อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เมื่อฉันทำบาป ฉันจะทำอย่างไรดี?





 ท่านอาจจะถามขึ้นอีกว่า “เมื่อฉันได้กระทำบาปใดบาปหนึ่งลงไป แล้วฉันจะสามารถกลับเนื้อกลับตัวจากการกระทำนั้นโดยทันที หรือว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่ฉันจะต้องกระทำหลังจากได้ก่อบาปนั้นเสียก่อน ?”
            คำตอบก็คือ การงานที่จะต้องกระทำหลังจากละทิ้งการกระทำบาปนั้นมี 2 ประการ
            ประการที่ 1 คือการงานแห่งหัวใจ นั่นคือความเสียใจและความแน่วแน่ที่จะไม่หวนกลับไปกระทำมันใหม่ การงานนี้เป็นผลมาจาก “ความเกรงกลัว” อัลลอฮฺ ตะอาลา
            ประการที่ 2 คือการงานของอวัยวะภายนอก นั่นคือการกระทำความดีงามต่าง ๆ ที่หลากหลาย ดังเช่น การละหมาดเตาบะฮฺ ดังมีตัวบทว่า

((عن أبي بكرة رضي الله عنه قَالَ سَمِعْتُ رَسُولَ اللَّهِ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏يَقُولُ مَا مِنْ رَجُلٍ يُذْنِبُ ذَنْبًا ثُمَّ يَقُومُ فَيَتَطَهَّرُ ثُمَّ ‏ ‏يُصَلِّي ثُمَّ يَسْتَغْفِرُ اللَّهَ إِلَّا غَفَرَ لَهُ ))

รายงานจากอบู บักเราะฮฺ กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านเราะซูลุลลอฮฺกล่าวว่า “หากมีชายผู้ใดไม่ที่กระทำบาปใดบาปหนึ่ง จากนั้นเขาก็ลุกขึ้น จากนั้นก็ได้ชำระล้าง จากนั้นก็ได้ละหมาดสองเราะกะอะฮฺ จากนั้นได้ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ เว้นแต่อัลลอฮฺจะอภัยโทษให้แก่เขา” [1]
จากนั้นท่านได้อ่านอายะฮฺอัล-กุรอานดังต่อไปนี้

﴿وَالَّذِيْنَ إِذَا فَعَلُوْا فَاحِشَةً أَوْ ظَلَمُوْا أَنْفُسَهُمْ ذَكَرُوْا اللهَ فَاسْتَغْفَرُوْا لذُّنُوْبَهُمْ وَمَنْ يَغْفِرُ الذُّنُوْبَ إِلاَّ اللهُ وَلَمْ يَصِرُّوْا عَلَى مَافَعَلُوْا وَهُمْ يَعْلَمُوْنَ ﴾

รรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วใดๆ หรืออยุติธรรมแก่ตัวเองแล้ว พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮฺ แล้วขออภัยโทษในบรรดาความผิดของพวกเขา และใครเล่าที่จะอภัยโทษบรรดาความผิดทั้งหลายให้ได้ นอกจากอัลลอฮฺแล้ว และพวกเขามิได้ดื้อรั้นปฏิบัติในสิ่งที่เขาเคยปฏิบัติมาโดยที่พวกเขารู้กันอยู่ [2]
         
            ปรากฏรายงานอื่นๆ ที่เศาะฮีฮฺ กล่าวถึงลักษณะของการละหมาดสองเราะกะอะฮฺ เพื่อไถ่ถอนบาปเอาไว้ ดังจะได้กล่าวโดยสรุปดังต่อไปนี้

            - อาบน้ำละหมาดอย่างครบถ้วน เพราะไม่มีใครที่อาบน้ำละหมาด โดยอาบอย่างปราณีต เว้นแต่บาปต่าง ๆ ของเขาจะถูกขจัดออกจากอวัยวะต่าง ๆ ที่ได้กระทำการชำระล้างนั้นออกไปพร้อมกับน้ำ หรือพร้อมกับหยดสุดท้ายของน้ำ

            ส่วนหนึ่งของการอาบน้ำละหมาดที่มีความสมบูรณ์และงดงามยิ่งนั้นก็คือ การกล่าวถ้อยคำ “บิสมิลลาฮฺ” ก่อนการชำระล้าง และกล่าวถ้อยคำรำลึก(ซิกรฺ)หลังจากเสร็จแล้วนั่นคือ

(( أَشْهَدُ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا اللَّهُ وَحْدَهُ لَا شَرِيكَ لَهُ وَأَشْهَدُ أَنَّ ‏ ‏مُحَمَّدًا ‏ ‏عَبْدُهُ وَرَسُولُهُ اللَّهُمَّ اجْعَلْنِي مِنْ التَّوَّابِينَ وَاجْعَلْنِي مِنْ الْمُتَطَهِّرِينَ سُبْحَانَكَ اللَّهُمَّ وَبِحَمْدِكَ أَشْهَدُ أَنْ لَا إِلَهَ إِلَّا أَنْتَ أَسْتَغْفِرُكَ وَأَتُوبُ إِلَيْكَ))

            ฉันขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีสิ่งใดที่ควรแค่การเคารพบูชา เว้นแต่อัลลอฮฺ เพียงผู้เดียว ไม่มีภาคีใด ๆ ต่อพระองค์ และฉันขอปฏิญาณตนว่า มุฮัมมัด เป็นบ่าวของพระองค์และเป็นผู้นำสาส์นของพระองค์
โอ้ อัลลอฮฺ ขอพระองค์ทรงทำให้ฉันเป็นส่วนหนึ่งของบรรดาผู้ที่กลับเนื้อกลับตัว และทรงทำให้ฉันเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้ชำระล้างให้สะอาดแล้ว
มหาบริสุทธ์เป็นของพระองค์ โอ้ อัลลอฮฺ และด้วยการสรรเสริญพระองค์ ฉันขอปฏิญาณตนว่า ไม่มีสิ่งใดที่ควรแค่การเคารพบูชา เว้นแต่พระองค์ ฉันขออภัยโทษต่อพระองค์ และฉันของกลับเนื้อกลับตัวยังพระองค์

            นี่คือบางส่วนของถ้อยคำรำลึกหลังจากอาบน้ำละหมาด และเนื้อหาทุกอย่างที่อยู่ในนั้นเป็นรางวัลอันยิ่งใหญ่
            - ลุกขึ้นละหมาดสองเราะกะอะฮฺ
            - จะต้องไม่หลง ๆ ลืม ในละหมาด (ต้องมีใจจิตใจจ่อในทุกอิรยาบทของการละหมาด)
            - ขณะที่ละหมาดจะต้องไม่คิดอะไรเรื่อยเปื่อยในใจของตัวเอง
            - จะต้องทำให้การรำลึกและการคุชูอฺ(การมีสมาธิ)เกิดความสมบูรณ์และงดงามที่สุด
            - จากนั้นให้ทำการขออภัยโทษ(อิสติฆฟารฺ)ต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา
            ผลที่จะได้รับก็คือ บาปที่เขาได้กระทำผ่านมาจะได้รับการอภัยโทษ และเขาจะได้รับการยืนยันด้วยสวรรค์ [3]

            หลังจากนั้นต้องกระทำความดีและการเชื่อฟังอัลลอฮฺในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ท่านไม่เห็นดอกหรือว่า เมื่อท่านอุมัร รอดิยัลลอฮุ อันฮุ รู้สึกถึงความผิดที่ท่านโต้เถียงกับท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ที่เกิดขึ้นในช่วงสมรภูมิหุดัยบียะฮฺ ท่านกล่าวว่า “ด้วยเหตุนี้เอง ฉันได้ทำความดีมากมายหลังจากนั้น” หมายถึง ความดีงามต่าง ๆ เพื่อช่วยไถ่ถอนความผิดนั้น
            ท่านพึงใคร่ครวญอุปมาอุปไมยที่ถูกรายงานในหะดีษเศาะฮีฮฺบทหนึ่ง ท่านเราะซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวว่า
(( إن مثل الذي يعمل السيئات ثم يعمل الحسنات كمثل رجل كانت عليه درع أي لباس من حديد يرتديه المقاتل ضيقة، قد خنقته، ثم عمل حسنة فانفكت حلقة، ثم عمل أخرى فانفكت الأخرى حتى يخرج إلى الأرض ))

            แท้จริงอุปมาประหนึ่งผู้ที่กระทำความเลวร้ายต่าง ๆ หลังจากนั้นเขาได้กระทำความดีงามทั้งหลาย อุปไมยประหนึ่งดังบุรุษที่สวมใส่เสื้อเกาะที่รัดแน่น ซึ่งเป็นชุดที่ทำจากเหล็กที่ให้นักรบสวมใส่ จนมันทำให้เขาหายใจหายคอมิสะดวก จากนั้นเขาได้กระทำความดีหนึ่ง มันจึงคลายตัวออกรอบวงหนึ่ง จากนั้นเขาได้กระทำความดีอื่น ๆ อีก มันจึงคลายตัวออกอีกหลายรอบ จนกระทั่งมันหลุดร่วงลงสู่พื้นดิน[4]

            ด้วยเหตุนี้เอง ความดีทั้งหลายนั้นย่อมปลดปล่อยคนบาปออกจากคุกแห่งการฝ่าฝืน(ต่ออัลลอฮฺ) ออกไปสู่โลกแห่งการเชื่อฟัง(ต่ออัลลอฮฺ)ที่กว้างขวาง เรื่องราวที่กล่าวผ่านมาแล้วข้างต้นย่อมเป็นข้อสรุปสำหรับท่านแล้ว โอ้ พี่น้องของฉัน !!!

            รายงานจากท่านอิบนุ มัสอูด รอดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า

((جَاءَ ‏ ‏رَجُلٌ ‏ ‏إِلَى النَّبِيِّ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏فَقَالَ يَا نَبِيَّ اللَّهِ إِنِّي أَخَذْتُ امْرَأَةً فِي الْبُسْتَانِ فَفَعَلْتُ بِهَا كُلَّ شَيْءٍ غَيْرَ أَنِّي لَمْ أُجَامِعْهَا قَبَّلْتُهَا وَلَزِمْتُهَا وَلَمْ أَفْعَلْ غَيْرَ ذَلِكَ فَافْعَلْ بِي مَا شِئْتَ فَلَمْ يَقُلْ لَهُ رَسُولُ اللَّهِ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏شَيْئًا فَذَهَبَ الرَّجُلُ فَقَالَ ‏ ‏عُمَرُ ‏ ‏لَقَدْ سَتَرَ اللَّهُ عَلَيْهِ لَوْ سَتَرَ عَلَى نَفْسِهِ قَالَ فَأَتْبَعَهُ رَسُولُ اللَّهِ ‏ ‏صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏بَصَرَهُ فَقَالَ رُدُّوهُ عَلَيَّ فَرَدُّوهُ عَلَيْهِ فَقَرَأَ عَلَيْهِ  ﴿ وَأَقِمِ الصَّلَوةَ طَرَفَى النَّهَار وَزُلَفًا مِنَ الَّيْلِ إِنَّ الحَسَنَاتِ يُذْهِبْنَ السَّيِّئَاتِ ذَلِكَ ذِكْرَى لِلذَّاكِرِيْنَ ﴾ ... ))

ชายคนหนึ่งได้มายังท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม แล้วกล่าวขึ้นว่า “โอ้ เราะซูลุลลอฮฺ แท้จริงฉันได้พบกับสตรีนางหนึ่งในสวนแห่งหนึ่ง แล้วฉันได้กระทำกับนางทุก ๆ สิ่ง โดยเหลือแค่เพียงที่ฉันไม่ได้ร่วมประเวณีกับนาง แต่ฉันได้จูบและได้กอดนาง และฉันไม่ได้กระทำสิ่งอื่นมากกว่านี้ ดังนั้นขอให้ท่านดำเนินการกับฉันตามที่ท่านประสงค์เถิด”
ท่านเราะซูลไม่ได้กล่าวสิ่งใดเลย แล้วชายผู้นั้นก็จากไป ท่านอุมัรได้กล่าวว่า “อัลลอฮฺได้ปกปิดให้แก่เขาแล้ว เขาควรปกปิดให้กับตัวเองด้วย” ดังนั้น ท่านเราะซูลจึงมองตามเขาไปด้วยสายตาของท่าน แล้วจึงกล่าวขึ้นว่า “พวกท่านไปนำเขากลับมายังฉัน” แล้วเมื่อพวกเขาได้นำชายคนนั้นกลับมา ท่านก็ได้อ่าน(อายะฮฺอัล-กุรอาน)ว่า
และเจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด ตามปลายช่วงทั้งสองของกลางวันและยามต้นจากกลางคืน แท้จริงความดีทั้งหลายย่อมลบล้างความชั่วทั้งหลายนั่นคือข้อเตือนสำหรับบรรดาผู้ที่รำลึก[5]

ในรายงานของอุมัร รอดิยัลลอฮุ อันฮุ นั้น ท่านมุอาซ รอดิยัลลอฮุ อันฮุ ได้กล่าวว่า

((  يا رسول الله ‏ ‏أَلَهُ وَحْدَهُ أَمْ لِلنَّاسِ كَافَّةً ؟ فَقَالَ: (بَلْ لِلنَّاسِ كَافَّةً))

“โอ้เราะซูลุลลอฮฺ เฉพาะแก่เขาคนเดียวหรือแก่มนุษย์ทั้งหมด?” ท่านตอบว่า “ไม่ใช่แค่เขา แต่มนุษย์ทั้งหมด” [6]
....................................
[1] รายงานโดยเจ้าของสุนัน ดูเศาะฮีฮฺ อัต-ตัรฆีบ วัล-ตัรฮีบ 1/284
[2] อัล-กุรอาน 3:135
[3] ดู เศาะฮีฮฺ อัต-ตัรฆีบ 1/94,95
[4] รายงานโดยอัฏ-เฏาะบะเราะนียฺ ในอัล-กะบีรฺ, เศาะฮีฮฺ อัล-ญามิอฺ 2192
[5] อัล-กุรอาน 11:114
[6] รายงานโดยมุสลิม

""""""""""""""""""""""""""""""""""""
โดย เชค มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัลมุนัจญิด

อิบนุ อับดุรรออูฟ แปล

http://tawbah.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น