อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การกิยาสการอะซานในนมาซอีด กับการอะซานในนมาซฟัรฺฎู


ชี้แจงเรื่อง กิยาสการอะซานในนมาซอีด กับการอะซานในนมาซฟัรฺฎู

เมื่อหลายวันก่อน ผมเขียนแซวเรื่องกิยาสการอะซานในนมาซอีด กับการอะซานในนมาซฟัรฺฎู ว่าทำไมไม่ลองกิยาสกันบ้าง เพราะเห็นชอบอ้างกันเหลือเกินว่า สิ่งใดที่ท่านนบีย์ไม่ได้ห้ามแล้ว ย่อมทำได้ ไม่ว่าเรื่องอิบาดะฮ์หรือเรื่องชีวิตประจำวัน ...

แล้วมีอาจารย์บางท่าน (ไม่แน่ใจว่าจะเป็น อ.อัซฮารีย์หรือเปล่า) เขียนโต้แย้งผม ซึ่งสรุปจากข้อเขียนของอาจารย์ท่านนั้นก็คือ .. การอะซานนมาซอีดทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมไม่ทำ แต่เพราะนำการอะซานนมาซฟัรฺฎู ไปกิยาส (เปรียบเทียบ) กับนมาซสุนัตย่อมไม่ได้ ...
นี่คือทัศนะของอาจารย์ท่านนั้น ...

แต่สำหรับผม มีความเห็นต่างกับอาจารย์ท่านนั้นในเรื่องนี้เหมือนขาวกับดำ คือ ผมเห็นว่า การกิยาสอะซานนมาซอีดกับอะซานนมาซฟัรฺฎูทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะความแตกต่างระหว่างนมาซฟัรฺฎูกับนมาซสุนัต อย่างที่อาจารย์ท่านนั้นอ้าง ...

แต่เพราะการกิยาสนั้น มันจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หรือนำไปสู่การปฏิบัติในสิ่งที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเจตนาละทิ้ง ...

เรื่องการห้ามอะซานในนมาซวันอีด, นมาซตะรอเวี๊ยะห์ เป็นต้น คือหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดของ “ซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์” .. คือ ซุนนะฮ์ในการละทิ้ง(ไม่กระทำ) ในสิ่งที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม “เจตนา” ละทิ้งหรือไม่กระทำมัน ...

คำว่า “เจตนาละทิ้ง” หมายถึงว่า เรื่องราวของสิ่งนั้น (เช่นการนมาซอีด) เคยเกิดมีมาแล้วในสมัยของท่าน .. มีประเด็นส่งเสริมให้กระทำ (เพราะการอะซานเป็นการเรียกร้องไปสู่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. ดังเนื้อหาในซูเราะฮ์ฟุศศิลัต อายะฮ์ที่ 33) .. และไม่มีอุปสรรคใดๆเลยที่จะขัดขวางท่านในการกระทำสิ่งนั้น ...

การไม่อะซานนมาซอีดของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม - ทั้งๆที่ในชั่วชีวิตของท่าน ผ่านการนมาซอีดมาเกือบ 20 ครั้ง - โดยที่ไม่มีอุปสรรคอะไรขัดขวางเลย จึงถือเป็น “เจตนา” โดยตรงของท่านที่จะละทิ้งสิ่งนี้ ...

เพราะฉะนั้น การไม่อะซานในนมาซอีดจึงเป็นการปฏิบัติตาม “ซุนนะฮ์ ตัรฺกียะฮ์” ของท่าน ...
ทุกคน ไม่มีความขัดแย้งในประเด็นที่ว่า การอะซานและอิกอมะฮ์ในการนมาซอีด, นมาซตะรอเวี๊ยะห์ หรือนมาซสุนัตอื่นใด ทำไม่ได้ แม้จะเป็นการนมาซในลักษณะญะมาอะฮ์เหมือนนมาซฟัรฺฎู 5 เวลาก็ตาม ...
แต่ที่เราขัดแย้งกันตอนนี้ ก็คือ “เหตุผล” ห้ามกิยาส .. ในกรณีสมมุติถ้าใครสักคนจะกิยาส .. ว่า ที่มันกิยาสไม่ได้ เพราะมันขัดกับเงื่อนไขกิยาสข้อใด ?? ...

ข้อมูลจากคำกล่าวของนักวิชาการต่างๆ อาทิเช่นอิหม่ามนะวะวีย์ ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ที่อาจารย์ท่านนั้นนำมาอ้างอิง ก็เพียงแต่กล่าวว่า ไม่มีบทบัญญัติให้อะซานในนมาซอีด, นมาซตะรอเวี๊ยะห์ เป็นต้น ...

ข้อนี้ ถึงไม่บอก ก็ตรงกับความเข้าใจของพวกเราทุกคนอยู่แล้ว ...
แต่ไม่มีพวกท่านคนใดเลยที่กล่าวว่า ห้ามกิยาส หรือกิยาสไม่ได้ เพราะเหตุผลความแตกต่างระหว่างฟัรูฎูกับสุนัต ดังการอ้างของอาจารย์ท่านนั้น ...

ผมไปตรวจสอบเงื่อนไขการกิยาสจากตำราอุศูลุ้ลฟิกฮ์หลายเล่ม ก็ไม่เจอเงื่อนไขจากตำราเล่มใดที่ห้ามกิยาสด้วยเหตุผลความแตกต่างระหว่างสุนัต-ฟัรฺฎู ...

ตรงกันข้าม ในความเป็นจริงนั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มีหลักฐานว่า ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยกระทำใน “นมาซฟัรฺฎู” เท่านั้น .. ไม่มีรายงานว่าท่านจะกระทำสิ่งนั้นใน “นมาซสุนัต” เลย .. .
แล้วมุสลิมเราทุกคน -- ไม่เว้นแม้แต่ตัวอาจารย์ท่านนั้น -- ก็กระทำสิ่งนั้นด้วยในนมาซสุนัต โดยอาศัยการกิยาสกับนมาซฟัรฺฎูนี่แหละ ...

ตัวอย่างเช่น การอ่านดุอาอิฟติตาห์หลังการตักบีเราะตุ้ลเอี๊ยะห์รอม ซึ่งมีรายงานว่า ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยอ่านไว้ในนมาซฟัรฺฎูประมาณ 12 บท โดยไม่มีรายงานเลยว่าท่านจะเคยอ่านดุอาอิฟติตาห์เหล่านั้นในนมาซสุนัตอื่นใดของท่าน นอกจากในนมาซกิยามุลลัยล์เพียง 1 หรือ 2 บทเท่านั้น ...

ถ้าจะทำตามกฎเกณฑ์ของอาจารย์ท่านนั้น ดุอาอิฟติตาห์ที่มีหลักฐานว่าท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยอ่านในนมาซฟัรฺฎูอีกประมาณ 10 บท ก็คงจะกิยาส .. คือนำมาอ่านในนมาซสุนัตไม่ได้ มิใช่หรือ ?? ...

แต่ในเชิงปฏิบัติ พวกเราสามารถอ่านดุอาอิฟติตาห์ได้ทั้ง 12 บท, ในนมาซสุนัตต่างๆของเรา แล้วแต่เราจะจดจำบทไหน ...

นี่เป็นเพียง “หนึ่ง” จากหลายๆตัวอย่างในเรื่อง “การอ่าน” ในนมาซ ทั้งฟัรฺฎูและสุนัต ...
การอ่านอื่นๆ และอิริยาบถต่างๆในนมาซก็เช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ในนมาซสุนัต ก็ล้วน “กิยาส” มาจากอิริยาบถของนมาซฟัรฺฎูแทบทั้งสิ้น ...

ท่านอาจารย์ฯ จะชี้แจงเรื่องนี้อย่างไร ? ...
ผมไม่เคยเจอนักวิชาการท่านใด จะอ้างเหตุผลเรื่อง “ฟัรฺฎู” และ “สุนัต” มาจำแนกความแตกต่างในการอ่านและการปฏิบัตินมาซทั้งสองชนิดนี้ เหมือนอาจารย์ท่านนี้มาก่อน ...

ตรงกันข้าม - เท่าที่ผมเคยอ่านเจอ - นักวิชาการต่างกล่าวตรงกันว่า การอ่าน, การกระทำ และอิริยาบถต่างๆในระหว่างนมาซฟัรฺฎูและนมาซสุนัต จะไม่แตกต่างกันเลย แม้ว่าหลายๆอย่างในสิ่งที่กล่าวมานี้ จะมีรายงานมาเฉพาะในนมาซฟัรฺฎู .. ไม่มีรายงานไว้ในเรื่องนมาซสุนัตเลยก็ตาม ...

เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดอ้างว่ามีความแตกต่างในเรื่องการอ่าน, การกระทำ และอิริยาบถต่างๆในระหว่างนมาซฟัรฺฎูและนมาซสุนัต ก็ขอหลักฐานด้วย ...

สรุปแล้ว สิ่งใดในนมาซสุนัตที่เราทำไม่ได้ เช่นการอะซานในนมาซสุนัต เป็นต้น จึงมิใช่เพราะเหตุผลความแตกต่างระหว่างฟัรฺฎูและสุนัต แต่เพราะเป็นการฝ่าฝืนรูปแบบและคำสั่งของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า “พวกท่านจงนมาซ เหมือนที่พวกท่านรู้ (เห็น) ว่าฉันเคยนมาซอย่างไร” มากกว่า ...

พูดสั้นๆก็คือ ที่เราทำไม่ได้ เพราะมันไปฝ่าฝืนซุนนะฮ์ของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ใช่ทำไม่ได้เพราะความแตกต่างเรื่องนมาซฟัรฺฎู – นมาซสุนัตอะไรหรอก ...

นี่คือ “ความเห็นต่าง” ระหว่างผมกับอาจารย์ท่านนั้น ก็ขอให้ท่านผู้อ่านใช้ดุลยพินิจเอาเองเถิดครับว่า อันใดน่าจะถูกต้อง และอันใดน่าจะผิดพลาด ...

ส่วนที่เราเห็นตรงกันและไม่เห็นต่างกันเลยก็คือ การอะซานนมาซอีดนั้น ยังไงๆ ก็ห้ามกระทำด้วยประการทั้งปวงครับ ...

.............................
อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น