ตอบโดย อ.อาลี เสือสมิง
(อ่านให้จบ)
มัซฮับฮะนะฟีย์ กับชาฟิอีย์ กำหนดเงื่อนไขในการละหมาดตามหลังคนที่ถือมัซฮับต่างกันว่า การละหมาดของอิหม่ามต้องใช้ได้ (เซาะฮฺ) ตามมัซฮับที่มะอฺมูมยึดถือ ฉะนั้นถ้าคนฮะนะฟีย์ละหมาดตามหลังคนชาฟิอีย์ที่มีเลือดไหลแล้วไม่อาบน้ำละหมาดใหม่หลังจากเลือดออก หรือคนชาฟิอีย์ละหมาดตามหลังคนฮะนะฟีย์ที่กระทบผู้หญิงมา เป็นต้น ก็ถือว่าละหมาดของมะอฺมูมใช้ไม่ได้ เป็นโมฆะ (บาฏิละฮฺ) เพราะมะอฺมูมเห็นว่าการละหมาดของอิหม่ามนั้นเป็นโมฆะ ฝ่ายฮะนะฟีย์เพิ่มเติมว่าการละหมาดตามหลังคนชาฟิอีย์นั้นเป็นมักรูฮฺ (อัดดุรฺมุคต๊าร 1/526)
ฝ่ายชาฟิอียะฮฺกล่าวว่า : ที่ดีที่สุด (อัฟฎ้อล) คือละหมาดตามหลังอิหม่ามที่เป็นคนชาฟิอีย์ ไม่ควรเป็นคนฮะนะฟีย์หรือคนในมัซฮับอื่น ๆ จากบุคคลที่ไม่เชื่อว่ารุก่นบางข้อหรือเงื่อนไขบางข้อเป็นวาญิบ ถึงแม้ว่าจะรู้แน่ชัดว่าผู้เป็นอิหม่ามต่างมัซฮับนั้นได้กระทำรุ่ก่นหรือเงื่อนไขดังกล่าวก็ตาม เพราะทั้ง ๆ ที่ผู้เป็นอิหม่ามได้กระทำสิ่งดังกล่าว ทว่าเขาผู้นั้นก็ไม่เชื่อว่ารุ่ก่นบางข้อเป็นวาญิบ (อัลฮัฎร่อมี่ยะฮฺ หน้า 64)
ดังนั้นหากถือตามทัศนะที่ว่ามานี้ การละหมาดของคนชาฟิอีย์ตามหลังอิหม่ามที่ไม่อ่านบิสมิลละฮฺก่อนอ่านซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺก็ย่อมใช้ไม่ได้ เพราะคนชาฟิอีย์ถือว่าการอ่านฟาติฮะฮฺเป็นรุ่ก่น และบิสมิลลาฮฺเป็นอายะฮฺหนึ่งจากซูเราะฮฺอัลฟาติฮะฮฺ เมื่ออิหม่ามไม่อ่านบิสมิลลาฮฺ การละหมาดของอิหม่ามก็ย่อมใช้ไม่ได้ในทัศนะของมะอฺมูมที่เป็นคนชาฟิอีย์
ส่วนมัซฮับมาลิกีย์และฮัมบะลีย์ กล่าวว่า : สิ่งใดที่เป็นเงื่อนไขในการละหมาดใช้ได้ ก็ให้พิจารณาในเรื่องนั้นตามมัซฮับของอิหม่ามเท่านั้น ส่วนกรณีที่สิ่งนั้นเป็นเงื่อนไขในการปฏิบัติตาม (อิกฺติดาอฺ) ที่ใช้ได้ ก็ให้พิจารณาในเรื่องนั้นตามมัซฮับของมะอฺมูม (อัชชัรฮุซซ่อฆีร 1/444, อัลมุฆนีย์ 2/190, กัชชาฟุ้ลกินาอฺ 1/557-563)
อย่างไรก็ตามเรื่องการละหมาดตามหลังอิหม่ามที่ถือคนละมัซฮับเป็นเรื่องของทัศนะ ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกกันในเรื่องการทำอิบาดะฮฺของคนที่ถือมัซฮับต่างกัน คนชาฟิอีย์ก็ไม่ตามคนฮะนะฟีย์ คนฮะนะฟีย์ก็ไม่ตามคนชาฟิอีย์จนบางครั้งต้องแยกมัสยิดกันละหมาดหรือในมัสยิดเดียวกัน ปรากฏว่ามีเมียะฮฺรอบและมิมบัรของแต่ละมัซฮับที่ต่างก็ละหมาดของใครของมัน ทั้ง ๆ ที่ทั้งหมดต่างก็เป็นมุสลิมที่ยึดถือตามแนวทางของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺเหมือนกัน ชะรอยทัศนะที่แบ่งแยกกันเช่นนี้เป็นผลมาจากการนิยมคลั่งไคล้ (ตะอัซซุบ) ในมัซฮับของตนที่เกินเลยและทำลายเอกภาพของประชาคมมุสลิมโดยรวม
นักวิชาการร่วมสมัย เช่น ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลีย์ จึงให้น้ำหนักกับการยึดถือตามแนวมัซฮับมาลิกีย์และฮัมบะลีย์ในส่วนแรก คือ ให้พิจารณาตามมัซฮับของอิหม่ามเท่านั้นเพราะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเป็นที่สุด ดังนั้นการละหมาดตามหลังคนที่มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องข้อปลีกย่อยตามมัซฮับจึงถือว่าใช้ได้ ไม่มักรูฮฺแต่อย่างใด
กล่าวคือ ให้พิจารณาตามมัซฮับของผู้เป็นอิหม่ามนำละหมาด ดังกรณีการไม่อ่านบิสมิลลาฮฺของอิหม่าม เมื่ออิหม่ามถือว่าใช้ได้ก็ย่อมใช้ได้ในการละหมาดตามหลังอิหม่ามคนดังกล่าว ถึงแม้ว่ามะอฺมูมจะถือว่า การละหมาดของอิหม่ามใช้ไม่ได้ตามมัซฮับของตนก็ตาม ทั้งนี้เพราะบรรดาซอฮาบะฮฺ บรรดาตาบิอีนและคนรุ่นหลังจากพวกท่านเหล่านั้นต่างก็ยังคงละหมาดตามหลังซึ่งกันและกัน ทั้งที่มีความเห็นต่างกันในเรื่องข้อปลีกย่อย ซึ่งสิ่งดังกล่าวถือเป็นอิจญ์มาอฺและจะทำให้ความนิยมคลั่งไคล้ในมัซฮับสิ้นสุดลง (อัลฟิกฮุ้ลอิสลามีย์ ว่า อะดิลละตุฮู : ดร.วะฮฺบะฮฺ อัซซุฮัยลี่ย์ : เล่มที่ 2 หน้า 181)
ชัยคุ้ลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : บรรดามุสลิมต่างก็เห็นพ้องกันว่าอนุญาตให้ละหมาดตามหลังซึ่งกันและกันได้เหมือนอย่างที่บรรดาซอฮาบะฮฺ บรรดาตาบิอีน และชนรุ่นหลังจากอิหม่ามทั้ง 4 ต่างก็ละหมาดตามหลังซึ่งกันและกัน ผู้ใดปฏิเสธสิ่งดังกล่าว ผู้นั้นเป็นพวกอุตริกรรม หลงผิดและค้านกับกิตาบุลลอฮฺ, ซุนนะฮฺ และอิจญ์มาอฺของชาวมุสลิม
และแท้จริงในหมู่ซอฮาบะฮฺและชนรุ่นตาบิอีนตลอดจนกลุ่มชนรุ่นหลังพวกเขา มีคนที่อ่านบิสมิลลาฮฺ บางคนก็ไม่อ่านบิสมิลลาฮฺ ทั้ง ๆ อย่างนี้ พวกเขาก็ละหมาดตามหลังซึ่งกันและกัน เหมือนอย่างที่ อบูฮะนีฟะฮฺ (ร.ฮ.) และสานุศิษย์ของเขาและอัชชาฟิอีย์ (ร.ฮ.) และบุคคลอื่น ๆ ต่างก็เคยละหมาดตามหลังบรรดาอิหม่ามของชาวมะดีนะฮฺที่มาจากกลุ่มมาลิกียะฮฺ ถึงแม้ว่าบรรดาอิหม่ามเหล่านั้นจะไม่อ่านบิสมิลลาฮฺเลยไม่ว่าค่อยหรือดังก็ตาม” (อ้างจากอัซเซาะฮฺวะฮฺ, อัลอิสลามียะฮฺ บัยนัลญุฮูด วัตตะฏ็อรฺรุฟ ; ดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ หน้า 174)
หากเข้าใจตามนี้ ก็จะไม่มีปัญหาข้อข้องใจใด ๆ ในการละหมาดตามหลังอิหม่ามที่ไม่อ่านบิสมิลลาฮฺหรืออิหม่ามที่เชื่อว่าการกระทบผู้หญิงไม่เสียน้ำละหมาด ฯลฯ และกรณีที่ตอบนี้ก็คงเพียงพอแล้วสำหรับรายละเอียดที่คุณถามมาทุกข้อ และเป็นทางออกที่ดีที่สุด ถึงแม้ว่าจะไม่ตรงตามมัซฮับอัชชาฟิอีย์ก็ตาม เพราะถ้าถือตามทัศนะในมัซฮับอัชชาฟิอีย์ในเรื่องนี้ ก็จะมีปัญหาตามมาอย่างที่รู้กัน
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น