เดือนร่อมะฎอน คือเดือนที่ประเสริฐที่สุด คือเดือนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงให้ความโปรดปรานกับ บรรดาบ่าวของพระองค์ ทรงเปิดประตูสวรรค์ ประตูแห่งความเมตตา ปิดประตูนรก ปลดปล่อยบ่าวออกจากไฟนรก ทรงล่ามบรรดาชัยฏอน ทรงให้หัวใจของผู้ศรัทธามีแต่ความดีงาม ทรงให้ความเอื้อเฟื้อ เผื่อแพร่ ความรัก ความอดทน เกิดขึ้นในหัวใจของบรรดาผู้ศรัทธา
เมื่อเดือนร่อมะฎอนมาถึง หน้าที่ของบรรดาผู้ศรัทธาต่างเร่งรีบในการเก็บเกี่ยวผลบุญความดีงามต่าง ๆ มากมาย การถือศีลอดที่มีภาคผลในการลบล้างบาปที่ผ่านมา การละหมาดกิยามุร่อมะฎอนที่ภาคผลในการลบล้างบาป ที่ผ่านมาเช่นกัน การแสวงหาคืนอันมีเกียรติที่มีภาคผลดีกว่าหนึ่งพันเดือน การอ่าน ท่องจำ และพิจารณา ใคร่ครวญความหมายของอัลกุรอ่าน ตลอดจนการแสวงหาการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
เช่นเดียวกันเมื่อเดือนร่อมะฎอนเป็นเดือนที่มีแต่การตอบแทนผลบุญอย่างมากมายให้กับบรรดาผู้ศรัทธา แต่ใน ทางตรงกันข้ามบรรดาผู้ศรัทธาอีกจำนวนมากก็ทำให้เดือนร่อมะฎอนเป็นเดือนที่ขาดทุน เป็นเดือนที่ผ่านไปโดย ไม่ได้รับความดีใด ๆ ทั้งสิ้น
ความจริงแล้วเดือนร่อมะฎอนไม่สมควรเป็นเดือนที่ขาดทุนของใครหลาย ๆ คน คำว่าขาดทุนไม่สมควรกล่าวถึง ด้วยซ้ำในเดือนนี้ ก็อันเนื่องมาจากว่า ภาคผลของการถือศีลอดคือการอภัยโทษบาปต่าง ๆ ที่ผ่านมา ภาคผลของ การละหมาดคือการอภัยโทษบาปต่าง ๆ ที่ผ่านมาเช่นกัน การแสวงหาคืนลัยละตุลก็อดรฺมีภาคผลดีกว่าหนึ่ง พันเดือน เหตุไฉนเราจึงขาดทุนในเดือนนี้ ? เพราะอะไร ?
สิ่งต่าง ๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ คือสาเหตุที่นำสู่ความขาดทุนในเดือนร่อมะฎอน บางประการเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถือ ศีลอดนั้นมีค่าไม่ต่างอะไรกับผู้ที่ไม่ถือศีลอดเลย
ไม่ละทิ้งคำพูด การกระทำที่หยาบคาย
สาเหตุของความขาดทุนจากประเด็นนี้ :
1 – เราไม่ละทิ้งคำพูด การกระทำที่หยาบคาย ในขณะที่การถือศีลอดที่แท้จริงตามบทบัญญัตินั้น ไม่ใช่แค่เพียงอดอาหาร อดเครื่องดื่มเท่านั้น แต่การถือศีลอดที่แท้จริงคือ การละทิ้งคำพูด การกระทำที่ โกหก ลามก หยาบคาย การด่าทอ นินทา ใส่ร้าย
มีรายงานจากอบีฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า : ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
لَيْسَ الصِّيَامُ مِنَ الأَكْلِ وَالشُّرْبِ ، إِنَّمَا الصِّيَامُ مِنَ اللَّغْوِ وَالرَّفَثِ ، فَإِنْ سَابَّكَ أَحَدٌ أَوْ جَهِلَ عَلَيْكَ ، فَلْتَقُلْ : إِنِّي صَائِمٌ ، إِنِّي صَائِمٌ
“การถือศีลอดไม่ใช่แค่ งดอาหาร งดเครื่องดื่มเท่านั้น หากแต่การถือศีลอดที่แท้จริงนั้น ต้องงดจากสิ่ง ไร้สาระและอารมณ์ใฝ่ต่ำด้วย หากว่ามีคนใดมาด่าว่าท่าน หรือแสดงพฤติกรรมที่โง่เขลากับท่าน ดังนั้นก็ให้ท่านจงกล่าวว่า : ฉันคือผู้ถือศีลอด ฉันคือผู้ถือศีลอด”
(บันทึกโดยอิบนุคุซัยมะฮฺ : 1879 อิบนุหิบบาน : 3561 มาลิก : 282 อัลบานียฺ , เศาะเหี๊ยะหฺอัลญามิอฺ : 5376)
2 - เราไม่ละทิ้งคำพูด การกระทำที่หยาบคาย ในขณะที่ผู้ถือศีลอดที่มีคำพูด การกระทำที่ลามก หยาบคาย ด่าทอ นินทา อยู่นั้น การถือศีลอดก็ได้แค่เพียงความหิว และกระหาย เท่านั้น และเป็นการถือ ศีลอดที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ต้องการ
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
رُبَّ صَائِمٍ لَيْسَ لَهُ مِنْ صِيَامِهِ إِلاَّ الجُوْعُ وَالعَطَشُ
“บางทีผู้ที่ถือศีลอดนั้น ส่วนได้ของเขาจากการถือศีลอดของเขาก็คือ ความหิวและความกระหายเท่านั้น”
(บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ : 1690 อัลบานียฺ , เศาะเหี๊ยะหฺตัรฆีบ : 1084 อัลบานียฺ , เศาะเหี๊ยะหฺอิบนุมาญะฮฺ :1380)
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُّوْرِ وَالْعَمَلَ بِهِ فَلَيْسَ للهِ حَاجَةٌ فِي أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ َوَشَرَابَهُ
“ผู้ใดไม่ละทิ้งคำพูดและการกระทำที่เป็นเท็จ อัลลอฮฺก็ไม่ทรงประสงค์การอดอาหารและเครื่องดื่ม ของเขา ”
(บันทึกโดยบุคอรี : 1804)
3 – เราไม่ละทิ้งคำพูด การกระทำที่หยาบคาย ในขณะที่เดือนร่อมะฎอน คือ เดือนที่ไม่มีชัยฏอนคอย ยุแหย่ คอยกระซิบกระซาบ หากว่ามุสลิมไม่สามารถลด เลิกพฤติกรรม คำพูด การกระทำที่หยาบคาย โกหก ด่าทอ นินทา และอีกมากมายแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะปรับปรุงตนเองในเดือนอื่น ๆ
มีรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
إِذَا جَاءَ رَمَضَانُ ، فُتِّحَتْ أَبْوَابُ الْجَنَّةِ وَغُلِّقَتْ أَبْوَابُ النَّارِ ، وَصُفِّدَتِ الشَّيَاطِينُ
“เมื่อเดือนร่อมะฎอนมาถึง ประตูสวรรค์จะถูกเปิด ประตูนรกจะถูกปิด และบรรดามารร้ายจะถูกล่าม”
(บันทึกโดยมุสลิม : 1800)
.................................................................................................................................................
ไม่ให้ความสำคัญกับการอ่านอัลกุรอ่าน ศึกษาความหมาย ใคร่ครวญในเนื้อหา
สาเหตุของความขาดทุนจากประเด็นนี้ :
1 – เราไม่ให้ความสำคัญกับอัลกุรอ่าน ในขณะที่ผลบุญของการอ่านอัลกุรอ่านปกตินั้น หนึ่งอักษรเท่า กับสิบความดี ซึ่งเดือนร่อมะฎอนเป็นเดือนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตอบแทนความดีให้อย่าง มากมาย การอ่านอัลกุรอ่านในเดือนนี้ก็จะได้รับผลบุญอย่างมากมายเช่นกัน
มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ มัซอูด ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า : ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
مَنْ قَرَأَ حَرْفًا مِنْ كِتَابِ اللَّهِ فَلَهُ بِهِ حَسَنَةٌ وَالْحَسَنَةُ بِعَشْرِ أَمْثَالِهَا لَا أَقُولُ الم حَرْفٌ وَلَكِنْ أَلِفٌ حَرْفٌ وَلَامٌ حَرْفٌ وَمِيمٌ حَرْفٌ
“บุคคลใดที่อ่านหนึ่งพยัญชนะจากอัลกุรอ่าน เขาจะได้รับความดีหนึ่ง และความดีนั้นเท่ากับสิบความดี (ท่านนบี) ฉันไม่ได้กล่าวว่า อะลีฟลามมีม หนึ่งพยัญชนะ แต่ว่า อะลีฟหนึ่งพยัญชนะ ลามหนึ่งพยัญชนะ มีมหนึ่งพยัญชนะ”
(บันทึกโดยติรมีซียฺ : 2910 อัลบานียฺ , เศาะเหี๊ยะหฺอัลญามิอฺ : 6469 อัลบานียฺ เศาะเหี๊ยะหฺตัรฆีบ : 1416)
2 – เราไม่ให้ความสำคัญกับอัลกุรอ่าน ในขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทบทวน อัลกุรอ่านกับท่านญิบรีล อะลัยฮิซซะลาม ในเดือนร่อมะฎอน
มีรายงานจากอิบนิ อับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า :
كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجْوَدَ النَّاسِ وَكَانَ أَجْوَدُ مَا يَكُونُ فِي رَمَضَانَ حِينَ يَلْقَاهُ جِبْرِيلُ وَكَانَ يَلْقَاهُ فِي كُلِّ لَيْلَةٍ مِنْ رَمَضَانَ فَيُدَارِسُهُ الْقُرْآنَ فَلَرَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَجْوَدُ بِالْخَيْرِ مِنْ الرِّيحِ الْمُرْسَلَ
“ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้ที่ใจบุญที่สุด และท่านจะใจบุญยิ่งขึ้นในเดือนร่อมะฎอน ขณะที่ญิบรีลได้พบกับท่าน และญิบรีลจะพบกับท่านทุกคืนในเดือนร่อมะฎอน และจะทบทวนอัลกุรอ่าน กับท่าน ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้ที่ใจบุญยิ่งกว่าสายลมที่พัดโชย”
(บันทึกโดยบุคอรียฺ : 6)
3 – เราไม่ให้ความสำคัญกับอัลกุรอ่าน ในขณะที่เดือนร่อมะฎอนคือเดือนแห่งการประทานอัลกุรอ่าน
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตรัสว่า :
شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنْزِلَ فِيهِ الْقُرْآَنُ هُدًى لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ
“เดือนร่อมะฎอน เป็นเดือนที่ประทานอัลกุรอานลงมาเพื่อเป็นสิ่งชี้นำแด่มวลมนุษย์ชาติ และเพื่อเป็น หลักฐานแห่งทางนำ และการจำแนกแยกแยะระหว่างดีชั่ว (คือระหว่างความจริงกับความเท็จ)...”
(อัลบะกอเราะฮฺ : 185)
4 – เราไม่ให้ความสำคัญกับอัลกุรอ่าน ในขณะที่ชาวสลัฟ คือกลุ่มชนที่เคร่งครัดในหลักการศาสนา มากกว่าคนในยุคหลัง นี่คือบางส่วนของชาวสลัฟที่ให้ความสำคัญกับอัลกุรอ่าน
- ท่านอุษมาน อิบนุ อัฟฟาน อ่านอัลกุรอ่านวันละจบ
- สลัฟบางท่าน อ่านอัลกุรอ่านจบในละหมาดตะรอเวี๊ยหฺทุก ๆ 3 คืน บางท่านทุก ๆ 7 คืน บางท่านทุก ๆ 10 คืน
- อิหม่ามชาฟีอียฺ อ่านอัลกุรอ่านจบในเดือนเราะมะฎอน 60 จบ
- ท่านเกาะตาดะฮฺ อ่านอัลกุรอ่านจบในทุก ๆ 7 วันตลอด และในเดือนร่อมะฎอนท่านจะอ่านจบในทุก ๆ 3 วัน และในช่วง 10 คืนสุดท้าย ท่านจะอ่านจบทุก ๆ คืน
.................................................................................................................................................
ไม่ให้ความสำคัญกับการละหมาดกิยามุร่อมะฎอน
สาเหตุของความขาดทุนจากประเด็นนี้ :
1 – เราไม่ให้ความสำคัญกับการละหมาดกิยามุร่อมะฎอน ในขณะที่การละหมาดกิยามุร่อมะฎอนนั้น ภาคผลของมันสามารถลบล้างบาปที่ผ่านมา
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยอิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيْمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ
“ผู้ใดที่ยืนละหมาดในเดือนร่อมะฎอนด้วยความศรัทธาและหวังในผลบุญ เขาจะได้รับการอภัยจาก ความผิดบาปที่ผ่านมาของเขา ”
(บันทึกโดยบุคอรี : 37 มุสลิม : 759)
2 – เราไม่ให้ความสำคัญกับการละหมาดกิยามุร่อมะฎอน ในขณะที่การละหมาดกิยามุร่อมะฎอนพร้อม กับอิหม่ามนั้น มีภาคผลเทียบเท่าการละหมาดทั้งคืน
ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
إنَّهُ مَنْ قَامَ مَعَ الإمَامِ حَتَّى يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَـهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ
“ความจริงแล้วบุคคลใดละหมาดพร้อมอิหม่ามจนเสร็จ ได้ถูกบันทึกผลบุญสำหรับเขา คือการละหมาด ทั้งคืน”
(บันทึกโดยอบูดาวุด : 1375 ติรมีซียฺ : 806)
3 – เราไม่ให้ความสำคัญกับการละหมาดกิยามุร่อมะฎอน ในขณะที่การละหมาดกิยามุร่อมะฎอนในช่วง สิบคืนนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจะทรงอภัยโทษบาปที่ผ่านมาให้
มีรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
وَمَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ
“ผู้ใดดำรงการละหมาดกิยามุลลัยลฺในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความศรัทธามั่น และด้วยความหวังในการ ตอบแทน เขาจะได้รับการอภัยจากบาปที่ผ่านมา”
(บันทึกโดยบุคอรียฺ : 1910 มุสลิม :760,1268 ติรมีซียฺ : 683 อบูดาวุด : 1372 นะซาอียฺ : 2202)
.................................................................................................................................................
ไม่ให้ความสำคัญในการขอดุอาอฺในเดือนร่อมะฎอน
สาเหตุของความขาดทุนจากประเด็นนี้ :
1 – เราไม่ให้ความสำคัญในการขอดุอาอฺในเดือนร่อมะฎอน ในขณะที่เดือนร่อมะฎอนคือเดือนที่เป็นช่วง เวลาแห่งการตอบรับการขอดุอาอฺ
มีรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า : ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
إِذَا كَانَ رَمَضَانُ ، فُتِّحَتْ أَبْوَابُ الرَّحْمَةِ ، وَغُلِّقَتْ أَبْوَابُ جَهَنَّمَ ، وَسُلْسِلَتِ الشَّيَاطِينُ
“เมื่อเดือนร่อมะฎอนมาถึง ประตูแห่งความเมตตาจะถูกเปิด ประตูนรกจะถูกปิด และบรรดามารร้าย จะถูกตรวน”
(บันทึกโดยมุสลิม : 1801)
2 – เราไม่ให้ความสำคัญในการขอดุอาอฺในเดือนร่อมะฎอน ในขณะที่ผู้ถือศีลอดนั้น เป็นช่วงเวลาที่ ดุอาอฺถุกตอบรับ
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า :
ثَلَاثَةٌ لَا تُرَدُّ دَعْوَتُهُمْ الْإِمَامُ الْعَادِلُ وَالصَّائِمُ حَتَّى يُفْطِرَ وَدَعْوَةُ الْمَظْلُومِ
“สามคนด้วยกัน ที่การขอดุอาอฺของพวกเขาจะไม่ถูกปฏิเสธ อิหม่ามที่ยุติธรรม คนถือศีลอดจน กว่าจะละศีลอด และการขอดุอาอฺของคนที่ถูกข่มเหง ”
(บันทึกโดยอะหฺมัด :7983)
3 – เราไม่ให้ความสำคัญในการขอดุอาอฺในเดือนร่อมะฎอน ในขณะเวลาที่ละศีลอดนั้น เป็นช่วงเวลาที่ ดุอาอฺถูกตอบรับ
มีรายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนิ อัมรฺ อิบนิ อาศ เล่าว่า : ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
إِنَّ لِلصَّائِمِ عِنْدَ فِطْرِهِ لَدَعْوَةً مَا تُرَدُّ
“แท้จริงสำหรับผู้ถือศีลอดขณะละศีลอดของเขานั้น การวิงวอนขอดุอาอฺจะไม่ถูกปฏิเสธ ”
(บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ : 1753 ซุญูตียฺ , อัลญามิอฺอัศเศาะฆีรฺ : 2385)
4 – เราไม่ให้ความสำคัญในการขอดุอาอฺในเดือนร่อมะฎอน ในขณะที่เป็นโอกาสทองที่เราจะขอดุอาอฺ ช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมทั่วโลกที่ได้รับความลำบาก
.................................................................................................................................................
ไม่ให้ความสำคัญในการแสวงหาคืนลัยละตุลก็อดรฺ
สาเหตุของความขาดทุนจากประเด็นนี้ :
1 – เราไม่ให้ความสำคัญในการแสวงหาคืนลัยละตุลก็อดรฺ ในขณะที่ผลตอบแทนในการทำความดีใน คืนนี้ดีกว่า หนึ่งพันเดือน
มีรายงานจากอนัส อิบนิ มาลิก เล่าว่า : เมื่อถึงเดือนร่อมะฎอน ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะ ซัลลัมได้กล่าวว่า :
إِنَّ هَذَا الشَّهْرَ قَدْ حَضَرَكُمْ وَفِيهِ لَيْلَةٌ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ مَنْ حُرِمَهَا فَقَدْ حُرِمَ الْخَيْرَ كُلَّهُ وَلَا يُحْرَمُ خَيْرَهَا إِلَّا مَحْرُومٌ
“ความจริงแล้วเดือนนี้ ได้มายังพวกท่าน และเดือนนี้นั้นมีคืนหนึ่งที่ดีกว่าหนึ่งพันเดือน บุคคลใดที่พลาด จากมัน แน่นอนเขาได้ถูกห้ามจากความดีทั้งหมด และไม่มีใครที่พลาดจากความดีของมัน นอกจากผู้ที่ถูกห้ามเท่านั้น”
(บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ : 1644 อัลบานียฺ , เศาะเฮี๊ยะหฺอิบนุมาญะฮฺ : 1341)
2 – เราไม่ให้ความสำคัญในการแสวงหาคืนลัยละตุลก็อดรฺ ในขณะที่ท่านท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเมื่อเข้าสู่สิบคืนสุดท้าย ท่านทำให้กลางคืนมีชีวิตชีวาด้วยกับอิบาดะฮฺ และจะขะมักเขม้นทำความดี
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า :
كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا دَخَلَ الْعَشْرُ أَحْيَا اللَّيْلَ وَأَيْقَظَ أَهْلَهُ وَجَدَّ وَشَدَّ الْمِئْزَرَ
“ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อเข้าสู่ 10 วันสุดท้ายของเดือนร่อมะฎอน ท่านจะทำให้ กลางคืนมีชีวิตชีวา (ด้วยการทำความดี) และท่านจะปลุกครอบครัวของท่านให้ตื่นขึ้น ท่านจะขะมักเขม้น และพากเพียรทำความดี”
(บันทึกโดยมุสลิม : 1174)
3 – เราไม่ให้ความสำคัญในการแสวงหาคืนลัยละตุลก็อดรฺ ในขณะที่ท่านท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมนั้นท่านจะเอี๊ยะอฺติกาฟ ในช่วงสิบคืนสุดท้าย
มีรายงานจากอิบนิ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า :
كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَعْتَكِفُ الْعَشْرَ الْأَوَاخِرَ مِنْ رَمَضَانَ
“ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะเอี๊ยะอฺติกาฟใน 10 วันสุดท้ายของเดือนร่อมะฎอน”
(บันทึกโดยบุคอรียฺ : 1921 มุสลิม : 1172,2004 อบีดาวุด : 2465 อิบนุมาญะฮฺ : 1773)
4 – เราไม่ให้ความสำคัญในการแสวงหาคืนลัยละตุลก็อดรฺ ในขณะที่ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะ ซัลลัม ส่งเสริมให้เราให้ความสำคัญกับวันเลขคี่
มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า : แท้จริงท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
تَحَرَّوْا لَيْلَةَ الْقَدْرِ فِي الْوِتْرِ مِنْ الْعَشْرِ الْأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ
“ท่านทั้งหลายจงเฝ้าคอยคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺในคืนเลขคี่ของ 10 คืนสุดท้ายของเดือนร่อมะฎอน”
(บันทึกโดยบุคอรียฺ : 1913)
5 – เราไม่ให้ความสำคัญในการแสวงหาคืนลัยละตุลก็อดรฺ ในขณะที่การกล่าวดุอาอฺที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เป็นดุอาอฺที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะ ฮูวะตะอาลาจะทรงตอบรับ
มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา ว่า :
قُلْتُ يا رسول اللهِ أَرَأَيتَ إِنْ عَلِمْتُ أيُّ لَيْلَةٍ لَيْلةُ القَدرِ ما أَقُولُ فِيها قال قُولي الَّلهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ كَرِيْمٌ تُحِبُّ العَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي
"ฉันได้กล่าวกับท่านร่อซูล ว่า โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ท่านจะเห็นเป็นอย่างไรหากฉันรู้ว่าคืนไหนๆ ก็ตามเป็นคืนลัยละตุลก็อดรฺ ฉันจะวิงวอนกล่าวว่าอย่างไร? ท่านร่อซุลกล่าวตอบว่า "เธอจงกล่าวว่า โอ้พระเจ้าแห่งข้าพระองค์ แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงอภัย พระองค์ท่านชอบที่จะให้อภัย ดังนั้นขอพระองค์ทรงอภัยให้แก่ข้าพระองค์"
(บันทึกโดยติรมีซีย์ : 3513 อัลบานียฺ , เศาะเหี๊ยะหฺติรมีซียฺ : 3513 อัลบานียฺ , เศาะเหี๊ยะหฺอัลญามิอฺ : 4423)
.................................................................................................................................................
ไม่ให้ความสำคัญกับการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ
สาเหตุของความขาดทุนจากประเด็นนี้ :
1 – เราไม่ให้ความสำคัญกับการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ในขณะที่ความจริงแล้วเดือนนี้ คือเดือนที่ประตู แห่งการอภัยโทษ ประตูแห่งความเมตตาถูกเปิดออก ประตูนรกถูกปิด
มีรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า : ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
إِذَا كَانَ رَمَضَانُ ، فُتِّحَتْ أَبْوَابُ الرَّحْمَةِ ، وَغُلِّقَتْ أَبْوَابُ جَهَنَّمَ ، وَسُلْسِلَتِ الشَّيَاطِينُ
“เมื่อเดือนร่อมะฎอนมาถึง ประตูแห่งความเมตตาจะถูกเปิด ประตูนรกจะถูกปิด และบรรดามารร้าย จะถูกตรวน”
(บันทึกโดยมุสลิม : 1801)
2 – เราไม่ให้ความสำคัญกับการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ในขณะที่เป็นเดือนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะ ตะอาลา ทรงเมตตาอภัยโทษต่อบ่าว ตอบแทนความดีงามให้แก่บ่าว
มีรายงานมาจากอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า :
كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ لَهُ إِلَّا الصِّيَامَ هُوَ لِي وَأَنَا أَجْزِي بِهِ
“การงานทุกประการของมนุษย์นั้น (จะได้รับผลบุญ) ตามส่วนที่เขาได้กระทำ ยกเว้นการถือศีลอด (ผลตอบแทน) การถือศีลอดนั้นเป็นสิทธิของฉัน และฉันจะตอบแทนเอง…”
(บันทึกโดยบุคอรียฺ : 1904 มุสลิม : 1151)
3 – เราไม่ให้ความสำคัญกับการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ในขณะที่ความจริงแล้วมนุษย์ทุกคนมีความผิด เดือนนี้จึงเป็นโอกาสที่เหมาะที่จะชำระล้างจิตใจใหม่
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
كُلُّ ابْنِ آدَمَ خَطَّاءٌ وَخَيْرُ الْخَطَّائِينَ التَّوَّابُونَ
"มนุษย์ทุกคนย่อมมีผิดพลาด และผู้ผิดพลาดที่ดีที่สุดคือผู้ที่กลับตัว"
(บันทึกโดยติรมีซียฺ : 2499)
4 – เราไม่ให้ความสำคัญกับการขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ในขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เตือนให้มุสลิมอย่าทำให้ตนเองต้องขาดทุนในเดือนร่อมะฎอนนี้
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
رَغِمَ أَنْفُ رَجُلٍ دَخَلَ عَلَيْهِ رَمَضَانُ ثُمَّ انْسَلَخَ قَبْلَ أَنْ يُغْفَرَ لَهُ
“ความพินาศจงประสบแก่บุคคลคนหนึ่ง เมื่อเดือนร่อมะฎอนได้มาหาเขา แล้วมันได้ผ่านพ้นไปก่อน ที่เขาจะได้รับการอภัยโทษ (คืออยู่ในสภาพที่ขาดทุน) ”
(บันทึกโดยติรมีซียฺ : 3545 อัลบานียฺ , ดูในเศาะเหี๊ยะหฺติรมีซียฺ : 3545)
........................
โดย วะร่อซะตุซซุนนะฮฺ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น