อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หะดิษที่ว่าให้อ่านยาซีนให้แก่ผู้ตาย



อ.กอเซ็มยังได้อ้างหลักฐานเรื่องอ่านอัล-กุรฺอ่านให้ผู้ตาย ด้วยหะดีษของท่านมะอฺกิล บินยะซารฺ ร.ฎ. ซึ่ง

อ้างรายงานมาจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมว่า

يس قَلْبُ الْقُرْآنِ، لاَ يَقْرَؤُهَارَجُلٌ يُرِيْدُ اللهَ تَبَارَكَ وَتَعَالَى وَالدَّارَ اْلآخِرَةَ إِلاَّ غَفَرَلَهُ، وَاقْرَؤُوْهَا عَلَى مَوْتَاكُمْ

“ยาซีน คือหัวใจอัล-กุรฺอ่าน! .. ไม่มีผู้ใดที่มุ่งหวังต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์อ่านมัน เว้นแต่พระองค์จะอภัยโทษให้เขา, และพวกท่านจงอ่านมัน (ยาซีน) ให้แก่ “เมาตา”ของพวกท่าน” ..
.
แล้ว อ.กอเซ็มก็อธิบายว่า ท่านอิหม่ามอัส-สะยูฏีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-ญาเมี๊ยะอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ” (หะดีษที่ 1344) ว่าหะดีษบทนี้เป็นหะดีษหะซัน, .. และความหมายของคำว่า “เมาตา” ตามทัศนะของญุมฮูรฺหรือนักวิชาการส่วนใหญ่คือ “คนที่ตายแล้ว” ...

วิภาษ

หะดีษบทนี้ ถูกบันทึกโดยท่านอบูดาวูด, ท่านอิหม่ามอะห์มัด, ท่านอิบนุมาญะฮ์, ท่านอิบนุ อบีย์ชัยบะฮ์ และท่านอื่นๆ โดยอ้างการรายงานมาจากท่านมะอฺกิล บินยะซารฺ ร.ฎ. จากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมด้วยสำนวนที่แตกต่างกัน และสำนวนข้างต้นดังที่ อ.กอเซ็มนำมาอ้าง เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอิหม่ามอะห์มัดในหนังสือ “อัล-มุสนัด” ของท่าน เล่มที่ 5 หน้า 26 ...

แต่สายรายงานของหะดีษข้างต้น เป็นสายรายงานที่เฎาะอีฟ เพราะมีการกล่าวในสายรายงานว่า ..
عَنْ رَجُلِ عَنْ أَبِيْهِ عَنْ مَعْقِلِ بْنِ يَسَارٍ : จากชายผู้หนึ่ง, จากบิดาของเขา, จากท่านมะอฺกิล บินยะซาร .. ซึ่งไม่ทราบว่า “ชายผู้หนึ่งและบิดาของเขา” คือใคร? .. จึงถือว่าทั้ง 2 เป็นคนมัจญฮูล คือไม่มีใครรู้จักหรือทราบประวัติ ...

แม้ในบันทึกของท่านอบูดาวูดและท่านอิบนุมาญะฮ์จะมีการระบุนาม “ชายผู้หนึ่ง” คนนั้นว่า ชื่อ “อบีย์ อุษมาน” แต่ก็ไม่มีนักวิชาการหะดีษท่านใดทราบอีกว่า อบีย์อุษมานผู้นี้และบิดาของเขา เป็นใคร, มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ? ...
ด้วยเหตุนี้ ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ จึงได้กล่าววิจารณ์หะดีษเรื่องอ่านยาซีนให้ “เมาตากุม” จากการบันทึกของท่านอบูดาวูดและท่านอิบนุมาญะฮ์บทนี้ในหนังสือ “อัล-อัสการฺ” ของท่าน หน้า 131-132 ว่า ...

إِسْنَادُهُ ضَعِيْفٌ! فِيْهِ مَجْهُوْلاَنِ

“สายรายงานของมัน เฎาะอีฟ! ในสายรายงานนั้น มีบุคคลมัจญฮูล (ผู้ที่ไม่มีใครรู้จักหรือทราบประวัติ) อยู่ 2 คน”
ขอถาม อ.กอเซ็มว่า สายรายงานลักษณะนี้หรือครับ คือสายรายงานหะดีษหะซัน? .. แม้ผู้อ้างจะเป็นท่านอิหม่ามอัส-สะยูฏีย์หรือใครก็ตาม ?? ...

(7). อ.กอเซ็มยังได้อ้างหะดีษเรื่องการอ่าน “ยาซีน” ให้แก่ “คนใกล้ตาย”อีกบทหนึ่ง .. โดยรายงานมาจากท่าน มัรฺวานบินซาลิม อัล-ญะซะรีย์ .. แล้วสืบสายรายงานต่อไปถึงท่านอบูอัด-ดัรฺดาอ์และท่านอบูซัรฺ อัล-คิฟารีย์ ร.ฎ. ด้วยข้อความว่า ...

مَا مِنْ مَيِّتٍ يَمُوْتُ فَيُقْرَأُ عِنْدَهُ "يس" إِلاَّ هَوَّنَ اللهُ عَلَيْهِ

“ไม่มีผู้ตายคนใดที่เมื่อตอนเขากำลังจะตาย แล้วมีการอ่าน “ยาซีน” ให้แก่เขา เว้นไว้แต่พระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ.จะทรงให้ง่ายดายแก่เขา(ในการตาย .. คือจะไม่ตายอย่างทุรนทุราย)” ...

(บันทึกโดย ท่านอบูนุอัยม์ในหนังสือ “อัคบารฺ อิศบะฮาน” เล่มที่ 1 หน้า 188 และท่านอัด-ดัยละมีย์ในหนังสือ “มุสนัด อัล-ฟิรฺเดาส์”) ...

แล้ว อ.กอเซ็มก็กล่าวว่า หะดีษบทนี้เป็น “หะดีษหะซัน” เช่นเดียวกัน ...

วิภาษ
7.1 ที่ไหนได้ หะดีษบทนี้ “เฎาะอีฟมาก” ยิ่งกว่าบทแรกเสียอีก เพราะท่านมัรฺวาน บินซาลิม อัล-ญะซะรีย์ซึ่งเป็นผู้รายงานของหะดีษบทนี้ถูกวิจารณ์โดยท่านอัน-นะซาอีย์และท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ว่า .. مَتْرُوْكُ الْحَدِيْثِ : (เป็นบุคคลที่ถูกเมินจากหะดีษของเขา) ...

(จากหนังสือ “อัฎ-ฎูอะฟาอ์ วัลมัตรูกีน” ของท่านอัน-นะซาอีย์ หมายเลข 558, และหนังสือ “ตะฮ์ซีบ อัต-ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 10 หน้า 85) ...

ท่านบุคอรีย์, ท่านมุสลิม และท่านอบูหาติมกล่าวว่า .. مُنْكَرُالْحَدِيْثِ : (เขาเป็นผู้รายงานหะดีษที่มุงกัรฺ คือ เฎาะอีฟมาก) ...
(จากหนังสือ “มีซาน อัล-เอี๊ยะอฺติดาล” เล่มที่ 4 หน้า 90) ...

และท่านอัซ-ซาญีย์, ท่านอบูอะรูบะฮ์ และท่านอื่นๆกล่าวว่า .. يَضَعُ الْحَدِيْثِ : เขา (มัรฺวาน บินซาลิม) เป็นคนชอบกุหะดีษเก๊ ...

(จากหนังสือ “มีซาน อัล-เอี๊ยะอฺติดาล” เล่มและหน้าข้างต้น, และหนังสือ “ตักรีบ อัต-ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 2 หน้า 239) ...

ท่านอบูบักรฺ อิบนุ้ลอะรอบีย์ ได้คัดลอกคำพูดของท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ที่วิจารณ์หะดีษเกี่ยวกับเรื่องการอ่าน “ยาซีน” ให้คนตายว่า ...

هَذَا حَدِيْثٌ ضَعِيْفُ اْلإِسْنَادِ، مَجْهُوْلُ الْمَتْنِ، وَلاَ يَصِحُّ فِى الْبَابِ حَدِيْثٌ

“นี่คือหะดีษซึ่งสายรายงานของมันเฎาะอีฟ, ข้อความของมันก็ไม่ชัดเจน, และหะดีษที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ (อ่านยาซีนให้คนตาย) ไม่มีถูกต้องเลยแม้แต่บทเดียว!” ...
(จากหนังสือ “ตัลคีส อัล-หะบีรฺ” ของท่านอิบนุหะญัรฺ 2/110) ...

สรุปแล้ว หะดีษเรื่องการอ่าน “ซูเราะฮ์ ยาซีน” ให้แก่ “คนตาย” หรือ “คนใกล้ตาย” ตามที่ อ.กอเซ็มนำมาอ้างแล้วแนะนำและส่งเสริมให้คนปฏิบัตินั้น จึงไม่ใช่หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์(ถูกต้อง)แม้แต่บทเดียว ...

ด้วยเหตุนี้ ท่านอัล-อัลบานีย์จึงได้กล่าวในหนังสือ “อะห์กาม อัล-ญะนาอิซ” หน้า 243 ว่า .. การอ่าน “ยาซีน” ให้คนใกล้จะตาย เป็นบิดอะฮ์ ...

7.2 คำอธิบายของ อ.กอเซ็มที่ว่า คำว่า “เมาตากุม” ในหะดีษบทนั้น -- ตามทัศนะของญุมฮูรฺหรือนักวิชาการส่วนใหญ่ -- หมายถึง “คนที่ตายแล้ว” ...

ขอเรียนว่า แม้ข้อมูลที่อยู่ในมือของผมจะขัดแย้งกับคำกล่าวของ อ.กอเซ็ม .. คือ ที่ถูกต้องนั้น ญูมฮูรฺหรือนักวิชาการส่วนใหญ่มีทัศนะว่า คำว่า “เมาตากุม” ในหะดีษบทแรก ไม่ได้หมายถึงคนที่ตายแล้ว แต่หมายถึง “คนที่ใกล้จะตาย” เพราะได้รับการขยายความจากหะดีษบทหลังที่ว่า .. “ไม่มีผู้ตายคนใดที่เมื่อตอน เขากำลังจะตาย ได้มีการอ่าน “ยาซีน” ให้แก่เขา ............”

แต่ประเด็นความขัดแย้งของความหมาย “เมาตากุม” ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลยตราบใดก็ตามที่หะดีษเรื่องการอ่าน“ยาซีน”ให้แก่ “เมาตา” ทุกบทเป็นหะดีษเฎาะอีฟ

เพราะ .. นักวิชาการ “จริงๆ” นั้น เขาจะไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ชาวบ้าน นำ “หะดีษเฎาะอีฟ” มาปฏิบัติกันหรอก นอกจากภายใต้เงื่อนไขบางอย่างเท่านั้น ...

....................................
อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น