ละหมาดซุนนะฮฺตะฮียะตุลมัสญิด
เป็นละหมาดซุนนะฮฺที่ส่งเสริมเน้นให้กระทำเป็นอย่างมากสำหรับบุคคลที่เข้ามัสญิด อย่าได้นั่งจนกว่าจะละหมาด ตะฮียะตุลมัสญิด 2 ร๊อกอะฮฺเสียก่อน ดังหลักฐานที่ว่า :
1- มีรายงานจากอบีก่อตาดะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า :
إِذَا دَخَلَ أَحَدُكُمْ الْمَسْجِدَ فَلَا يَجْلِسْ حَتَّى يُصَلِّيَ رَكْعَتَيْنِ
“เมื่อคนหนึ่ง คนใดในหมู่พวกท่านเข้ามัสญิด อย่าได้นั่งจนกว่าจะละหมาด 2 ร่อกะอัตก่อน”
(บันทึกโดยบุคอรียฺ หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาด : 444 มุสลิม หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดเดินทาง : 714)
2- มีรายงานจากญาบิรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า :
دَخَلَ رَجُلٌ يَوْمَ الْجُمُعَةِ وَالنَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَخْطُبُ ، فَقَالَ أَصَلَّيْتَ ؟ قَالَ : لَا ، قَالَ : قُمْ فَصَلِّ رَكْعَتَيْنِ
“ชายคนหนึ่งได้เข้ามา (มัสญิด) ในวันศุกร์ ในสภาพที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กำลังกล่าวคุฏบะฮฺ (เมื่อท่านนบีเห็นชายคนนั้นนั่ง) ท่านนบีได้กล่าวถามว่า : ท่านละหมาด (ตะฮียะตุลมุสญิด) แล้วหรือยัง ? ชายคนนั้นตอบว่า : ยังครับ ท่านนบีจึงกล่าวต่อว่า : จงยืนขึ้นละหมาด 2 ร๊อกอะฮฺเถิด”
(บันทึกโดยบุคอรียฺ หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดวันศุกร์ : 931 มุสลิม หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดวันศุกร์ : 875)
อีกรายงานหนึ่งว่า :
دَخَلَ سُلَيْكٌ الْغَطَفَانِيُّ الْمَسْجِدَ وَالنَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَخْطُبُ ، فَقَالَ : أَصَلَّيْتَ ؟ ، قَالَ : لَا ، قَالَ : فَصَلِّ رَكْعَتَيْنِ
“ซุลัยกฺ อัลเฆาะเฏาะฟานียฺได้เข้ามาที่มัสญิด ในสภาพที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กำลังกล่าวคุฏบะฮฺ (เมื่อท่านนบีเห็นเขานั่ง) ท่านนบีได้กล่าวถามว่า : ท่านละหมาด (ตะฮียะตุลมุสญิด) แล้วหรือยัง ? เขาตอบว่า : ยังครับ ท่านนบีจึงกล่าวต่อว่า : จงลุกขึ้นละหมาด 2 ร๊อกอะฮฺเถิด”
(บันทึกโดยบุคอรียฺ หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดวันศุกร์ : 930 มุสลิม หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดวันศุกร์ : 875)
3 - มีรายงานจากญาบิรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า : “ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้สั่งใช้ท่านให้ละหมาด 2 ร๊อกอะฮฺเมื่อมาถึงมัสญิด เมื่อตอนที่ท่านซื้อขายอูฐกับท่านนบี” (บันทึกโดยบุคอรียฺ หมวดที่ว่าด้วยเรื่อง การซื้อขาย : 2097 มุสลิม หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดเดินทาง : 715)
คำสั่งใช้จากหะดีษบทต่าง ๆ ข้างต้นนั้นชัดเจนว่าถือเป็นสิ่งที่จำเป็นในการละหมาดตะฮียะตุลมัสญิด และเช่นเดียวกันก็ห้ามในการละทิ้งมัน แน่นอนบรรดาปวงปราชญ์รวมทั้งท่านอิบนุหัซมฺได้มีทัศนะว่า คำสั่งที่จำเป็นนั้นมันได้ถูกผันไปเป็นแค่ส่งเสริมให้กระทำด้วยกับประโยคตามตัวบทหลักฐาน ที่ว่า ละหมาดจำเป็นต้องปฏิบัติมีแค่ 5 เวลาเท่านั้น ส่วนละหมาดที่เหลือถือเป็นความสมัครใจ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ
แน่นอนได้ถูกยืนยันว่าคำสั่งใช้ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ปฏิบัติ ดังที่มีรายงานจากวากิด อัลลัยษียฺ :
أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ بَيْنَمَا هُوَ جَالِسٌ فِي الْمَسْجِدِ وَالنَّاسُ مَعَهُ إِذْ أَقْبَلَ ثَلَاثَةُ نَفَرٍ ، فَأَقْبَلَ اثْنَانِ إِلَى رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَذَهَبَ وَاحِدٌ ، قَالَ : فَوَقَفَا عَلَى رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ، فَأَمَّا أَحَدُهُمَا فَرَأَى فُرْجَةً فِي الْحَلْقَةِ فَجَلَسَ فِيهَا ، وَأَمَّا الْآخَرُ فَجَلَسَ خَلْفَهُمْ ، وَأَمَّا الثَّالِثُ فَأَدْبَرَ ذَاهِبًا ، فَلَمَّا فَرَغَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ، قَالَ : أَلَا أُخْبِرُكُمْ عَنِ النَّفَرِ الثَّلَاثَةِ ، أَمَّا أَحَدُهُمْ فَأَوَى إِلَى اللَّهِ فَآوَاهُ اللَّهُ ، وَأَمَّا الْآخَرُ فَاسْتَحْيَا فَاسْتَحْيَا اللَّهُ مِنْهُ ، وَأَمَّا الْآخَرُ فَأَعْرَضَ فَأَعْرَضَ اللَّهُ عَنْهُ
“ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ขณะที่นั่งอยู่ในมัสญิดพร้อมกับผู้คน ทันใดนั้นก็มีชาย สามคนเดินเข้ามา สองคนมุ่งหน้ามาที่ท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ส่วนอีกคนหนึ่ง ก็เดินไปทางอื่น ผู้รายงานกล่าวว่า : ดังนั้นทั้งสองก็ยืนอยู่ตรงท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะ ลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งคนหนึ่งได้เห็นที่ว่าง เขาก็นั่งลง ณ ตรงนั้น ส่วนอีกคนหนึ่งก็นั่งลงข้างหลังสุด ส่วนคนที่สามหันหลังเดินกลับไป ดังนั้นเมื่อท่านเราะซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ก็กล่าวว่า : ฉันจะบอกพวกท่านให้ทราบถึงบุคคลสามคนนี้เอาไหม ? คนหนึ่งในพวกเขานั้นได้นำตัวของเขาไปสู่อัลลอฮฺ ดังนั้นอัลลอฮฺก็ทรงให้ที่พักพิงแก่เขา ส่วนอีกคนหนึ่งมีความละอาย ดังนั้นอัลลอฮฺจึงทรงละอายไม่ทรงลงโทษเขา ส่วนคนสุดท้ายเขา หันเหออก ดังนั้นอัลลอฮฺจะทรงหันเหออกจากเขา”
(บันทึกโดยบุคอรียฺ หมวดที่ว่าด้วยเรื่องของความรู้ : 66)
ซึ่งหะดีษบทนี้นั้นบ่งบอกว่า คนทั้งสองที่มาหาท่านเราะซูล นั้นเขาได้นั่งลงและไม่ได้ถูกใช้ให้ไปละหมาด 2 ร๊อกอะฮฺ วัลลอฮุอะอฺลัม (เศาะเหี๊ยะหฺ อัลฟิกฮุซซุนนะฮฺ วะอะดิลละตุฮู วะเตาดิหฺ มะซาฮิบ อัลอะอิมมะอฺ บทที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดตะฮียะตุลมัสญิด เล่ม: 1 หน้า : 379)
อิหม่าม นะวะวียฺ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า : “ในหะดีษ (ที่ว่าด้วยการละหมาดตะฮียะตุลมัสญิด) นั้นเป็นการส่งเสริม ให้ละหมาดตะฮียะตุลมัสญิด 2 ร๊อกอะฮฺเพราะมันคือซุนนะฮฺโดยการเห็นพร้องต้องกันของบรรดามุสลิม ในหะดีษ (ที่ว่าด้วยการละหมาดตะฮียะตุลมัสญิด) นั้นเป็นการส่งเสริมให้ละหมาดตะฮียะตุลมัสญิดในเวลาที่เข้ามัสญิด ตามทัศนะของมัซฮับเรา (มัซฮับชาฟิอียฺ) ” (ชัรหฺ เศาะเฮี๊ยะฮฺมุสลิม หมวดที่ว่าด้วยเรื่องละหมาดเดินทาง อธิบายหะดีษที่ : 714 เล่ม : 5 หน้า : 222)
อิหม่ามฮาฟิซ อิบนุ ฮะญัร อัลอัซกอลานียฺ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า : “บรรดานักชี้ขาดปัญหา (อะฮฺลุลฟัตวา) ทั้งหมดเห็นว่า การละหมาดตะฮียะตุลมัสญิดนั้นคือซุนนะฮฺ” (อักษัรมิน อัลฟฺ ซุนนะฮฺ ฟิลเยามิ วัลลัยละติ หน้า : 25)
ชัยคฺ มุฮัมหมัด อิบนุ ศอและฮฺ อัลอุษัยมีน ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “หากว่าไม่มีตัวบทหลักฐานต่าง ๆ ที่บ่งบอก ถึงว่ามัน (ละหมาดตะฮียะตุลมัสญิด) ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) แล้วละก็ เราจะกล่าวว่าละหมาดตะฮียะตุลมัสญิด นั้นมันเป็นสิ่งที่จำเป็น (วาญิบ) แต่ทว่ามันคือซุนนะฮฺที่เน้นย้ำให้ปฏิบัติในเวลาที่เข้ามัสญิด ไม่ว่าจะเป็นช่วง หลังละหมาดซุบฮฺ หลังละหมาดอัศริ ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตก ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ช่วงเวลาที่อิหม่าม กำลังกล่าวคุฏบะฮฺในวันศุกร์ ช่วงเวลาที่ผู้คนกำลังศึกษาหาความรู้ อย่าได้นั่ง ให้ละหมาดละหมาด ตะฮียะตุลมัสญิด 2 ร่อกะอะฮฺก่อน ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้ :
1. เมื่อเคาะฏีบ (ผู้กล่าวคุฏบะฮฺ) เข้ามามัสญิด เพราะไม่มีซุนนะฮฺสำหรับเขา ที่จะให้ละหมาดตะฮียะตุลมัสญิด 2 ร่อกะอะฮฺ แต่ว่าให้เขาตั้งใจไปที่มิมบัรและกล่าวสลามกับผู้คนและก็กล่าวคุฏบะฮฺ
2. เมื่อเข้าไปในมัสญิดหะรอมเพื่อที่จะฎอวาฟ เพราะการฏอวาฟเป็นส่วนหนึ่งจาก (การแทน) การละหมาดตะฮียะ ตุลมัสญิด 2 ร่อกะอะฮฺ (เพราะการตะฮียะตุลมัสญิดหะรอมนั้นคือการฏอวาฟ) ส่วนผู้ใดที่เข้าไปในมัสญิดหะรอม เพื่อที่จะละหมาด ดังนั้นแล้วก็ให้เขาละหมาดตะฮียะตุลมัสญิดดังเช่นเมื่อเข้าไปในมัสญิดอื่น ๆ ” (ชัรหฺ ริยาฎุศศอลิฮีน มินกะลาม ซัยยิดิลมุรซะลีน อธิบายหะดีษที่ : 1151-1153 เล่ม : 3 หน้า : 198-199)
ละหมาดตะฮียะตุลมัสญิดในเวลาที่ห้ามละหมาด
ความจริงแล้วการละหมาดตะฮียะตุลมัสญิดนั้นเป็นละหมาดที่มีสาเหตุเป็นหลัก (เมื่อเข้ามัสญิด) ซึ่งที่ท่านจะต้องปฏิบัติในทุกเวลา (ที่เข้ามัสญิด) ถึงแม้ตอนนั้นจะอยู่ในช่วงเวลาที่น่ารังเกียจก็ตาม ตามทัศนะที่มีน้ำหนักที่สุด (เศาะเหี๊ยะหฺ อัลฟิกฮุซซุนนะฮฺ วะอะดิลละตุฮู วะเตาดิหฺ มะซาฮิบ อัลอะอิมมะอฺ บทที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดตะฮียะตุลมัสญิด เล่ม: 1 หน้า : 379)วัลลอฮุอะอฺลัม
มัซฮับหะนาฟียฺ มาลิกี ฮัมบาลี มีทัศนะว่า ละหมาดซุนนะฮฺทั้งหมดนั้น ท่านอย่าได้ละหมาดในเวลาต้องห้าม ยกเว้นเพียง ละหมาด 2 ร๊อกอะฮฺเฏาะวาฟ แต่ทัศนะของมัซฮับหะนาฟียฺก็รวมละหมาด 2 ร๊อกอะฮฺเฏาะวาฟด้วย ในการห้ามละหมาดในเวลาที่ต้องห้ามด้วย โดยอ้างอิงหลักฐานกว้าง ๆ จากหะดีษต่าง ๆ ที่ห้ามละหมาดในเวลา ต้องห้าม
ส่วนทัศนะของมัซฮับชาฟิอียฺรวมถึงหนึ่งในสองคำรายงานจากทัศนะของอิหม่ามอะหมัด ว่า การห้ามละหมาด ในเวลาต้องห้ามนั้นเฉพาะแค่ละหมาดซุนนะฮฺทั่ว ๆ ไปที่มันไม่มีสาเหตุเป็นหลัก ส่วนละหมาดซุนนะฮฺต่าง ๆ ที่มีสาเหตุเป็นหลักนั้น (เช่น ละหมาดตะฮียะตุลมัสญิด , ละหมาดหลังจากอาบน้ำละหมาด) ก็อนุญาติให้กระทำได้เนื่องจากมันมีสาเหตุ (เตาดิหุลอะหฺกาม มินบุลูฆิลมะรอม หมวดที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาด อธิบายหะดีษที่ : 211 เล่ม : 1 หน้า : 494)
........................................
โดย วะร่อษะตุซซุนนะฮฺ
http://www.warasatussunnah.net/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น