อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2556

ละหมาดบนเครื่องบินได้หรือไม่ ?



 



คำถาม  ׃ ผู้โดยสารเครื่องบิน เมื่อเข้าเวลาละหมาด เขาจะละหมาดบนเครื่องบินได้หรือไม่?

คำตอบ ׃  เรื่องนี้ต้องแยกเป็นสองกรณี  กรณีแรกหากเครื่องบินยังคงต้องบินต่อไปอีกนานกว่าจะร่อนลงจอดยังสนามบินใดสนามบินหนึ่ง แล้วเราเกรงว่าเวลาละหมาดจะหมดลงก่อนที่เครื่องบินจะลงจอด เช่นนี้อุละมาอ์มีมติเอกฉันท์ว่าวาญิบต้องละหมาดเท่าที่มีความสามารถไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการรุกูอฺ การสุญูด หรือการผินหน้าไปทางกิบละฮฺ ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุ วะ ตะอาลา  ทรงตรัสว่า

فَاتَّقُوا اللَّهَ مَا اسْتَطَعْتُمْ

             ดังนั้นจงยำเกรงอัลลอฮฺ เท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถเถิด(อัตตะฆอบุน อายะฮฺที่ 16)

และตามที่ท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม  ได้กล่าวว่า

فَإِذَا أَمَرْتُكُمْ بِشَيْءٍ فَأْتُوا مِنْهُ مَا اِسْتَطَعْتُمْ

            “ดังนั้นเมื่อฉันได้ใช้ให้พวกท่านทำสิ่งใด ก็จงปฏิบัติมันในส่วนที่พวกท่านมีความสามารถ”
                                                                           (รายงานโดย มุสลิม เรื่องการทำฮัจญ์)


กรณีที่สอง หากเรารู้ว่าเมื่อเครื่องบินลงจอดแล้วก็ยังมีเวลาเหลือพอที่จะละหมาดเวลานั้นๆ หรือเราสามารถรวมละหมาดเวลานั้นเข้ากับเวลาอื่นได้เช่น ละหมาดดุฮฺริรวมกับละหมาดอัศริ ละหมาดมัฆริบรวมกับละหมาดอีชาอ์ ซึ่งเราสามารถละหมาดรวมแบบ ตะอ์คีรดังกล่าวนี้ได้ทันหลังจากเครื่องบินลงจอด เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็รอให้เครื่องบินลงจอดเสียก่อนแล้วค่อยละหมาดเมื่ออยู่บนพื้นดินแล้ว  อย่างไรก็ตามถึงจะมีวิธีปฏิบัติดังกล่าว  อุละมาอ์ส่วนใหญ่ก็


ยังเห็นว่าอนุญาตให้ละหมาดบนเครื่องบินได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของการรักษาละหมาดในเวลาของมัน  มีเพียงนักวิชาการจากมัซฮับมาลิกียฺบางท่านเห็นว่ากรณีที่สองนี้จะละหมาดบนเครื่องบินไม่ได้  ต้องละหมาดบนพื้นดินเท่านั้น

..............................................................
อ้างอิง
อัลฟะตาวา อัชชัรอิยะฮฺ ฟิ มะซาอิล อัลอัศริยะฮฺ มิน ฟะตาวา อุละมาอ์ อัลบะลัด อัลหะรอม หน้า 182 ฟัตวาโดยอัลลัจญฺนะฮฺ อัดดาอิมะฮฺ

โดย อับดุศศอมัด อัน นัดวียฺ

http://tawbah.org/
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น