เดือนของอิสลามนั้นต่างกับเดือนของสากล อย่างที่ปฏิทินของประเทศไทย ที่ยิบยืมเดือนของสากลมา หากเดือนใดที่ลงท้ายด้วยคำว่า “ยน” ก็จะมี 30 วัน หากลงท้ายด้วยคำว่า “คม” เดือนนั้นก็จะมี 31 วัน และเดือนที่ลงท้ายด้วยคำว่า “พันธ์” ซึ่งมีอยู่เดือนเดียวคือเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะมี 28 วัน หรือ 29 วัน
แต่สำหรับเดือนอิสลาม จะไม่มีการเขียนคำนวณหรือระบุเฉพาะเจาะจงว่าเดือนนั้นมีกี่วัน ซึ่งแต่ละเดือนอาจมี 29 วัน หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่ว่ามีการเห็นจันทร์เสี้ยวในคืนถัดไปของวันที่ 29 (นับแต่เวลาละหมาดมัฆริบเป็นต้นไป)หรือไม่ ถ้ามีการเห็นจันทร์เสี้ยว วันนั้น(คือคืนที่ดูจันทร์เสี้ยว)จะเป็นวันที่ 1 ของเดือนต่อไปทันที แต่หากคืนถัดไปของวันที่ 29 ไม่เห็นจันทร์เสี้ยว ก็ให้ถือวันนั้นเป็นวันที่ 30 ของเดือนเดิม และวันต่อไปถัดจากวันนั้นจะเป็นวันที่ 1 ของเดือนถัดไป โดยไม่จำต้องดูจันทร์เสี้ยวอีก
รายงานจากท่านอิบนุ อุมัร ร่อฎียัลลอฮุอันอุมา(เสียชีวิต ฮ.ศ. 73) เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ อุลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“แท้จริงพวกเราเป็นประชาชาติที่อุมมียะฮฺ พวกเราไม่เขียน และพวกเราไม่คำนวณ(ในเรื่องกำหนดเดือน) แท้จริง 1 เดือนมีประมาณนั้น ประมาณนี้ หมายถึงบางเดือนมี 29 วัน และบางเดือนมี 30 วัน” (บันทึกหะดิษโดยบุคอรีย์ เลขที่ 1814 มุสลิม เลขที่ 1080)
สำหรับการเข้าบวชออกบวช ก็เช่นเดียวกัน หากจะรู้ว่าวันถือบวชถือศิลอดเป็นวันแรกของเดือนรอมาฎอนตรงกับวันอะไร ก็ต้องมีการดูจันทร์เสี้ยวในคืนต่อไปหลังวันที่ 29 ของเดือนชะอฺบาน หากเห็นจันทร์เสี้ยวในคืนนั้น วันนั้นก็จะเป็นวันที่ 1 ของเดือนรอมาฎอน และจะทำการถือศิลอด นับแต่รุ่งสางของวันนั้นเป็นต้นไป แต่หากไม่เห็นจันทร์เสี้ยวในคืนนั้น ก็จะถือว่าวันนั้นเป็นวันที่ 30 ของเดือนชะอฺบาน และวันถัดไปจากนั้นเป็นวันที่ 1 ของเดือนรอมาฎอน และจะมีการถือศิลอดในวันถัดไปนั้น
และเมื่อจะออกบวชก็เช่นเดียวกัน ก็มีการดูจันทร์เสี้ยวของคืนถัดจากวันที่ 29 ของเดือนรอมาฎอน หากเห็นจันทร์เสี้ยวในคืนนั้น เดือนรอมาฎอนก็จะมีเพียง 29 วัน และจะนับวันที่เห็นจันทร์เสี้ยวเป็นวันที่ 1 ของเดือนเชาวาน และถือวันนั้นเป็นวันอีดิ้ลฟิตรี หากคืนนั้นไม่เห็นจันทร์เสี้ยวก็ให้ถือวันนั้นเป็นที่ 30 ของเดือนรอมาฎอน และจะเป็นวันออกอีดในวันถัดไป
และการเห็นจันทร์เสี้ยวในที่นี้ หมายถึงบุคคลใดก็ตามที่เห็นจันทร์เสี้ยว ณ ที่แห่งหนึ่งแห่งใด ไม่ว่าการเห็นจันทร์เสี้ยวนั้นจะอยู่ใกล้ หรือไกลก็ตาม
รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 57) เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“พวกท่านทั้งหลายจงถือศิลอดเมื่อมีการเห็นจันทร์เสี้ยว และพวกท่านจงเลิกถือศิลอด (กำหนดให้เป็นวันอีด) เมื่อมีการเห็นจันทร์เสี้ยว ดังนั้น หากมีเมฆหมอกปกคลุมเหนือพวกท่าน (ไม่วสามารถมองเห็นจันทร์เสี้ยว) พวกท่านจงนับเดือนชะอฺบานให้ครบ 30 วัน” (บันทึกหะดิษโดยบุคอรีย์ เลขที่ 1810 มุสลิม เลขที่ 1081)
พวกท่านทั้งหลายในที่นี้ หมายถึงบุคคลใดก็ตามที่เป็นประชาชาติของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เห็นจันทร์เสี้ยว ณ สถานที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ก็เท่ากับว่าเป็นการเห็นของประชาชาติมุสลิมทั้งหมด หรือชาวเมืองใดเห็นจันทร์เสี้ยว จำเป็นสำหรับเมืองอื่นจะต้องถือศิลอด ดังกล่าวเป็นทัศนะของญุมฮุรฺอุละมาอฺ(นักวิชาการส่วนใหญ่) (หนังสือ “ฟิกฮุสสุนนะฮฺ เล่ม 1 หน้า 436)
รายงานจากท่านอบูฮุร้อยเราะฮฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า
ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
“การถือศิลอดของพวกท่าน คือวันที่พวกท่านทั้งหลายถือศิลอด และวันอีดของพวกท่าน คือวันที่พวกท่านทั้งหลายอีด และวันเชือดของพวกท่านคือวันที่พวกท่านทั้งหลายเชือด” (บันทึกหะดิษโดยอบูดาวุด เลขที่ 2324)
หะดิษข้างต้น ท่านอิมาม อิบนุตัยมียะฮฺ ร่อหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า
“หลักฐานข้างต้นบ่งบอกให้รู้ว่า เมื่อบุคคลหนึ่งเป็นพยานในคืนที่ 30 ของเดือนชะบาน ว่าเขาเห็นจันทร์เสี้ยว(ในคืนนั้น) ณ สถานที่หนึ่งจากสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะใกล้หรือไกลก็ตาม ถือว่าวาญิบ(จำเป็น)จะต้องถือศิลอด” (หนังสือ “มัจญ์มูอฺ ฟะตาวา อิบนุ ตัยมียะฮฺ” หน้า 105)
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น