อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

ผู้หญิงนำละหมาดผู้ชาย


โดย อับดุศศอมัด อัน นัดวียฺ

คำถาม เมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดเหตุการณ์พึลึกพิลั่นขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นคือมีหญิงคนหนึ่งได้เป็นอิมามนำละหมาดผู้คนจำนวนมากซึ่งมีทั้งผู้ชายและผู้หญิงเป็นมะอฺมูม และมีผู้สื่อข่าวไปทำข่าวมากมาย โดยผู้ที่สนับสนุนเรื่องนี้กล่าวว่าผู้หญิงนำละหมาดผู้ชายได้ เพราะไม่มีหลักฐานห้ามแต่อย่างใด  จึงอยากทราบจริงๆว่าข้ออ้างดังกล่าวถูกต้องหรือไม่? และบรรดาผู้รู้ของศาสนาได้พูดถึงเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

คำตอบ เป็นที่ชัดเจนว่าในหลักการศาสนานั้นผู้หญิงนำละหมาดผู้หญิงด้วยกันได้ ซึ่งท่านหญิงอาอิชะฮฺ และอุมมุ สะละมะฮฺ ก็เคยนำละหมาดพวกผู้หญิง
            แต่การที่ผู้หญิงมานำละหมาดผู้ชายไม่ว่ามะอฺมูมจะเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเด็กนั้น ไม่อนุญาตให้กระทำ และถือว่าละหมาดนั้นใช้ไม่ได้ โดยทัศนะของอุละมาอ์ทั้งสลัฟ(รุ่นแรก)และเคาะลัฟ(รุ่นหลัง)  ข้อตัดสินนี้นำมาจากวจนะของท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม ที่เป็นหลักทั่วไปของเรื่องนี้ว่า

لَنْ يُفْلِحَ قَوْمٌ وَلَّوْا أَمْرَهُمْ امْرَأَةً


กลุ่มชนที่มอบให้ผู้หญิงเป็นผู้นำในกิจการของพวกเขานั้น จะไม่มีวันประสบความสำเร็จ
(รายงานโดยอัลบุคอรียฺ อัตติรมีซียฺ และอันนะซาอียฺ)

หะดีษนี้อัลคอฏฏอบียฺได้อธิบายว่า ผู้หญิงนั้นจะไม่ดำรงตำแหน่งผู้นำหรือผู้พิพากษา อีกทั้งนางยังไม่สามารถแต่งงานให้กับตนเองได้
         
ในทางปฏิบัติก็ไม่เคยพบว่าท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม เคยอนุญาตให้ผู้หญิงนำละหมาดผู้ชายเลยแม้แต่หนเดียว  และประวัติศาสตร์อิสลามก็ยืนยันได้ดีว่า ไม่เคยปรากฏว่าผู้หญิงเป็นอิมามนำละหมาดผู้ชาย  ไม่ว่าจะในสมัยที่ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม ยังมีชีวิตอยู่ หรือในยุคของเศาะฮาบะฮฺและตาบิอีน ที่แน่ชัดก็คือท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม ได้จัดวางแถวของผู้หญิงไว้หลังสุดหลังจากแถวผู้ชาย

            ส่วนการที่จะมาพูดว่า เมื่อไม่มีตัวบทห้ามเป็นการเฉพาะก็ให้ถือว่าหลักการเดิมนั้นทำได้ เป็นข้ออ้างที่ไม่ถูกต้อง เพราะหะดีษที่เราเพิ่งจะกล่าวถึงนั้นบอกว่ากลุ่มชนใดที่ให้ผู้หญิงเป็นผู้นำในกิจการของพวกเขา กลุ่มชนนั้นจะพบกับความล้มเหลว  และการนำละหมาดนั้นเป็นกิจการที่สำคัญ ใช่แต่เท่านั้นมันยังเป็นงานที่สูงส่งและทรงเกียรติอย่างที่สุดอีกด้วย

..............................................
(อ้างอิงจาก เศาะฮีฮฺ ฟิกฮุซซุนนะฮฺ โดย อบูมาลิก กะมาล อิบนุ อัซซัยยิด ซาลิม เล่มหนึ่ง หน้า527)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น