ละหมาดตะรอเวียะห์ ก็คือ ละหมาดในยามค่ำคืนของเดือนรอมะฎอน หรือกิยามุรอมะฎอน หรือกิยามุ้ลลัยล์ หรือศ่อลาตุ้ลลัยล์ คำว่าตะรอเวียะห์ เป็นคำศัพท์ที่นักวิชาการยุคหลังได้กำหนดหรือบัญญัติขึ้นมา เพราะในทุกๆ 4 ร็อกอะฮ์ของการละหมาดนี้จะมีการ “หยุดพัก” กัน 1 ครั้ง เพื่อไปฏอว้าฟบัยตุ้ลลอฮ์ การหยุดพักนี้ ชาวอาหรับจะเรียกว่า “ตัรฺวีหะฮ์” ซึ่งมีพหูหจน์เป็นคำว่า “ตะรอเวี๊ยะห์”
-คำว่า “กิยามุรอมะฎอน”
ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า
مَنْ قَامَ رَمَضَانَ إِيْمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَلَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ
“ผู้ใดยืน(ละหมาดยามค่ำคืน)ในเดือนรอมะฎอน ด้วยความศรัทธาและแสวงหาผลบุญจากอัลลอฮ์ เขาก็จะถูกอภัยโทษให้ในบาป(เล็ก)ของเขาที่ผ่านมาแล้ว”
(บันทึกโดย ท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิมและท่านอื่นๆ โดยรายงานมาจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ)
คำว่า قَامَ رَمَضَانَ กับคำว่า قِيَامُ رَمَضَانَ มีที่มาจากรากศัพท์เดียวกันและมีความหมายอย่างเดียวกัน คือ การยืนละหมาดยามค่ำคืนในเดือนรอมะฎอน
-คำว่า “กิยามุ้ลลัยล์” (ยืนละหมาดยามค่ำคืน) มีบันทึกในหะดีษหลายบทด้วยกัน ตัวอย่างเช่นหะดีษบทหนึ่งจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ.ที่กล่าวว่า
لاَ تَدَعْ قِيَامَ اللَّيْلِ! فَإِنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ لاَ يَدَعُهُ
“ท่านอย่าละทิ้งการยืน(ละหมาด)ในยามค่ำคืนเป็นอันขาด เพราะท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมไม่เคยละทิ้งมัน ...”
(บันทึกโดยท่านอิหม่ามอะห์มัด เล่มที่ 6 หน้า 249)
-คำว่า “ศ่อลาตุ้ลลัยล์” (ละหมาดยามค่ำคืน) ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
صَلاَةُ اللَّيْلِ مَثْنىَ مَثْنىَ
“การละหมาดยามค่ำคืนนั้น ให้ทำทีละสองร็อกอะฮ์, ทีละสองร็อกอะฮ์”
(บันทึกโดยท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิม, ท่านอิหม่ามมาลิก, ท่านอบูอะวานะฮ์ โดยรายงานจากท่านอิบนุอุมัรฺ ร่อฎียัลลอฮุอันฮุมา)
“ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์” ดังที่รู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบัน จึงไม่เป็นที่รู้จักหรือเรียกกันในยุคของท่านท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม, ยุคของเศาะหาบะฮ์หรือยุคของตาบิอีนแต่อย่างใด
والله أعلم بالصواب
***********
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น