อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ศาสนทูตมุหัมมัด อบรมสั่งสอนเด็กๆ อย่างไร



ไปให้พ้นๆ เลย!!
หยุดเดี๋ยวนี้นะ เจ้าเด็กน่ารำคาญ!!

“มันไม่น่าจะถือว่าเป็น “เรื่องปกติ” ที่ปัจจุบันนี้ในสังคมส่วนใหญ่ผู้ใหญ่มักจะพูดจากับเด็กๆ ด้วยน้ำเสียง และถ้อยคำที่ไม่ดีแบบนั้น”

พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และผู้ปกครอง คนดูแลเด็ก
สามารถที่จะสูญเสียการควบคุมอารมณ์
และขาดความอดทนกับพฤติกรรมที่ดื้อซนของเด็กๆ
ได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเด็กๆ เหล่านั้น
เป็นเด็กที่มีความเฉลียวฉลาด มีไหวพริบ
ช่างสงสัย คล่องแคล่ว ว่องไว กล้าหาญ
มีความมั่นใจในตัวเองและสนุกสนานร่าเริงเป็นพิเศษ

“เด็กๆ” คือของขวัญชิ้นใหญ่จากอัลลอฮฺ
การมีลูกและการที่จะเลี้ยงดูพวกเขาให้เป็นคนดีมีศีลธรรม
อยู่ในหลักการศาสนาได้นั้นจำต้องอาศัยรากฐานของ
โครงสร้างครอบครัวที่มั่นคง แข็งแรง

ในขณะที่พวกเราหลายคนต่างทราบกันดี
และต่างเคี่ยวเข็ญเด็กๆ ในเรื่อง “สิทธิของพ่อแม่ในอิสลาม”
หากแต่ว่าพวกเรากลับมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กตัวเล็กๆ
เหล่านั้น ต่างก็เกิดมาพร้อมด้วย
“สิทธิในอิสลามบางประการที่เรามีหน้าที่ที่จะต้องมอบสิทธิ
เหล่านั้นให้กับพวกเขา”
ด้วยเช่นกัน แม้แต่ทารกที่อยู่ในครรภ์ก็ยังมีสิทธิของพวกเขา
ที่สามารถเป็นเหตุให้การแบ่งมรดกนั้นล่าช้าออกไปได้
เช่นเดียวกันกับที่มันมีผลต่อกฏเกณฑ์ของการหย่าร้างในอิสลามด้วย

ศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
ได้รับมือกับเด็กๆ รวมไปถึงเด็กเล็กที่มีพฤติกรรม
อุปนิสัยที่แตกต่างกันไปในหลายๆ สถานการณ์
ด้วยความอดทนและด้วยความเมตตา

ด้วยเพราะอัลลอฮฺทรงสั่งใช้พวกเราในอัลกุรอาน
ว่าให้ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของศาสนทูตมุหัมมัด
ทั้งนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งความพึงพอพระทัยของพระองค์
ในโลกหน้า

ดังนั้นเราจึงควรศึกษาว่าศาสนทูตขัดเกลา
อบรมตักเตือนเด็กเล็กๆ
อย่างไร ในเวลาที่พวกเขาทำบางสิ่งบางอย่าง
ที่อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ทดสอบความอดทน
อดกลั้นของผู้ใหญ่ที่มีความเคร่งเครียด
และอารมณ์เสียง่ายอย่างเราๆ ในปัจจุบัน

“อดทนต่อการขับถ่ายของเสียของเด็ก”
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
เด็กที่อยู่ในวัยที่ต่ำกว่า 1 ขวบ จะน่ากอด จ้ำม้ำ และน่ารัก
ทุกคนต่างอยากจะเข้าไปอุ้ม หอม กอด และเล่นด้วย
จนกระทั่งเมื่อพวกเขาขับถ่าย หรือปัสสาวะในผ้าอ้อมจนมีกลิ่นเหม็น

ทันทีที่สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น

“ผู้ใหญ่ที่แสนดี (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดาสุภาพบุรุษ)”
ที่กำลังอุ้มเด็กน้อยอยู้ ก็รีบยีบจมูกแสดงความรังเกียจ
และรีบยื่นเด็กน้อยกลับไปให้กับผู้เป็นแม่
หรือคนดูแลเด็กเพื่อทำความสะอาด

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่สิ่งที่ท่านนบี มุหัมมัด
ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
เคยทำ เมื่อท่านอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น
ท่านมักจะอุ้มเด็กทารกมาวางไว้บนตักของท่าน
แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะไม่มีผ้าอ้อมสำเร็จรูปเช่นทุกวันนี้ก็ตาม

จากหะดีษรายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ

“เด็กทารกชายคนหนึ่งได้ถูกนำมายัง
ศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
เพื่อทำ ตะฮฺนิกให้เขา แต่เด็กน้อยได้ปัสสาวะรดท่าน
อย่างไรก็ตามศาสนทูตได้เอาน้ำราดไปตรงที่ที่มีปัสสาวะ
(เพื่อทำความสะอาด) {รายงานโดยอัลบุคอรียฺ}

ศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
ได้ยับยั้งตัวท่านจากการแสดงความรังเกียจหรือ
แสดงปฏิกิริยาปฏิเสธเด็กแรกเกิดที่ปัสสาวะรดใส่ท่าน
นี่แสดงให้เห็นถึงแบบอย่าง...ความอดทนอดกลั้นขั้นสูง
ที่ท่านมีต่อธรรมชาติของเด็ก
เพราะมันเป็นเรื่องปกติที่เด็กแรกเกิดจะปัสสาวะบ่อยครั้ง

บทเรียนสำหรับเราจากการกระทำของท่านคือ
การไม่แสดงความหงุดหงิดต่อการขับถ่ายของเสียของเด็ก
ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
(ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อ หรืออ้วกนม)
แม้ว่ามันอาจจะเปื้อนบนเสื้อผ้าของเราก็ตาม
อีกทั้งเรายังควรช่วยทำความสะอาดของเสียที่
เกิดขึ้นโดยปราศจากความกังวลต่อเกียรติทางสังคมของเรา

“อดทนต่อพฤติกรรมของเด็กวัยหัดเดิน”
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
เมื่อเด็กเติบโตขึ้น พวกเขาก็จะเข้าสู่วัยหัดเดิน
ที่มีความกระตือรือร้นคล่องแคล่ว ว่องไว
(หรือในปัจจุบันเรียกว่า เด็กก่อนวัยเรียน)
พวกเขารักการปีนป่ายขึ้นตัก
ขึ้นหลังผู้ใหญ่และทำตัวป่วน วุ่นวาย

เป็นที่ทราบกันดีว่าศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
ไม่เพียงแค่ปล่อยให้เด็กในวัยนี้เข้าไปในมัสญิด
ขณะละหมาดฟัรฎูญะมาอะฮฺเท่านั้น
หากแต่ท่านยังอดทนต่อพฤติกรรมของพวกเขาขณะที่ท่าน
ทำการละหมาดด้วย แม้ว่าพฤติกรรมของเด็กๆ
จะก่อให้เกิดเสียง หรือการรบกวนก็ตาม

จากหะดีษบทหนึ่ง ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ชาดดัด
รายงานจากการบอกเล่าของบิดาของท่านว่า
ศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้เข้ามานำละหมาด
ให้พวกเราในคืนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นเวลามัฆริบ หรืออีชา

และขณะนั้นท่านกำลังอุ้มหะซัน หรือหุซซัยนฺ
หลานของท่านคนใดคนหนึ่งอยู่
ท่านเดินเข้ามาอยู่ข้างหน้าและวางหลานของท่านลง
จากนั้นท่านจึงกล่าวตักบีรและเริ่มละหมาด
ท่านสูญูดเป็นเวลานาน บิดาของฉันเล่าต่อว่า
“พ่อเงยหน้าขึ้น และเห็นหลานของท่านอยู่บนหลังของท่าน
ขณะที่ท่านกำลังสุญูด เมื่อเห็นเช่นนั้น พ่อจึงก้มลงไปสูญูดต่อ”

เมื่อศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมละหมาดเสร็จ
ผู้คนจึงกล่าวต่อท่านว่า

“โอ้ เราะสูลลุลลอฮฺ ขณะที่ท่านละหมาด
ท่านสุญูดนานจนพวกเราคิดว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับท่าน
หรือท่านกำลังรับวะฮียฺเสียอีก”

ท่านตอบว่า “ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นหรอก
แต่ลูกชายของฉันขี่บนหลังของฉัน
ฉันจึงไม่อยากจะรบกวนเขา จนกว่าเขาจะพอใจ” {อันนะซาอียฺ}

หะดีษบทนี้เป็นอีกหนึ่งแบบอย่างที่ดีงามที่ทำให้
เห็นว่าศาสนทูตมุหัมมัดอดทนต่อความซนของเด็กๆ
เพียงใด คุณลองจินตนาการดูสิว่า
หากมีเด็กวัย 2-4 ขวบขึ้นขี่หลังอีหม่ามในระหว่างการละหมาด
ในปัจจุบันนี้ คุณคิดว่าปฏิกิริยาของเขาจะเป็นเช่นไร

มากไปกว่านั้น ศาสนทูตมุหัมมัดยังได้ยืดระยะเวลา
การสูญูดของท่านให้นานขึ้นเพื่อให้เด็กได้สนุกกับ
การเล่นที่ไร้เดียงสาของเขาต่อไป
อันเป็นเหตุให้บรรดาเศาะหาบะฮฺที่ยืนละหมาดญะมาอะฮฺ
อยู่ข้างหลังท่านเกิดความสงสัย กังวลใจ

“ตักเตือนด้วยการใช้มือ”
~~~~~~~~~~~~~~
เด็กๆ ชอบเวลามีคนแสดงความรัก
ความเมตตาต่อพวกเขาด้วยภาษากาย
และพวกเขาชอบการถูกสัมผัส แทนที่เราจะลงโทษ
พวกเขาด้วยการพร่ำบ่นยืดเยื้อหรือเทศนา
เพื่อให้พวกเขาแก้ไขความผิดพลาดของเขา
การปกป้องเขาให้พ้นจากอันตรายด้วยภาษากายนั้น
มีประสิทธิภาพมากกว่า

หะดีษรายงานโดยท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ

‘อินทผลัมได้ถูกนำมามอบให้ศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม

ทันทีที่ถูกเก็บมาจากต้น
แต่ละคนจะนำอินทผลัมของพวกเขามาวางไว้
(ข้างหน้าท่าน) จนกระทั่งมันรวมกันเป็นกองใหญ่
(อยู่ตรงหน้าท่าน) ครั้งหนึ่งท่านอัลหะซันและท่านอัลหุซัยนฺ
หลานของท่านได้มาเล่นอินทผลัมทีี่กองไว้
และท่านใดท่านหนึ่งในสองคนนั้น
ได้หยิบอินทผลัมเข้าปาก
เมื่อศาสนทูตมุหัมมัดเห็นเช่นนั้น
ท่านจึงใช้มือหยิบเอาอินทผลัมออกมาจากปาก
ของหลานท่านและบอกกับหลานของท่านว่า
“เจ้าไม่รู้หรือว่าลูกหลานของมุหัมมัดจะไม่ทานของบริจาค?”
(อัลบุคอรียฺ)

ศาสนทูตมุหัมมัดหยิบเอาอินทผลัมออกจากปากของหลาน
ด้วยตัวท่านเอง ขณะเดียวกันท่านก็ได้อธิบาย
เหตุผลสั้นๆ ต่อหลานของท่าน
ด้วยวิธีการจัดการกับสถานการณ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้เด็กตัวเล็กๆ
เต็มใจที่จะคายอินทผลัมหวานๆ ออกจากปากของพวกเขาเองด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
กลับใช้วิธีการตะคอกใส่ลูก
เพื่อไม่ให้พวกเขาหยิบจับสิ่งของบางอย่าง

หรือให้ออกห่างจากบริเวณที่มีอันตรายแทน
ซึ่งการกระทำดังกล่าวมักจะถูกเพิกเฉยจากเด็ก
และเมื่อเด็กไม่ทำตาม พ่อแม่ก็จะแผดเสียงด่า
ทอลูกอย่างรุนแรงต่อหน้าผู้คน ที่ลูกๆ ไม่เชื่อฟังพวกเขา

บทเรียนที่ได้จากหะดีษบทนี้ในการรับมือ
กับสถานการณ์ดังกล่าวที่ถูกต้องคือ
ผู้ใหญ่ควรรีบลุกขึ้นและนำตัวเด็กออกมาให้พ้นจากอันตราย
และตักเตือนพวกเขาด้วยคำอธิบายสั้นๆ กระชับได้ใจความ

หะดีษอีกบทที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการรับมือ
ในรูปแบบเดียวกันของศาสนทูตมุหัมมัดคือ

ท่านอนัสเล่าว่า “ศาสนทูตมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
คือหนึ่งในบรรดามวลมนุษย์ที่มีคุณสมบัติที่ดีที่สุด

วันหนึ่งท่านใช้ให้ฉันไปทำบางอย่างให้ท่าน
และฉันบอกท่านว่า
“ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ กระผมจะไม่ไปหรอกครับ”
แต่ในใจของฉัน ฉันรู้สึกว่าฉันควรจะไปทำในสิ่งที่ท่านสั่งใช้ฉัน
จากนั้นเมื่อฉันออกไปและเจอกลุ่มเด็กผู้ชาย
ที่กำลังเล่นกันอยู่ระหว่างทาง
ฉันจึงเข้าไปเล่นด้วย

ทันใดนั้นศาสนทูตมุหัมมัดก็มายืนอยู่ข้างหลังฉัน
และจับที่ด้านหลังคอของฉัน และเมื่อฉันมองท่าน
ท่านก็หัวเราะ และบอกฉันว่า “ไปที่ที่ฉันบอกให้เธอไปนะ
อนัสตัวน้อย” ฉันจึงตอบท่านว่า “ครับๆ กระผมจะไปเดี๋ยวนี้เราะสูลุลลอฮฺ”
(อบูดาวูด)

ศาสนทูตมุหัมมัดใช้วิธีการสัมผัสและคำพูดตักเตือน
ที่อ่อนโยนพร้อมๆ กันเพื่อให้ท่านอนัสรู้ตัวว่าเขากำลังลืม
ท่านทราบว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็กตัวเล็กๆ
จะเสียสมาธิจากการพบเห็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน
เล่นระหว่างทาง จนลืมหน้าที่

หะดีษบทนี้ ยังเป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าเมื่อเด็กผ่านพ้นวัยหัดเดิน
เราสามารถที่จะฝึกให้พวกเขาทำงานง่ายๆ ได้
แต่เราก็ต้องจำไว้ว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เด็ก
จะต่อต้านคำสั่งทันทีทันใดในตอนแรกและ
อาจเสียสมาธิได้ง่ายเมื่อพบเห็นเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันเล่นอยู่

“ให้คำอธิบายที่สั้นกระชับ ในการอบรมตักเตือน”
~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~
เมื่อเด็กเติบโต อยู่ในวัยระหว่าง 6-7 ขวบ
พวกเขาก็จะเข้าสู่วัยที่เริ่มมีความเข้าใจว่าอะไรถูก
อะไรผิด เมื่ิอศาสนทูตมุหัมมัดพบว่าเด็กทำผิด
ทำสิ่งที่ไม่ควร ท่านจะตักเตือนสั่งสอน
พวกเขาด้วยวิธีการที่อ่อนโยนและอธิบาย
ถึงสิ่งที่ถูกต้องต่อเด็กด้วยถ้อยคำที่สั้นกระชับ
โดยปราศจากการด่าทอ การตำหนิที่รุนแรง
หรือทำให้พวกเขาเกิดความละอายต่อหน้าคนอื่น

ท่านอุมัร อิบนุ อบู ซะลามะฮฺรายงานว่า
‘ตอนที่ฉันยังเป็นเด็กอยู่ภายใต้การดูแลของท่านนบี
มุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม
ฉันเคยใช้หมุนมือไปรอบๆ จานอาหาร

ครั้งหนึ่งท่านจึงบอกฉันว่า

“กล่าวพระนามของอัลลอฮฺ ( กล่าว บิสมิลลาฮฺ)
และทานด้วยมือขวา และเริ่มทานจากสิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเธอ”
(อัลบุคอรียฺ และมุสลิม)

เด็กตัวเล็กๆ มักจะมีสมาธิสั้น
มีความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
มีความกระตือรือร้นสูง และมีความสงสัยใคร่รู้
พวกเขาอยากจะสำรวจทดลองทุกๆ สิ่งในโลกใบนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่ยังเป็นเรื่องใหม่
ของใหม่สำหรับพวกเขา อย่างไรตาม
มันก็เป็นไปได้ว่าเราก็อาจจะคาดเดาความหมายจากปฏิกิริยา
การกระทำต่างๆ ของพวกเขาได้อย่างผิดๆ
เว้นเสียแต่ว่าเราจะฝึกความอดทนต่อพฤติกรรมของพวกเขา
โดยปราศจากการตำหนิ ด่าทอ หรือว่ากล่าวพวกเขา
อย่างรุนแรงหรือไม่เป็นธรรม

เพราะเด็กๆ คือสมบัติที่มีค่าที่ถูกประทานมาจากอัลลอฮฺ
เราควรที่จะพร่ำบอกกับตัวเองอยู่เสมอไม่ให้กระทำการใดๆ
ที่รุนแรงกับพวกเขา อัลลอฮฺยังมิได้ทรงบันทึกบาปใดๆ
แก่พวกเขาเลยด้วยซ้ำ

แม้ว่าพวกเขาจะทำถ้วย จาน ชามแตก หรือหยิบจับรื้อค้นสิ่งที่อยู่ในตู้หรือลิ้นชักที่เราเก็บไว้อย่างดีแล้วก็ตาม

ในฐานะพ่อแม่ หากว่าเราขาดความอดทนกับลูกๆ ของเราและปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างผิดๆ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺอย่างจริงใจโดยทันทีทันใด

พ่อแม่ที่ไม่รู้สึกเสียใจหรือสำนึกผิดต่อความผิดพลาด
ที่พวกเขาทำต่อลูกๆ ของพวกเขาขณะที่ลูกๆ
ของพวกเขายังเป็นเด็ก อ่อนแอ
และยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากเขา
ย่อมต้องจบลงด้วยการเผชิญกับลูกหลานที่เติบโตขึ้นมาพร้อม
กับการมีอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายกับพวกเขา

และทำตัวห่างเหินจากพวกเขาเมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยชรา
นั่นเป็นเพราะเด็กน้อยเติบโตมาด้วยความทรงจำ
ที่เลวร้ายจนกลายเป็นความโกรธที่ฝังลึกเก็บไว้ในใจนานหลายปี

ดังนั้นการอ่านและศึกษาเรื่องราวความรัก
ความใส่ใจ และพฤติกรรมที่อ่อนโยน
ของศาสนทูตมุหัมมัดศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม

ที่มีต่อเด็กๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ
เราย่อมสามารถป้องกันตัวเราเองให้พ้น
จากการปฏิบัติต่อลูกๆ ของเราด้วยพฤติกรรม
ที่อาจสร้างความโกรธกริ้วต่ออัลลอฮฺ
และปกป้องตัวเราเองให้พ้นจากการสร้างความเสียหาย
ต่อความสัมพันธ์กับพวกเขาในระยะยาวด้วย

******************
จากบทความ How Prophet Muhammad reprimanded children
เขียนโดย Sadaf Farooqi
แปล เรียบเรียง: بنت الاسلام
สายลมแห่งความห่วงใย  โพส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น