ศาสนาส่งเสริมให้ขอดุอาอฺให้มาก ๆในวันศุกร์ เพื่อให้ตรงกับช่วงเวลาที่ดุอาอฺจะถูกตอบรับ
จากความประเสริฐของวันศุกร์นั้นก็คือ ในวันนี้มีชั่วโมงที่มีเกียรติ ที่อัลลอฮฺทรงประทานให้กับบ่าวของพระองค์ และส่งเสริมให้ขอดุอาอฺในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย มีรายงานจากอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า :
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ذَكَرَ يَوْمَ الْجُمُعَةِ فَقَالَ فِيهِ سَاعَةٌ لَا يُوَافِقُهَا عَبْدٌ مُسْلِمٌ وَهُوَ قَائِمٌ يُصَلِّي يَسْأَلُ اللَّهَ تَعَالَى شَيْئًا إِلَّا أَعْطَاهُ إِيَّاهُ وَأَشَارَ بِيَدِهِ يُقَلِّلُهَاِ
“ความจริงแล้วท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวถึงวันศุกร์ ท่านกล่าวว่าในวัน ศุกร์นั้นมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ไม่มีบ่าวมุสลิมคนใดที่เขาละหมาดและขอสิ่งใดต่ออัลลอฮฺตรงกับช่วงเวลานี้ นอกจากอัลลอฮฺจะประทานให้กับเขาเป็นการเฉพาะ และท่านร่อซูลทำท่าด้วยมือของท่านแสดง ถึงช่วงเวลาที่สั้น ”
(บันทึกโดยบุคอรียฺ หมวดที่ว่าด้วยเรื่องวันศุกร์ )
มีรายงานจากลุบาบะฮฺ อิบนิ อับดิลมุนซิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
وَفِيهِ سَاعَةٌ لَا يَسْأَلُ اللَّهَ فِيهَا الْعَبْدُ شَيْئًا إِلَّا أَعْطَاهُ مَا لَمْ يَسْأَلْ حَرَامًا
“...และวันนี้นั้นมีช่วงเวลาหนึ่ง ที่บ่าวคนหนึ่งขอสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่สิ่งที่ต้องห้ามต่ออัลลอฮฺ เว้นแต่ว่าอัลลอฮฺ จะประทานให้กับเขา...”
(บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ บทที่ว่าด้วยเรื่องความประเสริฐของวันศุกร์ หมายเลข : 1084 มุสนัดอิหม่ามอะหมัด 430/3 อัลบานียฺระบุว่าหะดีษนี้หะซัน ในเศาะเหี๊ยะหฺอิบนุมาญะฮฺ 321/1 ในมิชกาตุลมะศอเบี๊ยะฮฺ 400/1)
ช่วงเวลาที่ดุอาอฺถูกตอบรับในวันศุกร์นั้นคือเวลาไหน ?
ท่านอิบนุหะญัร อัลอัซกอลานียฺ ร่อหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า : มีมุมมองที่เห็นต่างกันในประเด็นนี้มากกว่า 40 ทรรศนะ (อิบนุหะญัร อัลอัซกอลานียฺ,บุลูฆุลมะรอม บทที่ว่าด้วยเรื่องละหมาดวันศุกร์ หน้า 63)
ท่านอิบนุล ก็อยยิม ร่อหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า : ทรรศนะที่น่าจะมีน้ำหนักนั้นมีอยู่ 2 ทรรศนะ ซึ่งทั้งสอง ทรรศนะมีหะดีษต่าง ๆ มากำกับไว้ด้วย และหนึ่งในสองทรรศนะนั้น ก็ดูเหมือนจะเป็นทรรศนะที่มี น้ำหนักกว่า(ซะอี๊ด อิบนุ อะลี อิบนุ วะฮฺฟ อัลเกาะหฺฏ่อนียฺ,เศาะลาตุลญุมุอะฮฺ หน้า 35-36)
ทรรศนะที่หนึ่ง : ช่วงเวลาที่อิหม่ามนั่ง (บนมิมบัร) จนเสร็จสิ้นจากการละหมาด
หลักฐานของทรรศนะนี้ก็คือ
- มีรายงานจากอบีบุรดะฮฺ อิบนุ อบีมูซา อัลอัชอะรียฺ เล่าว่า : อับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร ได้ถามฉันว่า : ท่านไม่ได้ยินที่พ่อของท่าน (อุมัร) เล่าหะดีษจากท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในเรื่องราวที่เกี่ยวกับช่วงเวลา (ที่ดุอาอฺจะถูกตอบรับ) ในวันศุกร์หรือ ? เขา (อับดุลลอฮฺ) เล่าว่า ฉันได้กล่าวว่า ใช่ เคยได้ยิน ฉันเคยได้ยินบิดา (อุมัร) กล่าวว่า ฉัน (อุมัร) เคยได้ยินท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
هِيَ مَا بَيْنَ أَنْ يَجْلِسَ الْإِمَامُ إِلَى أَنْ تُقْضَى الصَّلَاةُ
“ช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ระหว่างตอนที่อิหม่ามนั่ง (บนมิมบัร) จนเสร็จสิ้นการละหมาด”
(บันทึกโดยมุสลิม หมวดที่ว่าด้วยเรื่องละหมาดวันศุกร์ : 853)
ทรรศนะที่สอง : ช่วงท้ายของวันศุกร์หลังจากละหมาดอัศริ
หลักฐานของทรรศนะนี้ก็คือ
- มีรายงานจากญาบิร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า : ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
يَوْمُ الْجُمُعَةِ اثْنَتَا عَشْرَةَ سَاعَةً ، لَا يُوجَدُ فِيهَا عَبْدٌ مُسْلِمٌ يَسْأَلُ اللَّهَ شَيْئًا إِلَّا آتَاهُ إِيَّاهُ , فَالْتَمِسُوهَا آخِرَ سَاعَةٍ بَعْدَ الْعَصْرِ
“วันศุกร์นั้นมี 12 ชั่วโมง ซึ่งไม่มีบ่าวมุสลิมคนหนึ่งที่เขาขอสิ่งหนึ่งต่ออัลลอฮฺแล้ว เว้นแต่พระองค์จะ ประทานให้กับเขา ฉะนั้นจงแสวงหาเวลานั้น ก็คือช่วงเวลาท้ายของวันหลังละหมาดอัศริ ”
(บันทึกโดยอบูดาวุด : 1046 นะซาอียฺ หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดวันศุกร์ บทที่ว่าด้วยเรื่องเวลาละหมาด วันศุกร์ : 99/3)
- มีรายงานจากมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า : ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
الْتَمِسُوا السَّاعَةَ الَّتِي تُرْجَى فِي يَوْمِ الْجُمُعَةِ بَعْدَ الْعَصْرِ إِلَى غَيْبُوبَةِ الشَّمْسِ
“พวกท่านทั้งหลายจงแสวงหาช่วงเวลา (ที่ดุอาอฺจะถูกตอบรับ) ซึ่งที่หวังจะพบในวันศุกร์ หลังละหมาด อัศริจนถึงเวลาที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า (เข้าเวลามัฆริบ) ิ ”
(บันทึกโดยติรมิซียฺ หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดวันศุกร์ : 489 อัลบะเฆาะวียฺ ในชัรหุซซุนนะฮฺ : 1051 เศาะเหี๊ยะหฺตัรฆีบ : 793 อัลบานียฺกล่าวว่าหะซันในเศาะเหี๊ยะฮฺตืรมีซียฺ 1/277)
ช่วงเวลาที่ดุอาอฺถูกตอบรับคือช่วงเวลาท้ายหลังละหมาดอัศริของวันศุกร์ตามทรรศนะที่มีน้ำหนัก
อิหม่ามอะหมัด อิบนิ ฮัมบัล ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า : หะดีษส่วนมากที่เกี่ยวกับชั่วโมงที่ดุอาอฺจะ ถูกตอบรับ คือ เวลาหลังละหมาดอัศริ และหลังดวงอาทิตย์คล้อย (ซัยยิด ซาบิก ในฟิกฮุซซุนนะฮฺ บทที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดวันศุกร์ เรื่องการขอดุอาอฺในวันศุกร์)
ความจริงแล้วอัลลอฮฺ ตะอาลาทรงปกปิดไม่ให้ทราบแบบชัดเจนว่าเวลาที่ดุอาอฺถุกตอบรับนั้นคือ ช่วงแรกของวัน ? หรือ ช่วงกลางของวัน ? หรือ ช่วงท้ายของวัน ? เพื่อเป็นข้อคิดที่ให้บ่าวนั้นแสวงหาช่วงเวลานั้นทั้งวัน เพราะถ้าหากว่าพระองค์ทรงแจ้งให้ทราบอย่างชัดเจนแล้ว ผู้คนก็จะให้ความสำคัญเฉพาะเวลานั้น เพียงแค่ช่วง เวลาเดียว ดังที่พระองค์ทรงปกปิดความรู้ในคืนลัยละตุลก็อดรฺนั่นเอง
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น