อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

วิทยเหตุผลที่ได้บัญญัติการละหมาดวันศุกร์(ญุมุอะฮฺ)



อัลลอฮฺได้บัญญัติการชุมนุมสำหรับบรรดามุสลิมหลายวาระด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อสานสัมพันธ์ เสริมความผูกพัน รักใคร่ปรองดองกันระหว่างพวกเขา ซึ่งการชุมนุมนั้นมีทั้งระดับหมู่บ้าน เช่นประชุมเพื่อละหมาดห้าเวลา ระดับจังหวัด เช่นประชุมเพื่อละหมาดญุมุอะฮฺและละหมาดอีด ระดับนานาชาติ เช่นประชุมเพื่อทำหัจญ์ที่มักกะฮฺ ซึ่งการประชุมเหล่านี้ถือว่าเป็นการประชุมของบรรดามุสลิมในระดับ เล็ก ปานกลาง และใหญ่

ความประเสริฐของวันศุกร์
มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«خَيْرُ يَوْمٍ طَلَعَتْ عَلَيْـهِ الشَّمْسُ يَوْمُ الجُـمُعَةِ، فِيْـهِ خُلِقَ آدَمُ، وَفِيْـهِ أُدْخِلَ الجَنَّةَ، وَفِيْـهِ أُخْرِجَ مِنْـهَا، وَلا تَقُومُ السَّاعَةُ إلَّا فِي يَوْمِ الجُـمُعَةِ»
ความว่า “วันที่ดีที่สุดในบรรดาวันที่มีอยู่คือวันศุกร์ เพราะเป็นวันที่อาดัมถูกสร้าง เป็นวันที่อาดัมเข้าสวรรค์ เป็นวันที่อาดัมถูกขับออกจากสวรรค์ และวันกิยามะฮฺ(วันสิ้นโลก)จะไม่เกิดขึ้นนอกจากในวันศุกร์” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 854)

หุก่มการละหมาดญุมุอะฮฺ
1- การละหมาดญุมุอะฮฺมีสองร็อกอะฮฺ วาญิบสำหรับชายมุสลิมทุกคน ที่บรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะ เป็นเจ้าของพื้นที่หรือชุมชน ฉะนั้นจึงไม่วาญิบสำหรับผู้หญิง ผู้ป่วย เด็ก ผู้เดินทาง แต่หากพวกเขาเหล่าละหมาดญุมุอะฮฺก็ถือว่าใช้ได้ ส่วนผู้เดินทางหากหยุดพักอยู่ และได้ยินเสียงอะซานก็ต้องไปละหมาดญุมุอะฮฺ
2- การละหมาดญุมุอะฮฺถือว่าเป็นการแทนละหมาดซุฮฺริ ฉะนั้นจึงไม่อนุญาตให้ผู้ที่ละหมาดญุมุอะฮฺละหมาดซุฮฺริอีกหลังญุมุอะฮฺ และวาญิบต้องรักษาการละหมาดญุมุอะฮฺเป็นประจำ ผู้ใดที่ขาดญุมุอะฮฺติดต่อกันสามครั้งโดยเจตนาด้วยความมักง่ายอัลลอฮฺก็จะทรงผนึกหัวใจของเขา

เวลาละหมาดญุมุอะฮฺ
เวลาละหมาดญุมุอะฮฺช่วงที่ประเสริฐที่สุดคือ หลังจากตะวันคล้อยจนถึงช่วงท้ายสุดของเวลาละหมาดซุฮฺริ และอนุญาตให้ละมาดญุมุอะฮฺก่อนตะวันคล้อยได้

การอะซานญุมุอะฮฺ
การอะซานที่ดีก็คือให้มีช่วงระยะเวลาห่างพอสมควรระหว่างการอะซานครั้งแรกกับการอะซานครั้งที่สอง เป็นระยะที่มุสลิมบางคน โดยเฉพาะบางคนที่บ้านอยู่ไกล บางคนที่เพิ่งตื่นนอน หรือบางคนที่หลงลืมได้มีเวลาทันที่จะเตรียมตัวมาละหมาดได้ และทันที่จะรักษามารยาท ปฏิบัติสิ่งที่สุนัตต่างๆ ในวันศุกร์ และทันที่จะเดินมาสู่มัสญิดได้ ทั้งนี้น่าจะห่างกันระหว่างอะซานทั้งสองครั้งนั้นสักหนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

เงื่อนไขการดำเนินการละหมาดญุมุอะฮฺ
วาญิบต้องละหมาดญุมุอะฮฺในเวลาของมันและมีผู้ร่วมละหมาดไม่ต่ำกว่าสามคนจากบรรดาเจ้าของพื้นที่และต้องมีสองคุฏบะฮฺก่อนละหมาด

ความประเสริฐของการอาบน้ำในวันศุกร์และการไปมัสญิดตั้งแต่เนิ่นๆ
1- มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺเราะ ฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
«مَنْ اغْتَسَلَ يَوْمَ الجُـمُعَةِ غُسْلَ الجَنَابَةِ، ثُمَّ رَاحَ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَدَنَةً، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الثَّانِيَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَقَرَةً، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الثَّالِثَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ كَبْشاً أَقْرَنَ، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الرَّابِـعَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ دَجَاجَةً، وَمَنْ رَاحَ فِي السَّاعَةِ الخَامِسَةِ فَكَأَنَّمَا قَرَّبَ بَيْضَةً، فَإذَا خَرَجَ الإمَامُ حَضَرَتِ المَلائِكَةُ يَسْتَـمِعُونَ الذِّكْرَ»
ความว่า “ผู้ใดที่อาบน้ำในเช้าวันศุกร์เหมือนกับอาบน้ำญุนุบ หลังจากนั้นก็ไปมัสญิดตั้งแต่เนิ่นๆ ผลบุญของเขาเสมือนว่าเขาได้รับอูฐหนึ่งตัว และผู้ใดไปในหนึ่งชั่วโมงถัดไปเสมือนว่าเขาได้รับวัวหนึ่งตัว และผู้ใดไปในหนึ่งชั่วโมงถัดไปเสมือนว่าเขาได้รับแกะตัวผู้ที่มีเขาสวยงามหนึ่งตัว และผู้ใดไปในหนึ่งชั่วโมงถัดไปก็เสมือนว่าเขาได้รับไก่หนึ่งตัว และผู้ใดไปในหนึ่งชั่วโมงถัดไปก็เสมือนว่าเขาได้รับไข่หนึ่งใบ เมื่อใดที่อิมามออกมากล่าวคุฏบะฮฺแล้ว บรรดามะลาอิกะฮฺก็จะมานั่งฟังคำตักเตือนของอิมามด้วย” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 881 สำนวนนี้เป็นของอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม เลขที่: 850)

2- มีรายงานจากท่านเอาสฺ อิบนุ เอาสฺ อัษ-ษะเกาะฟียฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่าท่านได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
«مَنْ غَسَّلَ يَومَ الجُـمُعَةِ وَاغْتَسَلَ، ثُمّ بَكَّرَ وَابْتَـكَرَ، وَمَشَى وَلَـمْ يَرْكَبْ، وَدَنَا مِنَ الإمَامِ فَاسْتَـمَعَ وَلَـمْ يَلْغُ، كَانَ لَـهُ بِكُلِّ خَطْوَةٍ عَمَلُ سَنَةٍ أَجْرُ صِيَامِهَا وَقِيَامِهَا»
ความว่า “ผู้ใดตั้งใจที่จะอาบน้ำในวันศุกร์และอาบน้ำแต่เช้าหลังจากนั้นตั้งใจที่จะไปมัสญิดแต่เช้าแล้วเขาก็ไปเช้าโดยเดินเท้าไปไม่ได้ขี่พาหนะ เมื่อไปถึงเข้าประชิดใกล้อิมาม แล้วตั้งใจฟังคุฏบะฮฺไม่เผลอเลื่อนลอย เขาจะได้ในแต่ละๆก้าวที่เขาก้าวไปเท่ากับผลบุญการถือศีลอดและการละหมาดกิยามหนึ่งปี” (เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 345 สำนวนนี้เป็นของท่าน และอิบนุ มาญะฮฺ 850)

เวลาอาบน้ำในวันศุกร์
เวลาอาบน้ำในวันศุกร์เริ่มตั้งแต่ฟัจญ์รฺ(แสงอรุณ)ขึ้นในวันศุกร์จนถึงใกล้จะละหมาดวันศุกร์เล็กน้อย สุนัตให้ผลัดเวลาการอาบน้ำออกไปจนกว่าจะถึงเวลาก่อนออกไปละหมาดญุมุอะฮฺ

เวลาออกไปละหมาดญุมุอะฮฺที่ดีที่สุด
1- เวลาที่สุนัตออกละหมาดญุมุอะฮฺเริ่มตั้งแต่ตะวันขึ้น ส่วนเวลาที่วาญิบคือเวลาอะซานครั้งที่สองกล่าวคือเป็นเวลาที่อิมามเข้ามาเพื่อกล่าวคุฏบะฮฺ
2- มุสลิมสามารถที่จะรู้ถึงช่วงเวลาทั้งห้าที่ระบุในหะดีษข้างต้น โดยการแบ่งเวลาตั้งแต่ตะวันขึ้นจนถึงอิมามมาออกเป็นห้าส่วน ชึ่งก็จะได้ทราบว่าแต่ละช่วงเวลานั้นมีระยะห่างเท่าใด

หุก่มการเดินทางในวันศุกร์
อนุญาตให้เดินทางในวันศุกร์ก่อนที่จะอะซานครั้งที่สอง
และไม่อนุญาตให้ออกเดินทางสำหรับผู้ที่วาญิบต้องละหมาดวันศุกร์หลังจากที่อะซานครั้งที่สองแล้ว เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัยเช่น พลาดนัด หรือพลาดเวลาโดยสาร เช่นรถยนต์ เรือ หรือเครื่องบิน เป็นต้น
อัลลอฮฺได้ตรัสว่า
ความว่า “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อได้มีเสียงอะซานร้องเรียกเพื่อละหมาดในวันศุกร์ ก็จงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ และจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้า ถ้าหากพวกเจ้ารู้” (อัล-ญุมุอะฮฺ : 9)

(อัลมัสบูก)ผู้ที่มาสายในการละหมาดญุมุอะฮฺมาช่วงไหนถึงจะเรียกว่าได้ญุมุอะฮฺ
ผู้ใดที่ทันละหมาดญุมุอะฮฺพร้อมอิมามได้หนึ่งร็อกอะฮฺ แล้วเพิ่มอีกร็อกอะฮฺก็จะถือว่าละหมาดญุมุอะฮฺของเขาสมบูรณ์
แต่หากทันละหมาดพร้อมอิมามน้อยกว่าหนึ่งร็อกอะฮฺให้เขาเปลี่ยนเจตนาละหมาดให้เป็นซุฮฺริแล้วละหมาดสี่ร็อกอะฮฺแทน

อิมามจะเข้ามาละหมาดญุมุอะฮฺในเวลาใด?
ตามสุนนะฮฺแล้วมะอ์มูมนั้นต้องออกไปละหมาดญุอุอะฮฺ ละหมาดอีด และละหมาดอิสติสกออ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนอิมามนั้นให้ออกมาละหมาดญุมุอะฮฺ และอิสติสกออ์เมื่อจะกล่าวคุฏบะฮฺ สำหรับละหมาดอีดนั้นให้อิมามเข้ามาเมื่อถึงเวลาละหมาด

จะกล่าวคุฏบะฮฺด้วยภาษาอะไร?
ตามสุนนะฮฺแล้วในวันศุกร์จะมีสองคุฏบะฮฺโดยใช้ภาษาอาหรับสำหรับผู้ที่ใช้ภาษาอาหรับคล่อง และหากจะแปลให้ผู้ฟังที่ไม่เข้าใจภาษาอาหรับรู้เรื่องด้วยก็จะดี และหากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็สามารถกล่าวคุฏบะฮฺด้วยภาษาของพวกเขาได้ ส่วนการละหมาดนั้นจะใช้ภาษาอื่นไม่ได้นอกจากภาษาอาหรับ

การละหมาดญุมุอะฮฺนั้นวาญิบหรือไม่สำหรับผู้เดินทาง?
หากผู้เดินทางผ่านไปยังเมืองที่จะละหมาดญุมุอะฮฺ และได้ยินเสียงอะซานซึ่งเขาต้องการพักอยู่เมืองนี้ชั่วคราว เขาต้องละหมาดญุมุอะฮฺ หรือหากเขาจะเป็นผู้กล่าวคุฏบะฮฺแล้วเป็นอิมามนำละหมาดญุมุอะฮฺของคนในที่นั้น ก็ถือว่าการละหมาดของทุกคนใช้ได้

ลักษณะของผู้ที่กล่าวคุฏบะฮฺ
มีรายงานจากท่านญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า
كَانَ رَسُولُ الله صلى الله عليه وسلم إذَا خَطَبَ احْـمَرَّتْ عَيْنَاهُ، وَعَلا صَوْتُـهُ، وَاشْتَدَّ غَضَبُـهُ، حَتَّى كَأنَّهُ مُنْذِرُ جَيْشٍ يَـقُولُ: صَبَّحَكُمْ وَمَسَّاكُمْ
ความว่า “ปรากฏว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เมื่อท่านกล่าวคุฏบะฮฺสองตาท่านจะแดง เสียงดังฟังชัด เสมือนว่าโกรธอย่างจริงจัง เด็ดขาดจนคล้ายกับผู้บัญชาการกองทหารที่กำลังเตือนว่า ศัตรูจะเข้ามาแล้วในตอนเช้าและในตอนเย็น” )บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 867)

ผู้อ่านคุฏบะฮฺจะทำสิ่งใดบ้างเมื่อเข้ามาในมัสญิดแล้ว
1- มีสุนัตให้อิมามกล่าวคุฏบะฮฺบนมิมบัรฺ(แท่นเทศนา)ที่มีบันไดสามขั้น เมื่อเข้ามาให้เขาขึ้นบนมิมบัรฺ แล้วหันหน้าเข้าหาผู้คน แล้วกล่าวสะลาม หลังจากนั้นจึงนั่ง จากนั้นคอยจนกว่าผู้อะซานจะอะซานเสร็จ แล้วจึงเริ่มกล่าวคุฏบะฮฺแรกในท่ายืน เมื่อเสร็จคุฏบะฮฺแล้วให้นั่งสักครู่ หลังจากนั้นยืนกล่าวคุฏบะฮฺที่สองอีก และอนุญาตให้หยุดชั่วครู่ในระหว่างคุฏบะฮฺได้หากมีเหตุจำเป็นให้ทำเช่นนั้น
2- มีสุนนะฮฺให้อิมามกล่าวคุฏบะฮฺสั้นๆ โดยไม่ดูหนังสือ แต่หากไม่สามารถทำได้ก็ให้ดูหนังสือได้

ลักษณะของคุฏบะฮฺ
บางครั้งคุฏบะฮฺอาจเริ่มต้นด้วยคุฏบะฮฺหาญะฮฺ(สำนวนอารัมภบทตามที่มีรายงานในหะดีษ) แต่บางครั้งก็อาจเริ่มด้วยสิ่งอื่นได้ สำหรับคุฏบะฮฺหาญะฮฺนั้นมีเนื้อความดังนี้
«إنّ الحَـمْدَ ٬ نَحْـمَدُهُ وَنَسْتَعِينُـهُ، وَنَسْتَغْفِرُهُ، وَنَعُوذُ بِالله مِنْ شُرُورِ أَنْفُسِنَا وَمِنْ سَيِّئَاتِ أَعْمَالِنَا، مَنْ يَـهْدِهِ الله فَلا مُضِلَّ لَـهُ، وَمَنْ يُضْلِلْ فَلا هَادِيَ لَـهُ، وَأَشْهَدُ أَنْ لا إلَـهَ إلَّا الله وَحْدَهُ لا شَرِيكَ لَـهُ، وَأَشْهَدُ أَنَّ مُـحَـمَّداً عَبْدُهُ وَرَسُولُـهُ.

แล้วกล่าวว่า أَمَّا بَعْدُ (อัมมา บะอฺดุ)
ซึ่งบางครั้งก็ไม่ต้องกล่าวอายะฮฺสามอายะฮฺดังกล่าว และมีสุนนะฮฺในบางครั้งให้กล่าวหลังจากคำว่า (อัมมาบะอฺดุ) ว่า
«فَإنَّ خَيْرَ الحَدِيثِ كِتَابُ الله، وَخَيْرُ الهُدَى هُدَى مُـحَـمَّدٍ، وَشَرُّ الأُمُورِ مُـحْدَثَاتُـهَا، وَكُلُّ مُـحْدَثَةٍ بِدْعَةٌ، وَكُلُّ بِدْعَةٍ ضَلالَةٌ، وَكُلُّ ضَلالَةٍ فِي النَّارِ»
(เป็นหะดีษเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 2118 และอัน-นะสาอีย์ หมายเลข 1578 และอิบนุ มาญะฮฺ 1892 และตัวบทรากฐานของรายงานนั้นเดิมทีอยู่ในมุสลิม หมายเลข 867, 868)

เนื้อหาของคุฏบะฮฺญุมุอะฮฺ
เนื้อหาที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านได้กล่าวคุฏบะฮฺไว้จะครอบคลุมถึงการอธิบายเกี่ยวเตาฮีดและการศรัทธา มีกล่าวถึงคุณลักษณะของอัลลอฮฺ หลักการศรัทธา มีกล่าวถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มอบให้แก่สิ่งถูกสร้างของพระองค์ มีกล่าวถึงวันกิยามะฮฺเพื่อให้กลัวในอำนาจของอัลลอฮฺ มีการใช้ให้ระลึกถึง และชุโกรฺต่ออัลลอฮฺ มีการตำหนิเรื่องดุนยา มีการคำนึงถึงความตาย สวรรค์ นรก มีการส่งเสริมให้ภักดีต่ออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ และมีการตักเตือนให้ห่างจากมะอฺศิยะฮฺและอื่นๆ
ฉะนั้น ผู้กล่าวคุฏบะฮฺควรจะกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ นามและคุณลักษณะและบรรดานิอฺมะฮฺของพระองค์ที่มีต่อบ่าว ใช้ให้มีการฏออะฮฺต่ออัลลอฮฺ ชุโกรฺและซิกิรฺต่อพระองค์ และสิ่งที่อัลลอฮฺชอบให้บ่าวปฏิบัติต่อพระองค์ แล้วหลังจากนั้นผู้คนที่ฟังก็จะกลับบ้านด้วยใจที่รู้สึกรักอัลลอฮฺและเป็นที่รักของอัลลอฮฺ เต็มไปด้วยอีมานและความกลัวซึ่งจะนำพวกเขาไปสู่การระลึกถึงอัลลอฮฺ ภักดีและเต็มใจทำอิบาดะฮฺต่อพระองค์

การใช้เวลาในการกล่าวคุฏบะฮฺ
มีสุนนะฮฺสำหรับอิมามให้กล่าวคุฏบะฮฺสั้นๆ และนำละหมาดนานๆ ตามที่มีรายงานในสุนนะฮฺจากท่านญาบิรฺ อิบนุ สะมุเราะฮฺ ว่า
كُنْتُ أُصَلِّي مَعَ رَسُولِ الله صلى الله عليه وسلم فَكَانَتْ صَلاتُـهُ قَصْداً، وَخُطْبَتُـهُ قَصْداً
ความว่า “ฉันได้ละหมาดพร้อมท่านเราะสูลุลลอฮฺศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ปรากฏว่าการละมาดของท่านยาวปานกลาง คุฏบะฮฺของท่านก็ยาวปานกลางเช่นกัน” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 866)

มีสุนนะฮฺสำหรับผู้กล่าวคุฏบะฮฺให้อ่านอัลกุรอานในคุฏบะฮฺ บางครั้งให้คุฏบะฮฺด้วยการอ่านสูเราะฮฺกอฟด้วย

ลักษณะการนั่งฟังคุฏบะฮฺ
สุนัตสำหรับบรรดามะอ์มูมให้หันหน้าไปทางอิมามในขณะที่อิมามกล่าวคุฏบะฮฺอยู่บนมิมบัรฺ เพราะจะทำให้มีสมาธิในการฟังมากขึ้น ผู้คุฏบะฮฺเองก็จะมีกำลังใจมากขึ้นและจะทำให้หายง่วง

ลักษณะการละหมาดญุมุอะฮฺ
การละหมาดญุมุอะฮฺมีสองร็อกอะฮฺ สุนัตให้อ่านดังโดยในร็อกอะฮฺแรกหลังจากฟาติหะฮฺให้อ่านสูเราะฮฺ อัล-ญุมุอะฮฺ และในร็อกอะฮฺที่สองให้อ่านสูเราะฮฺ อัล-มุนาฟิกูน หรือในร็อกอะฮฺแรกให้อ่านสูเราะฮฺ อัล-ญุมุอะฮฺ และในร็อกอะฮฺที่สองให้อ่านสูเราะฮฺ อัล-ฆอชิยะฮฺ หรือในร็อกอะฮฺแรกให้สูเราะฮฺ อัล-อะอฺลาและในร็อกอะฮฺที่สองให้อ่านสูเราะฮฺ อัล-ฆอชิยะฮฺ แต่หากอ่านในทั้งสองร็อกอะฮฺด้วยสูเราะฮฺที่นอกจากที่กล่าวมาก็เป็นที่อนุญาต เมื่อละหมาดครบสองร็อกอะฮฺแล้วก็ให้สะลาม

ลักษณะการละหมาดสุนัตญุมุอะฮฺ
สุนัตให้ละหมาดสุนัตหลังละหมาดญุมุอะฮฺเสร็จโดยละหมาดที่บ้านสองร็อกอะฮฺ และบางครั้งอาจละหมาดสี่ร็อกอะฮฺสองสะลามก็ได้ แต่หากละหมาดที่มัสญิดให้ละหมาดสี่ร็อกอะฮฺสองสะลาม และไม่มีสุนนะฮฺก่อนญุมุอะฮฺ แต่อาจจะละหมาดสุนัตทั่วไปกี่ร็อกอะฮฺก็ได้ตามต้องการ

หุก่มการพูดคุยของบรรดามะอ์มูมในขณะอิมามกล่าวคุฏบะฮฺ
การพูดคุยในขณะคุฏบะฮฺนั้นทำให้ผลบุญเสีย ซ้ำยังอาจทำให้มีบาป ฉะนั้นจึงไม่อนุญาตพูดคุยในขณะที่อิมามกล่าวคุฏบะฮฺอยู่ นอกจากอิมามและผู้ที่อิมามใช้ให้เขาพูดเพื่อประโยชน์บางประการ และผู้ที่ต้องตอบรับสะลาม ตอบรับการจาม และอนุญาตให้พูดก่อนและหลังคุฏบะฮฺได้

หุก่มการดำเนินการละหมาดญุมุอะฮฺในเมืองใดเมืองหนึ่ง
ให้มีการดำเนินการละหมาดญุมุอะฮฺในเมืองหนึ่งได้หากครบเงื่อนไข โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากผู้นำ ฉะนั้นจึงสามารถทำได้ไม่ว่าผู้นำจะอนุญาตหรือไม่ แต่การดำเนินการละหมาดญุมุอะฮฺในเมืองเดียวกันหลายๆ แห่งนั้นเป็นสิ่งไม่อนุญาต นอกจากมีเหตุผลเพื่อความสะดวกหรือเพราะความจำเป็นและได้รับอนุญาตจากผู้นำแล้ว และการละหมาดญุมุอะฮฺนี้จะทำได้เฉพาะในเมืองและหมู่บ้านถาวรเท่านั้น ส่วนที่อาศัยชั่วคราวนั้นไม่อนุญาตให้ทำละหมาดญุมุอะฮฺ

ผู้ที่เข้ามัสญิดในขณะที่อิมามกล่าวคุฏบะฮฺอยู่เขาจะปฏิบัติอย่างไร?
ผู้ใดที่เข้ามัสญิดในขณะที่อิมามคุฏบะฮฺอยู่เขาจะนั่งไม่ได้จนกว่าเขาจะละหมาดสองร็อกอะฮฺก่อน และสำหรับผู้ใดรู้สึกง่วงในขณะที่อยู่ในมัสญิดอนุญาตให้เขาเปลี่ยนที่นั่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้

หุก่มการอาบน้ำในวันศุกร์
1- การอาบน้ำสำหรับละหมาดญุมุอะฮฺเป็นสิ่งที่สุนัตมุอักกะดะฮฺ(ส่งเสริมอย่างยิ่งให้ทำ) และวาญิบต้องอาบน้ำสำหรับผู้ที่มีกลิ่นตัวรบกวนบรรดามะลาอิกะฮฺและคนอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า
«الغُسْلُ يَومَ الجُـمُعَةِ وَاجِبٌ عَلَى كُلِّ مُـحْتَلِـمٍ»
ความว่า “การอาบน้ำในวันญุมุอะฮฺนั้นเป็นสิ่งสำหรับผู้ที่บรรลุศาสนภาวะทุกคน” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ : 858 และมุสลิม เลขที่: 846)

2- หลังจากอาบน้ำแล้วมีสุนัตให้ทำความสะอาดร่างกายส่วนอื่นๆ และให้ใส่น้ำหอม และสวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม แล้วออกไปมัสญิดตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วให้เข้าไปอยู่ในที่ที่ใกล้อิมาม และละหมาด ดุอาอ์และอ่านอัลกุรอานให้มากๆ

- อิมามคือผู้ที่ทำหน้าที่ในการกล่าวคุฏบะฮฺและนำละหมาดพร้อมกันด้วย แต่อนุญาตให้มีผู้กล่าวคุฏบะฮฺคนหนึ่ง และมีผู้นำละหมาดอีกคนหนึ่งเพราะเหตุผลบางอย่างได้

สิ่งที่สุนัตให้อ่านในวันศุกร์
มีสุนัตให้อ่านสูเราะฮฺ อัล-กะฮ์ฟฺ ในคืนหรือวันศุกร์ ซึ่งผู้อ่านสูเราะฮฺ อัล-กะฮ์ฟฺในวันศุกร์ อัลลอฮฺจะให้ความสว่างจากรัศมีเฉพาะแก่เขาในระหว่างสองญุมุอะฮฺ

สิ่งที่สุนัตให้อ่านในละหมาดศุบหฺของวันศุกร์
มีสุนัตให้อิมามอ่านในร็อกอะฮฺแรกของละหมาดศุบหฺในเช้าวันศุกร์ด้วยสูเราะฮฺ อัส-สัจญ์ดะฮฺ
และในร็อกอะฮฺที่สองด้วยสูเราะฮฺ อัล-อินซาน

หุก่มการดุอาอ์ในขณะคุฏบะฮฺ
ไม่มีบัญญัติสำหรับอิมามและบรรดามะอ์มูมให้ยกมือขณะดุอาอ์ในคุฏบะฮฺ นอกจากในกรณีที่อิมามดุอาอ์ขอฝน ซึ่งให้อิมามยกมือและมะอ์มูมยกมือตาม ส่วนการกล่าวอามีนต่อการดุอาอ์นั้นมีบัญญัติไว้ด้วยการกล่าวเสียงค่อยๆ
มีสุนัตสำหรับอิมามให้ดุอาอ์ในคุฏบะฮฺ ที่ดีที่สุดให้ดุอาอ์เพื่อศาสนาอิสลามและบรรดามุสลิม ขอให้อัลลอฮฺคุ้มครอง ช่วยเหลือพวกเขา ให้พวกรักใคร่ปรองดองซึ่งกันและกัน และสุนัตให้อิมามชี้นิ้วชี้ในขณะดุอาอ์ ไม่ใช่ยกมือทั้งสองข้าง

ช่วงเวลาที่ดุอาอ์จะถูกตอบรับ
ช่วงเวลาที่จะถูกตอบรับน่าจะเป็นช่วงท้ายของวันศุกร์ นั่นคือหลังจากละหมาดอัศรฺ ซึ่งมีสุนัตให้ซิกิรฺ ดุอาอ์ให้มากๆ ในช่วงดังกล่าว ฉะนั้นการดุอาอ์ในช่วงนี้จึงเป็นการดุอาอ์ที่น่าจะถูกตอบรับมากที่สุด ทั้งที่มันเป็นช่วงสั้นๆ
มีรายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า แท้จริงท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวถึงวันศุกร์ว่า
«فِيهِ سَاعَةٌ لا يُوَافِقُهَا عَبْدٌ مُسْلِـمٌ وَهُوَ قَائِمٌ يُصَلِّي يَسْأَلُ الله تَعَالَى شَيْئاً إلَّا أَعْطَاهُ إيَّاهُ»
ความว่า “ในวันศุกร์มีช่วงเวลาหนึ่ง บ่าวมุสลิมคนไหนที่ยืนละหมาดแล้วขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺให้เขาได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด โดยตรงกับช่วงเวลาดังกล่าวพอดี อัลลอฮฺก็จะทรงให้แก่เขาตามที่เขาได้วอนขอ” (มุตตะฟะกุน อะลัยฮฺ โดยมีบันทึกในอัล-บุคอรีย์ เลขที่ 935 ซึ่งสำนวนนี้เป็นของอัล-บุคอรีย์ และมุสลิม เลขที่: 852)

หุก่มการละเลยการละหมาดญุมุอะฮฺ
ผู้ใดที่ไม่ได้ละหมาดญุมุอะฮฺให้เขาละหมาดชดด้วยละหมาดซุฮฺริสี่ร็อกอะฮฺ ซึ่งหากขาดละหมาดญุมุอะฮฺเพราะเหตุจำเป็น ก็จะไม่มีบาปใดๆ แต่ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ เขาจะมีบาปเพราะเขาได้ละเลยการละหมาดญุมุอะฮฺ
มีรายงานจากท่านอบู อัล-ญะอฺดิ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า
«مَنْ تَرَكَ ثَلاثَ جُـمَعٍ تَـهَاوُناً بِـهَا طَبَـعَ الله عَلَى قَلْبِـهِ».
ความว่า “ผู้ใดขาดละหมาดญุมุอะฮฺสามครั้งติดๆ กันโดยเจตนา อัลลอฮฺจะตีตราบนหัวใจของเขา” (เป็นหะดีษหะสันเศาะฮีหฺที่บันทึกโดยอบู ดาวูด หมายเลข 1052 และอัต-ติรมิซีย์ หมายเลข 500)

หุก่มการละหมาดเมื่อวันอีดตรงกับวันศุกร์
หากวันอีดตรงกับวันศุกร์ อนุโลมสำหรับผู้ที่ละหมาดอีดแล้วให้ขาดละหมาดญุมุอะฮฺได้ โดยให้เขาละหมาดซุฮฺริแทน นอกจากผู้ที่เป็นอิมามซึ่งไม่อนุโลมให้ขาดได้ เช่นเดียวกันกับผู้ที่ยังไม่ได้ละหมาดอีดก็ไม่อนุโลมให้ขาดละหมาดญุมุอะฮฺ แต่หากผู้ที่ละหมาดอีดแล้วไปละหมาดญุมุอะฮฺอีกก็ถือว่าการละหมาดของเขาใช้ได้โดยไม่ต้องละหมาดซุฮฺริอีกแล้ว

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์
แปลโดย : ดานียา เจะสนิ
ผู้ตรวจทาน : ซุฟอัม อุษมาน
ที่มา : หนังสือมุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น