อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ผู้หญิงหลังม่าน กับคำพูด





ศาสนาได้บัญญัติเกี่ยวกับ “คำพูด” ไว้เป็นจำนวนมากที่เน้นเรื่องคำพูดก็เพราะ มนุษย์อย่างเรา ๆ มักชอบพูด ชอบสนทนา บางคนพูดได้ทั้งวัน ด้วยคำพูดนี่แหละที่ทำให้มนุษย์เกิดโทษ และเป็นสาเหตุทำให้เขาต้องถูกลงโทษในนรก
ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า
“ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ถูกถามเกี่ยวกับ (สาเหตุที่ทำให้) ผู้คนจำนวนมากลงนรก ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) ตอบว่า (สาเหตุดังกล่าวคือ) ปาก (คำพูด) และอวัยวะเพศ (ทำซินา)” (หะดีษหะสัน, บันทึกโดยติรมีซีย์ หะดีษที่ 2135)
จึงต้องระมัดระวังในเรื่องคำพูดสำหรับมุสลิมทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภรรยาที่ต้องระวังเป็นพิเศษ และจะด้วยเหตุผลใดก็ช่าง หากพูดดีไม่ได้ ศาสนากำชับว่า ก็ให้นิ่งเงียบเสีย
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“และบุคคลใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันสิ้นโลก เช่นนั้นเขาจงพูดแต่สิ่งดี ๆ เถิด หรือ (หากพูดดีไม่ได้) ก็ให้นิ่งเงียบเสีย” (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 6018)
โดยหลักการทั่วไป มุสลิมเราจะพูดอะไรออกมาแต่ละเรื่อง ต้องพูดแต่เรื่องดี ๆ เรื่องงาม ๆ ไม่ใช่พูดแต่เรื่องคนอื่น หรือนินทาว่าร้ายผู้อื่น ข้างต้นศาสนาให้ความเข้มงวดอย่างยิ่งยวด และกำชับให้พูดแต่เรื่องดี ๆ เท่านั้น แต่ถ้าพูดดีไม่ได้ ก้ให้นิ่งเสีย เพราะการนิ่งอย่างน้อยไม่ทำให้เราเกิดโทษ อีกทั้งไม่ต้องสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่นอีกต่างหาก
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“บุคคลใดนิ่ง เขา (ผู้นั้น) ประสบความสำเร็จ”
แล้วคำพูดเกี่ยวอะไรกับผู้หญิงหลังม่าน ย่อมต้องเกี่ยวแน่นอนโปรดทราบเถิดว่า สามีภรรยาอยู่กันย่อมต้องพูดคุยเป็นเรื่องธรรมดา ภาษาที่ทั้งคู่ใช้พูดคุยเป็นแบบไหน ? สิ่งที่พูดคุยกันเป็นเรื่องอะไร ? และสำนวนที่ใช้เป็นสำนวนใด ?
เกริ่นนำข้างต้นแล้วว่า อิสลามให้ความสำคัญกับ “คำพูด” อย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพูดที่ผู้หญิงหลังม่านพูดกับสามีอันเป็นที่รักของนาง ควรจะเป็นสำนวนแบบใด และไม่สมควรพูดแบบไหน ? นี่คือสิ่งที่นางต้องศึกษาอย่างแยบยล
สิ่งแรกที่จะต้องเกริ่นนำเหนืออื่นใดคือ หากจะเป็นผู้หญิงหลังม่าน อย่าด่า และสาปแช่งสามีของนางเป็นอันขาด ขอย้ำว่าโดยเด็ดขาด เพราะสิ่งข้างต้นถือเป็นข้อตำหนิจากศาสนาอันสาหัสสากรรจ์ยิ่ง
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า
“ฉันถูกทำให้เห็นนรก ซึ่งส่วนใหญ่ของชาวนรกเป็นสตรีที่ฝ่าฝืน, มีผู้ถามว่า พวกนางฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺหรือ ? ท่านรสูล (ซ.ล.) ตอบว่า หาใช่เช่นนั้นไม่ พวกนางฝ่าฝืนสามี (ของนาง), และฝ่าฝืนคุณธรรม หากท่านทำความดีกับภรรยาคนหนึ่งในหมู่พวกนางตลอดเวลา จากนั้นนางเห็นสิ่งเล็กน้อย (ไม่ดี) ของท่าน นางกล่าวว่า ฉันไม่เห็นกความดีในตัวของท่านเลยแมแต่น้อย” (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 29)
คำสอนข้างต้นมีหลายนัย ที่ต้องการจะหยิบยกมาอ้างอิงเฉพาะว่าด้วยเรื่องของคำพูด กล่าวคือ คำพูดทำให้ภรรยาหลายต่อหลายนางต้องเป็นเหตุลงไปพำนักในนรกแทบไม่น่าเชื่อ คำพูดที่ไม่ดีกับสามีเป็นเหตุทำให้นางลงนรกได้
ศาสนาได้กำชับภรรยาทุกนางต้องระมัดระวังคำพูดให้จงหนัก อย่าปากพล่อย ต้องระวังให้มากเมื่อพูดกับสามี อัลกุรอานเปรียบเทียบสามีภรรยาประหนึ่งอาภรณ์ นั่นหมายรวมว่า ภรรยาด่าสามี ก็เท่ากับด่าตนเองด้วยเช่นกัน
อยู่กันนมนาน ความดีของสามีก็มีมากมาย ครั้งเวลาหนึ่งนางพบข้อบกพร่องของเขาเพียงเล็กน้อย นางก็พูดกับเขาทันทีว่า “อยู่กันมาตั้งนาน ฉันไม่เห็นเธฮมีอะไรดีสักอย่าง” หรือสำนวน”อยู่กันมาตั้งหลายปี ข้อดีสักข้อของเธอ ฉันไม่เคยเห็นเลย” ทำนองนี้เป็นต้น
คำพูดข้างต้น เป็นเหตุให้ภรรยาลงนรก จริงอยู่หากสามีมีข้อบกพร่อง นางก็ชี้แนะ ตักเตือนเขาให้แก้ไขในข้อบกพร่องนั้น ๆ มิได้เหมาะรวมว่า เขาผิดหมดทุกอย่าง ไม่มีข้อดีเลยแม้แต่น้อย
อันที่จริงมนุษย์มีข้อบกพร่องด้วยกันทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ตัวนางเอง แต่ข้อบกพร่องเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้ หรือแก้ไขไม่ได้ก็สามารถลดลงได้ แต่ไม่ใช่พูดจากเสียดสี หรือแทงใจดำเยี่ยงนั้น ซึ่งสร้างความสะเทือนใจอย่างมากให้แก่สามีอันเป็นที่รักยิ่งของนางเอง
อย่างไรก็ตาม ศาสนากำชับให้ภรรยา เมื่อพบเห็นข้อบกพร่องของสามี ก็ให้นางพยายามนึกถึงข้อดีของสามี แล้วทุกอย่างก็จะคลี่คลายลง
ดังนั้น สตรีหลังม่านทุกนาง จำเป็นจะต้องระมัดระวังเรื่องคำพูดกับสามี โปรดใช้คำพูดที่ไพเราะเสนาะหูกับสามีของนาง ศาสนาส่งเสริมให้พูดจาด้วยคำพูดที่ไพเราะโดยเฉพาะกับสามีของนาง อย่าพูดสิ่งใดที่ส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจของเขาโดยเด็ดขาด ไม่มีสามีภรรยาคู่ใดได้รับความเมตตาจากพระเจ้าบนความหยาบคาย หรือความแข็งกร้าว ความอ่อนโยนและความนุ่มนวลต่างหากที่ภรรยาจะต้องมอบให้แก่สามีเท่านั้นที่จะประสบความจำเริญจากพระเจ้า
ใช่แต่เท่านั้น ยิ่งภรรยาด่าทอ เกรี้ยวกราด เสียดสี ขึ้นเสียงกับสามีของนางมากเท่าใด ความผิดของนางจะทวีทับถมมากยิ่งขึ้น จนบั้นปลายสุดท้ายในวันแห่งการตัดสิน นางย่อมได้รับสิ่งตอบแทนอันน่าอัปยศยิ่ง
ท่านรสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) เคยกล่าวแก่ท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า
“ดูกรโอ้ท่านหญิงอาอิชะฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักความอ่อนโยนในทุก ๆ กิจการนะ” (หะดีษเศาะหี้หฺ, บันทึกโดยบุคอรีย์ หะดีษที่ 6024)
แทบไม่ต้องพูดเลยว่า ความอ่อนโยนเป็นสุดยอดของทุก ๆ เรื่อง สตรีหลังม่านพึงจดจำไว้เสมอว่า อย่าพูดไม่ดีกับสามี อย่าด่าทอสามี อย่าขึ้นเสียงกับสามี อย่าใช้คำพูดเสียดแทงสามี โปรดใช้ความอ่อนโยนในถ้อยคำ และชี้แนะตักเตือนสามีด้วยความละมุมละม่อม, อาภรณ์ให้ความอบอุ่นร่างกายฉันใด คำพูดอันอ่อนโยนคู่ควรกับสามีของนางฉันนั้น


.............................................................
โดย : มุรีด ทิมะเสน
(จากหนังสือ : ผู้หญิงหลังม่าน)
อดทน เพื่อชัยชนะ โพสต์






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น