ถ้าเราเริ่มวิ่งด้วยระยะทางที่ไกล รับรองว่าไปไม่ไกล เพราะสมรรถภาพของร่างกาย ไม่สามารถรับไหวได้ จึงทำให้ร่างกายเหนื่อย เพลีย อ่อนแรง และไปไม่ไหว จึงทำให้เราต้องพักผ่อนไว้ก่อน
เมื่อเราวิ่งในวันถัดไป เราสามารถวิ่งได้ไกลกว่าระยะทางของเมื่อวาน เป็นเพราะว่า กล้ามเนื้อและร่างกายของเราเริ่มคุ้นเคยกับการวิ่ง และมันจะค่อย ๆ ปรับไปตามกาลเวลา และสุดท้าย เราสามารถวิ่งไปตามที่เราได้คาดหวังไว้
มันก็เหมือนกับการทำอิบาดะฮฺ ก่อนที่จะเข้าสู่เดือนเราะมะฎอน การกระทำอิบาดะฮฺของเราในเดือนอื่น ๆ จะไม่เทียบเท่ากับเดือนเราะมะฎอน แต่เมื่อเดือนเราะมะฎอนได้มาเยือน เราทุกคนต่างก็เร่งสปีดการกระทำอิบาดะฮฺ เพื่อที่จะกอบโกยผลบุญให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ หากแต่วันแรก ๆ ของเดือน เราก็หมดแรงไปเสียก่อน โดยการกระทำอิบาดะฮฺของเราจะยังไม่ถึงตามเป้าที่ได้ตั้งไว้ บางคนได้ตั้งเป้าละหมาดตะรอวีห์ให้นานที่สุด แต่เมื่อได้แค่ครึ่งของมัน ก็รู้สึกเมื่อยตามตัว อาการล้า และง่วง หรืออ่านอัลกุรฺอานให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อได้ถึงแค่ครึ่งทาง ก็รู้สึกแสบคอ ปวดตา และอีกหลาย ๆ อุปสรรค แต่เมื่อวันเวลาของเราะมะฎอนได้ผ่านมาเรื่อย ๆ เราจะสึกชินไปกับการกระทำอิบาดะฮฺ เราจะเมื่อยไม่มากเท่ากับวันแรก ๆ และเราจะไม่รู้สึกท้อในการอ่านอัลกุรอ่าน เพราะร่างกายของเราได้ปรับไปตามทุกอิริยาบถของการกระทำอิบาดะฮฺแล้ว
เมื่อเราะมะฎอนได้จากไปแล้ว สมรรถภาพของเราในการกระทำอิบาดะฮฺจะยังคงฟิตแน่นอยู่ ตราบใดที่เรายังรักษาการกระทำอิบาดะฮฺของเราให้มั่นคงอยู่ตลอดเวลา หากแต่ว่าเราไม่รักษามันแล้ว มันจะค่อย ๆ เสื่อมลงไปตามกาลเวลา ยืนละหมาดฟัรฎูก็ยังรู้สึกเมื่อย อ่านอัลกุรฺอานวันละแผ่นสองแผ่นก็ยังรู้สึกเกียจคร้าน
มันช่างน่าเสียดายมาก ที่ร่างกายของเราฟิตแล้ว แต่ว่าเราไม่พยายามรักษาสมรรถภาพของมัน และจงระวังให้มากที่สุด เมื่อเราไม่พยายามออกแรงในการกระทำอิบาดะฮฺแล้ว นอกเหนือว่ามันจะทำให้ร่างกายของเราเสื่อมลงแล้ว มันจะทำให้ร่างกายของเราเป็นอัมพาตได้ (หมายถึง อัมพาตในการออกแรงทำการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺซุบหานะฮุวะตะอาลา)
นะอูซุบิลลาฮิ มินซาลิกะ
....................
อูลุล อัลบ๊าบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น