โดย อับดุศศอมัด อัน นัดวียฺ
คำถาม ในการละหมาดญะมาอะฮฺนั้นจะต้องมีกี่คนจึงจะได้รับรางวัลของการละหมาดญะมาอะฮฺ? แล้วจะนับรวมเด็กที่โตพอจะแยกแยะอะไรได้แล้วเป็นมะอฺมูมด้วยได้หรือไม่?
คำตอบ ในเรื่องจำนวน บรรดาอุละมาอ์เห็นพ้องกันว่า จำนวนอย่างน้อยของละหมาดญะมาอะฮฺนั้นต้องมีสองคน คืออิมามหนึ่งคนและมะอฺมูมหนึ่งคน โดยมีหลักฐานจากหะดีษต่อไปนี้
عَن مَالِكِ بْنِ الْحُوَيْرِثِ قَالَ أَتَى رَجُلَانِ النَّبِيَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ
وَسَلَّمَ يُرِيدَانِ السَّفَرَ فَقَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا
أَنْتُمَا خَرَجْتُمَا فَأَذِّنَا ثُمَّ أَقِيمَا ثُمَّ لِيَؤُمَّكُمَا أَكْبَرُكُمَا
จากมาลิก บิน อัลหุวัยริษ ได้กล่าวว่า มีชายสองคนมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม โดยที่คนทั้งสองต้องการเดินทาง ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม ได้กล่าวว่า เมื่อท่านทั้งสองได้ออกไปแล้ว(เมื่อถึงเวลาละหมาด)ก็จงอะซานและอิกอมะฮฺ จากนั้นก็ให้คนที่อาวุโสกว่าเป็นอิมามนำละหมาด (รายงานโดยอัลบุคอรียฺ)
عَنْ أَبِي سَعِيدٍ : أن رَجُلاً جَاءَ وَقَدْ صَلَّى النبي صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ
وَسَلَّمَ فَقَال من يتصدق عَلَى هَذَا فَقَامَ رَجُلٌ فَصَلَّى مَعَهُ
จากอบู สะอีด ได้รายงานว่า มีชายคนหนึ่งเข้ามา ในขณะที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม ละหมาดเสร็จแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า ผู้ใดประสงค์จะได้รับผลบุญจากการเศาะดะเกาะฮฺในเรื่องนี้ แล้วก็มีชายคนหนึ่ง(ท่านอบูบักร)ลุกขึ้นไปร่วมละหมาดกับชายคนแรก(รายงานโดยอบูดาวูด อัตติรมีซียฺ อัดดาริมียฺ และอะหฺมัด)
และเรื่องจำนวนของผู้ร่วมละหมาดญะมาอะฮฺนี้ มีทัศนะว่าให้ใช้กับเรื่องจำนวนของผู้ร่วมละหมาดวันศุกร์ด้วย เพราะละหมาดวันศุกร์ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการละหมาดญะมาอะฮฺ นั่นก็หมายความว่าถ้ามีสองคนก็ให้คนหนึ่งคุฏบะฮฺ คนหนึ่งเป็นผู้ฟัง
ส่วนใน เรื่องที่ว่าจะนับเป็นละหมาดญะมาอะฮฺหรือไม่ถ้ามีเด็กโตที่รู้จักแยกแยะสิ่งต่างๆแล้ว(มุมัยยิซ)เป็นมะอฺมูม(โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีกันแค่สองคน)อุละมาะอ์มีความเห็นแตกต่างกัน แต่ตามทัศนะที่หนักแน่นนั้นเห็นว่าให้นับเด็กโตด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีหลักฐานใดห้ามในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานว่าถ้าเป็นเด็กแล้วให้ดูก่อนว่าเป็นละหมาดฟัรฎูหรือละหมาดสุนัต ดังนั้นการเป็นมะอฺมูมของเด็กโตนั้นใช้ได้ นี่เป็นทัศนะของมัซฮับฮะนะฟียฺ มัซฮับชาฟิอียฺ และเป็นรายงานหนึ่งของอิมามอะหฺมัด
...............................................................
(อ้างอิงจาก เศาะฮีฮฺ ฟิกฮุซซุนนะฮฺ โดย อบูมาลิก กะมาล อิบนุ อัซซัยยิด ซาลิม เล่มหนึ่ง หน้า510)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น