การถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน เป็นการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมที่หลายคนยังคงตั้งคำถามถึงเหตุผล ที่มาที่ไป และผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติ ซึ่งบทความชิ้นนี้มีคำตอบในทางการแพทย์ อันสะท้อนให้เห็นว่าหลักศาสนานั้นไม่เคยสวนทางกับหลักของธรรมชาติ...
เราได้อะไรจากการถือศีลอด
ในแง่ของศาสนา หวังว่าผู้ที่ผ่านการทดสอบในเดือนรอมฎอนนี้ทุกคน จะเป็นผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ
ส่วนในแง่ทางการแพทย์หรือสุขภาพ การที่เราไม่กินไม่ดื่มเป็นเวลาประมาณ 13 ชั่วโมงเศษ เราจะมีสุขภาพที่ดีได้อย่างไร อาจเป็นหลักสูตรใหม่ที่ตรงกันข้ามกับหลักสูตรที่เน้นการบริโภค วันละ 3 มื้อ แต่หลักสูตรนี้จะสอดคล้องกับสำนักการแพทย์ธรรมชาติบำบัด ที่จะเน้นการบำบัดรักษาโรคด้วยวิธีการอดอาหารเป็นหลัก
1.ระยะเวลาการถือศีลอด
การถือศีลอดรอมฎอน จะใช้ระยะเวลาในการละเว้นจากสิ่งต้องห้าม โดยเฉลี่ยประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งโดยปกติคนเราทุกคนมีการอดอาหารอยู่แล้วครั้งละ 10 -12 ชั่วโมง คือหลังอาหารเย็น (ค่ำ) จนถึงการเริ่มกินอาหารเช้าในวันใหม่และการตรวจวินิจฉัยโรคบางอย่าง เช่น การเจาะเลือดผู้ป่วย ก็ต้องอดอาหารเป็นระยะเวลา 10 -12 ชั่วโมงเช่นกัน
ดังนั้นจะเห็นว่าระยะเวลาของการถือศีลอด ไม่ขัดต่อหลักการตามธรรมชาติ หรือทางการแพทย์แต่อย่างใด แต่จะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืน ซึ่งการถือศีลอดยึดเอาช่วงเวลากลางวันเป็นหลัก ก็เพราะมีจุดประสงค์ที่มากกว่าการอดอาหารทั่วไปนั่นเอง และได้กำชับบรรดาผู้ที่จะถือศีลอดทุกคนได้ลุกขึ้นมารับประทานอาหารดึก ในเวลาใกล้รุ่งหรือให้ล่าช้าก่อนแสงอรุณจะขึ้นเล็กน้อย แม้จะเป็นน้ำเพียงอึกเดียวก็ตาม
2.การเปลี่ยนแปลงในร่างกาย
การถือศีลอดจะทำให้ร่างกายต้องขาดพลังงานจากสารอาหาร และต้องสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายออกจากร่างกาย การสูญเสียน้ำมากกว่า 2 % ของน้ำหนักตัวจะทำให้รู้สึกกระหายน้ำ และเมื่อระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดและเซลล์ลดลง ก็จะทำให้รู้สึกหิว ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากอดไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง เรียกระยะนี้ว่าระยะหิวโหย
ระดับน้ำตาลกลูโคสและน้ำที่ลดต่ำลงจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาท (นิวรอน) บริเวณไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมความหิว ศูนย์อิ่ม และศูนย์กระหายน้ำ เป็นต้น สำหรับคนที่มีร่างกายปกติ มีเจตนา อย่างแน่วแน่ และมีความเชื่อมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ แน่นอนจะไม่ทำให้เขาถึงขั้นมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติไป เพราะระบบต่างๆในร่างกายจะช่วยประสานงานกันโดยอัตโนมัติ เพื่อที่จะรักษาสมดุลให้เกิดขึ้นในร่างกาย
ในระยะแรกร่างกายจะมีการสลายพลังงานในรูปของไกลโคเจนที่เก็บสะสมไว้ในตับ และกล้ามเนื้อ โดยมีฮอร์โมนกลูกากอนจากตับอ่อนมาช่วย ในปฏิกิริยาเคมีนี้จะได้น้ำตาลกลูโคสเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานต่อไป
ส่วนต่อมหมวกไตในส่วนในก็จะถูกกระตุ้นให้หลั่งเอพิเนฟริน (Epinephrine) เพิ่มมากขึ้น เพื่อจะไปกระตุ้นเซลล์ตับให้สังเคราะห์ และปล่อยกลูโคสออกจากกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น และมีผลทำให้เซลล์อื่นๆ ใช้พลังงานลดน้อยลงด้วย
ถ้าพลังงานที่ได้รับจากการสลายไกลโคเจนไม่เพียงพอ ก็จะไปสลายพลังงานสำรองในรูปของไขมัน ซึ่งได้กรดไขมันอิสระออกมาสู่กระแสเลือด และจะถูกเปลี่ยนไปเป็นกลูโคสเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานต่อไป
ส่วนการรักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ก็เป็นหน้าที่ของ Hypothalamus เช่นกัน ที่จะกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองได้หลั่งฮอร์โมน Vasopressine หรือ ADH จะมีผลทำให้ไตมีการดูดซึมน้ำกลับมาใช้เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้มกว่าปกติ
3.วิธีการละศีลอด
เมื่อถึงเวลาละศีลอด อิสลามสอนให้เราละศีลอดก่อนที่จะดำรงการละหมาด และแนะนำให้ละศีลอดด้วยลูกอินทผลัมหรือด้วยน้ำ ในลูกผลอินทผลัมที่สุกงอมนั้นประกอบด้วย น้ำตาลฟรุกโตส กลูโคส น้ำ วิตามิน และแร่ธาตุ โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสจัดเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายชนิดหนึ่ง มีการดูดซึมบริเวณลำไส้เล็ก โดยวิธี Facili-tate Difusion ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงาน ส่วนน้ำตาลกลูโคส และกาแลกโตสนั้นจะดูดซึมแบบ Secondary Active Difusion ซึ่งต้องอาศัยทั้งตัวพาและพลังงาน
ดังนั้นในสภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลีย จากการขาดพลังงานและน้ำ ลูกอินทผลัมน่าจะเป็นผลไม้ที่ดีชนิดหนึ่ง สำหรับผู้ที่จะละศีลอด ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีรสหวานก็สามารถทานได้
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราละศีลอดด้วยน้ำเย็น ทานอาหารหนัก และอิ่มมากจนเกินไปก่อนจะไปละหมาด แทนที่เราจะได้พลังงานกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว เรากลับต้องเสียพลังงานไป เนื่องจากเลือดต้องถูกส่งไปยังกระเพาะอาหาร และลำไส้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง (สมองต้องการน้ำตาลกลูโคส ประมาณ 40 % จากทั้งหมด) จึงทำให้เกิดอาการมึนงง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก และง่วงซึมได้
คงเป็นคำตอบให้กับหลายๆ คนได้ว่า การถือศีลอด ตามหลักศาสนาอิสลามนั้น นั้นไม่ได้เป็นการทำลายสุขภาพแต่อย่างใด
หากชอบเนื้อหาของเรา แบ่งปันต่อเพื่อสุขภาพที่ดีซึ่งกันและกันด้วยนะคะ ฝากกด "ถูกใจ" ที่หน้าเพจเป็นกำลังใจให้ด้วยนะคะ https://www.facebook.com/CKHealthyTips
ขอบคุณค่ะ ^_______^
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=narok&date=22-09-2006&group=5&gblog=16
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น