อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความประเสริฐของค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ



พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสว่าในซูเราะฮฺอัลก็อดรฺ อายะฮฺ 1-5

إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ وَمَا أَدْرَاكَ مَا لَيْلَةُ الْقَدْرِ لَيْلَةُ الْقَدْرِ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍتَنَزَّلُ الْمَلَائِكَةُ وَالرُّوحُ فِيهَا بِإِذْنِ رَبِّهِمْ مِنْ كُلِّ أَمْرٍ سَلَامٌ هِيَ حَتَّى مَطْلَعِ الْفَجْرِ

"แท้จริงเราได้ประทานอัลกรุอ่านลงมาในคืนอัลก็อดรฺ และอะไรเล่าจะทำให้เจ้ารู้ได้ว่าคืออัลก็อดรฺนั้นคืออะไร ? คืนอัลก็อดรฺ นั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน บรรดามะลาอิกะฮฺและอัลรูฮฺ (ญิบรีล) จะลงมาในคืนนั้นโดยอนุมัติแห่งพระเจ้าของพวกเขา เนื่องจาก กิจการทุกสิ่ง (ได้ถูกกำหนด) คืนนั้นมีความศานติจนกระทั่งรุ่งอรุณ "

ในคืนอัลก็อดรฺนั้น ทุกๆ กิจการที่สำคัญถูกจำแนกไว้ พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัดดุคอน อายะฮฺ 3-6 ว่า

إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُبَارَكَةٍ إِنَّا كُنَّا مُنْذِرِينَ فِيهَا يُفْرَقُ كُلُّ أَمْرٍ حَكِيمٍ أَمْرًا مِنْ عِنْدِنَا إِنَّا كُنَّا مُرْسِلِينَ رَحْمَةً مِنْ رَبِّكَ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ

"แท้จริงเราได้ประทานอัลกรุอ่านลงมาในคืนอันจำเริญ แท้จริงเราเป็นผู้ที่ตักเตือน ในคืนนั้นทุกๆ กิจการที่สำคัญถูกจำแนก ไว้แล้ว โดย บัญชามาจากเรา แท้จริงเราเป็นผู้ที่ส่งมา เป็นความเมตตาจากพระเจ้าของเจ้า แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรง ได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้"

หรือที่มีรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

وَمَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

“ผู้ใดดำรงการละหมาดกิยามุลลัยลฺในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความศรัทธามั่นและด้วยความหวังในการตอบแทน เขาจะได้รับการ อภัยจากบาปที่ผ่านมา” (บันทึกโดยบุคอรียฺ : 1910 มุสลิม :760,1268 ติรมีซียฺ : 683 อบูดาวุด : 1372 นะซาอียฺ : 2202)

ค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ เป็นค่ำคืนที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานอัลกรุอ่านลงมาในคืนแห่งความยิ่งใหญ่ คือพระองค์อัลลอฮฺ ได้ประทานอัลกรุอ่าน ลงมาในคืนนั้น คือการประทานลงมาจากอัลลูหฺอัลมะฮฺฟูซ สู่ชั้นฟ้าแห่งโลกดุนยา คือบัยตุล อิซซะฮฺ จากนั้นญิบรีล (อะลัยฮิสลาม) จะเป็น ผู้นำมาให้แก่ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แล้วแต่เหตุการณ์เป็นเวลา 23 ปี

รวมทั้งความประเสริฐของคืนนั้นดีกว่าหนึ่งพันเดือน คืนอัลก็อดรฺนั้นเป็นคืนที่มีเกียรติและความดีงามมากมายมีคุณค่าดีกว่าหนึ่งพันเดือน มุญาฮิดกล่าวว่า "การทำความดี,การถือศีลอด และการละหมาดกลางคืนในวันนั้นดียิ่งกว่าหนึ่งพันเดือน"

และในคืนนี้บรรดามะลาอีกะฮฺ และอัรรูฮฺ (ญิบรีล) จะลงมาในค่ำคืนนั้น ด้วยกับการอนุมัติจากพระองค์อัลลอฮฺ ทังนี้ในการลงมายังโลก ของมะลาอีกะฮฺนั้น เป็นกิจการหนึ่งแห่งพระผู้เป็นเจ้า เราไม่อยู่ในฐานะที่จะค้นคว้าหาความรู้ เป็นรายละเอียดได้ว่า ลงมาอย่างไร? ในสภาพใด? และลงมาทำอะไรบ้าง? หากแต่เรามีหน้าที่เพียงศรัทธามั่น ตามที่อัลลอฮฺแจ้งให้เราทราบเท่านั้น

ในคืนนั้นอัลลอฮฺได้ทรงกำหนด (ตักดีร) ปัจจัยยังชีพต่างๆ อายุขัย และสิ่งที่จะเกิดขึ้น

อิบนุอับบาสกล่าวว่า “จะถูกบันทึกในอุมมุลกิตาบในค่ำคืนอัลก็อดรฺ สิ่งที่เกิดขึ้นในรอบปีทั้งความดีและความเลว ริซกี (ปัจจัยยังชีพ) และอายุขัย แม้กระทั่งบรรดาผู้ที่ทำหัจญ์ จะถูกกล่าวว่า “คนนั้น ละคนนี้ไปทำหัจญ์”

อัลหะสัน, มุญาฮิด และเกาะตาดะฮฺกล่าวว่า “จะมีการลงบันทึกในค่ำคืนอัลก็อดรฺในเดือนเราะมะฎอนทุกๆ อายุขัย การงาน การสร้าง (การกำเนิด) และริซกี และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในรอบปี”(ตัฟสีรอัลบะเฆาะวีย์ , เล่ม 7 หน้า 227-228, ชัรหฺอันนะวะวีย์ อะลาเศาะฮีหฺมุสลิม , เล่ม 8 หน้า 213, ฟะฎออิลุลเอากอต ของอัลบัยฮะกีย์ หน้า 213 )

และในคืนนั้นเอง ความศานติจะมีขึ้น ตั้งแต่เริ่มของวันนั้นจนกระทั่งรุ่งอรุณ บรรดามะลาอีกะฮฺ จะขอความศานติให้แก่บรรดามุอฺมินให้พ้น จากความชั่วร้าย ต่างๆ

ค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺคือคืนไหน ?

สำหรับค่ำคืนอัลก็อดรฺนั้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กำชับเราให้แสวงหาคืนลัยละตุ้ลก็อกดรฺในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือน รอมฎอน มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُجَاوِرُ فِي الْعَشْرِ الْأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ وَيَقُولُ تَحَرَّوْا لَيْلَةَ الْقَدْرِ فِي الْعَشْرِ الْأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ

“ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะเอี๊ยะอฺติกาฟใน 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน และท่านกล่าวต่อว่า ท่านทั้งหลายจง เฝ้าคอยคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ ใน 10คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน” (บันทึกโดยบุคอรียฺ : 1916 ติรมีซียฺ : 792)

หลักฐานที่มีน้ำหนักแข็งแรงระบุว่า คืนอัลก็อดรฺนั้นอยู่ในคืนเลขคี่ของสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนอาจจะเป็นคืนที่ 21 คืนที่ 23,25,27,29 ของเดือนรอมฎอน มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า แท้จริงท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

تَحَرَّوْا لَيْلَةَ الْقَدْرِ فِي الْوِتْرِ مِنْ الْعَشْرِ الْأَوَاخِرِ مِنْ رَمَضَانَ

“ท่านทั้งหลายจงเฝ้าคอยคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺในคืนเลขคี่ของ 10คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน” (บันทึกโดยบุคอรียฺ : 1913)

มีรายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร เล่าว่า

أَنَّ رِجَالًا مِنْ أَصْحَابِ النَّبِيِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أُرُوا لَيْلَةَ الْقَدْرِ فِي الْمَنَامِ فِي السَّبْعِ الْأَوَاخِرِ فَقَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَرَى رُؤْيَاكُمْ قَدْ تَوَاطَأَتْ فِي السَّبْعِ الْأَوَاخِرِ فَمَنْ كَانَ مُتَحَرِّيَهَا فَلْيَتَحَرَّهَا فِي السَّبْعِ الْأَوَاخِرِ

“แท้จริงมีชายหลายคนจากบรรดาสาวกของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ถูกให้เห็นคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ ขณะนอนฝันซึ่งอยู่ ในเจ็ดคืนสุดท้าย ดังนั้น ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พูดว่า ฉันเห็นว่า ความฝันของพวกท่านนั้นอยู่ในช่วงท้าย ๆ ดังนั้นบุคคลใดที่พยายามติดตามคืนอัลก็อดรฺก็จงพยายามในเจ็ดคืนสุดท้าย” (บันทึกโดยมุสลิม : 1165)

ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุหะญัร ได้กล่าวว่า “ทัศนะที่ถูกต้องนั้นคือ ค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺจะมีในวันคี่ของสิบสุดท้าย (ของเดือนเราะมะฎอน) และมันจะเคลื่อนย้ายไปตลอด (ทุก ๆ ปี โดยที่ปีหนึ่งจะอยู่ในค่ำคืนหนึ่ง และปีต่อไปก็จะอยู่ในอีกคืนหนึ่ง -ผู้เขียน) ” (ฟัตหุลบารีย์ 4/266)

ซึ่งหากมีการระบุเจาะจงว่าค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺนั้นคือค่ำคืนใด ผู้คนก็จะมุ่งทุ่มเทในการทำอิบาดะฮฺต่าง ๆ เฉพาะค่ำคืนนั้นอย่างเดียว ผู้คนจะมาละหมาดที่มัสญิด อ่านอัลกุรอ่าน รำลึกถึงอัลลอฮฺ ขออภัยโทษแค่ค่ำคืนนั้นอย่างเดียว แล้วจะละทิ้งในค่ำคืนที่เหลือ เพราะเท่ากับว่าได้ทำอิบาดะฮฺตรงกับคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺแล้ว ได้รับผลบุญมากมายแล้ว

การปฏิบัติตัวในช่วง 10 คืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน

อนึ่ง เพื่อให้ได้มีโอกาสในการทำอิบาดะฮฺในค่ำคืนอัลก็อดรฺนี้โดยไม่ผิดพลาด สมควรแก่เราที่จะขะมักเขม้นในการทำอิบาดะฮฺในทุก ๆ คืนของเดือนรอมฎอนไม่ว่าจะเป็นการละหมาดตะรอเวี๊ยะหฺ อ่านอัลกุรอ่าน ขออภัยโทษ รำลึกถึงอัลลอฮฺ ขอดุอาอฺ เป็นต้น มีรายงานจากท่าน หญิงอาอิชะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า

كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا دَخَلَ الْعَشْرُ أَحْيَا اللَّيْلَ وَأَيْقَظَ أَهْلَهُ وَجَدَّ وَشَدَّ الْمِئْزَرَ

“ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อเข้าสู่ 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ท่านจะทำให้กลางคืนมีชีวิตชีวา (ด้วยการทำ ความดี) และท่านจะปลุกครอบครัวของท่านให้ตื่นขึ้น ท่านจะขะมักเขม้น และพากเพียรทำความดี” (บันทึกโดยมุสลิม : 1174)

มีรายงานจากอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

وَمَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

“ผู้ใดดำรงการละหมาดกิยามุลลัยลฺในคืนลัยละตุลก็อดรฺด้วยความศรัทธามั่นและด้วยความหวังในการตอบแทน เขาจะได้รับ การอภัยจากบาปที่ผ่านมา” (บันทึกโดยบุคอรียฺ : 1910 มุสลิม :760,1268 ติรมีซียฺ : 683 อบูดาวุด : 1372 นะซาอียฺ : 2202)

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่สิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอนนั้นส่งเสริมให้ทำการเอี๊ยะอฺติกาฟ เพราะการอิอฺติกาฟนั้น ถือเป็นหนึ่งใน อิบาดะฮฺที่ให้ประโยชน์อย่างยิ่งยวดในแง่ของการช่วยขัดเกลาหัวใจให้ดีงาม รวบรวมและเพิ่มพูนความมุ่งมั่นทะเยอทะยาน ขจัดมลทินและ ความบกพร่องทั้งหลาย ใครก็ตามที่ได้ทดลองแล้วเขาย่อมจะรู้ดีที่สุด มีรายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ได้เล่าว่า

أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ، كَانَ يَعْتَكِفُ العَشْرَ الأَوَاخِرَ مِنْ رَمَضَانَ حَتَّى تَوَفَّاهُ اللَّهُ، ثُمَّ اعْتَكَفَ أَزْوَاجُهُ مِنْ بَعْدِهِ

“ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อิอฺติกาฟช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนเราะมะฎอนจนกระทั่งอัลลอฮฺได้เอาชีวิตท่านไป หลังจากนั้นบรรดาภรรยาของท่านก็ได้อิอฺติกาฟหลังจากท่านต่อ” (บันทึกโดยอัล-บุคอรีย์ : 2026 และมุสลิม : 1172)

ดุอาอฺค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ

มีซุนนะฮฺให้มีการวิงวอนขอดุอาอฺให้มากๆในคืนวันนั้น มีรายงานจากท่านหญิงอาอีชะฮฺ ว่า

قُلْتُ يا رسول اللهِ أَرَأَيتَ إِنْ عَلِمْتُ أيُّ لَيْلَةٍ لَيْلةُ القَدرِ ما أَقُولُ فِيها قال قُولي " الَّلهُمَّ إِنَّكَ عَفُوٌّ كَرِيْمٌ تُحِبُّ العَفْوَ فَاعْفُ عَنِّي

"ฉันได้กล่าวกับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ท่านจะเห็นเป็นอย่างไรหากฉันรู้ว่าคืนไหนๆ ก็ตามเป็น คืนลัยละตุลก็อดรฺ ฉันจะวิงวอนกล่าวว่าอย่างไร? ท่านร่อซุลกล่าวตอบว่า "เธอจงกล่าวว่า โอ้พระเจ้าแห่งข้าพระองค์ แท้จริง พระองค์ท่านเป็นผู้ทรงอภัย พระองค์ท่านชอบที่จะให้อภัย ดังนั้นขอพระองค์ทรงอภัยให้แก่ข้าพระองค์"(บันทึกโดยอัตติรมีซีย์ : 3513 เศาะเหี๊ยะหฺติรมีซียฺอัลบานียฺ : 3513 เศาะเหี๊ยะหฺอัลญามิอฺ : 4423)

เครื่องหมายของค่ำคืนลัยละตุ้ลก็อดรฺ

นอกจากนี้ยังมีเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงคืนอัลก็อดรฺ ซึ่งท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พรรณาเช้าวันรุ่งขึ้นของคืนอัลก็อดรฺ เพื่อให้เราได้ทราบถึงเครื่องหมายคืน อัลก็อดรฺ ว่าฺ

صُبْحَةَ لَيْلَةِ القَدْرِ تَطْلُعُ الشَّمْسُ لا شُعاعَ لهَا كأَنَّها طَستٌ حَتَّى تَرْتَفِع

"ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่า เช้าวันรุ่งขึ้นของคืนอัลก็อดรฺ ดวงอาทิตย์จะขึ้นโดยไม่มีลำแสงอาทิตย์เสมือนกับว่ามันเป็นอ่างจนกระทั่ง มันสูงขึ้น"(บันทึกโดยอะหฺหมัด : 20692)

ดังนั้นสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาจะต้องขยันในการทำอิบาดะฮฺในเดือนรอมฎอน และที่เน้นหนักคือช่วงสิบคืนสุดท้ายของเดือน เพื่อที่เรานั้นจะ ได้มี โอกาสพบค่ำคืนลัยละตุลก็อดรฺ ที่มีความประเสริฐอย่างยิ่ง และเราจะต้องหมั่นขอดุอาอฺ ขออภัยโทษ หรือประกอบอามั้ลอิบาดะฮฺต่างๆ ให้มากๆในช่วงนี้ เพื่อที่เราจะได้เป็นคนหนึ่งที่จะได้รับการอภัยโทษจากพระองค์อัลลอฮฺ พระองค์อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่ง

***********************
โดย วะร่อซะตุซซุนนะฮฺ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น