อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หะดิษว่าด้วย "ละหมาดฮาญัต"



ละหมาดฮาญัตเป็นที่รู้จักกันในหมู่มุสลิมในประเทศไทย โดยเฉพาะใน 4 จังหวัดภาคใต้ เพราะมีการร่วมกันละหมาดเป็นประจำเมื่อมีเหตุหารมิดีมิร้ายแก่หมู่ชนมุสลิม เช่น การวางระเบิด การก่อความวุ่นวายในสังคม เป็นต้น เพื่อวิงวอนขอต่อพระผู้เป็นเจ้าให้ช่วยปัดเป่าภัยพิบัติ เหล่านั้นให้หายไปจากสังคม แต่กลับไม่ปรากฏข่าวการปฏิบัติกันในประเทศมุสลิมอื่นๆเลย ซึ่งคำว่า ฮาญัต นี้ หมายถึง ความจำเป็น หรือความต้องการอย่างแท้จริง

การละหมาดฮาญัต เป็นการทำอิบาดะฮฺอย่างหนึ่ง ที่ต้องมีที่มาที่ไป มีรูปแบบที่ชัดเจน และต้องปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม)เท่านั้น และต้องเป็นหลักฐานที่ถูกต้องมารองรับด้วย ซึ่งการละหมาด ไม่ใช่เป็นอิบาดะฮฺประเภทเสริมบุญ ที่สามารถนำเอาหะดิษที่เฎาะอิฟมาอ้างปฏิบัติได้ แต่การละหมาดเป็นอิบาดะฮฺหลักที่ต้องมีหลักฐานจากหะดิษที่ถูกต้องมารองรับ

หลักฐานเรื่องการละหมาดฮาญัต มีเพียงบทเดียวเท่านั้น คือ

มีการอ้างรายงานว่า ท่านรสูลุลลออ์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวว่า

“ผู้ใดต้องการ (ความช่วยเหลืออย่างแท้จริง) ต่อพระองค์อัลลอฮฺ หรือต่อมนุษย์คนใด ก็ให้เขาทำวุฎูอ์ให้ดีที่สุด แล้วให้เขาละหมาด 2 ร็อกอะฮฺ, หลังจากนั้น ให้เขาสรรเสริญต่อพระองคือัลลอฮฺ และเศาะละวาตให้แก่ท่านนบีย์ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ต่อจากนั้นให้เขากล่าวว่า

لا إِلَهَ إِلا اللَّهُ الْحَلِيمُ الْكَرِيمُ سُبْحَانَ اللَّهِ رَبِّ الْعَرْشِ الْعَظِيمِ الْحَمْدُ لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ مُوجِبَاتِ رَحْمَتِكَ وَعَزَائِمَ مَغْفِرَتِكَ وَالْغَنِيمَةَ مِنْ كُلِّ بِرٍّ وَالسَّلامَةَ مِنْ كُلِّ إِثْمٍ أَسْأَلُكَ أَلا تَدَعَ لِي ذَنْبًا إِلا غَفَرْتَهُ وَلا هَمًّا إِلا فَرَّجْتَهُ وَلا حَاجَةً هِيَ لَكَ رِضًا إِلا قَضَيْتَهَا لِي

  คำอ่าน “ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮุ้ล ฮะลีย์มุ้ลกะลีม ซุบฮานัลลอฮิ ร๊อบบิ้ลอัรชิลอะซีม วัลฮัมดุลิลลาฮิ ร๊อบบิลอาละมีน อัชอะลุกะ มูยิบาติ รอหฺมะติกะ วะอะซาอิมะ มัฆฟิร่อติกะ วัลฆ่อนีมะตะ มิงกุ้ลลิบิรเร็น วัสสลามะตะ มิงกุ้ลลิอิสเม็น ลาตะดะหฺนี นัมยัน อิลลาฆ่อฟัรตะฮู วะลาฮัมมัน อิลลาฟัรร็อดตะฮู วะลาฮายะตัน ฮิยะละกะ ริดอ อิลลาก่อดอยตะฮาลี"

ความว่า “ไม่มีพระเจ้าที่เที่ยงแท้นอกจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงสุขุมผู้ทรงเกียรติยิ่ง มหาบริสุทธิ์แด่พระผู้อภิบาลบัลลังก์อันยิ่งใหญ่ การสรรเสริญทั้งมวลเป็นเอกสิทธิ์ของพระองค์ ผู้อภิบาลสากลโลก ข้าฯขอต่อพระองค์ได้ทรงโปรดประทานปัจจัยเกื้อหนุน อันจะนำไปสู่ความเมตตาและการอภัยโทษของพระองค์ และขอพระองค์ได้ทรงโปรดประทานโชคลาภ อันเนื่องจากความดีทั้งปวง และขอให้ปลอดภัยจากบาปทั้งมวล ขอวิงวอนต่อพระองค์ อย่าปล่อยให้ข้าฯมีโทษใดๆ เว้นเสียแต่พระองค์จะทรงโปรดอภัยโทษนั้นๆแก่ข้าฯ และไม่มีทุกข์หม่นหมองใดๆ เว้นแต่พระองค์จะทรงขจัดมันให้พ้นไปจากข้าฯ และไม่มีกิจการงานใดๆที่พระองค์ทรงพอพระทัยเว้นแต่พระองค์จะทรงจัดการให้สำเร็จเรียบร้อย” 

หลังจากนั้น ก็ให้เขาขอต่อพระองค์อัลลอฮฺในสิ่งที่เขาประสงค์จการกิจการของดลกนี้และโลกหน้า เพราะมันจะถูกกำหนดให้(ตามที่เขาขอนั้น)” 
(บันทึกหะดิษโดยอิมามอัตติรมีซีย์ เลขที่ 479ล อิบนุมาญะฮ์ เลขที่ 1384 และท่านอัลหาหิม เล่มที่ 1 หน้า 466, สำนวนข้างต้นเป็นสำนวนของอิบนุมาญะฮ์ โดยรายงานจากท่านอับดุลลอฮ์ บิน อบีย์เอาฟา อัลอัสละมีย์ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ))

จาการตรวจสอบของนักวิชาการหะดิษ พบว่า สภาพหะดิษบทดังกล่าวข้างต้น เป็นหะดิษ “มุงกัรฺ” ซึ่งถือเป็นหะดิษที่อ่อนมาก (ฎออิฟญิดดัน) เนื่องจากผู้รายงานของมันคนหนึ่ง คือ “ฟาอิด บินอับดุรฺเราะห์มาน อัลอัฏฏอรฺ” เป็นผู้ที่ขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก

ท่านบุคอรีย์ ได้กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “อัดดูอาฟาอุสซอฆีร” ของท่าน หมายเลขบุคคลที่ 299 ว่า
“ฟาอิด บินอับดุรฺเราะห์มน อัล-อัฏฏอรฺ แห่งเมืองกูฟะฮ์, ฉันมองว่า(ฉายาของ)เขา คือ อบู อัล-วัรฺกออ์ รายงาน(หะดิษ)มาจากท่านอบีย์เอาฟา, เป็นผู้รายงานหะดิษที่มุงกัรฺ (คือขาดความน่าเชื่อถืออย่างมาก)”

ท่านอันนะซะอีย์ ได้กล่าววิจารณ์ในหนังสือ “อัฎฎุอาฟาฮ์ วัลมุตรูกีน”ของท่าน หมายเลขบุคคลที่ 487 ว่า
“ฟาอิด(ฉายา) อบูอัล-วัรกออ์, เป็นผู้รายหะดิษที่ถูกเมิน(คือ อ่อนมาก)

ท่านอิบนุหะญัรฺ อัลอ-อัสเกาะลานีย์ ได้สรุปประวัติของท่านฟาอิดในหนังสือ “อัตตะซีบีตักรีบ” เล่มที่ 2 หน้า 107 ว่า
“ฟาอิด บินอับดุรฺเราะหฺมาน ชาวกูฟะฮ์, ...เป็นผู้รายงานหะดิษที่ถูกเมิน, นักวิชาการหะดิษทั้งหลายไม่ไว้วางใจเขา”

ท่านอัล-หากิม อัน-นัยซาบูรีย์ ได้กล่าววิจารณ์ ท่านฟาอิด ผู้นี้ว่า
“เขา(ฟาอิด) ได้รายงานจากท่านอิบนุ อบีย์เอาฟาอ์ เป็นหะดิษเมาฎัวะฮฺ (หะดิษเก๊) จำนวนมาก”
อัตติรมิซีย์ กล่าวว่า นี้คือ หะดิษเฆาะรีบ (หมายถึงบทของมันแปลก)และในสายสืบของมัน ถูกวิจารณ์ คือ ฟาอิด บุตร อับดุรเราะหมาน ถูกกล่าวหาว่า หลักฐานอ่อนในหะดิษ
อัลบานีย์กล่าวว่า " แต่ทว่า เขา เฏาะอีฟ(หลักฐานอ่อน)เป็นอย่างมาก และอัลหากิมกล่าวว่า "ได้มีบรรดาหะดิษปลอมถูกรายงานจาก อบีเอาฟา - ดู มิชกาตอัลมะศอเบียะ เล่ม 1 หน้า 417)

และหะดิษเรื่องละหมาดอาญัตข้างต้น ก็เป็นหะดิษที่ท่านฟาอิด บินอับดุรฺเราะห์มาน รายงานมาจากท่านอิบนุ อบีย์เอาฟา

ท่านอิมามนะวะวีย์ (ร่อหิมะฮุลลอฮ์) ซึ่งเป็นนักฟิกฮ์และวิชาการหะดิษแห่งมัซฮับชาฟิอีย์ ได้นำหะดิษเรื่องละหมาดฮาญัตบทนี้ จากการบันทึกของท่านอัตติรฺมีย์ มาระบุลงไว้ในหนังสือ “อัลมัจมูอฺ” เล่มที่ 4 หน้า 55 พร้อมกับเสนอคำวิจารยณ์ของท่านอัตติรมีซีย์ ที่ว่า หะดิษนี้เป็นหะดิษเฎาะอิฟ โดยไม่ทักท้วงติงใดๆทั้งสิ้น ซึ่งความหมายก็คือ ท่านอิมามนะวะวีย์ยอมรับการวิจารยณ์ดังกล่าวนั้น

จึงสรุปได้ว่า หะดิษเรื่องละหมาดฮาญัตจึงถือว่าเป็นหะดิษที่ “มุงกัร” หรือ “ฎออิฟมาก “ ตามความเห็นสอดคล้องกันของบรรดานักวิชาการหะดิษ จึงไม่สามารถนำหะดิษบทนี้มาอ้างเป็นหลักฐานเพื่อการปฏิบัติได้ ซึ่งกรณีของหะดิษที่ “ฎออิฟมาก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็น “หะดิษเมาฎัวะอฺ” ด้วยแล้ว นักวิชาการต่างมีความสอดคล้องกันว่า “ไม่อนุญาตให้รายงานมัน นอกจากจะต้องชี้แจงสถานภาพของมันให้ทราบด้วย หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องระบุผู้บันทึกหรือสายรายงานของมันให้ทราบด้วยทุกครั้งที่นำมาอ้าง

สำหรับหะดิษต่อไปนี้ มิใช่หะดิษที่ว่าด้วยเรื่องการละหมาดฮาญัต และไม่ได้เกี่ยวข้องกับละหมาดฮาญัตแต่อย่างใด แต่ทว่ามันเป็นเรื่องการตะวัซซุล(การอ้างหรืออาศัยสิ่งใดเป็นสื่อกลางเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์) ของคนตาบอดด้วยดุอา ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ที่ได้สอนให้เขาอ่านเฉพาะเป็นกรณีพิเศษ เป็นสื่อ เพื่อให้พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ทรงรับคำขอวอนของตนให้หายจากการตาบอด

รายงานจากท่าน อุษมาน บินหะนิฟ  (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ) (สิ้นชีวิตในสมัยคอลีฟะฮฺมุอาวิยะฮฺ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ)) เล่าว่า

أَنَّ رَجُلًا ضَرِيرَ الْبَصَرِ أَتَى النَّبِيَّ ‏ ‏ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ‏ ‏فَقَالَ ادْعُ اللَّهَ لِي أَنْ يُعَافِيَنِي فَقَالَ إِنْ شِئْتَ أَخَّرْتُ لَكَ وَهُوَ خَيْرٌ وَإِنْ شِئْتَ دَعَوْتُ فَقَالَ ‏ ‏ادْعُهْ ‏ ‏فَأَمَرَهُ أَنْ يَتَوَضَّأَ فَيُحْسِنَ وُضُوءَهُ وَيُصَلِّيَ رَكْعَتَيْنِ وَيَدْعُوَ بِهَذَا الدُّعَاءِ اللَّهُمَّ إِنِّي أَسْأَلُكَ وَأَتَوَجَّهُ إِلَيْكَ ‏ ‏ بِمُحَمَّدٍ ‏ ‏نَبِيِّ الرَّحْمَةِ يَا ‏ ‏مُحَمَّدُ ‏ ‏إِنِّي قَدْ تَوَجَّهْتُ بِكَ إِلَى رَبِّي فِي حَاجَتِي هَذِهِ ‏ ‏لِتُقْضَى اللَّهُمَّ شَفِّعْهُ فِيَّ ‏

 แท้จริง มีผู้ชายตาบอดคนหนึ่ง  ได้มาหาท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  แล้วกล่าวว่า  ท่านจงขอต่ออัลเลาะฮ์ให้แก่ฉันให้พระองค์ทำให้ฉันหายด้วยเถิด  ดังนั้น  ท่านนบี ซ๊อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า  หากท่านต้องการ  ฉันก็จะประวิงเวลาให้แก่ท่าน(ให้อดทนสำหรับโลกหน้า)  ซึ่งมันย่อมเป็นสิ่งที่ดี และหากท่านต้องการ  ก็ให้ท่านทำการขอดุอาอ์  แล้วท่านนบีกล่าวว่า  ท่านจงขอต่ออัลเลาะฮ์เถิด แล้วท่านนบีก็ได้ใช้ให้เขาทำการอาบน้ำละหมาด  และให้เขาทำการอาบน้ำละหมาดให้ดีเยี่ยม และให้เขาทำการละหมาดสองร่อกะอัต และใช้ให้เขาก็ทำการขอด้วยดุอาอ์นี้  คือ  โอ้ อัลเลาะฮ์  แท้จริงข้าพเจ้าวอนขอต่อพระองค์และข้าพเจ้ามุ่งปรารถนาไปยังพระองค์ ด้วยกับมุฮัมมัด นบีแห่งความเมตตา  โอ้ มุฮัมมัด แท้จริงข้าพเจ้าขอมุ่งปรารถนาด้วยกับท่านไปยังผู้อภิบาลของข้าพเจ้า ในเรื่องความต้องการของข้าพเจ้านี้  เพื่อให้พระองค์ทรงปลดเปลื้องให้(แก่ฉัน)  โอ้ อัลเลาะฮ์  โปรดตอบรับการให้ความช่วยของกับเขา ที่เกี่ยวกับข้าพเจ้าด้วยเถิด" 
ท่านอุษมาน บินหะนิฟ  (ร่อฎียัลลอฮุอันฮุ) และชายผุ้นั้นก็ปฏิบัติตามและเขาก้หาย(จากการตาบอด)
(บันทึกหะดิษโดยอิมามอัตติรมีซีย์ เลขที่ 3578, อะหฺมัด เล่มที่ 4 หน้า 138, ท่านอิบนุมาญะฮ์ เลขที่ 1385, ท่านอัลหากิม เล่มที่ 1 หน้า458, และท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ เลขที่ 1219)
ท่านอบูอิสหาก และท่านอัล-อัลบานีย์ กล่าวว่า  หะดีษนี้เศาะเฮียะฮ์  

จากหะดิษข้างต้น ชายตาบอดผู้นั้น มาของร้องท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ให้ขอดุอาอ์ให้เขาหายจากการตาบอด เพราะเขาทราบดีว่า ดุอาอ์ชองท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) นั้น “มุสตะญาบ” จะถูกรับอย่างแน่นอน ต่างจากดุอาอ์ที่เขาขอเองซึ่งยังไม่รู้จะถูกรับหรือไม่ และท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้รับปากและสัญญาว่าจะขอดุอาอ์ให้กับเขา หากเขาประสงค์ และในขณะเดียวกันท่านก็แนะนำเขาในสิ่งที่ดีกว่า  คือให้เขาอดทนในสถาพนั้นของเขาต่อไป เมื่อชายตาบอดยังยืนกรานที่จะให้ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ขอดุอาอ์ให้ ด้วยคำกล่าวที่ว่า ‏ ‏ادْعُهْท่านจงขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺเถิด แสดงว่าท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) จะต้องขอดุอาอ์ให้แก่เขาจริงๆตามที่ท่านสัญญาไว้นั้น เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่เคยและผิดสัญญากับผู้ใดเป็นอันขาด เพียงแต่ดุอาอ์ที่ท่านขอให้แก่ชายตาบอดตามสัญญานั้น มิใช่ทางตรง แต่เป็นทางอ้อม คือท่านสอนให้เขาอ่านเอง ในสิ่งที่ท่านจะขอให้ และเนื้อหาบางส่วนของดุอาอ์ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) สั่งให้เขาอ่าน ได้แก่ประโยคที่ว่า “โอ้ อัลลอฮฺ โปรดจงรับการอนุเคราะห์ของเขา(มุหัมมัด)ให้แก่ข้าพเจ้าด้วย” บ่งบอกว่า การหายจาการตาบอดของชายผู้นั้น มิใช่เป็นเพราะการละหมาดและดุอาอ์ที่เขาขอเอาเอง แต่เกิดจากการอนุเคราะห์และบะรอกัตของดุอาอ์ที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) สอนให้เขาอ่านแทนตัวท่าน จนประสบผลสำเร็จตามขอนั้น

จากเนื้อหาของหะดิษบทนี้ พิจารณาอย่างละเอียดเห็นว่า เนื้อหาของหะดิษบทนี้ แตกต่างกับการละหมาดฮาญัตและการขอดุอาหลังละหมาดฮาญัต ดังที่ปฏิบัติกันโดยสิ้นเชิง เพราะท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่เคยสัญญากับผู้ละหมาดฮาญัตคนใดว่าท่านจะขอดุอาอ์ให้พวกเขา หรือจะให้การอนุเคราะห์ใดๆแก่พวกเขา เหมือนดั่งที่ท่านได้ให้สัญญาแก่คนตาบอดผู้นั้นเลย และท่านก้ไม่เคยสอนให้ผูละหมาดฮายัตคนใดตะวัซซุลด้วยดุอาอ์ใดๆของท่านเป็นการเฉพาะเป็นกรณีพิเศษ เหมือนดังที่ท่านสอนคนตาบอดคนนั้นให้ตะวัซซุลด้วยดุอาอ์ของท่านในหะดิษบทนี้ ดังนั้นหะดิษบทนี้เป็นหะดิษว่าด้วยการตะวัซซุล ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานรองรับการละหมาดฮาญัตของมุสลิมบางกลุ่มที่ทำกันในประเทศไทยแต่อย่างใด


الله أعلم بالصواب



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น