาร หากผู้ขายโต๊ะจีนยังมิได้รับอาหารนั้นมา เขาก็ยังไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายเหล่านั้น ในเมื่อยังมิใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อความเสียหายนั้น ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัลฮิวะซัลลัม จึงห้ามมิให้นำเอาไปขาย เอากำไร

            ผู้ว่าจ้างหรือสั่งทำอาหารก็คือผู้ออกตั๋วหรือบัตรเพื่อขายโต๊ะจีนนี้ ในขณะที่เขาออกตั๋วหรือบัตรโต๊ะจีน เขายังไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่ออาหารที่สั่งทำ เพราะมิได้อยู่ในการครอบครองของเขา แม้ว่าสิทธิ์ในอาหารนั้นจะเป็นของเขาแล้วหลักจากที่ได้ทำข้อตกลงกับผู้รับเหมาทำอาหาร ดังนั้นการที่เขานำสิ่งที่เขายังไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ไปขายต่อ เป็นความผิดต่ามที่ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามไว้ชัดเจน

ความผิดที่สาม

            หากนำเรื่องการขายโต๊ะจีนไปโยงกับการซื้อขายล่วงหน้าที่เรียกว่า “ซะลัม-หรือ-ซะลัฟ” แล้ว จะเกิดความผิดอีกหลายประการดังนี้

            หนึ่งการซื้อขายล่วงหน้า “ซะลัม หรือ ซะลัฟ” นั้น มีเงื่อนไขมากมาย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องเท่านั้น การซื้อขายลักษณะดังกล่าวต้องระบุสิ่งที่จะซื้อขายนั้นให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ตั้งเงื่อนไขว่า

عَنِ ابْنِ عَبَّاسٍ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا، قَالَ: قَدِمَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ المَدِينَةَ وَهُمْ يُسْلِفُونَ بِالتَّمْرِ السَّنَتَيْنِ وَالثَّلاَثَ، فَقَالَ: «مَنْ أَسْلَفَ فِي شَيْءٍ، فَفِي كَيْلٍ مَعْلُومٍ، وَوَزْنٍ مَعْلُومٍ، إِلَى أَجَلٍ مَعْلُومٍ»

มีรายงานจากอิบนุ อับบาส ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า ท่านได้กล่าวไว้ว่า ท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมาถึงเมืองอัลมะดีนะห์ มีชาวเมือง(บางส่วน) ทำการซื้อขายอินทผลัมลักษณะ “ซะลัฟ-ซื้อขายล่วงหน้า” เป็นเวลาสองปีและสามปี ท่าน (นบี) จึงได้กล่าวว่า “ผู้ใดซื้อขายสิ่งใดในลักษณะล่วงหน้า ก็จง(ระบุ) ในการตวงที่จัดเจน ในการชั่งที่ชัดเจน และในเวลา (ส่งมอบ) ที่ชัดเจน”  (อัลบุคอรี 2240 มุสลิม 1604 อัลมักตะบะห์ อัชชามิละห์)

            นักวิชาการเห็นว่าการชั่งก็ดีก็ตวงก็ดีเป็นเพียงตัวอย่างเพื่อระบุความชัดเจน เพราะสิ่งของบางอย่างอาจใช้การนับหรือการวัดเป็นหลัก ก็ให้ใช้หลักดังกล่าวเพื่อระบุความชัดเจน ท่านอิหม่ามนะวาวีกล่าวอธิบายว่า

فِيهِ جَوَازُ السَّلَمِ وَأَنَّهُ يُشْتَرَطُ أَنْ يَكُونَ قَدْرُهُ مَعْلُومًا بِكَيْلٍ أَوْ وَزْنٍ أَوْ غَيْرِهِمَا مِمَّا يُضْبَطُ بِهِ فَإِنْ كَانَ مَذْرُوعًا كَالثَّوْبِ اشْتُرِطَ ذِكْرُ ذُرْعَانٍ مَعْلُومَةٍ وَإِنْ كَانَ مَعْدُودًا كَالْحَيَوَانِ اشْتُرِطَ ذِكْرُ عَدَدٍ مَعْلُومٍ

“ในฮะดีษข้างต้น (มีเนื้อหาระบุว่า) อนุญาต “ให้ซื้อขายล่างหน้าลักษณะซะลัมได้  โดยมีเงื่อนไขว่าปริมาณต้องชัดเจนด้วยการตวง ชั่ง หรือด้วยวิธีอื่นที่สามารถกำหนดความชัดเจนได้ หาก (ซื้อขาย) ด้วยการวัดเป็นศอกอย่างเสื้อผ้า ก็ต้องระบุปริมาณศอกให้ชัดเจน หรือถ้าใช้การนับขายอย่างสัตว์ ก็ต้องระบุจำนวนให้ชัดเจน” (ชัรฮุ้ลนะวาวี อะลามุสลิม เล่ม 11 หน้า 41 อัลมักตะบะห์ อัชชามิละห์)

นอกเหนือจากนั้น  นักวิชาการระบุว่าความชัดเจนนี้ยังรวมถึงประเภท ชนิด และคุณสมบัติของสินค้าอีกด้วย ท่านอิหม่ามนะวาวีกล่าวว่า

وقد اتفق الائمة – ما عدا ابن المسيب – على أن السلم يصح بستة شروط أن يكون في جنس معلوم، بصفة معلومة وبقدر معلوم وبأجل معلوم، ومعرفة مقدار رأس المال، وتسمية مكان التسليم

“นักวิชาการทั้งหลายเห็นพ้องกันยกเว้นท่านอิบนุมุซัยยับ ว่า “การซื้อขายลักษณะซะลัม (ซื้อขายล่วงหน้า) นั้นจะถูกต้องได้ต้องครบเงื่อนไขหกประการคือ (ต้องระบุ) ประเภทให้ชัดเจน คุณสมบัติต้องชัดเจน ปริมาณต้องชัดเจน เวลา (ส่งมอบ) ต้องชัดเจน เงินต้นทุนต้องชัดเจน สถานที่ส่งมอบต้องชัดเจน” (อัลมัจมู๊วอ์ ชัรฮุ้ลมุอัซซับ ของท่านอิมหม่ามนะวาวี เล่ม 13 หน้า 95 อัลมักตะบะห์ อัชชามิละห์)

            การอ้างว่าโต๊ะจีนมีปริมาณอาหาร คุณภาพอาหาร และประเภทของอาหารชัดเจนดีระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ โดยอนุมานจากการทำกันมานานและจากหลายๆ ที่  เป็นขออ้างที่ห่างไกลความจริงและเป็นการทึกทักเอาเอง เพราะบางที่ก็มีการบ่นว่าน้อย บางที่ก็บ่นว่าคุณภาพไม่ดี บางที่ก็บ่นว่าเสีย นี้คือความจริงที่เกิดขึ้น ฉะนั้น การอ้างประเพณีที่ปฏิบัติกันแม้จะใช้ได้ในบางกรณี แต่ในกรณีนี้ไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้ เพราะมีตัวบทระบุว่าต้องชัดเจน โดยมีตัวอย่างให้เห็น เช่น การตวงและการชั่ง การอ้างถึงประเพณีปฏิบัตินั้นอาจอ้างได้ในกรณีที่ไม่มีตัวบทตรงๆ ระบุไว้        ภาษาวิชาการเรียกว่า “อัลอุรฟ์” เราจึงสามารถกล่าวได้ว่าอาหารโต๊ะจีนเป็นที่ทราบกันโดยอนุมานกันเอง ทึกทักเองว่าชัดเจน แต่ไม่สามารถทราบโดยละเอียดได้ว่า เป็นชนิดไดบ้าง มีปริมาณเท่าใดบ้าง และมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง เรียกว่าเป็นความชัดเจนส่วนตัวไม่ใช่ชัดเจนตามหลักการศาสนา นี้แหละที่เรียกว่าผิดหลายประการ

            ท่านอิบนุกุดามะห์กล่าวว่า

وَالأَوْصَافُ عَلَى ضَرْبَيْنِ: مُتَّفَقٌ عَلَى اشْتِرَاطِهَا، وَمُخْتَلَفٌ فِيهَا فَالْمُتَّفَقُ عَلَيْهَا ثَلاَثَةُ أَوْصَافٍ؛ الْجِنْسُ، وَالنَّوْعُ، وَالْجَوْدَةُ وَالرَّدَاءَةُ. فَهَذِهِ لاَ بُدَّ مِنْهَا فِي كُلّ مُسْلَمٍ فِيهِ. وَلاَ نَعْلَمُ بَيْنَ أَهْلِ الْعِلْمِ خِلاَفًا فِي اشْتِرَاطِهَا. وَبِهِ يَقُولُ أَبُو حَنِيفَةَ، وَمَالِكٌ، وَالشَّافِعِيُّ.

“คุณสมบัติ (ที่ต้องระบุในการซื้อขายล่วงหน้านั้น) มีสองประเภทคือ ที่เห็นพ้องต้องกัน (ไม่มีข้อขัดแย้งในหมู่ปวงปราชญ์) สองที่เห็นขัดแย้งกัน ที่เห็นตรงกันนี้มีสามคุณสมบัติคือ ประเภท ชนิด และดีหรือเลว ทั้งสามประการนี้จำเป็นอย่างยิ่ง (ที่จะต้องระบุให้ชัดเจน) สำหรับสิ่งที่จะซื้อขายล่วงหน้า เท่าที่ทราบเรื่องนี้ไม่มีข้อขัดแย้งในหมู่ปวงปราชญ์ว่าจะต้องมีเงื่อนไขเหล่านี้ ซึ่งเป็นทัศนะของ อะบูฮะนีฟะห์ มาลิก อัชชาฟิอีย์ และ(อะห์หมัด)” (อัลมุฆนี ลิบนิกุดามะห์ เล่ม 4 หน้า 211 / อัลมัตตะบะห์ อัชชามิละห์)

ความผิดที่สี่

            ผู้ขายโต๊ะจีนส่วนใหญ่มิใช่ผู้ทำอาหารเอง แต่จะเป็นผู้ไปว่าจ้างผู้รับเหมาทำอาหารอีกทอดหนึ่ง ความจริงข้อนี้ใครคงปฏิเสธไม่ได้

            การสั่งทำอาหารลักษณะดังกล่าวเป็นข้อตกลงลักษณะ “อัลอิศติศนาอ์” หรือแปลให้เข้าใจคือ ว่าจ้างทำของ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากการซื้อขายทั่วไป เพราะรวมเอาลักษณะธุรกรรมสองอย่างไว้ด้วยกันคือ “ว่าจ้างและซื้อขายล่วงหน้า” ฉะนั้นเท่ากับว่า “ผู้ว่าจ้างทำอาหาร-ผู้ขายโต๊ะจีน” ได้ทำธุรกรรมซื้อขายล่วงหน้ากับผู้ทำอาหาร การนำสิ่งที่ซื้อขายล่วงหน้ามาขายต่อก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องศึกษาและพิจารณา  ซึ่งนักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันเล็กน้อยดังนี้

            ปวงปราชญ์ส่วนใหญ่จากมัซฮับฮะนะฟี ชาฟิอีย์ และฮัมบาลีต่างเห็นพ้องกันว่าไม่ถูกต้องหรือไม่เศาะห์ ที่จะนำสิ่งที่ซื้อขายล่วงหน้า (ซึ่งมีเพียงสิทธิ์) นั้นไปขายต่อก่อนที่จะได้รับหรือครอบครองสิ่งนั้น ส่วนในมัซฮับมาลิกและริวายะห์หนึ่งจากอะห์หมัด บอกว่าสามารถนำไปขายได้ โดยชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะห์ยืนยันว่า(ข้อวินิจฉัยนี้)ถูกต้องกว่า แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่ขายเกินราคาที่สั่งทำ “คือต้องเท่าทุนหรือต่ำกว่าทุน”  จะนำมาขายเอากำไรไม่ได้  (อัลเมาซูอะห์ อัลฟิกฮียะห์ เล่ม 21 หน้า 129 /               อัลมักตะบะห์ อัชชามิละห์)

ที่ว่านำมาขายต่อได้นี้คือต้องไม่นำมาขายเอากำไร เพราะผู้ขายแม้จะมีสิทธิ์ในสิ่งที่สั่งทำนั้น แต่ก็ยังมิได้ครอบครอง และหากขายสิทธิ์ที่มีเพื่อเอากำไร ก็จะเข้าข่ายข้อห้ามขายสิ่งที่ยังมิได้อยู่ในความรับผิดชอบของตนแล้วทำกำไรจากสิ่งนั้น  ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ดังนั้นผู้ขายโต๊ะจีนก็คือผู้ขายสิ่งที่ยังมิได้อยู่ในความรับผิดชอบของตนนั่นเองแล้วนำมาขายเอากำไร

ตัวอย่างตั๋วหรือบัตรหรือตั๋วอาหารในยุคอดีต

บัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนที่นำมาขายนี้ ใกล้เคียงกับบัตรหรือตั๋วที่มีการออกให้ชาวบ้านในยุคของท่านมัรวาน อิบนุล ฮิกัม ผู้เป็นเจ้าเมื่องมะดีนะห์มุเนาวะเราะห์ ในสมัยท่าน  มุอาวิยะห์ อิบนุ อะบีซุฟยาน คือทางการได้ออกบัตรหรือตั๋วหรือตั๋วให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อนนำไปขึ้นอาหารจากคลังของทางการ ปรากฏว่าประชาชนบางส่วนได้นำบัตรหรือตั๋วหรือตั๋วดังกล่าวไปขายต่อ เมื่อความนี้ทราบถึงศ่อฮาบะห์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในยุคนั้น เช่น อะบูฮุรอยเราะห์และซัยด์ อิบนุ ษาบิต ท่านอะบูฮุรอยเราะห์ จึงรีดรุดเข้าพบเจ้าเมือง และทักท้วงดังนี้

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ، أَنَّهُ قَالَ لِمَرْوَانَ: أَحْلَلْتَ بَيْعَ الرِّبَا، فَقَالَ مَرْوَانُ: مَا فَعَلْتُ؟ فَقَالَ أَبُو هُرَيْرَةَ: «أَحْلَلْتَ بَيْعَ الصِّكَاكِ، وَقَدْ نَهَى رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ بَيْعِ الطَّعَامِ حَتَّى يُسْتَوْفَى»، قَالَ: فَخَطَبَ مَرْوَانُ النَّاسَ، «فَنَهَى عَنْ بَيْعِهَا»، قَالَ سُلَيْمَانُ: فَنَظَرْتُ إِلَى حَرَسٍ يَأْخُذُونَهَا مِنْ أَيْدِي النَّاسِ

จากท่านอบีฮุรอยเราะห์ว่า ท่านได้กล่าวแก่ท่านมัรวานว่า “ท่านอนุญาตให้ซื้อขายลักษณะดอกเบี้ยกระนั้นหรือ” ท่านมัรวานตอบว่า “ฉันมิได้ทำ(ตามที่ท่านว่าแต่อย่างใด)” ท่านอะบูฮุรอยเราะห์จึงได้กล่าว “ท่านอนุญาตให้ขายบัตรหรือตั๋ว (แลกอาหาร) ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามมิให้ขายอาหารจนกว่าจะได้อาหารมาครบถ้วนเสียก่อน” ท่านมัรวารจึงปราศรัยกับประชาชนพร้อมห้ามมิให้ซื้อขายบัตรหรือตั๋วนั้น ท่านสุไลมานกล่าวว่า ฉันเห็นเจ้าหน้าที่ยึดคืนบัตรหรือตั๋วดังกล่าวคืนจากประชาชน” (บันทึกโดยมุสลิม 1528  อัลมักตะบะห์ อัชชามิละห์)

            และดูจะใกล้เคียงบัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนมาก หรือจะเรียกว่าเหมือนกันเลยก็ว่าได้ คือที่ปรากฏในบันทึกของอิหม่ามอะห์หมัด ดังนี้

عَنْ سُلَيْمَانَ بْنِ يَسَارٍ، أَنَّ صِكَاكَ التُّجَّارِ خَرَجَتْ، فَاسْتَأْذَنَ التُّجَّارُ مَرْوَانَ فِي بَيْعِهَا، فَأَذِنَ لَهُمْ، فَدَخَلَ أَبُو هُرَيْرَةَ عَلَيْهِ، فَقَالَ لَهُ: ” أَذِنْتَ فِي بَيْعِ الرِّبَا وَقَدْ نَهَى رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَنْ يُشْتَرَى الطَّعَامُ ثُمَّ يُبَاعَ حَتَّى يُسْتَوْفَى ” قَالَ سُلَيْمَانُ: ” فَرَأَيْتُ مَرْوَانَ بَعَثَ الْحَرَسَ، فَجَعَلُوا يَنْتَزِعُونَ الصِّكَاكَ مِنْ أَيْدِي مَنْ لاَ يَتَحَرَّجُ مِنْهُمْ “

มีรายจากสุไลมาน อิบนุ ยะซารว่า “บัตรหรือตั๋ว (แลกอาหาร) ของพ่อค้าปรากฏขึ้น โดยพวกพ่อค้าขออนุญาตท่านมัรวาน (เจ้าเมืองมะดีนะห์) ขายบัตรหรือตั๋วดังกล่าว ท่านมัรวานก็ได้อนุมัติให้ขายบัตรหรือตั๋วดังกล่าว ท่านอะบูฮุรอยเราะห์จึงเข้าพบเขาและกล่าวแก่เขาว่า “ท่านอนุญาตให้ขายลักษณะดอกเบี้ย ที่จริงแล้วท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลออุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามซื้ออาหารแล้วนำไปขายหากยังมิได้ (รับอาหารนั้น) มาอย่างครบถ้วน” ฉันเห็นท่านมัรวานส่งเจ้าหน้าที่ไปริบเก็บตั๋วจากมือของผู้ไม่เดือดร้อน (มุสนัดอิหม่ามอะห์หมัด เล่ม 14 หน้า 101 ฮะดีษที่ 8365 / อัลมักตะบะห์ อัชชามิละห์)

            ส่วนรายงานของท่านซัยด์ อิบนุ ษาบิต นั้นอยู่ในมุวัฏเฏาะห์ ของอิหม่ามมาลิก เล่ม 2 หน้าที่ 641 ซึ่งมีขอความใกล้เคียงกัน จึงขอจะไม่กล่าวถึง

เรื่องขายบัตรหรือตั๋วอาหารนี้ นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันเล็กน้อยดังนี้

หนึ่งผู้รับบัตรหรือตั๋วมาจากรัฐ สามารถนำบัตรหรือตั๋วไปขายต่อได้ เพราะได้มาจากรัฐและได้มาฟรีๆ โดยมิได้มีอะไรแลกเปลี่ยน แต่ถ้าผู้ใดได้บัตรหรือตั๋วมาโดยซื้อขาย ห้ามมิให้นำไปขายต่อ ก่อนที่จะได้อาหารนั้นมาอย่างครบถ้วน ข้อวินิจฉัยนี้เป็นของ อิหม่ามชาฟิอีย์และมาลิก

สองห้ามนำบัตรหรือตั๋วไปซื้อขายในทุกรณี ไม่ว่าจะได้มาจากรัฐโดยการได้มาเปล่าๆ หรือซื้อมาก็ตาม ข้อวินิจฉัยนี้เป็นของอิหม่ามอะห์หมัด (อัลมุนตะกอ ของ       อัลบายี่ เล่มสี่ หน้า 248, ฮาชียะตุ ดะซูกีย์ เล่ม 3 หน้า 515, อัลก่อวาเอ็ด ของ อิบนุ ร่อญับ หน้า 84, และอัลมัจมูวอ์ เล่ม 9 หน้า 328 หรือดู http://islamqa.info/ar/98713 )

ในกรณีที่อาจมีคนอ้างว่าชัยคุลอิสลามและอิบนุกอยยิม เห็นด้วยกับทัศนะแรกนั้น ก็ขอเรียนว่าท่านได้ตั้งเงื่อนไขในการขายต่อไว้ชัดเจนว่าต้องไม่นำไปขายเอากำไร คือสามารถขายเท่าทุนหรือต่ำกว่าทุนเท่านั้น เพราะหากนำไปทำกำไร ก็เท่ากับนำสิ่งที่มิได้อยู่ในความรับผิดชอบของตนไปค้ากำไร ซึ่งผิดชัดเจนตามฮะดีษศ่อเฮี้ยห์ที่กล่าวแล้ว

และหากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่า นักวิชาการเห็นพ้องต้องกันว่าหากบัตรหรือตั๋วอาหารนั้นได้มาโดยมีสิ่งแลกเปลี่ยน คือมิได้มาฟรีๆ ห้ามนำไปขายเอากำไรเด็ดขาด

อาหารลักษณะโต๊ะจีนหาใช่ได้มาฟรีๆ  แต่ต้องจ่ายเงินให้กับผู้ขายอาหารหรือผู้ทำอาหารขาย หรือผู้เหมารับทำอาหารอะไรก็สุดแท้แต่  และผู้นำบัตรหรือตั๋วอาหารลักษณะโต๊ะจีนมาขาย มีสภาพเป็นพ่อค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนว่ากำไรจะนำไปไหน ทำอะไร ให้ใคร นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง จะนำมากล่าวอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับธุกรรมนี้ไม่ได้

สรุปสิ่งที่กล่าวมา

เท่าที่กล่าวมานี้น่าจะพอเพียงเพื่อยืนยันว่า การซื้อขายโต๊ะจีนนั้นไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนา แต่ถ้าผู้ใดเห็นต่างก็ย่อมเป็นสิทธิ์ของคนนั้น ผมคงไม่อาจไปบังคับให้ใครเชื่อตามได้ และหากมีใครจะโต้แย้งก็ย่อมเป็นสิทธิ์ของเขาเช่นกัน ผมคงไม่อาจไปปิดกั้นได้ ส่วนชาวบ้านที่ไม่ใช่นักวิชาการก็มีอิสระที่จะเลือกสิ่งที่ตนเห็นว่าดีว่าถูกต้องให้แก่ตัวเอง หากท่านเห็นว่าหลักฐานและหลักการที่ผมนำเสนอนี้ ฟังไม่ขึ้น คนละเรื่อง ไม่มีน้ำหนัก ไม่เข้าท่า ก็ย่อมเป็นสิทธิ์ของท่านเช่นกัน ที่จะปฏิเสธสิ่งที่ผมนำเสนอ  การปฏิบัติศาสนาขึ้นอยู่กับความรู้และความบริสุทธิ์ใจ ทุกคนย่อมทำตามที่ตนรู้และเข้าใจ ผมไม่บังอาจไปวิภาควิจารณ์เจตนาของใครได้ เพราะเป็นเรื่องภายในจิตใจ ถูกผิดชั่วดี ตัวเราย่อมเป็นผู้ตัดสินใจเอง ไม่มีใครมาบังคับได้

ข้ออ้างต่างๆ เท่าที่รวบรวมได้

            คือข้ออ้างต่างๆ ของฝ่ายที่เห็นว่าสามารถซื้อขายลักษณะโต๊ะจีนได้ เดิมทีนั้นหาได้มีคำชี้แจงใดๆ อย่างเป็นทางการจากฝ่ายใดไม่ จะได้ยินก็แต่พูดกันในวงเล็กๆ เท่านั้น ผมจึงไม่ค่อยใส่ใจ แต่เมื่อไม่นานนี้มีการออกมาชี้แจงอย่างเป็นสาธารณะ มีการพูดออกโทรทัศน์ บรรยาย หรือคุตบะห์ ผมจะไม่ขอกล่าวถึงสิ่งที่ผมไม่ได้ยินเอง แต่จะชี้แจงแต่เฉพาะที่มีหลักฐานยืนยันเท่านั้น

ข้อที่หนึ่ง

            “จ้องจับผิดเฉพาะองค์กรณ์หนึ่งองค์กรณ์ใดเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องโต๊ะจีน”

            จริงๆ แล้วหากติดตามการบรรยายของผมแล้วจะพบว่า เรื่องนี้ผมแสดงความไม่เห็นด้วยมาช้านานไม่น่าจะต่ำกว่าสิบปี คนที่ไม่ได้ติดตามหรือไม่รู้ก็เลยทึกทักเอาว่าผมเพิ่งมาจับผิดองค์กรณ์นั้นองกรณ์นี้ในยุคนี้  เท่านั้น จะเป็นบุคคลใด หรือองค์กรณ์ใด หากผมเห็นว่าทำผิดหลักการศาสนาผมก็บอกว่าผิด ส่วนใครจะเห็นต่างก็เป็นสิทธิ์ของเขา และมิเคยห้ามใครออกมาพูดเรื่องนี้ หรือออกมาแสดงความเห็นต่างแต่อย่างใด เพราะผู้อ่านหรือผู้ฟังเขาจะเป็นผู้เลือกเอง นักวิชาการมีเพียงหน้าที่นำเสนอวิชาการ หากเขาเห็นว่าไม่น่าเชื่อถือเขาก็ไม่ตามหรือไม่เอา นั่นก็เป็นสิทธิ์ของเขา และผู้ที่ถูกผมแย้งก็อย่าโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะท่านเองก็ออกมายืนยันว่ามันถูก แล้วทำไมคนอื่นจะแย้งว่ามันผิดไม่ได้ มันยุติธรรมแล้วหรือ ผมว่ามันไม่ยุติธรรมเลย เมื่อท่านเห็นสิ่งที่ท่านทำนั้นถูกต้องท่านก็นำเสนอข้อมูลหลักฐานสนับสนุนความเข้าใจของท่านจะดีกว่า ส่วนชาวบ้านก็ไม่น่าจะต้องแสดงความโกรธอะไร เพราะอย่างน้อยก็เป็นประโยชน์กับท่านที่จะได้ศึกษาให้กว้างขึ้น ละเอียดขึ้น และเลือกสิ่งดีๆให้แก่ตนเอง ท่านไม่เอา ไม่รับ ไม่เชื่อ ผมก็ไม่มีสิทธิ์จะไปว่าท่านอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมีความรู้สึกเสียดายโอกาสแทนท่านเท่านั้น

ข้อที่สอง

          “การขายโต๊ะจีนที่องค์กรณ์ศาสนาปฏิบัติกันมานี้ เป็นเรื่องการกุศล ไม่มีใครขายเพื่อนำเงินเข้ากระเป๋าตนเอง ดังนั้นจึงไม่น่าจะต้องละเอียดลอออะไร หรือไม่น่าจะเรื่องมาก“

          หากคำพูดนี้มาจากปากชาวบ้านผมก็ไม่ถือสาอะไร เพราะเขาไม่รู้ เขาก็คิดได้ตามที่ระดับความรู้เขามี และต้องให้อภัยเขา แต่ถ้ามาจากปากนักวิชาการแล้ว ผมขอตำหนิแรงๆว่า เป็นคำพูดที่น่าอัปยศมากในเชิงวิชาการด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

            หนึ่ง ศาสนาวางกฎเกณฑ์อะไรไว้ก็ต้องยึดถือตามนั้น จะเปลี่ยนแปลงเพราะเหตุผลส่วนตัวไม่ได้ ในหลักการศาสนามีข้อตกลง(อัลอุกูด-العقود)หลายอย่าง เช่น     ให้เปล่า แลกเปลี่ยน หุ้นส่วน รับรองหรือค้ำประกัน จะนำมาปะปนกันไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้เปล่าและแลกเปลี่ยน การซื้อขายถือว่าเป็นประเภทหนึ่งของข้อตกลงแลกเปลี่ยน ส่วนการบริจาคเป็นประเภทหนึ่งของข้อตกลงให้เปล่า ส่วนว่าจะได้กุศลหรือเอากุศลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การซื้อขายหากทำดีทำถูกก็ได้บุญอยู่แล้วด้วยตัวของมันเอง

عَنْ ابْنِ عُمَرَ، قَالَ: قَالَ رَسُولُ اللَّهِ – صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ -: “التَّاجِرُ الأَمِينُ الصَّدُوقُ الْمُسْلِمُ، مَعَ الشُّهَدَاءِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ”

มีรายงานจากอิบนุ อุมัรว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า “พ่อค้าที่ซื่อสัจ ที่สัจจริง และเป็นมุสลิม จะได้อยู่กับบรรดาผู้ตายชะฮีต    ในวันกิยามะห์” (อิบนุมาญะห์ เล่ม 3 หน้า 273 ฮะดีษที่ 2139 / อัลมัตตะบะห์ อัชชามิละห์)

            คือต้องทำการค้าให้ถูกต้องตามหลักการศาสนา การทำอะไรผิดๆ แล้วอ้างว่าประสงค์ดี เจตนาดี หัวใจงาม ไม่ใช่หลักการศาสนา แต่ผิดหลักการศาสนาดังมีตัวอย่างจากคำสอนของท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมที่ว่า

عَنِ ابْنِ عُمَرَ، عَنِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، قَالَ: لاَ تُقْبَلُ صَلاَةٌ بِغَيْرِ طُهُورٍ وَلاَ صَدَقَةٌ مِنْ غُلُولٍ.

มีรายงานจากท่านอิบนุ อุมัร จากท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า ท่านกล่าวว่า “การละหมาดจะไม่ถูกรับหากปราศจากการทำความสะอาดและการบริจาค (จะไม่ถูกรับเช่นกัน) หากคดโกงมา” (บันทึกโดย อัตติรมิซี่ เล่ม 1 หน้า 51 และมุสลิม เล่ม1 หน้า 204 คำว่า ฆุลู้ล เป็นพหูพจน์ของคำว่า ฆิลล์ เดิมแปลว่าทรัพย์ชเลยที่ถูกโกงไป

          ทรัพย์ที่ได้มาโดยไม่ชอบแม้จะนำไปบริจาค อัลลอฮ์ก็ไม่รับ แน่นอนผู้บริจาคส่วนใหญ่ย่อมมีเจตนาดี ปรารถนาดี และต้องการบุญกุศล แต่ทรัพย์ที่ได้มา ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ผลที่ตามมาคือไม่ได้บุญนั่นเอง ดังนั้นจงอย่าเอาเจตนาดีไปยกหลักการของศาสนา

ข้อที่สาม

            “โต๊ะจีนหากพิจารณาให้ดีมันคือการบริจาค แต่เป็นการบริจาคที่มีเงื่อนไข กล่าวคือเมื่อบริจาคแล้วตามจำนวนเงินที่ผู้จัดกำหนด ถึงจะมีสิทธิ์ได้ทานอาหารตามที่ผู้จัดได้เตรียมไว้  และโต๊ะจีนไม่ใช่การซื้อขาย”

            ข้ออ้างนี้ สำหรับผมถือว่าเป็นการดำน้ำ ดำดิน หรือดำโคลนก็ได้ หากเป็นชาวบ้านพูดก็น่าให้อภัยเพราะเขาไม่รู้ แต่ถ้านักวิชาการผมว่าเป็นการประกาศภูมิรู้ที่  น่าอายที่สุด เพราะการบริจาคหรือ “ศ่อดะเกาะห์” การศ่อดะเกาะห์แบบมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยนไม่เคยมีอยู่ในตำราเล่มใด เป็นนิยามใหม่ที่เกิดขึ้นใหม่ในยุคเราจริงๆ การมีเงื่อนไขต่างตอบแทนจะมีก็แต่ในเรื่อง “ฮิบะตุษษะวาบ” ส่วนเรื่อง “ศ่อดะเกาะห์” ต่างตอบแทนไม่มี และคงไม่ต้องยกหลักฐานหรือหาหลักฐานอะไรมาตอบโต้เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดีแม้จะไม่ใช่ผู้ศึกษาเรียนรู้อะไรมามาก

ข้อที่สี่

            “หากการบริจาคเงินโดยได้โต๊ะจีนเป็นสิ่งตอบแทนไม่ได้ แล้วการแจกซีดีบรรยาย หนังสือศาสนา หรือชำร่วยให้แก่ผู้บริจาคที่มาร่วมงาน ก็ต้องผิดด้วยและต้องรับไม่ได้เช่นกัน เพราะดูแล้วมันก็คล้ายๆ กัน หรือกล่าวว่าเหมือนกันก็ได้“

            ข้อสงสัยนี้เกิดกับคนชาวบ้านย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าเป็นนักวิชาการพูดทำนองนี้ ผมว่ามันสะท้อนภูมิรู้ของคนนั้นได้มากทีเดียว

            ประการแรก การแจกซีดี หนังสือ หรือของชำร่วย มิได้มีการกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขของการบริจาค เป็นเพียงแค่เป็นสินน้ำใจหรือสมณาคุณแก่ผู้บริจาค แต่โต๊ะจีนที่ทำกันนี้ กำหนดชัดเจนว่าถ้าจ่ายสามพันถึงจะมีสิทธิ์ได้ท่านอาหารหนึ่งโต๊ะซึ่งอาจมีแปดที่นั่งหรือสิบที่นั่งก็แล้วแต่ นี้คือความแตกต่าง ความแตกต่างนี้มีตัวอย่างชัดเจนในซุนนะห์ของท่านนบี ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่เกี่ยวกับการใช้หนี้

عَنْ أَبِي رَافِعٍ، أَنَّ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ اسْتَسْلَفَ مِنْ رَجُلٍ بَكْرًا، فَقَدِمَتْ عَلَيْهِ إِبِلٌ مِنْ إِبِلِ الصَّدَقَةِ، فَأَمَرَ أَبَا رَافِعٍ أَنْ يَقْضِيَ الرَّجُلَ بَكْرَهُ، فَرَجَعَ إِلَيْهِ أَبُو رَافِعٍ، فَقَالَ: لَمْ أَجِدْ فِيهَا إِلاَ خِيَارًا رَبَاعِيًا، فَقَالَ: «أَعْطِهِ إِيَّاهُ، إِنَّ خِيَارَ النَّاسِ أَحْسَنُهُمْ قَضَاءً»

รายงายจากอบีรอเฟี๊ยอ์ ว่าท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ้อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ยืมอูฐหนุ่มจากจากผู้หนึ่งมา ต่อมามีอูฐจากอูฐศ่อดะเกาะห์ (ในที่นี้หมายถึงซะกาต) มาถึงท่าน ท่านสั่งให้อบูรอเฟี๊ยอ์ นำอูฐหนุ่ม (ที่อายุใกล้เคียงกัน) ไปคืน (แต่ในฝูงนั้นหาอายุที่ใกล้เคียงกับที่ยืมมาไม่ได้) อบูรอเพี๊ยอ์จึงกลับมาหาท่านนบี พร้อมกล่าวว่า “ฉันหาไม่ได้ยกเว้นอูฐที่โตกว่าอายุหกปีขึ้นทั้งนั้น” ท่านนบีจึงกล่าวแก่เขาว่า “ให้เขาไปเถิด (แม้จะเป็นอูฐที่โตกว่า) เพราะคนที่ดีที่สุดก็คือคนที่ใช้หนีดีที่สุด” (มุสลิม เล่ม 3 หน้า 1224 ฮะดีษที่ 1600)

            จากฮะดีษนี้ นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้จ่ายหนี้คืนเจ้าของสามารถจ่ายหนี้คืนมากกว่ามูลหนี้ได้  และถือว่าเป็นซุนนะห์ด้วย แต่ต้องไม่ตั้งเป็นเงื่อนไขไว้ล่วงหน้า หาไม่แล้วจะกลายเป็นดอกเบี้ยทันที

            การแจกซีดีก็ดี แจกหนังสือก็ดี หรือแจกของชำร่วยก็ดี มิได้ระบุเป็นเงื่อนไขของการบริจาค ซึ่งต่างจากโต๊ะจีนที่คนพยายามจะบอกว่าค่าอาหารโต๊ะจีนเป็นบริจาคและอาหารโต๊ะจีนเป็นสมนาคุณ หรือเป็นสินน้ำใจ หรือเป็นของชำร่วย

ประการที่สอง

            การตั้งเงื่อนไขในการบริจาคต่างตอบแทนดังที่มีคนอ้างในเรื่องโต๊ะจีน ทำให้หลักการศาสนาบูดเบี้ยวไปหมด เช่น มีคนกล่าวว่า “ฉันบริจาคข้าวหนึ่งกระสอบ แต่ท่านจะต้องนำเงินมาให้ฉันพันห้า” หรือ “ฉันเชิญท่านมาทานอาหารที่ร้านฉัน แต่ฉันคิดหัวละสามร้อย” ตกลงจะแยกอย่างไรว่าธุรกรรมใดเป็นการค้า และธุรกรรมใดเป็นบริจาค หากฝ่ายหนึ่งอ้างว่าฝ่ายตนเป็นผู้บริจาค แล้วอีกฝ่ายหนึ่งจะเรียกว่าฝ่ายอะไร สมมุติว่าฝ่ายให้เงินสามพันบาทเรียกว่าฝ่ายบริจาค แล้วฝ่ายเลี้ยงโต๊ะจีนจะเรียกว่าฝ่ายอะไร จะเรียกว่าบริจาคเช่นกันได้หรือไม่ หากเรียกว่าเป็นผู้บริจาคก็แสดงว่าต่างฝ่ายต่างเป็นผู้บริจาค คือบริจาคให้แก่กันและกันใช่หรือไม่ ดังนั้นต่อไปในวันข้างหน้าเราก็เปลี่ยนมาเรียกธุรกรรมแลกเปลี่ยนกันเสียใหม่ว่า “บริจาค” และก็ยกเลิกคำว่า “ค้าขาย” เสียจะดีไหม เพราะถ้าสามารถเรียกธุรกรรมแลกเปลี่ยนลักษณะโต๊ะจีนเป็นบริจาคได้ ต่อไปก็สามารถเรียกธุรกรรมแลกเปลี่ยนอื่นๆ ว่าเป็นบริจาคได้หมด พอถึงวันนั้น ในศาสนาอิสลามก็ไม่มีธุรกรรมแลกเปลี่ยนอีกต่อไป มีแต่บริจาคอย่างเดียว วัลอิซาญุบิ้ลลาห์

ข้อที่ห้า

            “บัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนก็ไม่แตกต่างจากคูปองแลกอาหาร ทำไม่ถึงโจมตีโต๊ะจีนแต่ไม่โจมตีคูปองเล่า บัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนก็เงินแลกมา คูปองก็เงินแลกมา และก็นำไปแลกอาหารอีกทีหนึ่ง ดูอย่างไรก็เหมือนกัน ฉะนั้นผู้โจมตีเรื่องโต๊ะจีนมีอคติและไม่ยุติธรรม”

             ประการแรก  ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าทั้งบัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนและคูปองมีส่วนเหมือนและก็มีส่วนต่างกัน ส่วนเหมือนก็คือ หนึ่งนำเงินไปแลกมาหรือนำเงินไปซื้อมา  สองเป็นเอกสารสิทธิ์ คือระบุสิทธิ์ของผู้ทรงไว้ สามถูกระบุวันเวลาที่ใช้สิทธิ์และสิ้นสุดการใช้สิทธิ์ รวมถึงปริมาณของสิทธิ์นั้นด้วย หากเป็นคูปองก็จะมีราคากำกับไว้โดยละเอียด เช่น ห้าบาท สิบบาท ห้าสิบบาท และร้อยบาท เป็นต้น แต่ถ้าเป็นบัตรหรือตั๋วโต๊ะจีน หากหนึ่งบัตรหรือตั๋วแทนหนึ่งที่นั่งหรือหนึ่งหัว ส่วนใหญ่จะมีราคากำกับไว้เช่นกัน เช่น สามร้อยบาท สี่ร้อยบาท หรือห้าร้อยบาทเป็นต้น ที่กล่าวนี้ส่วนเหมือนหลักๆ

ประการที่สอง ส่วนต่างกันคือ หนึ่งคูปองนั้นจะแลกที่หน้างานเป็นส่วนใหญ่ ต่างจากบัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนเพราะส่วนใหญ่จะซื้อขายกันล่วงหน้า สองคูปองไม่ใช่สินค้า แต่เป็นตัวแทนเงินที่ใช้ซื้อสินค้า แต่บัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนคือสินค้าโดยตรงเพราะเกิดการซื้อขายต่อบัตรหรือตั๋วนั้น สามบัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนคือเอกสารสิทธิ์แทนอาหารหนึ่งบัตรหรือตั๋วต่อหนึ่งหัว แต่คูปองเป็นตัวแทนเงินตามราคาที่แลกมา สี่วัตถุประสงค์ของคูปองแตกต่างจากบัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนคือ คูปองมีเพื่อไม่ต้องการให้ร้านค้า หรือลูกน้อง หรือลูกจ้าง รับเงินโดยตรงจากผู้ซื้อ ผู้ออกต้องการจะรับเงินแต่ผู้เดียวด้วยเหตุผลหลายประการ ข้อเว้นจะไม่กล่าวถึง แต่บัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนเป็นเพียงการขายสิทธิ์ในการรับประทานอาหาร หรือเพื่อยืนยันสิทธิ์ตามที่ได้จ่ายเงินไปแล้ว

ส่วนต่างที่สำคัญและส่งผลต่อหลักการซื้อขาย มีอยู่ไม่กี่ข้อคือ คูปองเป็นการแลกมิใช่การซื้อ เพราะมันเป็นเอกสารระบุตัวเลขแทนค่าเงิน การนำเงินไปแลกเงินจึงไม่ผิดหลักการศาสนา แต่มีเงื่อนไขว่าต้องเท่ากันและทันทีหากเป็นสกุลเงินเดียวกัน ในทางหลักการเรียกชื่อว่า “อัศศอรฟ์” และคูปองต้องแลกคืนได้ หากแลกคืนไม่ได้ก็ถือว่าผิดเช่นกัน เพราะเข้าข่ายข้อห้าม “อัรฆ่อรอร-คือความไม่ชัดเจน” ส่วนบัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนไม่มีคุณสมบัติที่ว่านี้ คือมิใช่การแลกแต่เป็นการซื้อ

คูปองมิใช่ตัวแทนอาหารใดๆ เป็นเพียงตัวแทนเงินที่ถูกระบุไว้ ผู้ถือสามารถใช้แทนเงินเพื่อซื้ออาหารที่ต้องการ คือจะซื้อมากจะซื้อน้อย หรือจะไม่ซื้อ จะซื้อแกงแพะ จะซื้อลูกชิ้น แต่ไม่ซื้อขนมจีน ไม่ซื้อโรตี หรือจะไม่ซื้ออะไรเลยก็สุดแท้แต่ หลักจากที่นำไปซื้ออาหารแล้ว ปรากฏว่าอาหารหมด แต่คูปองยังเหลือตามหลักการแล้วเขาสามารถนำกลับไปแลกเงินคืนได้จากผู้ออกคูปอง ผู้ออกก็ต้องยินยอมให้เขาแลกคืนด้วย แต่ถ้าเขายินดีจะไม่แลกคืนก็เป็นสิทธิ์ของเขาเช่นกัน เพราะมีหลักว่า “การละทิ้งสิทธิ์ก็เป็นสิทธิ์เช่นกันالتنازل عن الحق حق ” ส่วนบัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนเป็นเอกสารสิทธิ์รับประทานอาหารตามที่ผู้จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงชนิดอาหาร ปริมาณอาหาร หรือคุณภาพอาหารตามที่ตนต้องการได้ และบัตรหรือตั๋วโต๊ะจีนไม่สามารถนำมาคืนได้ทุกกรณี เพราะเป็นการซื้อขาย หากผู้ซื้อและผู้ขายแยกจากกันการซื้อขายนั้นก็สมบูรณ์ จะยกเลิกไม่ได้ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด ยกเว้นจะยินยอมกันตามหลักการศาสนาเรียกว่า “อัลอิกอละห์”

สิ่งที่ใกล้เคียงกับคูปองก็คือเช็คเงินสด บัตรหรือเดบิต บัตรเครดิต ตั๋วเงิน ซึ่งก็มีใช้มากมายในยุคปัจจุบัน

ข้อที่หก

            “ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะห์และอิบนุกอยยิม กล่าวว่าสามารถซื้อขายสิ่งที่ไม่มีอยู่ ณ ขณะทำการตกลงซื้อขายได้ โต๊ะจีนแม้จะยังไม่มีอาหาร ณ ขณะขายบัตรหรือตั๋ว แต่ก็สามารถนำอาหารมาให้ได้ตามนัดแน่นอน เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น และโดยทั่วไปก็ทราบกันดีว่ามีอาหารอะไรบาง ดังนั้นการซื้อขายโต๊ะจีนจึงไม่ผิด”

            ประการที่หนึ่ง การอ้างถึงนักวิชาการนั้น ต้องไม่ตัดทอนคำพูดจนไม่ทราบที่มาว่าท่านเล่านั้นพูดถึงเรื่องอะไร กรณีของชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะห์และอิบนุกอยยิมนั้น ทั้งสองท่านพูดถึงการซื้อขายลักษณะ “ซะลัม หรือ ซะลัฟ” ซึ่งก็คือการซื้อขายล่วงหน้า แต่ผู้ที่อ้างถึงท่านก็มิได้ระบุชัดเจนว่าท่านพูดถึงเรื่องอะไร และผู้อ้างก็มิได้ระบุชัดเจนว่าการซื้อขายโต๊ะจีนนั้นคือการซื้อขายลักษณะ “ซะลัม หรือ ซะลัฟ” แต่พูดคลุมๆ ไว้ ว่าเหมือนหรือมีส่วนคล้าย ที่บอกว่าพูดแบบคลุ่มๆ ก็เพราะว่านำธุรกรรมอื่นมากล่าวผสมด้วยมากมายหลายธุรกรรม เช่น เรื่องมัดจำ สัญญาว่าจะซื้อ เรื่องบริการฮัจญ์ ผมก็ไม่เข้าใจว่าเพราะอะไร หากจะบอกว่าเป็นการซื้อขายลักษณะ “ซะลัม หรือ ซะลัฟ” ก็ว่าไป จะได้ชี้แจงถูก

            ประการที่สอง การซื้อขายลักษณะโต๊ะจีนนี้ หากผู้อ่านๆ มาแต่ต้นก็จะทราบดีว่ามันมิได้ผิดเพียงแค่มีหรือไม่มีสินค้าเท่านั้น แต่มันเข้าข่ายความผิดหลายข้อหลายประการ แม้จะนำไปเทียบกับการซื้อขายลักษณะ “ซะลัม หรือ ซะลัฟ” การขายโต๊ะจีนก็ยังไม่พ้นความผิดอื่นๆ ที่กล่าวแล้ว

            ประการที่สาม ระบุว่าการซื้อขายสิ่งที่ถูกระบุคุณสมบัติชัดเจน แม้จะเป็นการซื้อขายล่วงหน้า เป็นที่อนุมัติตามหลักการศาสนา คำอธิบายนี้เป็นนิยามของการซื้อขายลักษณะ “ซะลัม หรือ ซะลัฟ” ดังนั้นหากจะนำหลักนี้มาใช้ก็ดี ไม่มีใครขัดแย้งท่านแน่นอนหากปฏิบัติตามเงื่อนไขของการซื้อขายลักษณะดังกล่าว อย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช้วิธีการเหมารวมความชัดเจนอย่างที่ท่านกล่าว เช่น “อาหารที่ขายลักษณะโต๊ะจีนนี้เป็นที่ทราบกันดีว่ามีอะไรบ้าง” ข้อความนี้อยู่นอกเงื่อนไขการซื้อขายลักษณะ “ซะลัม หรือ ซะลัฟ” เพราะทั้งตัวบทและข้อวินิจฉัยของปวงปราชญ์ ระบุความชัดเจนมากกว่าที่ท่านกล่าวทั้งสิ้น ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว

ข้อที่เจ็ด

            “การบริการอุมเราะห์และฮัจญ์ก็เหมือนกัน ผู้ที่จ่ายเงินค่าบริการแล้วยังไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าจะไปพักที่ไหน ใกล้หรือไกลมัสยิดฮะรอมหรือไม่ จะได้กินอะไรในแต่ละมื้อ ก็ยังเห็นคนไปกันตลอด ไม่เห็นมีใครว่าอะไรเลย”

            ประการที่หนึ่ง เรื่องบริการอุมเราะห์และฮัจญ์ เป็นเรื่องว่าจ้างซึ่งเป็นการให้บริการ แม้จะมีการบริการอาหาร ที่พักอาศัย หรือบริการยานพาหนะ แต่ก็อยู่ในเรื่องการว่าจ้างซึ่งมีรายละเอียดเฉพาะตัว ไม่เกี่ยวอะไรกับการซื้อขายโดยตรง ท่านนำเอามาปนกับ การซื้อขาย ได้อย่างไร เงื่อนไขของการว่าจ้างหรือรับจ้างเหมาเป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีรูปแบบและเงื่อนไขเฉพาะตัว หากจะศึกษาแนะให้ไปศึกษาเรื่อง “อัลอิญาเราะห์, อัลอิญาเราะห์ฟิลซิมมะห์, อัลอิศติศนาอ์, อัตเตารีด, อัลมุกอวะละห์” การว่าจ้างเป็นข้อตกลงลักษณะแลกกับประโยชน์ ภาษาวิชาการเรียกว่า “อัลมัมฟะอะห์” ส่วนการซื้อขายเป็นข้อตกลงแลก วัตถุสิ่งของ อย่านำมาปะปนกัน เพราะมีเงื่อนหลายประการไม่เหมือนกัน

            ประการที่สอง ให้ย้อนกลับไปอ่านเรื่องเงื่อนไขให้เข้าใจแล้วจะกระจ่าง ดังนั้นหากมองเรื่องการบิรการฮัจญ์และอุมเราะห์แล้ว ข้อตกลงเกิดขึ้นกับการนำพาผู้รับบริการจากเมืองไทยไปซาอุฯ เรียกว่า “อัลอิญาเราะห์ฟิลซิมมะห์” หากนำไปถึงแล้วก็ถือว่าทำตามข้อตกลง เพียงแต่ว่าผู้ให้บริการก็ดี หรือผู้รับบริการก็ดีใด้เพิ่มเงื่อนไขขึ้นไปอีก เช่น ผู้ให้บริการแจ้งแก่ผู้รับบริการว่าเมื่อพาไปแล้วจะมีที่พักให้ มีอาหารให้ มีพาหนะให้ อันนี้เรียกว่าเงื่อนไขในข้อตกลง ไม่ใช่เงื่อนใขของข้อตกลง หากผู้รับริบการตกลงตามนั้น เมื่อไปถึงแล้วเขาก็มีที่พักให้อาจไม่ใช่โรงแรมหรูๆ แต่เป็นบ้านพักธรรมดา ผู้รับริการจะโวยวายไม่ได้ เพราะอะไร เพราะผู้รับบริการรับเงื่อนไขแบบไม่มีรายละเอียด หรือเขาเลี้ยงอาหารจานเดียวพออิ่ม ก็ถือว่าเขาได้ทำตามเงื่อนไขแล้ว ผู้รับริการจะโวยวายก็ไม่ได้ เพราะอะไร ก็เพราะยินยอมรับเงื่อนไขที่ไม่ละเอีดยตั้งแต่ต้น จะเป็นอาหารก็ดี ที่พักก็ดี พาหนะก็ดี เป็นเงื่อนไขที่ทั้งสองฝ่ายตั้งขึ้นหรือตกลงกันเอง ไม่ใช่เงื่อนไขโดยตรงของข้อตกลง ดังนั้นการเอาเรื่องบริการฮัจญ์และอุมเราะห์มากล่าวอ้างเทียบเคียงกับโต๊ะจีน จึงเป็นความเข้าใจผิดที่ร้างแรงมาก เพราะทำให้ธุรกรรมที่แตกต่างกันให้เหมือนกัน

 ข้อที่แปด

          “การซื้อขายตั๋วเครื่องบินก็เป็นการซื้อขายล่วงหน้า เราก็ยังไม่ได้รับอะไรเลยยกเว้นตั๋วโดยสารเท่านั้น ก็เหมือนกับการซื้อขายโต๊ะจีนเช่นกัน”

          ตั๋วเครื่องบินแม้เราจะเรียกว่าซื้อ แต่แท้จริงแล้วมันคือการ “ว่าจ้างที่อยู่ในภาระรับผิดชอบ” ภาษาวิชาการเรียกว่า  “อิญาเราะตุ้ลซิมมะห์” ไม่ใช่การซื้อตามนิยามของคำว่า “ซื้อขาย” เพราะมันคือข้อตกลงแลกเปลี่ยนลักษณะเงินแลก “ประโยชน์” ไม่ใช่เงินแลก “สิ่งของ”

            นักวิชาการเห็นพ้องต้องกันว่าการทำธุรกรรมลักษณะ “อิญาเราะตุ้ลซิมมะห์” เป็นที่อนุมัติ แต่ขัดแย้งกันเป็นสองทัศนะเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้าง คือในขณะทำข้อตกลงกันต้องจ่ายค่าจ้างทันทีและทั้งหมดหรือไม่

              มัซฮับชาฟิอีย์เห็นว่าต้องจ่ายค่าจ้างทันที หากแยกจากกันแล้วปรากฏว่ายังมิได้จ่ายค่าจ้าง ถือว่าธุรกรรมนั้นโมฆะ เพราะ “อิญาเราะตุ้ลซิมมะห์” มีลักษณะคล้ายธุรกรรมแบบ “ซะลัฟหรือซะลัม”

            มัซฮับฮะนะฟีและผู้เห็นด้วยเห็นว่าสามารถจ่ายค่าจ้างภายหลังได้ เพราะถือว่ายังเป็นธุรกรรมแบบ “อัลอิญาเราะห์” อยู่ คือยังอยู่ในความหมายของการว่าจ้าง ส่วนมัซฮัมบาลีก็มีทัศนะเช่นเดียวกันนี้ แต่แยกว่าต้องไม่เรียกว่า “ซะลัฟหรือซะลัม” (มุฆนิลมั๊วฮ์ตาจ เล่ม 2 หน้า 451-452, ตั๊วฮ์ฟะตุ้ลมั๊วฮ์ตาจ เล่ม 6 หน้า 125,)

ฉะนั้นการโต้แย้งต้องพิจารณาด้วยว่ามันเรื่องเดียวกันหรือไม่ ไม่ใช่นึกอะไรได้ก็นำมาโต้แย้ง หากเป็นข้อสงสัยของชาวบ้านก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าเป็นนักวิชาการแล้ว จะเป็นสิ่งน่าอายมาก เพราะจะถูกกล่าวหาว่า “มั่ว” ไปหมด ดังนั้นหากไม่แน่ใจก็อย่าพูดส่งเดช

ข้อที่เก้า

            “ที่ฉันขายโต๊ะจีนนี้ ฉันให้เขามาจ่ายเงินหน้างาน ไม่ได้เก็บเงินก่อนแต่อย่างใด ฉันทำอย่างนี้จะกล่าวหาว่าฉันผิดอีกอย่างนั้นหรือ ซี่งดูแล้วมันไม่ต่างอะไรกับการออกร้านที่เห็นทำกันอยู่ทั่วไป”

            ประการที่หนึ่ง การกระทำใดๆ ย่อมขึ้นอยู่กับเจตนา หลักข้อนี้ใครๆ ก็ทราบ เป้าหมายที่แท้จริงของการขายลักษณะโต๊ะจีนก็คือ ต้องการให้ได้กำไรที่แน่นอนและป้องกันความเสี่ยงที่จะขาดทุน จะพูดว่าเพื่อรับประกันการขาดทุนก็คงไม่ผิด เพราะการจะสั่งทำอาหารลักษณะโต๊ะจีนผูกพันกับโต๊ะและที่นั่ง หากไม่ทราบปริมาณของผู้ทานก็ยากที่จะระบุปริมาณของโต๊ะและที่นั่งได้ การขายบัตรหรือตั๋วล่วงหน้าจึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้ทราบปริมาณผู้ทานล่วงหน้า เมื่อทราบแล้วก็เป็นการง่ายที่จะสั่งทำอาหารโดยไม่ให้เหลือมากเกินความจำเป็น เพราะทั้งหมดคือต้นทุน อาจมีการทำลักษณะสั่งทำอาหารก่อนโดยระบุจำนวนโต๊ะและที่นั่งที่แน่นอนจากผู้รับเหมา แล้วผู้สั่งทำอาหารก็มาออกบัตรทีหลัง วิธีการนี้ก็มีความเสี่ยงแฝงอยู่ไม่น้อยเพราะหากขายบัตรไม่หมด โต๊ะก็เหลือที่นั่งก็เหลือแต่ต้องจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาทำอาหาร วิธีการแรกดูจะปรอดภัยที่สุด

ประการที่สอง

             หากผู้ขายโต๊ะจีนสั่งทำอาหารโดยให้ผู้รับเหมานำมาในวันนัด เช่น สั่งไว้ร้อยโต๊ะ โต๊ะละสิบที่นั่ง แล้วก็ให้ผู้มาร่วมงานซื้ออาหารโดยคิดเป็นหัวเช่นหัวละสามร้อย การขายลักษณะเช่นนี้ก็คือการขายธรรมดา คือมีผู้ซื้อ มีผู้ขาย มีสินค้า แต่ในทางปฏิบัติแล้วขายแยกไม่ได้เพราะอาหารมีจำกัด หากขายเหมาเป็นโต๊ะก็ยากเพราะคนกินแม้มาพร้อมกันแต่กลุ่มหนึ่งอาจมีจำนวนเกินสิบคนซึ่งเกินจำนวนที่หนั่งหนึ่งโต๊ะ หรือบางกลุ่มน้อยกว่าสิบคน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนหนึ่งโต๊ะ จะเกิดปัญหายุ้งยากในการจัดการ ฉะนั้น จึงต้องมีการขายล่วงหน้า  และหากเป็นการขายล่วงหน้าก็ต้องจ่ายเงินก่อน จะประวิงไปจ่ายหน้างานไม่ได้ ประเด็นนี้สำคัญมาก เพราะหากไม่จ่ายเงินจนครบเสียก่อน การซื้อขายนั้นไม่เรียกว่า “ซะลัฟ หรือ ซะลัม” แต่จะถูกเรียว่า “บัยอุลกาลีบิลกาลี” คือเป็นการซื้อขายลักษณะไม่มีอะไรมาแลกเปลี่ยนจริงเป็นเพียงคำพูดแลกคำพูด ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเอกฉันท์ในศาสนาอิสลาม

ประการที่สาม

            เท่าที่ฟังอาจารย์บางท่านอธิบาย ท่านได้นำธุรกรรมหลายอย่างมารวมไว้เป็นเรื่องเดียวเพื่อจะชี้ให้เห็นว่าการซื้อขายลักษณะโต๊ะจีนถูกต้อง เช่น นำเรื่องการซื้อขายลักษณะ “ซะลัม” มาอ้าง หลังจากนั้นก็นำเรื่องการซื้อขายลักษณะมัดจำ “อัลอุรบูน” มาอ้าง หลังจากนั้นก็นำเรื่อง “บริการฮัจญ์และอุมเราะห์” มาอ้าง ต่อมาก็กล่าวถึงคำมั่นว่าจะซื้อมาอ้าง “อัลวะอฺดุบิชชิรออ์” แต่ละอย่างที่ท่านกล่าวมันเป็นธุรกรรมที่อาจดูคล้ายๆ กัน แต่มันมีความเป็นเฉพาะตัวโดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ฟังแล้วดูเหมือนกับว่าการซื้อขายลักษณะโต๊ะจีนสามารถเป็นได้หลายอย่างคือเป็นได้ทั้งซื้อขายล่วงหน้า บางทีก็เป็นเรื่อมัดจำ หรือบางทีก็เป็นแค่สัญญาว่าจะซื้อขาย หากเป็นอย่างนี้ ท่านจะเอาเงื่อนไขธุรกรรมใดไปบังคับใช้ และถ้าบอกว่าก็ให้นำทุกเงื่อนไขในแต่ละธุรกรรมมาบังคับใช้ มันก็เลอะเทอะไปใหญ่ คนที่ไม่รู้ไม่เข้าใจ ฟังแล้วดูว่าไหลลื่นดีก็จึงทึกทักเอาว่าชัดเจนแล้ว ถูกต้องแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าแต่ละธุรกรรมมีความเหมือนและความต่างกันอย่างไร ขอยกตัวอย่างนิดเดียวคือ ไก่กับเป็ดมีทั้งส่วนเหมือนกันและต่างกัน วัวกับควายมีทั้งส่วนต่างและส่วนเหมือนกัน หากมองแต่ส่วนเหมือนแล้วเหมาว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ต่อไปจะมีแต่เป็ดไม่มีไก หรือมีแต่ไก่ไม่มีเป็ด หรือมีแต่ควายไม่มีวัว หรือมีแต่วัวไม่มึควาย ดังนั้นโปรดพิจารณาให้ดีๆ ด้วย

            การนำเสนอนี้ มิได้มีประสงค์จะให้ผู้ใดเสียหาย หากแต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจ หากนักวิชาการท่านใดจะชี้แจ้งแจงบ้างก็เป็นสิทธิ์ของท่าน ผู้อ่านจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเชื่อข้อมูลใด การตอบโต้เชิงวิชาการไม่ใช่สิ่งเสียหายแต่มีผลดีมากกว่าสำหรับคนใฝ่หาความจริงความถูกต้อง ผมไม่ได้อ้างว่ารู้กว่าคนอื่น ไม่ได้อ้างว่าสิ่งที่ตนนำเสนอนี้ถูกต้องอย่างเดียวไม่มีผิด หากนักวิชาการท่านใดมีสิ่งที่ดีและชัดเจนกว่าและพบว่าผมนำเสนออย่างผิดๆ ผมก็ยินดีรับฟังและน้อมนำไปสู่การแก้ไขในโอากาสต่อไป

วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
อิสฮาก  พงษ์มณี
บางกะปิ กรุงเทพมหานคร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น