อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2556

เมื่อเดินทางถึงจุดหมายแล้ว จะละหมาดย่อได้กี่วัน?

Sample Image

คำถาม คนเดินทางนั้นสามารถละหมาดย่อได้ตลอดตราบที่เขาอยู่ในการเดินทางไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตาม  แต่เมื่อเขาถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการแล้ว เขาจะละหมาดย่อได้อีกนานเท่าไหร่?

คำตอบ  เรื่องนี้ศาสนาไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ตายตัว และไม่มีตัวบทหะดีษที่เจาะจงเวลาที่แน่นอนอย่างชัดเจน บรรดาอุละมาอ์มีความเห็นแตกต่างถึง 11 ความเห็น ที่มีชื่อเสียงนั้นมีอยู่ 4 ทัศนะดังนี้
 ความเห็นที่หนึ่ง ׃ ถ้าผู้เดินทางตั้งใจว่าจะอยู่เกินสี่วัน ก็ไม่อนุญาตให้เขาละหมาดย่อ  นี่เป็นทัศนะของมัซฮับมาลิกี ชาฟีอียฺ และฮัมบาลียฺ
ความเห็นที่สอง ׃ ถ้าผู้เดินทางตั้งใจว่าจะอยู่เกินสิบห้าวัน เขาจะละหมาดย่อไม่ได้ นี่เป็นทัศนะของอบู หะนีฟะฮฺ  อัษเษารียฺ และอัลมุซนียฺ
ความเห็นที่สาม ׃ ผู้เดินทางสามารถละหมาดย่อได้ตลอด ตราบที่เขาไม่คิดจะพำนักอยู่ที่นั่นอย่างถาวร  นี่เป็นทัศนะของอัลหะซัน เกาะตาดะฮฺ อิสหาก และอิบนุ ตัยมียะฮฺก็เห็นด้วยกับทัศนะนี้
ความเห็นที่สี่ ׃ ผู้เดินทางสามารถละหมาดย่อได้ 20 วัน 20 คืน จากนั้นต้องละหมาดเต็ม ไม่ว่าเขาตั้งใจว่าจะพำนักอยู่ที่นั่นหรือไม่ก็ตาม นี่เป็นทัศนะของอิบนุ หัซมฺ

ทัศนะที่มีน้ำหนัก
            ในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ มีแต่คำว่า มุซาฟิร (ผู้เดินทาง) และคำว่ามุกีม(คนพำนักในถิ่นฐานของตน) ดังนั้นคนที่เดินทางไปถึงท้องถิ่นที่ไม่ใช่บ้านของเขาและพักอยู่ที่นั่นนั้นต้องแยกออกเป็นสองกรณี
กรณีที่หนึ่ง  คนที่เมื่อเขาเดินทางถึงจุดหมายแล้ว เขาวางสัมภาระและไปจัดหาที่พักเป็นส่วนตัวของเขา  พร้อมทั้งตกแต่งที่พัก และอาศัยอยู่ที่นั่นอย่างสงบมั่นคง อย่างนี้ถือว่าเขาเป็นมุกีม(คนท้องถิ่นนั้น) เขาจะละหมาดย่อไม่ได้ ไม่ว่าจะกี่วันก็ตาม เพราะเป็นการพิจารณาถึงเจตนารมณ์ในการเข้าพัก ส่วนหนึ่งดูได้จากสภาพของที่พัก โดยไม่พิจารณาถึงจำนวนเวลาที่พัก
กรณีที่สอง  คนที่เข้าพักยังที่พักซึ่งไม่ทำให้เขามีความรู้สึกว่าเป็นการตั้งถิ่นฐานอย่างมั่นคงที่นั่น เช่นห้องรับรองแขก ดังนี้เขาก็คือมุซาฟิร(คนเดินทาง)ซึ่งสามารถละหมาดย่อได้ตลอด แม้เขาจะอยู่ที่นั่นมากกว่ายี่สิบวัน  ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งอยู่เมืองหลวงแล้วเขาเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อทำธุระ ซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน โดยนอนบ้านญาติบางสัปดาห์ และบางสัปดาห์ก็นอนบ้านเพื่อน อย่างนี้ถือว่าเขาเป็นคนเดินทาง เขาจึงสามารถละหมาดย่อได้ตลอดจนกว่าจะกลับเมืองหลวง นี่เป็นทัศนะที่ใกล้เคียงกับความเห็นที่สาม

ด้วยหลักการพิจารณานี้ เราจึงเห็นว่านักศึกษาที่เดินทางไปเรียนยังสถาบันการศึกษาต่างๆ แล้วพักอยู่ในเมืองที่สถาบันนั้นตั้งอยู่ โดยพวกเขามีที่พักเป็นการเฉพาะ ถือว่าพวกเขาเป็นมุกีมไม่ใช่คนเดินทาง พวกเขาจึงละหมาดย่อไม่ได้ วัลลอฮุ อะอฺลัม

.................................................
อ้างอิง
เศาะฮีฮฺ ฟิกฮุซซุนนะฮฺ โดย อบู มาลิก กะมาล อิบนุ อัซซิด ซาลิม
โดย อับดุศศอมัด อัน นัดวียฺ
http://tawbah.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น