อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ความเป็นจริงของอิสลามที่ยอมรับสัจธรรมที่ว่าด้วยการป้องกันตัวเอง




อิสลามไม่สนับสนุนสงครามและไม่อนุญาตให้เข้าร่วมสงครามเว้นแต่ในสภาพบีบบังคับดังที่อัลกุรอานกล่าวไว้  ความว่า : “  การสู้รบนั้นได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้วทั้งๆ ที่มันเป็นที่รังเกียจแก่พวกเจ้า” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ :216)

 มุสลิมจะทำการสงครามก็ต่อเมื่อในสถานการณ์บีบบังคับเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อชาวมุสลิมอยู่ในภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องป้องกันตัวเอง ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติของประชาคมโลกโดยทั่วไป และบนพื้นฐานของแนวปฏิบัติเช่นนี้ อัลกุรอานได้หยิบยกไว้เป็นกรณีศึกษาใน 2 โองการ



โองการแรกปรากฏในซูเราะฮฺอัล-บะเกาะเราะฮฺ  ที่ได้เล่าเรื่องราวของฏอลูตที่ประกาศสงครามกับญาลูตจอมอหังการ แม้ว่าฝ่ายฏอลูตจะมีกองกำลังที่น้อยกว่าและไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกับแสนยานุภาพของญาลูตที่มีกองกำลังที่ใหญ่โตหลายเท่า แต่ท้ายสุดแล้วชัยชนะก็เป็นของฏอลูต

          ด้วยสัญชาตญานของการป้องกันตัวเองนี้ อัลลอฮฺสามารถปกป้องรักษาสิ่งมีชีวิตต่างๆที่อยู่บนโลกนี้ให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามต่างๆ  หาไม่แล้วบรรดาผู้อยุติธรรมและจอมเผด็จการ ก็สามารถปฏิบัติการได้ตามอำเภอใจ โลกนี้จึงเปรียบเสมือนป่าใหญ่ที่สัตว์ที่แข็งแรงและมีกำลังที่เหนือกว่า สามารถรุกรานและเข่นฆ่าสัตว์ที่อ่อนแอกว่าอย่างแน่นอน

                เรื่องราวของฏอลูต  เป็นเรื่องราวของการลุกขึ้นต่อสู้ปกป้องตัวเองจากการรุกรานของจอมเผด็จการญาลูตผู้ที่มีอำนาจล้นฟ้า  ดังปรากฎในอัลกุรอาน   ความว่า :

 “และไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวของเราได้ที่พวกเราจะไม่ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ  ทั้งๆ  ที่พวกเราและบรรดาลูกหลานพวกเราถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน”     (อัล-บะเกาะเราะฮฺ :246 )

อัลลอฮฺได้ส่งนบีดาวูดเพื่อเข้าสมทบกับกองกำลังของฏอลูต  และท้ายสุดแล้วนบีดาวูดสามารถฆ่าญาลูตจอมอหังการได้  ประชาคมโลกก็ปลอดภัยจากการรุกรานของจอมเผด็จการ

                ส่วนโองการที่สองที่ได้ยืนยันในหลักการการป้องกันตัวเองเป็นเรื่องราวที่อัลกุรอานพยายามชี้ให้มนุษย์เห็นว่า  อัลลอฮฺทรงอนุญาตให้บรรดามุสลิมประกาศสงคราม เนื่องจากพวกเขาถูกกดขี่หรือถูกจำกัดเสรีภาพในการปฏิบัติศาสนกิจ  เป็นเหตุให้พวกเขาต้องระเหเร่ร่อนอพยพพร้อมๆ กับท่านนบีฯ มุหัมมัด  (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน)  ออกจากแหล่งกำเนิดนครมักกะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺ อัลลอฮฺจึงอนุญาตให้พวกเขาทำสงครามโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันตัวเอง ศักดิ์ศรี และเกียรติของอิสลามหรือแม้กระทั่งศาสนาอื่นๆ   ดังกุรอานกล่าวไว้  ความว่า :

“ สำหรับบรรดาผู้ที่ถูกรุกรานนั้นได้รับอนุญาตให้ต่อสู้ได้ เพราะพวกเขาถูกกดขี่ และแท้จริงอัลลอฮฺทรงสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างแน่นอน ”

                “บรรดาผู้ที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านเรือนของพวกเขาโดยปราศจากความยุติธรรม นอกจากพวกเขากล่าวว่า อัลลอฮฺคือพระเจ้าของเราเท่านั้นและหากว่าอัลลอฮฺทรงขัดขวางมิให้มนุษย์ต่อสู้ซึ่งกันและกันแล้ว  บรรดาหอสวดและโบสถ์  (ของพวกคริสต์)  และสถานที่สวด  (ของพวกยิว) และมัสยิดทั้งหลายที่พระนามของอัลลอฮฺถูกกล่าวรำลึกอย่างมากมาย  ต้องถูกทำลายอย่างแน่นอนและแน่นอนอัลลอฮฺจะทรงช่วยเหลือผู้ที่สนับสนุนศาสนาของพระองค์ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงพลัง ผู้ทรงเดชานุภาพอย่างแท้จริง” ( อัล-ฮัจญ์ : 39-40)

                อิสลามจึงเป็นศาสนาที่อยู่บนหลักการแห่งความเป็นจริงและไม่ฝืนกับสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์   ดังนั้นอิสลามจึงยอมรับศาสนบัญญัติที่ว่าด้วยการสู้รบหรือสงคราม หากอยู่ในสถานการณ์บีบบังคับ หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อปกป้องพิทักษ์ศาสนา  สัจธรรม  ศักดิ์ศรี และอิสรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปกป้องเสรีภาพในการนับถือศาสนาและปฏิบัติตามความเชื่อ  อิสลามจึงอนุญาตให้มีการลุกขึ้นต่อสู้อำนาจที่อธรรม หรือจอมเผด็จการที่กดขี่ข่มเหงผู้ศรัทธา การยอมรับของอิสลามในหลักการการป้องกันตัวในลักษณะเช่นนี้ไม่เพียงแต่ปกป้องมัสยิดจาดการถูกรุกรานเท่านั้น   แต่บรรดาหอสวด โบสถ์ของชาวคริสต์หรือสถานที่สวดของชาวยิวก็จะได้รับการปกป้องอีกด้วย ทุกคนจึงสามารถปฏิบัติศาสนกิจหรือคงไว้ซึ่งสัญลักษณ์ทางศาสนาตามความเชื่อของเขาได้อย่างอิสระเสรี

                ชาวตะวันตกมักใส่ร้ายอิสลามว่าเป็นศาสนาแห่งสงคราม  นบีฯของอิสลามเป็นผู้กระหายสงคราม ซึ่งจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพระเยซูคริสต์ที่เรียกร้องสันติภาพ  ดังปรากฏในคำสอนของท่านว่า  “ หากแก้มขวาของท่านถูกตบ ท่านจงยื่นแก้มซ้าย  (เพื่อให้ถูกตบเป็นคำรบสอง )”

                พวกเขาอาจลืมหรือแกล้งลืมว่า จริงๆ แล้วคำสอนที่ปรากฏในพระคัมภีร์เก่า(โตราห์)ที่พวกเขายกย่องว่า เป็นคัมภีร์ที่บริสุทธิ์  มีเนื้อหาที่บ่งชี้ว่าชาวคริสเตียนเป็นกลุ่มชนที่เป็นต้นเหตุแห่งสงครามมากที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งของมนุษยชาติ ไม่ว่าสงครามในกลุ่มที่นับถือศาสนาเดียวกัน  หรือสงครามกับชนศาสนิกอื่น  ดังกรณีสงครามศาสนาที่ปะทุขึ้นระหว่างผู้ที่นับถือนิกายคาทอลิกและโปรแตสแตนท์ หรือสงครามที่เกิดขึ้นด้วยสาเหตุความขัดแย้งด้านเผ่าพันธุ์  เชื้อชาติหรือผลประโยชน์  ประวัติศาสตร์ของพวกเขา จึงเต็มไปด้วยคาวเลือดและสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศตะวันตกด้วยกันเอง ดังที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ที่ชาวคริสเตียนได้เข่นฆ่าพี่น้องที่นับถือศาสนาด้วยกันเองเป็นจำนวน สิบๆ  ล้านคนทีเดียว

                นักเขียนชาวตะวันตกคนหนึ่งถึงกับกล่าวว่า  ฉันไม่เคยศรัทธาคำสอนของพระเยซู เว้นแต่คำสอนของท่านที่ว่า ฉันเกิดมามิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนหยัดและดำรงไว้ซึ่งสันติภาพบนพื้นแผ่นดิน แต่ฉันเกิดมาเพื่อมอบดาบ  (สงคราม)  ต่างหาก

                คำสอนของพระเยซูคริสต์ที่ให้ยื่นแก้มซ้ายหลังจากที่คนๆ หนึ่งถูกตบแก้มขวานั้น เป็นคำสอนที่มุ่งเน้นเรื่อง  “คุณธรรม”  ที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติในสถานการณ์หรือสังคมอันจำกัดเท่านั้น ที่สมาชิกทุกคนในสังคม  ยึดมั่นในระบบคุณธรรมที่สูงส่ง  แต่คำสอนลักษณะเช่นนี้ไม่เหมาะสมที่จะเป็นบทบัญญัติทั่วไปที่ครอบคลุมสังคมมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยและทุกสถานที่ แต่บทบัญญัติที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติในทุกยุคและทุกสถานการณ์แล้วคือ  คำสอนที่กำชับให้มนุษย์ยืนบนหลักการ “ความยุติธรรม” “คุณธรรม”และสิ่งเหล่านี้ คือคำสอนที่อิสลามเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา ดังที่ปรากฎในอัลกุรอาน  ความว่า : และส่งเสริมให้มนุษย์ยึดมั่นในหลักการ

“ และการตอบแทนความชั่ว คือความชั่วเยี่ยงมัน และผู้ใดให้อภัย และไกล่เกลี่ยคืนดีกัน รางวัลตอบแทนของเขาอยู่ที่อัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺไม่ชอบบรรดาผู้อธรรม ”  (อัซ-ซูรอ :40)

                “ และถ้าผู้ใดแก้แค้นตอบแทนหลังจากได้รับความอธรรม  ชนเหล่านั้นจะไม่มีทางตำหนิแก่พวกเขา ส่วนที่เกิดโทษนั้นได้แก่บรรดาผู้ที่อธรรมต่อมนุษย์และก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นในแผ่นดินโดยปราศจากความเป็นธรรม   ชนเหล่านั้นพวกเขาจะได้รับการลงโทษอันเจ็บปวด  ” (อัซ-ซูรอ:41-42)

นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติยุคแรกที่เกิดมาในสภาพที่เป็นครอบครัวเดียวกัน   คือ อาดัมและบรรดาลูกๆ ของท่าน  มนุษย์ในยุคนั้นก็ยังมีทั้งคนชั่วและคนดี  ลูกของอาดัมที่ชื่อ กอบีลและฮาบีลตามปรากฏในตำนานของอิสรออีลิยาต  อัลกุรอานได้เล่าเรื่องของลูกอาดัมทั้งสองคนว่า  กอบีลผู้เป็นพี่ชายได้ฆ่าฮาบีลผู้เป็นน้องชายโดยที่ฮาบีลไม่ได้กระทำความผิดอันใดเลย  และไม่มีสังคมใดที่อาจเป็นแรงจูงใจที่ทำให้กอบีลยอมฆ่าน้องชายตัวเอง  เพียงแต่อารมณ์ชั่ววูบ  และจิตใจที่คล้อยตามที่เป็นต้นเหตุแห่งการเกิดฆาตกรรมครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์  อัลกุรอานได้เล่าเรื่องดังกล่าว    ความว่า :  “ และเจ้าจงอ่านให้พวกเขาฟังซึ่งข่าวคราวเกี่ยวกับบุตรชายสองคนของอาดัมตามความเป็นจริง  ขณะที่ทั้งสองได้กระทำการพลีซึ่งสิ่งพลีอยู่นั้น  แล้วสิ่งพลีนั้นก็ถูกรับจากคนหนึ่งในสองคน  และมันมิได้ถูกรับจากอีกคนหนึ่ง  เขา (กอบีล) จึงได้กล่าวว่า  แน่นอนข้าจะฆ่าเจ้า (ฮาบีล) ให้ได้  เขา(ฮาบีล) กล่าวว่า แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงรับจากหมู่ผู้ที่มีความยำเกรงเท่านั้น ”

                “ หากท่านยื่นมือของท่านมายังฉัน  เพื่อจะฆ่าฉันก็ยังจะไม่ยื่นมือของฉันไปยังท่านเพื่อจะฆ่าท่าน  แท้จริงฉันกลัวอัลลอฮฺผู้เป็นพระเจ้าแห่งสากลโลก ”

                “ แท้จริงฉันต้องการที่จะทำให้ท่านนำบาปของฉันและบาปของท่านกลับไปและท่านก็จะกลายเป็นคนหนึ่งในหมู่ชาวนรก  และนั่นแหละ  คือการตอบแทนของบรรดาผู้อธรรม ”

“ แล้วจิตใจของเขาก็คล้อยตามในการที่จะฆ่าน้องชายของเขา  ดังนั้นจึงกลายเป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้ขาดทุน ” (อัล-มาอิดะฮฺ : 27-30)

มนุษย์ควรปฏิบัติตนอย่างไรหากพลพรรคของกอบีลมีจำนวนเพิ่มขึ้น  หรือพวกเขามีกองกำลังและอำนาจที่เหนือกว่า  เป็นไปได้หรือไม่ที่พวกเขาจะถูกปล่อยให้เหิมเกริมและสร้างความปั่นป่วนบนโลกนี้ได้ตามอำเภอใจ  โดยไม่มีการตอบโต้หรือยับยั้ง  หรือจะมีคนกล่าวแก่พวกเขาว่า  พวกท่านจงหยุดก่อกรรมทำเข็ญด้วยเถิด  โดยไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้อันสาสม  เช่นเดียวกันกับพฤติกรรมของพวกเขาเลยหรือ ?

เป็นไปได้หรือไม่ที่มนุษย์ทั้งมวลจะมีจุดยืนเดียวกันกับฮาบีลที่ยอมศิโรราบและก้มหัวให้      กอบีลกระทำตามอารมณ์ชั่วโดยปราศจากการตอบโต้ใดๆ ทั้งสิ้น

ผู้ใดก็ตามที่ศึกษาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคมมนุษย์แล้ว จะพบว่า มนุษย์โดยส่วนมากแล้ว  มีสัญชาตญาณชอบทำชั่วและชอบเอาเปรียบผู้อื่น  พรรคพวกของกอบีลย่อมมีจำนวนที่มากกว่าผู้สนับสนุนฮาบีล  จนมีการเปรียบเทียบว่า  มนุษย์เปรียบเสมือนสุนัขจิ้งจอกที่เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมและฉ้อโกง

มีบางคนกล่าวว่า  มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่กระหายสงคราม  นายเมนาเฮ็ม  เบกิน  อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล  ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่มีชื่อว่า “ การปฏิวัติ ”  ที่เขาแต่งขึ้นก่อนการสถาปนาประเทศอิสราเอลว่า   “ ฉันทำสงคราม  ดังนั้นฉันจึงมีอยู่ ”

เป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะแกล้งทำเป็นทองไม่รู้ร้อนในข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งที่เป็นสิ่งที่ยอมรับของสังคมมนุษย์โดยทั่วไปที่ชอบแก้ปัญหาด้วยการชอบใช้กำลังมากกว่าการใช้สติ  พวกเขาจึงสมควรที่จะได้รับการตอบโต้ด้วยกำลังเช่นเดียวกัน

อัลกุรอานได้บอกให้มนุษย์ทราบว่า  อัลลอฮฺได้ประทานคัมภีร์และความยุติธรรมพร้อมๆ กันกับการประทานศาสนทูตแห่งพระองค์  นอกจากนี้แล้วพระองค์ยังประทานเหล็กเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งอีกด้วย  หรืออีกนัยหนึ่งพระองค์ต้องการประกาศให้มนุษย์ทราบว่าตราบใดที่มนุษย์ไม่สามารถรับทางนำด้วยคำยืนยันจากคัมภีร์และความยุติธรรมแล้ว  มนุษย์จึงจำเป็นต้องได้รับคำสั่งสอนด้วยกฎเหล็ก ดังปรากฏในอัลกุรอาน  ความว่า :

“ แน่แท้เราได้ส่งบรรดารสูลของเราพร้อมด้วยหลักฐานทั้งหลายอันชัดแจ้ง  และเราได้ประทานคัมภีร์และความยุติธรรม ลงมาพร้อมกับพวกเขา  เพื่อมนุษย์จะได้ดำรงอยู่บนความเที่ยงธรรม  และเราได้ให้มีเหล็กขึ้นมาเพราะในนั้นมีความแข็งแกร่งมากและยังประโยชน์มากมายสำหรับมนุษย์  และเพื่ออัลลอฮฺจะได้ทรงรู้ถึงผู้ช่วยเหลือพระองค์  และบรรดารสูลของพระองค์ (มีความเชื่อ) แท้จริงนั้นอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงพลัง  ผู้ทรงอำนาจ”  ( อัล-ฮะดีด : 25 )

ในความเป็นจริง  ชีวิตไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากปราศจากกองกำลังที่คอยทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์สัจธรรม  ตอบโต้ความเท็จ  เชิดชูความยุติธรรมและประกาศสงครามกับความอยุติธรรม  เพื่อจะได้ยับยั้งกอบีลไม่ให้เข่นฆ่าฮาบีล  และสิ่งเหล่านี้คือ ข้อเท็จจริงอันพึงปรารถนาที่นำเสนอโดยระบบจริยธรรมในอิสลาม  บทบัญญัติแห่งอิสลาม  และคำสอนแห่งอัลกุรอาน  ดังปรากฏในอัลกุรอาน    ความว่า :

 “ และหากพวกเจ้าจะลงโทษ  (ฝ่ายปรปักษ์) ก็จงลงโทษเยี่ยงที่พวกเจ้าได้รับโทษ และหากพวกเจ้าอดทน  แน่นอนมันเป็นการดียิ่งสำหรับผู้ที่อดทน  ”  ( อัน-นะหฺลุ : 1)



والله أعلم بالصواب



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น