อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

การกล่าวศอลาวาตระหว่างละหมาดตะรอเวียะ


ตอบโดย อาจารย์อาลี เสือสมิง



อิมาม อิบนุ หะญัร อัล-ฮัยตะมียฺ ถูกถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน  ท่านตอบว่า : “การเศาะละหวาตในสถานที่นี้ (คือระหว่างการให้สล่ามจากการละหมาดตะรอวีหฺ)  เป็นกรณีเฉพาะนั้น  เราไม่เคยพบสิ่งใดใน อัส-สุนนะฮฺ  และในคำกล่าวของบรรดาอัศหาบฺของเราในเรื่องนี้

จึงเป็นบิดอะฮฺสำหรับผู้ที่กระทำการเศาะละหวาตโดยเจตนาว่าการเศาะละหวาตในสถานที่นี้เป็นสุนนะฮฺโดยเฉพาะจะต้องถูกห้ามปรามจากการการทำ (ตามเจตนาที่ว่านี้)  โดยที่ผู้กระทำทำการเศาะละหวาตที่ไม่ได้มีเจตนาเช่นนี้จะไม่ถูกห้าม  เช่นการที่เขามีเจตนาว่าการเศาะละหวาตเป็นสุนนะฮฺให้กระทำในทุกเวลาโดยอาศัยหลักกว้างๆ” (อัล-ฟะตาวา อัล-กุบรอ อัล-ฟิกฮียะฮฺ ; อิบนุหะญัร อัล-ฮัยตะมียฺ เล่มที่ 1 หน้า 266)


ดังนั้นจึงได้คำตอบว่า  ไม่มีสุนนะฮฺเป็นกรณีเฉพาะในการกระทำการเศาะละหวาตระหว่างให้สล่ามในการละหมาดตะรอวีหฺ  และผู้ใดถือว่าการกระทำตามลักษณะเฉพาะที่ว่านี้เป็นสุนนะฮฺก็ถือว่านั่นเป็นบิดอะฮฺ (อุตริกรรม)  แต่ถ้าไม่ถืออย่างนั้น หากแต่อาศัยหลักกว้างๆ ที่มีคำสั่งส่งเสริมให้กล่าวเศาะละหวาตมากๆ ในทุกเวลาจะเป็นหลังการละหมาดหรือไม่ก็ตามอย่างนี้ก็ไม่ถือว่าผู้นั้นกระทำสิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ


ซึ่งจะว่ากันตามตรงแล้วการเศาะละหวาตอย่างที่กระทำกันในบ้านเราดูออกจะเป็นรูปแบบเฉพาะและเจาะจงกันเสียมากกว่าที่จะถือตามหลักกว้างๆ ซึ่งในบางครั้งเน้นกันในส่วนนี้มากกว่าตัวละหมาดที่เร่งรีบกระทำกันจนมะอฺมูมอ่านตามในละหมาดไม่ทัน  และขาดเฏาะมะอฺนีนะฮฺในละหมาดด้วยซ้ำไป  จึงต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้กันให้ดีว่าควรเน้นอะไรไม่ควรเน้นหรือเคร่งครัดกัน


อย่างไรก็ตาม ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศ็อกร์ ได้ตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้เช่นกันว่า : “ไม่มีตัวบทห้ามการซิกรุลลอฮฺหรือการขอดุอาอฺหรือการอ่านอัลกุรอานในช่วงคั่นระหว่างทุกๆ 2 รอกอะฮฺจากการละหมาดตะรอวีหฺหรือทุกๆ 4 รอกอะฮฺ เป็นต้น  เรื่องนี้เข้าอยู่ภายใต้คำสั่งทั่วๆ ไปที่ให้ซิกรุลลอฮฺในทุกสภาพ  และการที่ชาวสลัฟซึ่งการวางบัญญัติถูกยึดเอาจากพวกเขาไม่ได้กระทำสิ่งนี้ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นสิ่งที่ห้ามกระทำ ควบคู่กับการถ่ายทอดจากชนสะลัฟในการห้ามซิกรุลลอฮฺดังกล่าวก็ไม่น่าเชื่อถือ


การคั่น (ด้วยการเศาะละหวาต) นี้คล้ายกับสิ่งที่ชาวมักกะฮฺได้เคยปฏิบัติกันในการละหมาดกิยามุลลัยลฺด้วยการเฏาะวาฟรอบบัยตุลลอฮฺ 7 รอบระหว่างทุกๆ 2 การพัก (ตะรอวีหฺ)  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ชาวมะดีนะฮฺต้องเพิ่มจำนวนการละหมาดตะรอวีหฺมากกว่า 20 รอกอะฮฺเพื่อทดแทนการเฏาะวาฟนี้  และการคั่นนี้เป็นรูปแบบที่เป็นระเบียบซึ่งทำให้พวกเขารู้ถึงจำนวนของรอกอะฮฺที่ทำถึงแล้ว (ว่าได้กี่รอกอะฮฺแล้ว) กอรปกับในเรื่องนี้ทำให้ผู้ละหมาดตื่นตัว  จึงไม่มีข้อห้ามใดๆ เลย  และตามนี้ก็ไม่เข้าอยู่ภายใต้ชื่อว่าเป็นบิดอะฮฺ  เพราะมีบรรดาตัวบทกว้างๆ ทั่วไปยืนยันเอาไว้นอกเหนือจากการที่ไม่ขัดกับตัวบทอีกด้วย...” (อะหฺสะนุ้ลกะลามฯ ชัยคฺ อะฏียะฮฺ ศ็อกร์ เล่มที่ 7 หน้า 234)


ก็พิจารณาเอาก็แล้วกันครับ !

والله أعلم بالصواب

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น