อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประเด็นเพื่อการถือศีลอด



1. อัศศิยาม الصيام  (การถือศีลอด)  ในทางภาษาหมายถึง  การระงับยับยั้ง  การนิ่งไม่พูด ส่วนในด้านศาสนาหมายถึง การงดเว้นจากการกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่แสงอรุณขึ้น จนถึงดวงอาทิตย์ตก โดยตั้งเจตนาเพื่อการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ    


อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงกำหนดการถือศีลอด ให้แก่ประชาชาติของมุฮัมมัด ศอลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม  เช่นเดียวกับที่เคยกำหนดมันไว้เหนือประชาชาติก่อนๆ  ดังดำรัสที่ว่า   “ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้า เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้ยำเกรง ”  (อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 183) อายะฮฺประทานลงมาในวันจันทร์ เดือนชะอฺบาน ปีฮ.ศ.ที่ 2

2.ประโยชน์ของการถือศีลอด

1/ ด้านจิตวิญญาณ  การถือศีลอดจะฝึกความอดทนและความเข้มแข็งให้จิตใจ และก่อให้เกิดความตักวาต่อผู้เป็นเจ้า

2/ ด้านการอยู่ร่วมกัน การถือศีลอดจะสร้างความเป็นเอกภาพ ความเท่าเทียมกันให้กับผู้ที่อยู่ในสังคม อีกทั้งก่อให้เกิดความรักใคร่เห็นอกเห็นใจกันและเอื้อให้เกิดการทำดีต่อกัน

3/ ด้านสุขภาพร่างกาย การถือศีลอดจะชำระลำไส้ให้สะอาด จะฟื้นฟูกระเพาะอาหารให้ดีขึ้น และช่วยขจัดสิ่งเป็นพิษที่ตกค้างในร่างกาย รวมถึงทำให้ไขมันส่วนเกินถูกละลายไปด้วย

3.หุกุม(บทบัญญัติ)ของการถือศีลอด

การถือศีลอดในเดือนเราะมะฏอนนั้นเป็น วาญิบ โดยคำสั่งจากอัลกุรอาน และอัซซุนนะฮฺ ซึ่งมีตัวบทดังต่อไปนี้  อัลลอฮฺ ตะอาลาทรงตรัสว่า “ เดือนเราะมะฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมาในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดแจ้งเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเข้าอยู่ในเดือนนี้แล้ว ก็จงถือศีลอดในเดือนนั้น ”    อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่  185
 และจากอัลหะดีษ ท่านนบี ศอลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า อิสลามถูกวางรากฐานอยู่บนสิ่งห้าประการ 1- การปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตของพระองค์ 2- การละหมาด 3-Sample Image การจ่ายซะกาต 4- การทำฮัจญ์  5-  การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน


4.ความประเสริฐแห่งเราะมะฏอน

เดือนเราะมะฏอนนั้นมีความประเสริฐอันยิ่งใหญ่ และมีคุณค่าเหนือเดือนอื่นใดทั้งสิ้น  ซึ่งมีหะดีษจำนวนมากได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ เช่น จากอบู ฮุรอยเราะฮฺ ได้รายงานว่า ท่านเราะซูล ศอลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม. ได้กล่าวว่า  ผู้ใดถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ด้วยอีหม่านและหวังผลรางวัลจากอัลลอฮฺ เขาจะได้รับการอภัยในความผิดที่กระทำมาก่อน

5.เงื่อนไขต่างๆของการถือศีลอด

การถือศีลอดเดือนเราะมะฎอนจะเป็นวาญิบเหนือมุสลิม ก็ต่อเมื่อ มุสลิมคนนั้นต้องมีสติปัญญา บรรลุศาสนะภาวะ   สำหรับมุสลิมะฮฺ ยังจะต้องเพิ่มเงื่อนไขไปอีกว่า จะต้องสะอาดจากเลือดประจำเดือน และเลือดนิฟาส(เลือดหลังคลอดบุตร)

6.การถือศีลอดของคนเดินทาง

สำหรับมุสลิมที่ต้องเดินทาง(ตามเงื่อนไขที่ละหมาดย่อได้) ศาสนาได้อนุโลมให้เขาไม่ต้องถือศีลอด และให้เขาถือศีลอดชดใช้ภายหลังในวันที่ขาดได้  ดังดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลาที่ว่า “ แล้วผู้ใดในพวกเจ้าป่วยหรืออยู่ในการเดินทางก็ให้ถือใช้ในวันอื่น ”ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ  อายะฮฺ 184

สำหรับผู้ที่การถือศีลอดขณะเดินทางไม่เป็นการลำบากสำหรับเขาแล้ว การถือศีลอดย่อมเป็นการดีกว่า ส่วนผู้ที่ได้รับความยากลำบากการไม่ถือศีลอดย่อมเป็นการดีกว่า ดังที่มีรายงานจากท่านอบูสะอีด อัลคุดรีย์ ว่า พวกเราเคยร่วมทำสงครามกับท่านเราะซูล ศอลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ในเดือนรอมฎอน โดยบางส่วนของพวกเราถือศีลอด และบางส่วนมิได้ถือ โดยแต่ละฝ่ายก็ไม่ได้ก้าวก่ายกันและกัน พวกเขามีความเห็นว่า หากใครแข็งแรงแล้วถือศีลอด มันก็เป็นการดีสำหรับเขา ส่วนใครอ่อนแอและไม่ได้ถือศีลอด มันก็เป็นการดีสำหรับเขาเช่นกัน

7.กรณีผู้ป่วย

สำหรับมุสลิมที่เจ็บป่วยในเดือนเราะมะฏอน มีข้อพิจารณาดังนี้ ถ้าเขาสามารถถือศีลอดโดยไม่ปัญหาใดๆก็ให้เขาถือศีลอด แต่หากไร้ความสามารถก็ไม่ต้องถือศีลอด

ส่วนกรณีผู้ที่คาดว่าการเจ็บป่วยของตนจะหายก็ให้รอจนกระทั่งหายดีแล้วค่อยถือศีลอดชดใช้ในวันที่ขาดไปภายหลัง แต่สำหรับผู้ที่การเจ็บป่วยของเขาไม่มีหวังหายก็ไม่ต้องถือศีลอด(และไม่มีการชดใช้) โดยให้เลี้ยงอาหารแก่คนยากจนตามจำนวนวันที่ขาด เป็นจำนวนหนึ่งมุด (หนังสือฟิกฮุซซุนนะฮฺ กล่าวว่า อาหารที่ให้แก่คนยากจนนั้นกำหนดไว้ประมาณ หนึ่งกันตัง หรือครึ่งกันตัง หรือหนึ่งลิตร ตามทัศนะที่แตกต่างกัน เพราะไม่ปรากฏอย่างชัดเจนในอัซซุนนะฮฺว่ามีปริมาณที่แน่นอนเท่าใด)  ตามพระดำรัสที่ว่า  “ และหน้าที่ของบรรดาผู้ที่ถือศีลอดด้วยความยากลำบากยิ่ง(โดยที่เขาได้งดเว้นการถือ)นั้นคือการชดเชย อันได้แก่การให้อาหาร(มื้อหนึ่ง)แก่คนมิสกีนหนึ่งคน(ต่อการงดเว้นจากการถือหนึ่งวัน) ” อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 184

8.กรณีผู้สูงอายุ

สำหรับมุสลิมและมุสลิมะฮฺที่บรรลุวัยชรา ไม่มีกำลังวังชาจะถือศีลอด เขาเป็นผู้ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องถือศีลอดและไม่ต้องชดใช้ แต่เลี้ยงอาหารคนยากจนหนึ่งมุดตามจำนวนวันที่ขาดถือศีลอด ดังหะดีษที่รายงานจากท่านอิบนุ อับบาส ดังนี้ ผู้สูงอายุได้รับการผ่อนผันจากการถือศีลอด โดยให้จ่ายอาหารให้แก่คนจนในแต่ละวัน และไม่ต้องถือศีลอดชดใช้

9.กรณีหญิงมีครรภ์และหญิงที่ต้องให้นมลูก

สำหรับมุสลิมะฮฺที่ตั้งครรภ์และเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับตนเองหรือกับชีวิตในครรภ์หากถือศีลอด นางก็เป็นผู้ได้รับการผ่อนผันจากการถือศีลอด โดยให้ถือชดใช้ภายหลังเมี่อเหตุที่ได้รับการผ่อนผันหมดลงแล้ว และหากนางมีฐานะดีก็ให้นางเลี้ยงอาหารคนยากจนปริมาณหนึ่งมุดพร้อมกับการถือศีลอดชดใช้ก็จะเป็นการดีที่สุดและได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่

ในหุกุมเดียวกันนี้ให้นำมาใช้กับหญิงที่ต้องให้นมลูก ซึ่งนางกลัวว่าหากนางถือศีลอดแล้วจะเกิดอันตรายกับตนเองหรือกับลูกของนาง และนางไม่พบใครที่จะมาให้นมลูกแทนนางได้ ซึ่งหุกุมนี้นำมาจากอายะฮฺที่ว่า “ และหน้าที่ของบรรดาผู้ที่ถือศีลอดด้วยความยากลำบากยิ่ง(โดยที่เขาได้งดเว้นการถือ)นั้นคือการชดเชย อันได้แก่การให้อาหาร(มื้อหนึ่ง)แก่คนมิสกีนคนหนึ่ง(ต่อการงดเว้นจากการถือหนึ่งวัน) ” ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 184

(หมายเหตุจากบรรณาธิการ: นักวิชาการมีทัศนะที่แตกต่างกันในเรื่องการชดใช้การถือศีลอดของหญิงมีครรภ์หรือหญิงให้นมลูก สำหรับความเห็นของเชคดร.ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์นั้น ให้ชดใช้ด้วยการเลี้ยงอาหารคนจนตามจำนวนวันที่ขาดอย่างเดียว ซึ่งเป็นทัศนะที่กองบรรณาธิการถือว่ามีน้ำหนัก วัลลอฮุ อะอฺลัม )

10.ข้อพึงระวัง

ผู้ที่ต้องถือศีลอดชดใช้ของเดือนเราะมะฏอนที่ผ่านมา แล้วได้ละเลยไม่ทำการชดใช้โดยปราศจากเหตุอันควร จนกระทั่งมาถึงเราะมะฎอนใหม่ เขาจะต้องเลี้ยงอาหารคนยากจนตามจำนวนวันที่เขาต้องถือศีลอดชดใช้ด้วย (ต้องถือศีลอดด้วย เลี้ยงอาหารด้วย)

11.รุกุ่นของการถือศีลอด  ได้แก่

1/ การตั้งเจตนา  นั่นคือ การตั้งใจว่าจะถือศีลอดเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ตะอาลา หรือเพื่อเป็นการแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระองค์ ดังที่ท่านนบี ศอลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า ทุกการงานนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา
มีข้อสังเกตุสำหรับการตั้งเจตนาว่า หากเป็นการถือศีลอดฟัรฎูแล้วต้องมีการตั้งเจตนาในตอนกลางคืนก่อนแสงอรุณขึ้น  ตามอัลหะดีษที่กล่าวไว้ว่า ผู้ที่ไม่ได้ตั้งเจตนาเพื่อถือศีลอดก่อนแสงอรุณขึ้น ก็ไม่มีการถือศีลอดสำหรับเขา

แต่ถ้าเป็นการถือศีลอดสุนัตการตั้งเจตนาหลังจากแสงอรุณขึ้นจนกระทั่งเป็นตอนกลางวันแล้วก็ถือว่าใช้ได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้ดื่มกินอาหารเข้าไป
2/ การยับยั้งตนเองจากสิ่งที่จะทำให้เสียการถือศีลอด คือ การกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์
3/  ช่วงเวลาในการถือศีลอด หมายความว่า การถือศีลอดต้องเป็นในช่วงกลางวัน นับตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ตก ดังนั้นผู้ที่ถือศีลอดกลางคืนและดื่มกินตอนกลางวันนั้นไม่นับเป็นการถือศีลอดโดยเด็ดขาด

12.ข้อควรปฎิบัติต่างๆในการถือศีลอด
1/ การรีบในการละศีลอด หลังจากรู้แน่ชัดว่าดวงอาทิตย์ตกแล้ว  เรื่องนี้มีอัลหะดีษกล่าวว่าผู้คนจะยังอยู่ในความดีงาม ตราบที่พวกเขารีบเร่งในการละศีลอด
2/ ละศีลอดด้วย อินผลัมสด หรืออินผลัมแห้ง หรือน้ำ โดยทั้งสามสิ่งมีคุณค่าลดหลั่นกันตามลำดับ
3/ กล่าวดุอาอ์ขณะละศีลอดว่า

‏‏ ذَهَبَ الظَّمَأُ وَابْتَلَّتْ الْعُرُوقُ وَثَبَتَ الْأَجْرُ إِنْ شَاءَ اللَّهُ

ความกระหายมลายหายไป เส้นเลือดทั้งหลายก็ชุ่มฉ่ำ ผลรางวัลมีแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ

4/ กินอาหารสะหูร ซึ่งหมายถึงการกินและดื่มในช่วงท้ายของคืนเพื่อเตรียมถือศีลอด  เนื่องจากมีอัลหะดีษกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ความแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของเรากับของชาวคัมภีร์ ก็คือ การกินอาหารสะหูร
5/ ล่าช้าในการกินอาหารสะหูร จนถึงตอนท้ายสุดของกลางคืน ดังหะดีษที่ว่า ประชาชาติของฉันจะยังอยู่ในความดีงาม ตราบที่พวกเขารีบเร่งในการละศีลอด และล่าช้าในการกินอาหารสะหูร
ซึ่งเวลาอาหารสะหูรที่มีกล่าวไว้ในอัลหะดีษนั้น คือ มีช่วงห่างระหว่างการกินสะหูรกับการอะซานละหมาดซุบฮฺ เท่ากับระยะเวลาอ่านอัลกุรอาน 50 อายะฮฺ
ผู้ใดที่ไม่แน่ใจว่าแสงอรุณขึ้นหรือยัง ก็ให้เขารับประทานได้จนกระทั่งแน่ใจว่าแสงอรุณขึ้นแล้วจึงหยุด  ดังอายะฮฺ อัลกุรอานที่ว่า และพวกเจ้าจงกิน จงดื่ม จนกระทั่งเส้นขาว จะประจักษ์แก่พวกเจ้าจากเส้นดำ เนื่องจากแสงอรุณ(อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 187)

13.สิ่งน่ารังเกียจขณะถือศีลอด

1/  กลั้วปากและสูดน้ำเข้าจมูกลึกเกินไป ขณะถือศีลอด เพราะการกระทำดังกล่าวเกรงว่าจะทำให้น้ำเข้าไปข้างในร่างกายได้
2/  การจูบของสามีและภรรยา เพราะอาจนำไปสู่การทำให้การถือศีลอดเสียไป เนื่องจากการหลั่งของน้ำมะนียฺ หรืออาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ซึ่งยังจะต้องเสียกัฟฟาเราะฮฺอีกด้วย
3/  การมองดูภรรยาอย่างไม่ยับยั้งชั่งใจต่อความรู้สึกของกำหนัด
4/  คิดจินตนาการในเรื่องเพศสัมพันธ์
5/  การสัมผัสผู้หญิงด้วยมือหรือแตะต้องตัวนาง
6/  การชิมรสอาหาร

14.สิ่งที่จะทำให้เสียการถือศีลอด

· กลั้วปากและสูดน้ำเข้าจมูกลึกเกินพอดีในการอาบน้ำละหมาดหรืออื่นๆจนกระทั่งมีน้ำเข้าไปในลำคอหรือจมูก (บางทัศนะว่าไม่เสียการถือศีลอดเนื่องจากไม่ได้เจตนา)
· อสุจิเคลื่อนออกมาโดยมีสาเหตุจากการมองอย่างต่อเนื่องไม่ยับยั้ง การคิดหมกมุ่นทางเพศ การจูบ การสัมผัส (ถือว่าเป็นการทำให้น้ำอสุจิเคลื่อนออกมาโดยเจตนา จึงต่างกับการฝันเปียกตอนกลางวัน)
· เจตนาอาเจียน
· การมีเลือดประจำเดือน แม้ว่าจะเป็นช่วงสุดท้ายก่อนตะวันตก
· การกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์ โดยถูกบังคับSample Image
· การกิน การดื่ม โดยคิดว่าไม่เข้าเวลาถือศีลอด แต่ปรากฏชัดภายหลังว่าแสงอรุณได้ขึ้นไปแล้วในตอนที่เขายังดื่มกินอยู่
· การกิน การดื่ม โดยคิดว่าได้เวลาละศีลอดแล้ว แต่ปรากฏภายหลังว่าดวงอาทิตย์ยังไม่ตก
· ผู้ที่กินหรือดื่มด้วยการลืม แต่ไม่ระงับการกินดื่มต่อไป โดยคิดว่าการระงับนั้นไม่เป็นวาญิบ
· การตั้งใจละศีลอดในขณะที่คนๆนั้นกำลังถือศีลอด แม้ว่าในวันนั้นเขาไม่ได้กินอาหารและเครื่องดื่ม
· ตกศาสนา (เป็นมุรตัด) แม้ว่าภายหลังเขาจะกลับคืนอิสลาม

สิ่งที่ทำให้เสียการถือศีลอดที่กล่าวมาข้างบนนั้น ผู้ศีลอดต้องถือชดใช้ในวันที่เสียไปในภายหลัง โดยไม่ต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺ

ส่วนการกระทำที่ทำให้เสียการถือศีลอดสองประการต่อไปนี้ ผู้ถือศีลอดต้องถือชดใช้และต้องจ่ายกัฟฟาเราะฮฺด้วย นั่นคือ
-  การมีเพศสัมพันธ์โดยเจตนาไม่ได้ถูกบังคับ
-  การกิน การดื่ม โดยปราศข้อผ่อนผันของศาสนา

การจ่ายกัฟฟาเราะฮฺนั้น ก็ให้เลือกทำหนึ่งในสามประการดังต่อไปนี้
1 ปล่อยทาส
2 ถือศีลอดสองเดือนติดต่อกัน
3 เลี้ยงอาหารคนจน 60 คน

15.สิ่งอนุญาตให้ผู้ถือศีลอดทำได้

-         การแปรงฟันตลอดทั้งวัน(แต่ต้องระวังยาสีฟันสมัยนี้ที่มีรสซ่า อาจผ่านลงสู่ลำคอได้ ที่ดีควรใช้ไม้ข่อย)
-         การบรรเทาความร้อนโดยพึ่งน้ำ เช่น การรดน้ำลงบนร่างกาย  การดำน้ำ
-         การกินการดื่ม การมีเพศสัมพันธ์ ในเวลากลางคืน จนกว่าจะถึงเวลาแสงอรุณขึ้น
-         การเดินทางที่จำเป็นและไม่ผิดหลักศาสนา  แม้จะรู้ว่าอาจไม่ได้ถือศีลอด
-         การใช้ยาที่หะลาล ที่ไม่ใช่เป็นการกิน  เช่นการฉีดยาเพื่อรักษา (แต่ต้องไม่ใช่การให้น้ำเกลือเพราะถือว่าเป็นสารอาหารชนิดหนึ่ง)
-         การเคี้ยวอาหารให้เด็กเล็ก ซึ่งไม่มีใครเคี้ยวให้ แต่ต้องระวังอย่าให้อาหารหลุดเข้าสู่ลำคอ
-         การใช้น้ำหอม

16.ข้อผ่อนผันให้แก่ผู้ถือศีลอด

-         การกลืนน้ำลายแม้ว่ามันจะมาก
-         ผู้ที่อาเจียนโดยไม่ได้เจตนา  แล้วได้กลืนบางสิ่งในอาเจียนลงคอไป แม้ว่าสิ่งนั้นมันจะออกมาถึงปลายลิ้น
-         การกลืนแมลงวันลงคอโดยไม่ได้เจตนา
-         สูดเอาควันรถ ควันจากฟืนหุงต้ม หรือควันอื่นๆที่เลี่ยงไม่ได้
-         ตื่นนอนตอนเช้าในสภาพมีญะนาบะฮฺ
-         ฝันเปียกในตอนกลางวัน
-         การกิน หรือดื่ม ด้วยการลืม

17.ปิดท้าย คำเตือน
การถือศีลอดมิใช่เพียงงดอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่เป็นงดจากสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามประการอื่นด้วย ดังอัลหะดีษที่ได้เตือนเรื่องนี้ไว้ ว่า
 ผู้ใดไม่ละทิ้งคำพูดเท็จและการกระทำที่มดเท็จ ก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่เขาจะละเว้นอาหารและเครื่องดื่มของเขาเพื่ออัลลอฮฺ
และ
บางทีผู้ถือศีลอดก็ไม่ได้รับอะไรจากการถือศีลอดของเขานอกจากความหิว และบางทีผู้ที่ลุกขึ้นละหมาดกลางดึกก็ไม่ได้รับสิ่งใดจากการลุกขึ้นของเขา นอกจากการอดนอน


والله أعلم بالصواب

 ********************************
 อบู ฮัมซะฮ์   เรียบเรียง

เยาวชนฆุรอบาอ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น