การเป่ารักษาในภาษาอาหรับเรียกว่า (رقية ) คือการเป่าในการเยียวยารักษาให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บและอาการ เจ็บป่วยต่าง ๆ (อิบนิอัลอะซีร, นิฮายะฮฺฟีฆอริบิลหะดีษวัลอาซาร, ดารุ้ลอิอฺยาอุตตุรอบุ้ลอะรอบียฺ, เลบานอน, ม.ป.ป., หน้าที่: 254.)
การเป่านั้นนักปราชญ์ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ
1. อนุญาต คือการใช้อัลกุรอ่านหรือบทดุอาอฺต่างๆที่มีแบบอย่างจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในการอ่านเพื่อรักษาคนป่วย (ศอลิหฺบินเฟาซาน, อิรชาดอิลาศอหิหิ้ลอิอฺติกอดวะร๊อดดุอาลาอะฮฺลิชชิรกิวะอิลหาด, ดารุ้ลอาศิมะฮฺ, ซาอุดิอารเบีย, 1998, หน้าที่:62. ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า
اعرضوا على رقاكم لا بأس باالرقاكم مالم تكن شركا
“จงนำเสนอแก่ฉันการเป่าของพวกท่านเพราะไม่เป็นบาปสำหรับการเป่าที่ไม่เป็นชีริก”
มุสลิม, ศอหีหฺ, หมวดการให้สลาม, บรรพการอนุญาตให้นำกุรอ่านและการซิเกรมาเป็นการเสกเป่า, เลขที่ :2201.
ท่านอับดุลวะฮับกล่าวว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมนั้นเคยใช้การเป่าและอนุญาตให้ทำมันได้เพราะว่า แท้จริงหากนำมาจากอัลกุรอ่านและพระนามของอัลลอฮฺซุบหานะฮูวะตะอาลา ถือว่าเป็นที่อนุญาตให้ทำได้ (อับดุรเราะหฺมานบินหะสัน, ฟัตหุลมะญีด, เล่มที่:1, ดารุศศอมีอียฺ, เลบานอน, 1285, หน้าที่:242.)
ด้วยเหตุนี้นัปราชญ์จึงได้วางเงื่อนไขในการเป่ารักษาซึ่งมีด้วยกัน 3 เงื่อนไข (อับดุรเราะหฺมานบินหะสัน, ฟัตหุลมะญีด, เล่มที่:1, ดารุศศอมีอียฺ, เลบานอน, 1285, หน้าที่:243.) ดังนี้
1. จำเป็นต้องเป็นดำรัสของของอัลลอฮฺซุบหานะฮูวะตะอาลา
2. จำเป็นต้องเป็นภาษาอาหรับซึ่งสามารถรับรู้และเข้าใจความหมายได้
3. จำเป็นสำหรับผู้เป่ารักษาจะต้องยึดมั่นว่าสิ่งที่เราเสกเป่าไปนั้นไม่สามารถที่จะอำนวยประโยชน์ หรือมีอำนาจ ในการรักษาเยียวยาได้ ยกเว้นจะต้องผ่านความประสงค์ของอัลลอฮฺ ซุบหานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น ในส่วนของ ผู้ที่อ่านถือว่าเป็นเพียงแต่สาเหตุและการขอดุอาอฺเท่านั้น
2. ไม่อนุญาต และถือว่าเป็นบาป คือการนำสิ่งที่ไม่มีต้นฉบับมาจากอัลกุรอ่านหรือไม่มีแบบอย่างมาจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมมาใช้อ่านในการรักษาเยียวยา (ศอลิหฺบินเฟาซาน, แหล่งเดิม, หน้าที่:62.)
อัลลอฮฺซุบหานะฮูวะตะอาลา ทรงตรัสว่า
“และพวกเขาได้ปฏิบัติตามสิ่งที่บรรดาชัยฏอน ในสมัยสุลัยมานอ่านให้ฟัง และสุลัยมานหาได้ปฏิเสธ การศรัทธาไม่ แต่ทว่าชัยฏอนเหล่านั้นต่างหากที่ปฏิเสธการศรัทธา โดยสอนประชาชนซึ่งวิชา ไสยศาสตร์และสิ่งที่ถูกประทานลงมา แก่มะลาอิกะฮ์ทั้งสอง คือ ฮารูต และมารูต ณ เมืองบาบิล และเขาทั้งสองจะไม่สอนให้แก่ผู้ใดจนกว่าจะกล่าวว่า แท้จริงเราเพียงเป็นผู้ทดสอบเท่านั้น ท่านจงอย่า ปฏิเสธการศรัทธาเลย แล้วเขาเหล่านั้นก็ศึกษาจากเขาทั้งสอง สิ่งที่พวกเขาจะใช้มันยังความแตกแยก ระหว่างบุคคลกับภรรยาของเขา และพวกเขาไม่อาจทำให้สิ่งนั้นเป็นอันตรายแก่ผู้ใดได้ นอกจากด้วย การอนุมัติของอัลลอฮฺเท่านั้น และพวกเขาก็เรียนสิ่งที่เป็นโทษแก่พวกเขา และมิใช่เป็นคุณแก่พวกเขา และแท้จริงนั้นพวกเขารู้แล้วว่าแน่นอนผู้ที่ซื้อมันไว้นั้น ในปรโลกก็ย่อมไม่มีส่วนได้ใด ๆ และแน่นอน เป็นสิ่งที่ชั่วช้าจริง ๆ ที่พวกเขาขายตัวของพวกเขาด้วยสิ่งนั้น หากพวกเขารู้”
สูเราะฮฺ อัลบากอเราะฮฺ, 2:102.
อิสลามถือว่าการการยุ่งเกี่ยวกับไสยศาสตร์นั้นเป็นบาปใหญ่อย่างหนึ่ง ในบรรดาบาปใหญ่ที่ทำลายประชาชาติ และเป็นสิ่งที่ลดเกียรติของผู้ที่ปฏิบัติมันมาแล้วก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังสร้างความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่น ในโลกนี้และผู้ที่ปฏิบัติมันจะต้องได้รับการลงโทษที่เจ็บแสบในโลกหน้า
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมได้กล่าวว่า
إجتنبوا الموبقات قالوا : يارسول الله وماهي : الشرك بالله والسحر وقتل النفس التي حرم الله إلا بالحق وأكل الربا وأكل مال اليتيم والتولي يوم الزحف وقذف المحصنات المؤمنات الغفلات
"พวกท่านจงหลีกห่างจากบาปใหญ่เจ็ดชนิด มีผู้กล่าวว่า มันคืออะไรบ้างครับท่านร่อสู้ล? ท่านได้ตอบ ว่า มันคือ การทำชิริกต่ออัลลอฮฺ การยุ่งเกี่ยวกับไสยศาสตร์ การฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้าม ยกเว้นด้วย ความชอบธรรม (ตามหลักศาสนา) การกินทรัพย์เด็กกำพร้า การกินดอกเบี้ย การหนีทัพในวันประจัญ หน้า และการใส่ร้ายหญิงสาวบริสุทธิ์ที่ไม่รู้เรื่องว่า ทำซินา"
บุคคอรี, ศอหีหฺ, หมวดการสั่งเสีย, บรรพที่ 24, เลขที่:1615
การเสกเป่าในการรักษาในทัศนะของอิสลามนั้น ยังถือว่าเป็นที่อนุญาตตราบใดที่การเสกเป่านั้นยังอยู่ในกรอบ ที่ศาสนากำหนด โดยที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของไสยศาสตร์
والله أعلم بالصواب
............................................
โดย อ.อับดุลฮากีม มังเดชะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น