อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2556

ผู้รับมรดกจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม






มุสลิมยุคนี้ไม่ค่อยให้ความสนใจบัญญัติศาสนา โดยเฉพาะในเรื่องการเรียนรู้กิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ  ของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยึดเอาปัญหาศาสนาเป็นเรื่องสนุกสนานครื้นเครง บ้างก็รณรงค์ตอบโต้ฝ่ายที่มีความเห็นหรือมุมมองแตกต่างไปจากตนอย่างเอาเป็นเอาตาย ศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงกลายเป็นเป้าหมายแห่งการดูถูกเหยียดหยามของบรรดาผู้ไม่หวังดีที่จ้องจะโจมตี

 ด้วยเหตุดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่มุสลิมทุกคนจะต้องเอาใจใส่และให้ความสนใจต่อวิชาการทางบัญญัติศาสนา และถือว่าเป็นแนวทางในการทำความดี เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ให้ความสำคัญและความยิ่งใหญ่ในเรื่องของวิชาความรู้และผู้รู้ไว้มากมาย ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า



﴿ يَرْفَعِ اللهُ الَّذِيْنَ آمَنُوا مِنْكُمْ وَالَّذِيْنَ أُوْتُوا العِلْمَ دَرَجَاتٍ ﴾
ความว่า “อัลลอฮฺจะทรงยกย่องเทิดเกียรติให้หลายขั้นแก่บรรดาผู้ที่ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้ได้รับความรู้” (อัลมุญาดะละฮฺ 11)

?﴿ إِنَّمَا يَخْشَى اللهَ مِنْ عِبَادِهِ العَلَمَاءُ ﴾

ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ที่มีความรู้จากปวงบ่าวของพระองค์เท่านั้นที่เกรงกลัวอัลลอฮฺ” (อัลฟาฏิร 28)

 ท่านร่อซูลุลลอฮฺ  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวยืนยันถึงการให้เกียรติและให้ความสำคัญแก่วิชาความรู้ ดังนั้น ท่านจึงถือเป็นหน้าที่และภารกิจแก่มุสลิมทุกคนที่จะต้องศึกษาเรียนรู้และเอาใจใส่เป็นกรณีพิเศษ ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ในหะดีษเศาะฮี้ฮฺว่า

طَلَبُ العِلْمِ فَرِيْضَةٌ عَلَى كُلِّ مُسْلِمٍ?
ความว่า “การแสวงหาวิชาความรู้เป็นหน้าที่จำเป็นเหนือมุสลิมทุกคน”





مَنْ سَلَكَ طَرِيْقًا يَلْنَمِسُ فِيْهِ عِلْمًا سَهَّلَ اللهُ لَهُ طَرِيْقًا إِلَى الْجَنَّةَ
ความว่า “ผู้ใดออกเดินทางไปศึกษาหาความรู้ อัลลอฮฺจะอำนวยความสะดวกให้แก่เขาเพื่อเข้าสู่สวนสวรรค์”

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ถือว่าวิชาความรู้คือแหล่งการสืบทอดมรดกจากบรรดานบี ท่านได้กล่าวไว้ว่า



إِنَّ الْعُلَمَاءَ وَرَثَةُ الأَنْبِيَاءِ وَإِنَّ الأَنْبِيَاءَ لَمْ يُوَرِّثُوْا دِيْنَارًا وَلاَدِرْهَمًا ، وَإِنَّمَا وَرْثُوا العِلْم ،  فَمَنْ أَخَذَهُ أَخَذَ بِحَظِّ وَافِر
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้รู้เป็นผู้สืบทอดมรดกจากบรรดานบี และแท้จริงบรรดานบีนั้นมิได้มอบมรดกให้เป็นดีนารหรือดิรฮัม(เป็นเงิน) แต่ทว่าได้มอบมรดกให้เป็นวิชาความรู้ ดังนั้นผู้ใดได้รับมรดกนั้น เขาจะได้รับโชคลาภอย่างมหาศาล”

เมื่อเราให้เกียรติและความสำคัญแก่วิชาความรู้แล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องให้ความเคารพนับถือและความเอาใจใส่แก่วิชาความรู้และบรรดาผู้รู้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งแห่งการให้เกียรติแก่บทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา   ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

  ﴿ ذَلِكَ وَمَنْ يُعَظِّمْ حُرُمَاتِ اللهِ فَهُوَ خَيْرٌ لَهُ عِنْدَ رَبِّهِ ﴾

ความว่า “เช่นนั้นแหละ และผู้ใดให้เกียรติต่อข้อห้ามทั้งหลายของอัลลอฮฺ มันก็เป็นการดีแก่เขา ณ ที่พระเจ้าของเขา” (อัลฮัจญฺ : 30)



﴿ ذَلِكَ وَمَنْ يُعَظِّمْ شَعَائِرَ اللهِ فَإِنَّهَا مِن تَقْوَى الْقُلُوبِ ﴾
ความว่า “ฉะนั้น ผู้ใดให้เกียรติแก่พระบัญญัติของอัลลอฮฺ แท้จริงมันเป็นส่วนหนึ่งแห่งการยำเกรงของจิตใจ” (อัลฮัจญฺ : 32)

 ด้วยเหตุดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นภาระหน้าที่ของสังคมมุสลิมจะต้องมีบทบาทในการเผยแผ่วิชาความรู้ และให้ความเคารพนับถือบรรดาผู้รู้ จะต้องยกย่องผู้รู้ และไม่ดูถูกเหยียดหยามพวกเขา เพราะสังคมใดที่ไม่ให้เกียรติและดูถูกเหยียดหยามบรรดาผู้รู้นั้น เป็นสังคมที่สับสน ออกนอกลู่นอกทาง เป็นสังคมที่ไม่มีความดี ความจำเริญและความศิริมงคล

 ส่วนหนึ่งจากการให้เกียรติและความสำคัญของวิชาความรู้และบรรดาผู้รู้ คือ การให้เกียรติในความยิ่งใหญ่และความสำคัญของอัลกุรอานและผู้ท่องจำอัลกุรอาน และ ให้เกียรติในความยิ่งใหญ่และความสำคัญของอัซซุนนะฮฺและผู้ท่องจำอัซซุนนะฮฺ และ ผู้เรียกร้องเชิญชวนไปสู่กิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ  เพราะพวกเขาทำหน้าที่ชี้แนะผู้คนไปสู่สวนสวรรค์และความโปรดปรานของอัลลอฮฺ และกันพวกเขาให้ห่างไกลจากทางไปสู่นรก และความกริ้วของพระผู้ทรงอำนาจ พระผู้ทรงลงโทษในความผิด พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า



﴿ وَمَنْ أَحْسَنُ قَوْلا مِمَّنْ دَعَا إِلَى اللهِ وَعَمِلَ صَالِحَاً وَقَالَ إِنَّنِيْ مِنَ المُسْلِمِيْنَ ﴾
ความว่า “และผู้ใดเล่าจะมีคำพูดที่ดีเลิศยิ่งไปกว่าผู้เชิญชวนไปสู ่อัลลอฮฺ และเขาปฏิบัติงานที่ดี และกล่าวว่า แท้จริงฉันเป็นคนหนึ่งในบรรดาผู้ที่นอบน้อม” (ซูเราะฮฺฟุศศิลัต : 33)



﴿ قُلِ هَذِهِ سَبِيْلِِي أَدْعُوْ إِلَى اللهِ عَلَى بَصِيْرَةٍ أَنَا وَمَنِ اتَّبَعَنِيْ وَسُبِحَانَ اللهِ وَمَا أَنَا مِنَ الْمُشْرِكِيْنَ ﴾
ความว่า “จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด นี่คือแนวทางของฉัน ฉันเรียกร้องไปสู่อัลลอฮฺอย่างประจักษ์แจ้งทั้งตัวฉันและผู้ปฏิบัติตามฉัน และมหาบริสุทธิ์แห่งอัลลอฮฺ และฉันมิได้อยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี” (ซูเราะฮฺยูซุฟ : 108)



﴿ أَدْعُ إِلَى سَبِيْلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ وَجَدِلْهُمْ ﴾
ความว่า “จงเรียกร้องไปสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าด้วยความสุขุมคัมภีรภาพและการตักเตือนที่ดี และจงโต้แย้งกับพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า” (ซูเราะฮฺอันนะฮฺลุ : 125)

 ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ยกย่องให้เกียรติอย่างสูงแก่ผู้เรียนรู้และครูผู้สอนอัลกุรอาน โดยท่านได้กล่าวชมเชยไว้ว่า



خَيْرُكُمْ مَنْ تَعَلَّمَ القُرْآنَ وَعَلَّمَهُ
ความว่า “ผู้ที่ดียิ่งในหมู่พวกท่านคือ ผู้ที่เรียนและผู้ที่สอนอัลกุรอาน”

 และนี่คือตัวบทจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ของเรา ที่ระบุไว้ว่า ตำแหน่งที่ประเสริฐยิ่งในสังคม และมนุษย์ที่มีเกียรติยิ่งในโลกมนุษย์ คือผู้ที่หัวใจของเขาบรรจุเก็บสะสมอัลกุรอานเอาไว้ และนี่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการท่องจำอัลกุรอาน และรู้จักความหมายและบทบัญญัติต่าง ๆ ของอัลกุรอาน อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้มีการสอนอัลกุรอานอีกด้วย

..........................................................................................................
 จากบทนำในหนังสือ "กลุ่มต่างๆในอิสลาม", เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น