อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เมื่อมุสลิมแตกออกเป็น 3 กลุ่ม ในการดูเดือน







คำฟัตวา เลขที่ 1657 คณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและการชี้ขาดปัญหาทางศาสนา ประเทศซาอุดิอาระเบีย




คำถาม



เราเป็นนักศึกษามุสลิมในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา พวกเราประสบกับปัญหาทุกครั้งเกี่ยวกับการเริ่มต้นเดือนรอมฎอนจนเป็นเหตุให้มุสลิมแตกออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้


กลุ่มที่หนึ่ง จะถือศีลอดตามการค้นหาจันทร์เสี้ยวของเมืองที่พวกเขาอาศัยอยู่


กลุ่มที่สอง จะถือศีลอดพร้อมกับประเทศซาอุดิอารเบีย


กลุ่มที่สาม จะถือศีลอดเมื่อได้รับข่าวสารจากชมรมนักศึกษามุสลิมในอเมริกาและแคนาดา ซึ่งจะทำการค้นหาจันทร์เสี้ยวในสถานที่ต่างๆ ของประเทศอเมริกา และทันทีทันใดที่มีการเห็นจันทร์เสี้ยวที่เมืองหนึ่งเมืองใด ก็จะแจ้งข่าวอย่างครอบคลุมไปยังศูนย์กลางต่างๆ เกี่ยวกับการเห็นจันทร์เสี้ยว จึงทำให้มุสลิมในอเมริกาทั้งหมดถือศีลอดในวันเดียวกันทั้งๆ ที่ระยะทางของแต่ละเมืองห่างไกลกันมาก




ดังนั้นจากแนวทางใดที่เหมาะสมที่สุดและดีที่สุดในการปฏิบัติตามเกี่ยวกับการถือศีลอดด้วยสาเหตุการเห็นจันทร์เสี้ยว ขอให้ท่านทั้งหลายได้ให้คำชี้ขาดด้วยและขอต่ออัลลอฮฺ ทรงได้ตอบแทนผลบุญท่านทั้งหลาย




คำตอบ



เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวทางสภาอุละมาฮฺอาวุโสของประเทศซาอุดิอารเบีย เคยมีการลงมติมาแล้วซึ่งมีใจความดังต่อไปนี้



1. เรื่องความแตกต่างของการปรากฏจันทร์เสี้ยวเริ่มต้นเดือน(มัตละอฺ)นั้น เป็นเรื่องที่สามารถรับรู้ได้โดยปริยายทั้งทางความรู้สึก(สัมผัส) และสติปัญญา ไม่มีอุละมาอ (ผู้รู้) คนใดขัดแย้งกัน แต่ความเห็นที่แตกต่างของบรรดาผู้รู้ (อุละมาฮฺ)คือ การจะนำเอาความแตกต่างของตำแหน่งการปรากฏของจันทร์เสี้ยวในแต่ละส่วนของโลกมาเป็นประเด็นการกำหนดการถือศีลอดและการออกอีดหรือไม่ ?



2. ปัญหาการนำเอาความแตกต่างของตำแหน่งการปรากฏของจันทร์เสี้ยว (มัตละอฺ)ในส่วนต่างๆ ของโลก หรือไม่นำเอาความแตกต่างดังกล่าวเป็นหลักบรรทัดฐาน
ในการกำหนดการถือศีลอดและการออกอีดนั้น เป็นปัญหาเชิงทฤษฎีที่เปิดช่องทางให้มีการวินิจฉัย (อิจติฮาด) ในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดความแตกต่างทางความคิดได้ในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านศาสนา ความขัดแย้งในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ตามกระบวนการวินิจฉัยปัญหา ซึ่งปราชญ์มุจญ์ติฮิด (ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาระดับมุจญ์ตะฮิด) หากเขาวินิจฉัยถูก เขาก็จะได้รับผลบุญสองเท่า คือ ผลบุญการวินิจฉัย (อิจญ์ติฮาด) และผลบุญความถูกต้อง ส่วนปราชญ์มุจญ์ตะฮิดที่วินิจฉัยผิดเขาก็จะได้รับผลบุญการวินิจฉัยของเขา (อิจญ์ติฮาด) อย่างเดียว


ดังนั้นบรรดาผู้รู้จึงมีทรรศนะที่แตกต่างกันในเรื่องนี้เป็นสองทรรศนะ คือ ทรรศนะที่ถือเอาความแตกต่างของจันทร์เสี้ยวตามตำแหน่งที่ปรากฏในส่วนต่างๆ ของโลก (ยึดความแตกต่างของมัตละอฺ) และทรรศนะที่มิได้ยึดเอาความแตกต่างของจันทร์เสี้ยวตามตำแหน่งที่ปรากฏในส่วนต่างๆ ของโลก (ไม่ยึดความแตกต่างของมัตละฮฺ) ซึ่งบรรดาผู้รู้ทั้งสองทรรศนะต่างก็ยึดหลักฐานจากอัลกุรอาน และอัซซุนนะฮฺ ทั้งสิ้น และในบางครั้งทั้งสองทรรศนะก็ใช้ตัวบทตัวเดียวกันในการอ้างหลักฐาน ประหนึ่งตัวบทดังกล่าวมีแง่มุมให้อ้างอิงได้ทั้งสองทรรศนะร่วมกัน เช่น พระดำรัสของอัลลอฮฺ


{ يَسْأَلُوْنَكَ عَنِ الأَهِلَّةِ قُلْ هِيَ مَوَاقِيْتُ للنَّاسِ وَ الْحَجِّ }


“ พวกเขาเหล่านั้น จะถามเจ้าเกี่ยวกับเดือนแรกขึ้น จงกล่าวเถิดว่า มันคือกำหนดเวลาต่างๆ สำหรับมนุษย์ และสำหรับประกอบพิธีฮัจญ์ ”


(อัลกุรอาน ซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 189)

และพระวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม


(( صُوْمُوْا لِرُؤْيَتِهِ وَ أَفْطِرُوْا لِرُؤْيَتِهِ ))


“ สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน)

และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน ”


เป็นผลมาจากความเข้าใจในตัวบทและแนวทางการยึดตัวบทในการอ้างอิงที่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาจากมุมมองดังกล่าว ทางองค์กรอุละมาอฺอาวุโสมีทรรศนะและให้เกียรติต่อแนวการวินิจฉัยดังกล่าว ประกอบกับการวินิจฉัยที่แตกต่างกันของบรรดาผู้รู้ในประเด็น(มัสอะละอฺ)ดังกล่าว มิได้สร้างผลกระทบในบั้นปลายของมัน อันก่อให้เกิดผลลัพธ์อันน่าสะพรึงกลัว และด้วยเหตุที่ศาสนานี้ได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลา (กว่า) 14ศตวรรษ เราไม่ทราบเลยว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าวจะมีสักช่วงหนึ่งที่ประชาชาติอิสลามมีความพร้อมเพรียงกันบนบรรทัดฐานการดูจันทร์เสี้ยวอันเดียวกัน (หมายถึงจากที่เดียวกัน)

ดังนั้นสมาชิกของสภาอุลามะอฺอาวุโสจึงมีความเห็นว่า ให้คงสภาพดังกล่าว (หมายถึงสภาพการเข้าบวชและการออกบวชที่ต่างกันของประชาชาติอิสลาม)ไว้เหมือนดังเช่นที่เป็นอยู่ และจะไม่เข้าไปขุดคุ้ยในเรื่องนี้ และให้ประเทศอิสลามแต่ละประเทศมีสิทธิที่จะเลือกปฏิบัติตามทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดจากสองทรรศนะนี้ ตามที่ได้ชี้แจงไว้เบื้องต้น โดยผ่านความเห็นชอบของบรรดาผู้รู้ (อุละมาอฺ) ของประเทศนั้นๆ เนื่องจากทั้งสองทรรศนะต่างก็ตั้งอยู่บนหลักฐานและบรรทัดฐาน






3. ทางสภาอุละมาอฺอาวุโส (ซาอุดิอารเบีย) ได้พิจารณาปัญหาการยืนยันจันทร์เสี้ยวด้วยการคำนวณทางดาราศาสตร์และตัวบทที่ระบุอยู่ในอัลกุรอาน และอัซซุนนะฮฺเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ตลอดจนทรรศนะและคำพูดของปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญของอัลอิสลาม ในประเด็นดังกล่าวทางสภาฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่อนุมัติให้ยึดเอาการคำนวณทางดาราศาสตร์เป็นการยืนยันการเกิดจันทร์เสี้ยวที่จะนำมายึดถือในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักศาสนา

เนื่องจากท่านศาสดามุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

(( صُوْمُوْا لِرُؤْيَتِهِ وَ أَفْطِرُوْا لِرُؤْيَتِهِ ))

“ สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน)

และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน ”

และพระวจนะศาสดาที่ว่า


تَرَوْهُ وَ لاَ تُفْطِرُوْا حَتَى تَرَوْهُ )) (( لاَ تَصُوْمًوْا حَتَى


“สูเจ้าทั้งหลายจงอย่าถือศีลอด จนกว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้เห็นมัน(จันทร์เสี้ยวเริ่มต้นของเดือน)

และสูเจ้าทั้งหลายจงอย่าออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) จนกว่าสูเจ้าทั้งหลายจะได้เห็นมัน”




และพระวจนะศาสดา ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในทำนองเดียวกันนี้ทางคณะกรรมการถาวรเพื่อการวิจัยทางวิชาการและการให้คำชี้ขาดปัญหาศาสนา มีความเห็นว่า ชมรมนักศึกษามุสลิมในประเทศที่รัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลอิสลาม ทำหน้าที่เสมือนรัฐบาลอิสลามเกี่ยวกับประเด็นการยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยวให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม

เมื่อมองตามเนื้อหาของย่อหน้าที่สองของมติสภาอุลามะอฺอาวุโสแล้ว ชมรมนักศึกษาฯมีสิทธิ์ที่จะเลือกตามทรรศนะหนึ่งทรรศนะใดจากสองทรรศนะ คือทรรศนะที่ถือตามความแตกต่างของตำแหน่งปรากฏจันทร์เสี้ยว (มัตละอฺ) กับทรรศนะที่ไม่ถือตามความแตกต่างดังกล่าว และทำหน้าที่ประกาศให้ครอบคลุมทั่วถึงในสิ่งที่ทางชมรมฯถือปฏิบัติให้กับมุสลิมทั้งหลายที่อยู่ในประเทศที่มีชมรมตั้งอยู่ และเป็นหน้าที่ของมุสลิมทั้งหลายที่จะถือปฏิบัติตามสิ่งที่ชมรมถือปฏิบัติและประกาศใช้ เพื่อความเป็นเอกภาพ ในการเริ่มการถือศีลอด และเป็นการออกจากความขัดแย้ง และความระส่ำระสายเป็นหน้าที่เหนือมุสลิมทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศดังกล่าว ต่างช่วยกันดูจันทร์เสี้ยวในประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่ เมื่อมีผู้ที่น่าเชื่อถือคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน เห็นจันทร์เสี้ยวก็ให้พวกเขาถือศีลอด และแจ้งข่าวดังกล่าวให้กับทางชมรมทราบเพื่อทางชมรมจะได้ประกาศข่าวดังกล่าว ให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งหมด นี่คือกรณีที่เข้าเดือนถือศีลอด แต่ถ้าหากกรณีที่จะออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) จำเป็นอย่างยิ่ง จะต้องมีผู้ที่ทรงธรรม (เชื่อถือได้) อย่างน้อย 2 คน ยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยวต้นเดือนเชาวาล หรือนับเดือนรอมฎอนให้ครบ 30 วัน กรณีที่ไม่เห็นจันทร์เสี้ยว หรือเห็นจันทร์เสี้ยวเพียงคนเดียว เนื่องจากท่านศาสดาได้กล่าวว่า


(( صُوْمُوْا لِرُؤْيَتِهِ وَ أَفْطِرُوْا لِرُؤْيَتِهِ فَإِنْ غُمَّ عَلَيْكُمْ فَأََكْمِلُوْا عِدَّةَ شَعْبَانَ ثَلاَثِيْنَ يَوْمًا ))


“ สูเจ้าทั้งหลายจงถือศีลอด เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน (หมายถึงจันทร์เสี้ยวตอนเริ่มต้นเดือน)

และสูเจ้าจงออกจากการถือศีลอด (ออกอีด) เพราะสาเหตุที่สูเจ้าได้เห็นมัน

แต่ถ้าหากมีเมฆปกคลุม (เป็นเหตุให้สูเจ้าไม่สามารถมองเห็น) ก็ให้สูเจ้านับเดือนนั้นให้ครบ 30 วัน”





ขอพระองค์อัลลอฮฺทรงโปรดประทานความสำเร็จและทางนำ และขอต่อพระองค์ได้ทรงโปรดประทานความซอละวาต และสลามจงประสบแด่ท่านศาสดามุฮัมมัด และวงศ์วานของท่าน และซอฮาบะฮฺของท่าน





แปลจากหนังสือ ฟะตาวา อัลลุจนะฮฺ อัดดาอิมะฮฺ ลิลบุหูษอัลอิลมียะฮฺ วัลอิฟตาอฺ หน้าที่ 109-112

http://www.islammore.com

Sulaimarn Darakai โพส




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น