อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หะดิษที่ว่าเมื่อท่านนบีละหมาด 8 ร็อกอะฮฺแล้วกลับไปทำที่บ้านจนครบ



กล่าวที่ว่า .. “ท่านได้ละหมาดที่มัสยิดและประชาชนได้ละหมาดพร้อมท่าน  ปรากฏว่าท่านได้ละหมาดพร้อมกับพวกเขา 8 ร่อกาอัต แล้วประชาชนได้กลับไปทำอย่างสมบูรณ์ที่บ้านของพวกเขาในส่วนที่เหลือ (คืออีก 12 ร่อกาอัตและวิเตรฺอีก 3 ร่อกาอัต) ซึ่งปรากฏว่าเสียงดังกระหึ่มไปทั่วเสมือนกับเสียงของผึ้ง) รายงานโดยบุคอรีมุสลิม

เพราะข้อความดังกล่าวทั้งหมด – โดยเฉพาะตั้งแต่คำกล่าวที่ว่า .. ท่านได้ละหมาดพร้อมกับพวกเขา 8 ร่อกาอัต (แล้วประชาชนได้กลับไปทำอย่างสมบูรณ์ที่บ้านของพวกเขาในส่วนที่เหลือ ซึ่งปรากฏว่ามีเสียงดังกระหึ่มไปทั่วเสมือนกับเสียงของผึ้ง) – นั้น

ขอยืนยันว่า ข้อความที่อยู่ในวงเล็บนี้ ไม่มีปรากฏอยู่ในส่วนไหนและตอนใดในหะดีษของท่านบุคอรีย์และท่านมุสลิมแม้แต่นิดเดียว

อย่าว่าแต่ในตำราหะดีษบุคอรีย์และมุสลิมเลย  แม้แต่ในตำราหะดีษที่เชื่อถือได้เล่มอื่นๆ อาทิเช่นอบูดาวูด, อัน-นะซาอีย์, อัต-ติรฺมีซีย์, อัล-มุวัฏเฏาะอ์, มุสนัดอิหม่ามอะห์มัด, อิบนุมาญะฮ์ เป็นต้น ก็ไม่ปรากฏมีข้อความข้างต้นนี้เช่นเดียวกัน

ประการที่ 1 ในหนังสือหะดีษบุคอรีย์และมุสลิมบทที่กล่าวถึงการออกมาละหมาดญะมาอะฮ์พร้อมกับบรรดาเศาะหาบะฮ์ใน 3 คืนดังกล่าวของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมทุกบท ไม่มีบทใดกล่าวถึงจำนวนร็อกอะฮ์ที่ท่านนบีย์นำละหมาดพวกเขาเลยว่า ท่านทำ 8 ร็อกอะฮ์,..นอกจากเราได้ทราบจำนวนร็อกอะฮ์ดังกล่าวนั้นจากการบันทึกของท่านมุหัมมัด อิบนุนัศร์ในหนังสือ “กิยามุรอมะฎอน” หะดีษที่ 22,  ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 1070, และท่านอัฏ-ฏ็อบรอนีย์ในหนังสือ “อัล-มุอฺญัม อัศ-เศาะฆีรฺ” หะดีษที่ 525 โดยรายงานมาจากท่านญาบิรฺ บินอับดุลลอฮ์ ร.ฎ.ว่า ...
    صَلَّى بِنَا رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِىْ شَهْرِ رَمَضَانَ ثَمَانِ رَكَعَاتٍ وَأَوْتَرَ
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้นำละหมาดพวกเราในเดือนรอมะฎอน (หมายถึงละหมาดตะรอเวี๊ยะห์) 8 ร็อกอะฮ์, และท่านก็ทำละหมาดวิตรี่”

หะดีษบทนี้ แม้สายรายงานจะเฎาะอีฟ  แต่ข้อความของมันถือว่าถูกต้องเพราะได้รับการยืนยันจากรายงานของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ที่ผ่านมาแล้วตอนต้น

และคำว่า “และท่านก็ทำละหมาดวิตรี่” ตามรูปการณ์แล้วแสดงว่าท่านญาบิรฺ บินอับดุลลอฮ์ ร.ฎ.เห็นท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมทำละหมาดวิตรี่ที่มัสญิด ไม่ใช่กลับไปทำที่บ้าน

 ประการที่ 2  คำว่า أَزِيْزٌ แปลว่า เสียงหึ่ง, เสียงครืดๆ, เสียงครางเบาๆ .. และคำว่า اَلنَّحْلُ  แปลว่า ผื้ง ...
เมื่อเอาทั้ง 2 คำนี้มารวมกันเป็น أَزِيْزُالنَّحْلِ  จึงมีความหมายว่า เสียงหึ่งๆของผึ้ง ...
ซึ่งคำว่า أَزِيْزُالنَّحْلِ ที่แปลว่า “เสียงหึ่งๆของผื้ง” นี้ ผมไม่เคยเจอว่าจะมีบันทึกในตำราหะดีษเล่มใดเช่นเดียวกัน

ที่เจอในตำราหะดีษก็คือสำนวนที่ว่า أَزِيْزُالْمِرْجَلِ  ซึ่งแปลว่า เสียง(น้ำ)เดือดในกาต้มน้ำ .. ดังบันทึกของท่านอัน-นะซาอีย์ ในหนังสือ “อัส-สุนัน” หะดีษที่ 1213,   และท่านอิหม่ามอะห์มัดในหนังสือ “อัล-มุสนัด” เล่มที่ 4 หน้า 25.

และอีกสำนวนหนึ่งก็คือ أَزِيْزُالرَّحَى  ซึ่งแปลว่าเสียงของเครื่องโม่แป้ง .. จากการบันทึกของท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 904

จาก 2 สำนวนข้างต้นนี้ ไม่ใช่เป็นการกล่าวถึง “เสียง” การละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ที่บ้านของบรรดาเศาะหาบะฮ์ .. แต่เป็นการกล่าวเปรียบเทียบของเศาะหาบะฮ์ต่อ “เสียงร้องไห้” ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมขณะกำลังละหมาด(ในบางครั้ง)ว่า ท่านสะอื้นในอก ฟังคล้ายเสียงน้ำเดือดในหม้อต้มหรือเสียงคล้ายการโม่แป้ง

และอีกสำนวนหนึ่งที่มีปรากฏในหะดีษก็คือ دَوِىُّ النَّحْلِ ซึ่งแปลว่า เสียงหึ่งของผึ้ง เช่นเดียวกัน ...
สำนวนนี้มีบันทึกในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่านอัด-ดาริมีย์ หะดีษที่ 5, 7,  และท่านอิหม่ามอะห์มัด เล่มที่ 1 หน้า 34,  เล่มที่ 4 หน้า 268, 271

แต่สำนวนหลังนี้ในบรรดาหะดีษที่ระบุการบันทึกมาดังข้างต้นก็ไม่ใช่เป็นเรื่อง “เสียงกระหึ่ม” ของการละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ที่บ้านของเศาะหาบะฮ์เช่นเดียวกัน
สรุปแล้ว ข้ออ้างเรื่องการกลับไปทำละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ต่อที่บ้าน(จนสมบูรณ์)ของท่านนบีย์และเศาะหาบะฮ์ดังที่มีระบุในหนังสือฟิกฮ์ 4 มัษฮับและกองทุนติญารียะฮ์ จึงเป็นข้ออ้างที่ปราศจากข้อมูลหลักฐานโดยสิ้นเชิง

والله أعلم بالصواب
***********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น