อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ละหมาด 11 ร็อกอะฮฺเป็นละหมาดตะรอเวียะห์หรือละหมาดสุนัตมุฏลัก



ท่านอบูสะละมะฮ์ บินอับดุรฺเราะห์มาน ได้กล่าวถามท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา ว่า
             كَيْفَ كَانَتْ صَلاَةُ رَسُوْلِ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِىْ رَمَضَانَ؟
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ได้ละหมาดอย่างไรในเดือนรอมะฎอน?” ..
ซึ่งท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. ก็กล่าวตอบว่า
    مَا كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَزِيْدُ فِىْ رَمَضَانَ وَلاَ فِىْ غَيْرِهِ عَلَى إِحْدَى عَشْرَةَ رَكْعَةً...
“ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยละหมาด – ไม่ว่าในเดือนรอมะฎอนหรือมิใช่เดือนรอมะฎอน – เกินกว่า 11 ร็อกอะฮ์ ....”
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิม, ท่านอิหม่ามมาลิก, ท่านอบูดาวูด, ท่านอัน-นะซาอีย์, ท่านอะห์มัด, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์, ท่านอัล-บัยฮะกีย์, และท่านอบู อะวานะฮ์)

หะดีษบทนี้เป็นหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์โดยปราศจากข้อโต้แย้ง 
 
จากคำถามและคำตอบข้างต้นระหว่างท่านอบูสะละมะฮ์และท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา มีข้อที่น่าสังเกตอยู่ 3 ประการคือ
1. ท่านอบูสะละมะฮ์ได้ถามท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา ถึงเรื่องการละหมาดของท่านรอซุ้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมในเดือนรอมะฎอนโดยเฉพาะ ซึ่งตามรูปการณ์แล้วก็คือ เป็นการถามเรื่องละหมาดที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ นั่นเอง
แล้วท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา
 ก็ตอบว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยละหมาดเกิน 11 ร็อกอะฮ์


ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ได้กล่าวในหนังสือ “ฟัตหุ้ลบารีย์” อันเป็นหนังสืออธิบายหะดีษบุคอรีย์ เล่มที่ 4 หน้า 254 ว่า
   وَأَمَّامَارَوَاهُ ابْنُ أَبِىْ شَيْبَةَ مِنْ حَدِيْثِ ابْنِ عَبَّاسٍ ((كَانَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُصَلِّىْ فِىْ رَمَضَانَ عِشْرِيْنَ رَكْعَةً وَالْوِتْرَ)) فَإِسْنَادُهُ ضَعِيْفٌ!   وَقَدْ عَارَضَهُ حَدِيْثُ عَائِشَةَ هَذَا الَّذِىْ فِى الصَّحِيْحَيْنِ مَعَ كَوْنِهَا أَعْلَمَ بِحَالِ النَّبِىِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لَيْلاً مِنْ غَيْرِهَا وَاللهُ أَعْلَمُ
“อนึ่ง สิ่งที่ท่านอิบนุอบีย์ชัยบะฮ์ได้รายงานมาจากหะดีษของท่านอิบนุอับบาส ร.ฎ. ว่า ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมได้ละหมาดในเดือนรอมะฎอน 20 ร็อกอะฮ์และละหมาดวิตรี่นั้น สายรายงานของหะดีษนี้ เฎาะอีฟ! .. และแน่นอน มันยังขัดแย้งกับหะดีษของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ.บทนี้จากการบันทึกที่ถูกต้องทั้งสอง (คือท่านบุคอรีย์และท่านมุสลิม) ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ ท่านหญิงอาอิชะฮ์ย่อมรู้ดีกว่าผู้อื่นถึงสภาพ(หมายถึงการละหมาดและเรื่องอื่นๆ)ของท่านนบีย์ในยามค่ำคืน วัลลอฮุ อะอฺลัม”
(หะดีษของท่านอิบนุอับบาส ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ จากการบันทึกของท่านอิบนุอบีย์ชัยบะฮ์ ดังที่ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์อ้างถึงนั้น  ผมจะนำรายละเอียดมาวิเคราะห์อีกครั้งในตอนหลัง อินชาอัลลอฮ์) ...

ละหมาดที่ท่านนบีย์ปฏิบัติไม่เกิน 11 ร็อกอะฮ์ดังคำตอบของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา  มิได้หมายถึงละหมาดสุนัตมุฏลัก ทั้งนี้เพราะไม่เคยปรากฏว่าจะมีนักวิชาการหะดีษท่านใด ไม่ว่าท่านบุคอรีย์,  ท่านมุสลิม,  ท่านอบูดาวูด,  ท่านอัน-นะซาอีย์,  ท่านอัต-ติรฺมีซีย์,  ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เป็นต้น จะนำเอาหะดีษบทนี้ไปบันทึกไว้ในเรื่อง “ละหมาดสุนัตมุฏลัก” แม้แต่ท่านเดียว

ตรงกันข้ามพวกท่านได้นำเอาหะดีษเรื่องการละหมาด 11 ร็อกอะฮ์นี้ไปบันทึกไว้ในเรื่องละหมาดตะรอเวี๊ยะห์บ้าง  ละหมาดตะฮัจญุดบ้าง,  กิยามุรอมะฎอนบ้าง,  ศ่อลาตุ้ลลัยล์บ้าง,  ละหมาดวิตรี่บ้าง

เพราะฉะนั้น ละหมาดจำนวน 11 ร็อกอะฮ์ ดังที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมกระทำดังข้อความของหะดีษที่ถูกต้องข้างต้น  แล้วมุสลิมจำนวนมากทั่วโลกก็รับมาปฏิบัติตาม จึงไม่ใช่ละหมาดสุนัตมุฏลัก(สุนัตทั่วไป)แน่นอน

และ .. สมมุติว่า ถ้าหะดีษข้างต้นของท่านนบีย์ เป็นละหมาดสุนัตมุฏลักดังที่พวกท่านเข้าใจ ผมก็อยากจะถามว่า
ก. มีนักวิชาการท่านใดบ้างไหมที่อ้างหะดีษบทนี้เป็นหลักฐานเรื่องละหมาดสุนัตมุฏลักดังข้ออ้างของพวกท่าน?
ข. หรือมีนักวิชาการท่านใดบ้างไหมที่อธิบายว่าให้พวกท่านทำละหมาดสุนัตมุฏลักทีละ 4 ร็อกอะฮ์, 4 ร็อกอะฮ์ แล้วก็ 3 ร็อกอะฮ์ .. ดังคำอธิบายของท่านหญิงอาอิชะฮ์ในตอนหลังของหะดีษบทนี้ ???
3. คำตอบของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮา ที่ว่า .. ไม่ว่าจะเป็นเดือนรอมะฎอนหรือมิใช่รอมะฎอน ท่านนบีย์ไม่เคยละหมาดเกิน 11 ร็อกอะฮ์ ...
คำตอบนี้มีความหมายชัดเจนว่า ละหมาดยามค่ำคืน ไม่ว่าจะกระทำในเดือนรอมะฎอน(ที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่าละหมาดตะรอเวี๊ยะห์) หรือในเดือนอื่นๆ (ที่เราเรียกกันว่า กิยามุ้ลลัยล์บ้าง, ศ่อลาตุ้ลลัยล์บ้าง, ละหมาดตะฮัจญุดบ้าง ฯลฯ) คือละหมาดเดียวกัน!  และตามปกติท่านนบีย์จะกระทำไม่เกิน 11 ร็อกอะฮ์

ท่านบุคอรีย์ได้นำเอาหะดีษบทข้างต้นนี้มาบันทึกไว้ในหนังสือหะดีษ “อัศ-เศาะเหี๊ยะห์” ของท่าน 3 ตำแหน่งคือ ...
1. ในกิตาบ “อัต-ตะฮัจญุด” หะดีษที่ 1147,  บาบว่าด้วยเรื่อง “การละหมาดของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ยามค่ำคืนในเดือนรอมะฎอนและเดือนอื่นๆ” ..
2. ในกิตาบ “ศ่อลาตุ้ตตะรอเวี๊ยะห์” หะดีษที่ 2013,  บาบว่าด้วยเรื่อง “ความประเสริฐของการละหมาดยามค่ำคืนในเดือนรอมะฎอน ...
3. ในกิตาบ “อัล-มะนากิบ”  หะดีษที่ 3569,  บาบว่าด้วยเรื่อง “ตาของท่านนบีย์  ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมหลับ แต่ใจของท่านไม่หลับ” ...
-- ท่านมุสลิมได้บันทึกหะดีษบทข้างต้นนี้ในหนังสือหะดีษ “อัศ-เศาะเหี๊ยะห์” ของท่านเล่มที่ 1 หน้า 509, หรือหะดีษที่ 125/738,  บาบว่าด้วยเรื่อง “ศ่อลาตุ้ลลัยล์ และจำนวนร็อกอะฮ์ของการละหมาดยามค่ำคืน” ...
-- ท่านอบูดาวูดได้บันทึกหะดีษนี้ในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน หะดีษที่ 1341 ในบาบเรื่อง “ศ่อลาตุ้ลลัยล์” เช่นเดียวกัน ...
-- ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ได้บันทึกหะดีษบทนี้ใหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน หะดีษที่ 439 ในบาบว่าด้วยเรื่อง “ลักษณะการละหมาดของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมยามค่ำคืน” ...
-- ท่านอัน-นะซาอีย์ได้บันทึกหะดีษนี้ในหนังสือ “อัส-สุนัน” ของท่าน หะดีษที่ 1696 บาบว่าด้วยเรื่อง “كَيْفَ الْوِتْرِ ثَلاَثٌ”  คือ ทำละหมาดวิตรี่ 3 ร็อกอะฮ์อย่างไร ? ...
-- ท่านอิหม่ามมาลิก ได้บันทึกหะดีษนี้ในหนังสือ “อัล-มุวัฏเฏาะอ์” ของท่าน เล่มที่ 1 หน้า 107,  บาบว่าด้วยเรื่อง “การละหมาดวิตรี่ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม”...
ท่านอัล-บัยฮะกีย์ ได้บันทึกหะดีษนี้ในหนังสือ “อัส-สุนัน อัล-กุบรออ์” ของท่าน เล่มที่ 2 หน้า 495 ในบาบว่าด้วยเรื่อง “สิ่งที่ถูกรายงานมาเกี่ยวกับจำนวนร็อกอะฮ์ของละหมาดยามค่ำคืนเดือนรอมะฎอน (คือละหมาดตะรอเวี๊ยะห์)

-- ท่านมุหัมมัด อิบนุนัศร์ อัล-มัรฺรูซีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 294) ได้เขียนหนังสือชี้แจงหลักฐานเกี่ยวกับการละหมาดเหล่านี้รวม 3 เล่ม .. คือหนังสือกิยามุรอมะฎอน ,  หนังสือกิยามุ้ลลัยล์, และหนังสือศ่อลาตุ้ตตะรอเวี๊ยะห์ ...
เป็นที่น่าสังเกตว่า “หลักฐาน” ของละหมาดทั้ง 3 ชนิดข้างต้นที่ท่านอิบนุนัศร์นำมาบันทึกไว้ในหนังสือทั้ง 3 เล่มนั้น เป็น “หลักฐานเดียวกัน” เกือบทั้งสิ้น ...
การที่บรรดานักวิชาการหะดีษซึ่งได้กล่าวนามมาข้างต้น ได้นำเอาหะดีษเรื่องการละหมาด 11 ร็อกอะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม “บทเดียว” กันนี้มาระบุไว้ในเรื่องละหมาดตะฮัจญุดบ้าง,  ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์บ้าง,  ละหมาดยามค่ำคืนหรือศ่อลาตุ้ลลัยล์บ้าง,  ละหมาดวิตรี่บ้าง,  จำนวนร็อกอะฮ์ของละหมาดยามค่ำคืนในเดือนรอมะฎอนบ้าง .. เหล่านี้ ย่อมบ่งบอกความหมายชัดเจนว่าไม่ว่าเราจะเรียกละหมาดยามค่ำคืนนี้ว่า ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์,  หรือกิยามุรอมะฎอน, หรือกิยามุ้ลลัยล์, หรือศ่อลาตุ้ลลัยล์, หรือละหมาดวิตรี่ (หรือแม้แต่ละหมาดตะฮัจญุด) ...
แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ละหมาดที่มีชื่อหลากหลายดังข้างต้นนี้ ก็คือละหมาดเดียวกัน ดังกล่าวมาแล้ว ...
หากมีคำถามว่า ถ้าเป็นละหมาดเดียวกันจริง  ทำไม่จึงต้องมีชื่อเรียกแตกต่างกันเป็นหลายชื่ออย่างนั้น ? ...
คำตอบก็คือ เพราะเราพิจารณาละหมาดชนิดนี้ในหลายแง่มุมหรือหลายมุมมอง  ไม่ว่าในลักษณะการกระทำ,  ในเวลาหรือเดือนที่กระทำ,  ในจำนวนร็อกอะฮ์ที่กระทำ,  หรือแม้แต่ในรูปแบบส่วนตัวของผู้กระทำ ...
สาเหตุที่เราเรียกละหมาดนี้ว่า ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์ เพราะชาวมักกะฮ์ยุคก่อนจะมีการตะรอเวี๊ยะห์ .. คือหยุดพัก (เพื่อฏอว้าฟ) ในทุกๆ 4 ร็อกอะฮ์

สาเหตุที่เราเรียกละหมาดนี้ว่า กิยามุรอมะฎอน เพราะเราทำมันใน(ยามค่ำคืนของ) เดือนรอมะฎอน ...
สาเหตุที่เราเรืยกละหมาดนี้ว่า กิยามุ้ลลัยล์หรือศ่อลาตุ้ลลัยล์ เพราะเราปฏิบัติมันในตอนกลางคืน (กิยามหรือศ่อลาฮ์ แปลว่าการยืนละหมาด, ส่วนอัล-ลัยล์ แปลว่ากลางคืน)

สาเหตุที่เราเรียกละหมาดนี้ว่า ละหมาดวิตรี่ เพราะพิจารณาถึงผลสรุปจำนวนร็อกอะฮ์ของมันว่า สุดท้ายจะต้องเป็น “จำนวนคี่” เสมอ (วิตรี่ แปลว่า จำนวนคี่)

และสาเหตุที่เราเรียกละหมาดนี้ว่า ละหมาดตะฮัจญุด ก็เพราะเรานอนก่อนแล้วตื่นขึ้นมาทำมันทีหลัง ...
(คำว่า “ตะฮัจญุด” แปลว่า การนอนหลับ/ การตื่นขึ้นมาตอนกลางคืน)

والله أعلم بالصواب
***********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น