อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2557

สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนตาย





 




อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า

﴿ إِنَّا نَحۡنُ نُحۡيِ ٱلۡمَوۡتَىٰ وَنَكۡتُبُ مَا قَدَّمُواْ وَءَاثَٰرَهُمۡۚ وَكُلَّ شَيۡءٍ أَحۡصَيۡنَٰهُ فِيٓ إِمَامٖ مُّبِينٖ ١٢ ﴾ [يس: ١٢] 
“แท้จริงเราเป็นผู้ให้คนตายกลับมีชีวิตขึ้น และเราบันทึกสิ่งที่พวกเขาได้ประกอบไว้แต่ก่อน และร่องรอยของพวกเขา และทุกสิ่งนั้น เราได้รวบรวมไว้อย่างครบถ้วนในบันทึกอันชัดแจ้ง” (ยาสีน: 12)
สะอีด บิน ญุบัยรฺ กล่าวว่า “ผู้ใดริเริ่มสิ่งที่เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น แล้วมีผู้คนปฏิบัติตามหลังจากที่เขาเสียชีวิตไป ถ้าสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ดี เขาก็จะได้รับผลบุญนั้นด้วยโดยไม่ลดหย่อนแต่ประการใด” (ตัฟสีรฺอิบนุกะษีรฺ เล่ม 11 หน้า 348)
อบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِذَا مَاتَ الْإِنْسَانُ انْقَطَعَ عَنْهُ عَمَلُهُ إِلَّا مِنْ ثَلَاثَةٍ: إِلَّا مِنْ صَدَقَةٍ جَارِيَةٍ، أَوْ عِلْمٍ يُنْتَفَعُ بِهِ، أَوْ وَلَدٍ صَالِحٍ يَدْعُو لَهُ  » [رواه مسلم برقم 1631]  
“เมื่อบุคคลหนึ่งเสียชีวิตลงการงานของเขาก็จะถูกตัดขาดจากเขา นอกจากสามสิ่งคือ กุศลทานที่ยังประโยชน์อย่างต่อเนื่อง (เศาะดะเกาะฮฺญาริยะฮฺ) ความรู้ที่เป็นประโยชน์ และบุตรศอลิหฺที่ขอดุอาให้แก่เขา” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1631)
จากอายะฮฺและหะดีษข้างต้น เราได้ทราบว่าผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วนั้นจะได้รับประโยชน์จากการงานที่ผู้อื่นกระทำในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ดุอาอ์ที่มุสลิมขอให้แก่เขา อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَٱلَّذِينَ جَآءُو مِنۢ بَعۡدِهِمۡ يَقُولُونَ رَبَّنَا ٱغۡفِرۡ لَنَا وَلِإِخۡوَٰنِنَا ٱلَّذِينَ سَبَقُونَا بِٱلۡإِيمَٰنِ وَلَا تَجۡعَلۡ فِي قُلُوبِنَا غِلّٗا لِّلَّذِينَ ءَامَنُواْ رَبَّنَآ إِنَّكَ رَءُوفٞ رَّحِيمٌ ١٠ ﴾ [الحشر: ١٠] 
“และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขากล่าวว่า ข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอทรงโปรดอภัยให้แก่เราและพี่น้องของเราผู้ซึ่งได้ศรัทธาก่อนหน้าเรา และขอพระองค์อย่าได้ให้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้ศรัทธา ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (อัลหัชรฺ: 10)
ศ็อฟวาน บิน อับดุลลอฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« دَعْوَةُ الْمَرْءِ الْمُسْلِمِ لِأَخِيهِ بِظَهْرِ الْغَيْبِ مُسْتَجَابَةٌ، عِنْدَ رَأْسِهِ مَلَكٌ مُوَكَّلٌ كُلَّمَا دَعَا لِأَخِيهِ بِخَيْرٍ، قَالَ الْمَلَكُ الْمُوَكَّلُ بِهِ: آمِينَ وَلَكَ بِمِثْلٍ » [رواه مسلم برقم 2733]  
“ดุอาอ์ที่มุสลิมขอให้แก่พี่น้องมุสลิมของเขาลับหลังนั้นจะถูกตอบรับ โดยจะมีมลาอิกะฮฺอยู่ประจำตัวเขา เมื่อใดก็ตามที่เขาดุอาอ์ให้พี่น้องของเขาในสิ่งที่ดี มลาอิกะฮฺที่ได้รับมอบหมายก็จะกล่าวว่า อามีน (ขออัลลอฮฺทรงตอบรับด้วยเถิด) และก็ขอให้ท่านได้รับสิ่งนั้นเช่นกัน” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 2733)
ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ครอบคลุมดุอาอ์ที่มุสลิมขอให้พี่น้องของเขาลับหลัง ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม
(2) ผู้ปกครองหรือญาติถือศีลอดชดใช้แทนผู้ตาย ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« مَنْ مَاتَ وَعَلَيْهِ صِيَامٌ صَامَ عَنْهُ وَلِيُّهُ » [رواه البخاري برقم 1952 ومسلم برقم 1147]  
“ผู้ใดเสียชีวิตโดยที่ยังมีการถือศีลอดติดค้างอยู่ ผู้ปกครองของเขาสามารถถือศีลอดชดแทนเขาได้” (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 1952 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1147)
อิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า “สตรีนางหนึ่งออกทะเลไปโดยได้สาบาน (นะซัรฺ) ไว้ว่าหากอัลลอฮฺทรงให้นางเดินทางปลอดภัย นางจะถือศีลอดเป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากที่นางปลอดภัยจากการเดินทางแล้ว ยังไม่ทันได้ถือศีลอดนางก็เสียชีวิต ลูกสาวของนางหรือพี่สาวของนาง จึงได้มาหาท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านจึงใช้ให้นางถือศีลอดแทนผู้เสียชีวิต” (บันทึกโดย อบูดาวุด หะดีษเลขที่ 3208)
หะดีษทั้งหลายที่กล่าวมานี้เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนถึงบทบัญญัติที่ว่า ผู้ปกครองหรือญาติสามารถถือศีลอดชดแทนผู้เสียชีวิตในกรณีที่สาบานไว้ได้ ซึ่งในประเด็นนี้นักวิชาการเห็นตรงกันอย่างเป็นเอกฉันท์ ส่วนกรณีการถือศีลอดประเภทอื่น ๆ นั้นนักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกัน
(3) การชดใช้หนี้สินแทนผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะโดยผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง หรือบุคคลใดก็ตาม
ญาบิรฺ บิน อับดุลลอฮฺ กล่าวว่า “ชายคนหนึ่งได้เสียชีวิตลง พวกเราจึงอาบน้ำและห่อศพให้แก่เขา แล้ววางศพลง ณ ที่ซึ่งเตรียมไว้เพื่อรอให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม มาละหมาดให้ เมื่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กำลังจะเดินทางมาถึง ท่านก็ถามขึ้นว่า “สหายของพวกท่านมีหนี้สินหรือไม่? พวกเขาตอบว่า “ใช่ครับ เขามีหนี้เป็นเงินสองดีนาร์” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงถอยออกมาแล้วกล่าวว่า “พวกท่านจงละหมาดให้สหายของพวกท่านเถิด” ชายคนหนึ่งชื่อ อบูเกาะตาดะฮฺ จึงกล่าวขึ้นว่า “โอ้ท่านเราะสูล ฉันจะรับผิดชอบสองดีนาร์นั้นเอง” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวถามว่า “ท่านจะรับผิดชอบชดใช้สองดีนาร์นี้ด้วยทรัพย์สินของท่าน และถือว่าผู้ตายได้หมดสิ้นหนี้สินไปใช่หรือไม่? เขาตอบว่า “ครับ” ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงละหมาดให้แก่เขา
หลังจากนั้น ทุกครั้งที่ท่านนบีได้พบเจออบูเกาะตาดะฮฺ ท่านก็จะถามว่า “ท่านจัดการเงินสองดีนารนั้นหรือยัง? กระทั่งท้ายที่สุดเขาก็ตอบว่า “ฉันได้ชดใช้หนี้สินเรียบร้อยแล้ว” ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงกล่าวว่า “ในที่สุดท่านก็ทำให้ผิวหนังของเขาเย็นลงเสียที” (บันทึกโดย อัลหากิม หะดีษเลขที่ 2393) หมายถึง ในที่สุดเขาได้รับการยกเว้นโทษนั่นเอง
หะดีษข้างต้นได้ระบุว่าผู้ตายนั้นจะได้รับภาคผลจากการชดใช้หนี้สินไม่ว่าจะโดยผู้ใดก็ตาม ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบุตรหลานเท่านั้น และการชดใช้หนี้แทนผู้ตายนั้นทำให้เขาไม่ต้องถูกลงโทษ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้เป็นข้อยกเว้นบทบัญญัติทั่วไป ที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
﴿ وَأَن لَّيۡسَ لِلۡإِنسَٰنِ إِلَّا مَا سَعَىٰ ٣٩[النجم: 39]
“และมนุษย์จะไม่ได้อะไรเลย นอกจากสิ่งที่เขาได้ขวนขวายเอาไว้” (อันนัจญมฺ: 39)
(4) คุณงามความดีที่ลูกได้กระทำ พ่อแม่ก็จะได้รับผลบุญความดีนั้นด้วยโดยไม่ลดหย่อนจากที่ลูกได้รับแต่อย่างใด เพราะลูกนั้นคือส่วนหนึ่งของสิ่งที่พ่อแม่ได้ “ขวนขวาย” ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสว่า
﴿ وَأَن لَّيۡسَ لِلۡإِنسَٰنِ إِلَّا مَا سَعَىٰ ٣٩ ﴾ [النجم : ٣٩]
“และมนุษย์จะไม่ได้อะไรเลย นอกจากสิ่งที่เขาได้ขวนขวายเอาไว้” (อันนัจญมฺ: 39)
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِنَّ أَطْيَبَ مَا أَكَلَ الرَّجُلُ مِنْ كَسْبِهِ، وَإِنَّ وَلَدَهُ مِنْ كَسْبِهِ » [رواه أحمد برقم 24032]  
“สิ่งที่ดีที่สุดที่บุคคลหนึ่งบริโภคคือ สิ่งที่มาจากการขวนขวายของเขาเอง และบุตรของเขาก็คือส่วนหนึ่งจากการขวนขวายของเขา” (บันทึกโดย อะหฺมัด หะดีษเลขที่ 24032)
ชัยคฺอัลบานีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า “ความหมายของอายะฮฺและหะดีษข้างต้นได้รับการสนับสนุนโดยตัวบทหะดีษจำนวนมาก ที่ระบุเจาะจงว่าผู้ตายจะได้รับประโยชน์จากการงานซึ่งบุตรของเขาที่ศอลิหฺได้ปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคทาน การถือศีลอด การปล่อยทาส การทำหัจญ์ และการงานอื่นๆ” (อะหฺกาม อัลญะนาอิซ หน้า 217)
ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่า มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แล้วกล่าวว่า "มารดาของฉันเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันโดยไม่ทันได้สั่งเสีย แต่ฉันคิดว่าถ้านางมีโอกาสพูด นางคงจะขอให้บริจาคทานเป็นแน่แท้ เช่นนี้แล้ว หากฉันบริจาคแทนนาง นางจะได้รับผลบุญหรือไม่ครับ?" ซึ่งท่านตอบว่า "ได้" (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 1004 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 1388)

(5) ร่องรอยความดีงามและกุศลทานที่ส่งผลต่อเนื่อง อัลลอฮฺตรัสว่า
﴿ وَنَكۡتُبُ مَا قَدَّمُواْ وَءَاثَٰرَهُمۡۚ ﴾ [يس: ١٢]
“และเราบันทึกสิ่งที่พวกเขาได้ประกอบไว้แต่ก่อน และร่องรอยของพวกเขา” (ยาสีน: 12)
และในหะดีษที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِذَا مَاتَ الْإِنْسَانُ انْقَطَعَ عَنْهُ عَمَلُهُ إِلَّا مِنْ ثَلَاثَةٍ... » [رواه مسلم برقم 1631]  
“เมื่อบุคคลหนึ่งเสียชีวิตลง การงานของเขาก็จะถูกตัดขาดจากเขา นอกจากสามสิ่ง...” (บันทึกโดยมุสลิม หะดีษเลขที่ 1631)
และอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« إِنَّ مِمَّا يَلْحَقُ الْمُؤْمِنَ مِنْ عَمَلِهِ وَحَسَنَاتِهِ بَعْدَ مَوْتِهِ: عِلْمًا نَشَرَهُ، وَوَلَدًا صَالِحًا تَرَكَهُ، وَمُصْحَفًا وَرَّثَهُ، أَوْ مَسْجِدًا بَنَاهُ، أَوْ بَيْتًا لِابْنِ السَّبِيلِ بَنَاهُ، أَوْ نَهْرًا أَجْرَاهُ، أَوْ صَدَقَةً أَخْرَجَهَا مِنْ مَالِهِ فِي صِحَّتِهِ وَحَيَاتِهِ، تلْحَقُهُ مِنْ بَعْدِ مَوْتِهِ » [رواه ابن ماجه برقم 242]  
“การงานและความดีงามที่จะติดตามผู้ศรัทธาไปหลังจากที่เขาเสียชีวิตลงคือ ความรู้ที่เขาสั่งสอนและเผยแผ่ บุตรที่ศอลิหฺ มุศหัฟ (อัลกุรอาน) ที่เขาแจก มัสยิดที่เขาสร้างขึ้น บ้านพักที่เขาสร้างไว้สำหรับผู้เดินทาง แม่น้ำที่เขาขุดไว้ และกุศลทานที่เขาได้บริจาคแจกจ่ายจากทรัพย์สินของเขาในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่และยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ซึ่งยังคงสานต่อผลบุญให้แก่เขาหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว” (บันทึกโดย อิบนุมาญะฮฺ หะดีษเลขที่ 242)
ญะรีรฺ บิน อับดิลลาฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
« مَنْ سَنَّ فِي الْإِسْلَامِ سُنَّةً حَسَنَةً، فَلَهُ أَجْرُهَا، وَأَجْرُ مَنْ عَمِلَ بِهَا بَعْدَهُ مِنْ غَيْرِ أَنْ يُنْتَقَصَ مِنْ أُجُورِهِمْ شَيْءٌ » [رواه مسلم برقم 1017]  
“ผู้ใดเป็นแบบอย่างที่ดีด้วยการริเริ่มปฏิบัติ (หรือฟื้นฟู) สิ่งที่เป็นบทบัญญัติอิสลาม เขาก็จะได้รับผลบุญจากสิ่งที่เขาปฏิบัติ และยังได้ผลบุญของผู้ที่ปฏิบัติตามเขา โดยมิได้ลดหย่อนลงแม้แต่น้อย” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 1017)        

والحمد لله رب العالمين،
وصلى الله وسلم على نبينا محمد، وعلى آله وصحبه أجمع


.............................................

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์ 
แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ
ตรวจทานโดย : อัสรัน นิยมเดชา
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุร็อรฺ อัล-มุนตะกอฮฺ มิน อัล-กะลีมาต อัล-มุลกอฮฺ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น