อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การกลับตัวจากมุอฺตะซิละฮฺและสาเหตุของท่านอัลอัชอะรีย์




อัลอัชอะรีย์ได้ประกาศกลับตัวจากมุอฺตะซิละฮฺ หลังจากที่ท่านได้คร่ำหวอดอยู่กับแนวทางของมุอฺตะ:ซิละฮฺเป็นเวลานานถึง 40 ปี ท่านได้ขังตัวเองอยู่ในบ้านระยะหนึ่ง แล้วท่านก็ออกไปพบกับชุมชนและประกาศกลับตัวจากมุอฺตะซิละฮฺ และระบุว่าท่านไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับทัศนะต่างๆของมุอฺตะซิละฮฺอีก หลังจากนั้น ท่านได้ประพันธ์ตำราใหม่ๆเพื่อวิพากษ์ทัศนะของมุอฺตะซิละฮฺเป็นการเฉพาะ (อัลคิฏ็อฏ ของอัลมุกรีซีย์ 2/359)
เนื่องจากการกลับตัวจากมุอฺตะซิละฮฺของอัลอัชอะรีย์เกิดขึ้นหลังจากที่ท่านได้ดำเนินอยู่บนแนวทางของมุอฺตะซิละฮฺเป็นเวลาที่ยาวนาน ผนวกกับการประกาศกลับตัวอย่างฉับพลันทันด่วนของท่าน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานาเกี่ยวกับสาเหตุการกลับตัวของท่าน ซึ่งพอจะสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

1. สาเหตุโดยตรงที่ทำให้ท่านกลับตัว นั่นคือความฝัน ได้มีรายงานหลายกระแสเกี่ยวกับเรื่องความฝันของท่าน ในจำนวนรายงานดังกล่าวคือ หลังจากที่อบูลหะสันได้ศึกษาอิลมุลกะลามตามแนวทางของมุอฺตะซิละฮฺอย่างกว้างขวางและถึงจุดสูงสุด ในคืนหนึ่งท่านรู้สึกข้องใจเกี่ยวกับอะกีดะฮฺบางอย่างที่ท่านดำเนินอยู่ ท่านจึงลุกขึ้นละหมาดสองร็อกอัตแล้ววิงวอนขอให้อัลลอฮฺชี้ทางนำที่ถูกต้อง หลังจากนั้นท่านล้มตัวลงนอน และท่านได้ฝันเห็นท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในความฝันนั้นท่านได้ร้องเรียนท่านนบีเกี่ยวกับความรู้สึกบางอย่างที่ค้างคาใจอยู่ ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมจึงกล่าวขึ้นว่า “ท่านจงยึดมั่นในสุนนะฮฺของฉัน” จากความฝันนั้นทำให้ท่านฉุกคิดและเริ่มนำปัญหาด้านอิลมุลกะลามไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ท่านได้พบเจอในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ สิ่งใดที่สอดคล้องกับทั้งสองท่านก็คงมันไว้ และสิ่งใดที่ขัดแย้งกับทั้งสองท่านก็ขจัดมันทิ้ง (อัตตับยีน 38-39) แต่สายรายงานนี้ไปสิ้นสุดที่สหายบางคนโดยไม่ได้ระบุว่าเป็นใครและน่าเชื่อถือเพียงไหน (ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับความฝันของท่านในอัตตับยีน 40-41, อัตเฏาะบะกอตอัลกุบรอว์ 3/348-349 และตัรตีบอัลมะดาริก 5/28-29)


2. ผลจากการโต้เถียงกับอัลญุบบาอีย์ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาทิ การเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่ง (อัลหะเราะกะฮฺวะอัสสุกูน) (ดูในอัลมะกอลาต หน้า 355-356) สามารถเรียกอัลลอฮฺว่า “อากิล” (ผู้ทรงปัญญา) ได้ไหม? (อัลมะกอลาต หน้า 226, 228) ฯลฯ แต่ที่เป็นที่กล่าวขานกันมากคือ การโต้เถียงเกี่ยวกับความเที่ยงธรรมและประโยชน์ (อย่างใดเหมาะสมและเหมาะสมกว่า) เรื่องมีอยู่ว่า

อบูลหะสันได้ถามอบูอาลีอัลญุบบาอีย์เกี่ยวกับ “สามพี่น้อง ซึ่งคนหนึ่งเป็นมุอ์มินผู้ศรัทธา ปฏิบัติดี และยำเกรง อีกคนหนึ่งเป็นกาฟิรผู้ปฏิเสธ และทำแต่ความชั่ว และอีกคนหนึ่งยังเยาว์วัยอยู่ จึงถามอาจารย์ว่า เมื่อพวกเขาทั้งสามได้เสียชีวิต พวกเขาทั้งสามจะมีสภาพเป็นเช่นไร?”
อัลญุบบาอีย์ตอบว่า “ส่วนซาฮิดคนนั้น (หมายถึงคนแรก) เขาจะอยู่ในระดับที่สูงส่ง (เข้าสวรรค์) ส่วน (คนที่สอง) ที่ปฏิเสธศรัทธาเขาจะอยู่ในระดับที่จมดิ่ง (ตกนรก) ส่วน( คนที่สาม) ที่ยังเยาว์วัยอยู่เขาก็จะอยู่ในกลุ่มชนที่ปลอดภัย”
อัลอัชอะรีย์จึงถามต่อว่า “ถ้าคนที่ยังเยาว์วัยอยู่ประสงค์จะไปอยู่ในระดับของซาฮิด เขาจะได้รับอนุญาตไหม?”
อัลญุบบาอีย์ตอบว่า “ไม่ เพราะเขาจะถูกกล่าวว่า แท้จริงพี่ชาบของเจ้าไปถึงระดับนั้นได้ เพราะการภักดีที่มากมายของเขา ส่วนเจ้าไม่มีการภักดีเหล่านั้น”
อัลอัชอะรีย์จึงแย้งว่า “แล้วถ้าน้องคนเล็กกล่าวคัดค้านว่า “ความบกพร่องไม่ได้เกิดขึ้นที่ฉัน เพราะพระองค์ไม่ได้ทรงให้ฉันมีชีวิตที่ยืนยาว และไม่ได้ทรงเปิดโอกาสให้ฉันปฏิบัติการภักดี”
อัลญุบบาอีย์ตอบว่า “อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า “แท้จริงข้าทราบมาก่อนแล้วว่า ถ้าข้าปล่อยให้เจ้ามีชีวิตต่อไป เจ้าก็จะกระทำความชั่ว และเจ้าก็จะกลายเป็นผู้ที่ควรแก่การได้รับโทษที่เจ็บปวด ดังนั้น ข้าจึงคำนึงถึงประโยชน์ของเจ้า (ด้วยการทำให้เจ้าเสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์วัย)”
อัลอัชอะรีย์จึงค้านว่า “แล้วถ้าพี่ชายที่เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธากล่าว (แย้งบ้างว่า) “โอ้พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ดั่งที่พระองค์ได้ทราบถึงสภาพของเขา (น้องคนเล็ก) แท้จริงพระองค์ก็ทรงทราบถึงสภาพของข้าน้อยเช่นกัน แล้วทำไมพระองค์ทรงคำนึงแต่ประโยชน์ของเขา และไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของข้าน้อยบ้าง?”
ดังนั้นอัลญุบบาอีย์จึงกล่าวแก่อัลอัชอะรีย์ว่า “เจ้ามันคนเสียสติ (บ้า)”
อัลอัชอะรีย์ตอบกลับว่า “เปล่า (ฉันไม่ได้บ้า) แต่ลาของเชค (หมายถึงความงี่เง่าของเชค) ได้หยุดอยู่ที่ทางลำบาก” (วะฟะยาตอัลอะอฺยาน 4/267-268, เฏาะบะกอตอัลกุบรอว์ 3/356, และดูในมะกอลาตอัลอิสลามิยีน หน้า 575)

3. เกิดจากความสับสนและความเท่าเทียมของหลักฐานที่มีอยู่ อิบนุอะสากิรได้เล่าจากอิบนุอัซเราะฮฺ ท่านได้กล่าวเกี่ยวกับอัลอัชอะรีย์ว่า “ท่านได้ดำรงอยู่บนแนวทางของมุอฺตะซิละฮฺเป็นเวลาสี่สิบปี จนท่านกลายเป็นผู้นำของพวกเขา ต่อมาท่านได้เก็บตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลาสิบห้าวัน หลังจากนั้นท่านได้ออกไปยังมัสยิดใหญ่แล้วก้าวขึ้นมินบัร แล้วกล่าวว่า “ปวงชนทั้งหลาย แท้จริง ข้าพเจ้าได้ปลีกตัวจากพวกท่านในระยะเวลาดังกล่าว เพราะข้าพเจ้าได้พิจารณาและพบว่าหลักฐานต่างๆที่ข้าพเจ้ามีอยู่มีความเท่าเทียมกัน และข้าพเจ้าไม่สามารถจะตัดสินและแยกแยะได้ว่าอย่างไหนคือสัจธรรมและอย่างไหนคือสิ่งจอมปลอม ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขอให้อัลลอฮฺทรงประทานทางนำ และพระองค์ก็ทรงชี้ทางนำแก่ข้าพเจ้าสู่ความเชื่อตามที่ข้าพเจ้าได้บรรจุมันไว้ในหนังสือต่างๆเหล่านี้ของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้ถอดออกจากความเชื่อเดิมที่ข้าพเจ้าเคยยึดมั่น เสมือนกับที่ข้าพเจ้าได้ถอดเสื้อตัวนี้ออก (จากร่างกายของข้าพเจ้า)” - แล้วท่านก็ถอดเสื้อที่สวมอยู่ออกจากร่างกายแล้วโยนทิ้ง และส่งหนังสือต่างๆที่ท่านได้เขียนขึ้นมาใหม่แก่ปวงชน ในจำนวนหนังสือเหล่านั้นได้แก่ “อัลลุมะอฺ” และหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่แฉความบกพร่องของแนวทางมุอฺตะซิละฮฺ มีชื่อว่า “กัชฟุ อัลอัสรอรฺ วะฮัตกุ อัลอัสตารฺ” และอื่นๆ (อัตตับยีน หน้า 39-40) และยังมีการกล่าวถึงสาเหตุอื่นๆอีกหลายสาเหตุซึ่งจะไม่ขอกล่าวถึง ณ ที่นี้

เหล่านี้คือ สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดของอัลอัชอะรีย์ เพียงแต่ว่า สาเหตุต่างๆที่ได้กล่าวมาข้างต้น และอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้ไม่มีสายรายงานใดเลยที่มีน้ำหนักพอที่จะยึดมั่นได้

วัลลอฮุอะอฺลัม




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น