อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันศุกร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แนวทางของอัลอัชอะรีย์หลังจากการกลับตัว (มีเพียงระยะเดียว หรือสองระยะ?)




บรรดาอุละมาอ์และนักวิจัยมีทัศนะที่แตกต่างกัน -หลังจากที่พวกเขามีมติเห็นพ้องเกี่ยวกับพัฒนาการระยะแรกของอัลอัชอะรีย์ในช่วงที่ดำเนินอยู่บนแนวทางของมุอฺตะซิละฮฺ- ว่าหลังจากที่อัลอัชอะรีย์กลับตัวจากแนวทางมุอฺตะซิละฮฺ ท่านได้ผ่านวิวัฒนาการเพียงระยะเดียวหรือสองระยะกันแน่? ซึ่งพอจะสรุปทัศนะต่างๆได้ดังนี้

- ทัศนะที่หนึ่ง หลังจากที่ท่านได้กลับตัวจากแนวทางมุอฺตะซิละฮฺ ท่านได้ผ่านวิวัฒนาการเพียงระยะเดียวเท่านั้น และในระยะนี้ท่านได้ยึดตามแนวทางของอิบนุกุลลาบ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของแนวทาง “กุลลาบิยะฮฺ” แต่ท่านยังมีทัศนะที่เป็นเอกเทศของตัวเองซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างแนวคิดของมุอฺตะซิละฮฺ (ผู้ปฏิเสธ) และแนวคิดของมุษบิตะฮฺ (ผู้ยืนยัน) และจากจุดนี้เองทำให้ก่อกำเนิดแนวทางอัลอัชอะรีย์ นี่เป็นทัศนะของบรรดาอะชาอิเราะฮฺ ส่วนเนื้อหาในหนังสืออัลอิบานะฮฺ บางทีพวกเขาจะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้และไม่เอ่ยถึงมัน หรือยอมรับแต่จะอธิบายการอิษบาต (ยืนยัน) ของอัลอัชอะรีย์ต่อคุณลักษณะต่างๆของอัลลอฮฺว่าเป็นการยืนยัน (อิษบาต) ตามแนวทางการ “ตัฟวีฎ” (มอบหมายอย่างสิ้นเชิงโดยไม่สามารถรับรู้ทั้งความหมายและวิธีการ) และมีความเชื่อว่าการอิษบาตแบบนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับการตะวีลหรือตีความต่อบางคุณลักษณะของอัลลอฮฺ (ดู อัลมิลัลวันนิหัลของอัสสิริสตานีย์ 1/93, ลิสานุลมีซานของอิบนุหะญัร 3/291) และในบรรดาอุละมาอ์อะชาอิเราะฮฺที่ให้การยืนยันว่าอัลอัชอะรีย์ดำเนินตามแนวทางของกุลลาบิยะฮฺในหนังสืออัลอิบานะฮฺของท่านคืออิบนุเฟาร็อกเชคของอัลบัยฮะกีย์ (ดู นักฎุอัตตะสีส 1/37-41 -เมนูสคริป)

ไม่เพียงอุละมาอ์อะชาอิเราะฮฺเท่านั้นที่ยืนยันถึงทัศนะนี้ แม้กระทั่งผู้ที่ไม่ใช่อะชาอิเราะฮฺบางท่านก็เห็นพ้องด้วย พวกเขากล่าวว่า “อัลอัชอะรีย์ได้ดำเนินตามแนวทางของอิบนุกุลลาบ แต่แนวทางของมุอฺตะซิละฮฺยังคงมีอิทธิพลต่อแนวคิดของอัลอะรีย์อยู่บ้าง ส่วนหนังสืออัลอิบานะฮฺพวกเขามีความเห็นว่า ถึงแม้ว่าเนื้อหาของมันจะใกล้เคียงกับแนวทางของสะลัฟอย่างมากในด้านแนวทางการนำเสนอและวิธีการยกหลักฐานอ้างอิงจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ แต่สิ่งที่อัลอัชอะรีย์ต้องการจะยืนยันคือสิ่งเดียวกับแนวทางเดิมของท่านก่อนหน้านั้น ดังนั้นแนวคิดของอัลอัชอะรีย์ที่บรรจุลงในหนังสืออัลอิบานะฮฺจึงไม่ได้แหวกแนวหรือขัดแย้งแต่อย่างใดกับแนวคิดที่ท่านได้บรรจุไว้ในงานเขียนของท่านก่อนหน้านั้น เนื้อหาที่ท่านเน้นในหนังสือ อัลลุมะอฺ ท่านจะไม่เน้นในหนังสือ อัลอิบานะฮฺ ดังนั้นระหว่างทั้งสองจึงไม่ได้ขัดแย้งกัน และในหนังสืออัลอิบานะฮฺเองก็ไม่ได้มีสิ่งที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าท่านได้กลับตัวจากแนวทางของอิบนุกุลลาบ วัลลอฮุอะอฺลัม

ส่วน ดร.ฟารูก ดุสูกีย์ ท่านกลับเห็นว่า อัลอัชอะรีย์ได้กลับตัวเพียงครั้งเดียว โดยที่ท่านกลับตัวสู่แนวทางของสะลัฟเลย และจุดยืนและแนวทางการนำเสนอของท่านไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ดังนั้น แนวทางของท่านในหนังสืออัลอิบานะฮฺจึงไม่ได้แตกต่างไปจากหนังสืออัลลุมะอฺ และนี่คือทัศนะของ ดร.เฟากียะฮฺในบทนำของหนังสืออัลอิบานะฮฺที่ท่านดำเนินการตะหฺกีก (ดูทัศนะของ ดร.ดุสูกีย์ใน อัลเกาะฎออ์วัลเกาะดัร 2/286-304 และ ดร.เฟากียะฮฺในอัลอิบานะฮฺ -บทนำ หน้า 91)
นี่คือสามทัศนะที่สอดคล้องกันตรงที่มีการยืนยันว่าอัลอัชอะรีย์ได้ผ่านวิวัฒนาการจากแนวทางของมุอฺตะซิละฮฺเพียงระยะเดียว เพียงแต่จะแตกต่างกันด้านแนวทางการอธิบายและวิเคราะห์เท่านั้นเอง

วัลลอฮุอะอฺลัม

ทัศนะที่สอง หลังจากที่อัลอัชอะรีย์ได้กลับตัวจากแนวทางมุอฺตะซิละฮฺ ท่านได้ผ่านวิวัฒนาการมาสองระยะ คือ
ก. ระยะกึ่งกลางระหว่างมุอฺตะซิละฮฺและสะลัฟ โดยจะดำเนินอยู่บนแนวทางของอิบนุกุลลาบ
ข. ระยะการอิษบาต (ยินยัน) และถอนตัวออกจากแนวทางของอิบนุกุลลาบ และดำเนินอยู่บนแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ ดังที่มีปรากฏในหนังสือ “อัลอิบานะฮฺ”
แต่บรรดาอุละมาอ์ที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้มีความขัดแย้งด้านความก่อนหลังของทั้งสองระยะ ดังนี้

ทัศนะแรก : เห็นว่าอัลอัชอะรีย์ได้ผ่านระยะกึ่งกลางระหว่างมุอฺตะซิละฮฺและสะลัฟ เป็นระยะแรก โดยท่านจะดำเนินอยู่บนแนวทางของอิบนุกุลลาบ ในระยะนี้ท่านได้ประพันธ์หนังสือที่หลากหลาย หลังจากนั้นท่านก็พลิกผันตัวเองอีกครั้งสู่แนวทางของสะลัฟ โดยผ่านงานเขียนของท่านที่ชื่อ “อัลอิบานะฮฺ” ซึ่งเป็นงานประพันธ์ในห้วงสุดท้ายของชีวิตที่เมืองแบกแดด
อิบนุกะษีรกล่าวว่า “พวกเขา (บรรดาอุละมาอ์) ได้กล่าวถึง อบูลหะสัน อัลอัชอะรีย์ ในสามสภาพ
1. สภาพของความเป็นมุอฺตะซิละฮฺซึ่งท่านได้กลับตัวจากแนวทางดังกล่าวอย่างไม่ต้องแน่นอน
2. สภาพของการอิษบาต (ยืนยัน) คุณลักษณะต่างๆที่เข้ากับปัญญา (อัสศิฟาตอัลอักลียะฮฺ) นั่นคือ อัลหะยาต (การมีชีวิต), อัลอิลมุ (การมีความรู้), อัลกุดเราะฮฺ (การมีความสามารถ), อัลอิรอดะฮฺ (การมีความประสงค์), อัลสัมอุ (การได้ยิน), อัลอัลบะเศาะรุ (การมองเห็น) และอัลกะลามุ (การพูด) และตีความ (ตะวีล) คุณลักษณะทางรายงาน (อัสศิฟาตอัลเคาะบะรียะฮฺ) เช่น อัลวัจญ์ฮุ (พระพักตร์), อัลยะดัยน์ (สองพระหัตถ์), อัลเกาะดะมุ (เท้า) และ อัสสาก (ขา) เป็นต้น
3. สภาพของการอิษบาต (ยืนยัน) ทั้งหมด (ทั้งคุณลักษณะที่เข้ากับปัญญาและทางรายงาน) โดยปราศจากการสร้างวิธีการ (ตักยีฟ) และการเทียบเคียง (ตัชบีฮฺ) ตามแนวทางของสะลัฟ และนี่คือแนวทางของท่านที่ระบุไว้ในหนังสือ “อัลอิบานะฮฺ” ที่ได้ประพันธ์ไว้หลังสุด” (เฏาะบะกอตอัชชาฟิอียะฮฺ ของอิบนุกะษีร 1/168, อิตติหาฟ อัสสาดะฮฺ อัลมุตตะกีน ของอัซซะบีดีย์ 2/4)
22 มกราคม 2012 เวลา 22:40 น. · ถูกใจ

ข้อแตกต่างระหว่าง อะห์ลุซซุนนะห์ กับ อะชาอิเราะห์ ในบรรดาอุละมาอ์ที่มีทัศนะดังกล่าว -นอกเหนือจากอิบนุกะษีรและอัซซะบีดีย์- ได้แก่ เชคมุหิบบุดดีน อัลเคาะฏีบในเชิงอรรถ อัรเราฎุลบาสิม หน้า 174, มะอาริญุลเกาะบูล 1/346, อัลมุนตะกอ หน้า 41, 43, เชค อะหมัด บิน หะญัร อาลบูฏอมี ใน อัลอะกออิด อัสสะละฟียะฮฺ 1/143, เชคมุหัมมัด บิน ศอลิหฺ อัลอุษัยมีน ใน อัลเกาะวาอิด อัลมุษลา หน้า 80-81, มุสตอฟา หิลมีย์ ใน อิบนุตัยมิยะฮฺ วะ อัตตะเศาวุฟ หน้า 16, เกาะวาอิด อัลมันฮัจญ์ อัสสะละฟีย์ หน้า 30, หัมมาด อัลอันศอรีย์ ใน อบูลหะสัน อัลอัชอะรีย์ และอบูลอะอฺลา อัลเมาดูดี ใน อบูลหะสัน อัลอัชอะรีย์

ทัศนะที่สอง : เป็นทัศนะที่ตรงข้ามกับทัศนะแรก นั่นคือ อัลอัชอะรีย์ได้เปลี่ยนไปตามนวทางสะลัฟก่อนในระยะแรก ซึ่งเป็นแนวทางของมัซฮับหันบะลีย์ และท่านได้ประพันธ์หนังสือ “อัลอิบานะฮฺ” ในสภาพที่เปี่ยมด้วยความกล้าหาญ กระตือรือร้น และปกป้อง หลังจากนั้น ท่านก็ได้พลิกผันตัวเองสู่ระยะสุดท้ายที่อยู่กึ่งกลางระหว่างแนวทางของสะลัฟและมุอฺตะซิละฮฺ (หมายถึงแนวทางของอิบนุกุลลาบ) และในช่วงนี้ท่านได้ประพันธ์หนังสือหลายเล่ม ในจำนวนนั้นคือหนังสือ “อัลลุมะอฺ”

ทัศนะของกลุ่มนี้วางอยู่บนพื้นฐานที่ว่าหนังสือ “อัลอิบานะฮฺ” ถูกประพันธ์ก่อนหนังสือ “อัลลุมะอฺ” นี่คือทัศนะของเชคอัลเกาษะรีย์ ดั่งที่ได้ระบุไว้ในคำบรรณาธิการของท่านใน ตับยีนกัซบิอัลมุฟตะรีย์ หน้า 392, อัลลุมอะฮฺ หน้า 57, เชคหัมมูดะฮฺเฆาะรอบะฮฺในบทนำ อัลลุมะอฺ หน้า 6-9, อิรฟาน อับดุลหะมีด ใน ดิรอสาตฟี อัลฟิร็อก วัลอะกออิด หน้า 148, ญะลาล มูซา ใน นัชอะตุลอัชอะรียะฮฺ หน้า 194-195, อะหมัด ศุบหีย์ ใน อัลอะชาอิเราะฮฺ หน้า 45-46, ดร.เฟากียะฮฺ ในบทนำ อัลอิบานะฮฺ หน้า 79-80, 90, และ อัสสะกอ ใน อัลลอฮฺ วะศิฟาตุฮุ หน้า 100-103) วัลลฮุอะอฺลัม


วิจารณ์ทัศนะต่างๆ

1. ในส่วนของทัศนะแรกและทัศนะที่สาม จะวางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า สิ่งต่างๆที่อัลอัชอะรีย์ได้เขียนไว้ในหนังสือต่างๆของท่านหลังจากที่ท่านได้กลับตัวจากแนวทางมุอฺตะซิละฮฺแล้ว คือแนวทางที่แท้จริงที่ท่านยืนหยัดและดำเนินอยู่จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต แต่บรรดาผู้ที่ติดตามแนวทางของอัลอัชอะรีย์ (อะชาอิเราะฮฺ) ในยุคหลังที่ได้หันเหออกจากแนวทางสะลัฟ เมื่อถูกสอบเกี่ยวกับทัศนะต่างๆที่ตนยึดมั่นและดำเนินอยู่ว่ามันค้านกับทัศนะของชนสะลัฟและค้านกับทัศนะของผู้นำของพวกเขา นั่นคืออบู อัลหะสัน อัลอัชอะรีย์ พวกเขาจะปฏิเสธและไม่ยอมรับ และจะอ้างว่า ทัศนะต่างๆของชนสะลัฟและอัลอัชอะรีย์ที่ได้กล่าวยืนยันหรือยอมรับ (อิษบาต) เกี่ยวกับคุณลักษณะต่างๆของอัลลอฮฺ เป็นการยอมรับแบบมอบหมายอย่างสิ้นเชิง (ตัฟวีฎ) ซึ่งการตัฟวีฎหรือมอบหมายอย่างสิ้นเชิงต่อหลักฐานต่างๆเหล่านั้น หรือตีความ (ตะวีล) เป็นอย่างอื่นที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสติปัญญา เป็นสิ่งที่สามารถทำได้และไม่ถือว่าผิดเพี้ยน

ส่วนทัศนะของ ดร.ฟารูก ดุสูกีย์ และบรรดาผู้ที่มีทัศนะเช่นเดียวกับท่าน วางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า อัลอัชอะรีย์เป็นผู้ที่อิษบาต (ผู้ยืนยันและยอมรับ) โดยท่านจะมีทัศนะตามทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺและทัศนะของอิหม่ามอะหมัด และการศึกษาในงานประพันธ์ต่างๆของท่านหลังจากที่ท่านกลับตัวจากแนวทางมุอฺตะซิละฮฺแล้ว อาทิ เนื้อหาในหนังสืออัลลุมะอฺกับหนังสืออัลอิบานะฮฺ เป็นต้น เป็นการศึกษาที่มีสาระและเนื้อหาที่ใกล้เคียงและสอดคล้องกัน (ไม่ได้ขัดแย้งกัน) จะแตกกันเพียงแนวทางและวิธีการนำเสนอเท่านั้นเอง เพราะเป้าหมายของการเขียนหนังสือ อัลลุมะอฺ ของอัลอัชอะรีย์ เพื่อจะตอบโต้บรรดาผู้ที่เบี่ยงเบนและอุตริ ส่วนอัลอิบานะฮฺ ท่านเขียนขึ้นมีเป้าหมายเพื่อชี้แจงถึงหลักฐานต่างๆของรากฐานแห่งศาสนา (อุศูลอัดดิยานะฮฺ) ดังนั้น จากการศึกษาและเปรียบเทียบ จึงได้ข้อสรุปว่า อัลอัชอะรีย์ได้กลับตัวสู่แนวทางของอิหม่ามอะหมัด

บางที ทัศนะนี้อาจจะเป็นทัศนะที่มีน้ำหนัก ถ้าหากว่าอัลอัชอะรีย์ไม่ได้ประพันธ์ตำราเล่มอื่นๆนอกจากอัลลุมะอฺและอัลอิบานะฮฺเท่านั้น แต่ทว่า ท่านยังมีงานประพันธ์เล่มอื่นๆอีกมากมายที่บ่งบอกว่า ท่านยังยืนยันอยู่บนทัศนะบางอย่างตามแนวทางของอิบนุกุลลาบที่ขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับแนวทางของแนวทางสะลัฟ ดังนั้น ทัศนะที่สามนี้จึงกลายเป็นทัศนะที่อ่อนอีกทัศนะหนึ่งโดยปริยาย วัลลอฮุอะอฺลัม


2. ส่วนทัศนะที่ 4 และ 5 ความแตกต่างของทั้งสองทัศนะนี้วางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ระหว่างหนังสืออัลอิบานะฮฺกับอัลลุมะอฺ หนังสือเล่มไหนถูกประพันธ์ก่อนกัน

ผู้ที่มีทัศนะว่าหนังสือ “อัลอิบานะฮฺ” เป็นหนังสือที่ถูกประพันธ์ไว้ก่อน “อัลลุมะอฺ” ได้อ้างหลักฐานและเหตุผลดังนี้

ก.คำพูดของอิบนุค็อลลิกาน หลังจากที่ท่านได้กล่าวถึงเรื่องราวการกลับตัวของอัลอัชอะรีย์ และถอดเสื้อที่สวมอยู่ออกจากร่างกายว่า “และท่านได้ส่งมอบหนังสือต่างๆที่ท่านได้ประพันธ์ไว้ตามแนวทางของกลุ่มฟุเกาะฮาอ์และมุหัดดิษีนแก่ประชาชน” (ดร.อิรฟาน อับดุลหะมีด, ดิรอสาตฟี อัลฟิร็อกวัลอะกออิด อัลอิสลามิยะฮฺ หน้า 148) และหนังสืออัลอิบานะฮฺเป็นหนึ่งในบรรดาหนังสือที่อัลอัชอะรีย์ได้ประพันธ์ไว้ตามแนวทางนี้ ดังนั้น อัลอิบานะฮฺจึงต้องเป็นหนังสือที่ถูกประพันธ์ก่อน อัลลุมะอฺ

ข.โดยธรรมเนียมแล้ว มนุษย์ทุกคนเมื่อเปลี่ยนแปลงจากความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งสู่อีกความเชื่อหนึ่ง เขาจะเป็นผู้ที่กระตือรือร้น และมุ่งมั่นกับความเชื่อที่ได้รับมาใหม่ อัลอัชอะรีย์เองก็เช่นเดียวกัน ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงด้านความเชื่อของท่าน ท่านจะมีความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นกับความเชื่อตามแนวทางของสะลัฟเป็นอย่างมาก ในช่วงดังกล่าวท่านจะทุ่มเทและหมกมุ่นอยู่กับการตอบโต้ความเชื่อตามแนวทางเดิมที่ท่านได้สลัดมันทิ้ง ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่อัลอัชอะรีย์จะประพันธ์หนังสืออัลอิบานะฮฺในระยะแรกนี้ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ท่านได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าท่านได้ยึดมั่นตามทัศนะของอิหม่ามอะหมัด บิน หันบัล (หัมมูดะฮฺ เฆาะรอบะฮฺ, อัลอัชอะรีย์ หน้า 67-68, บทนำของหนังสือ อัลลุมะอฺ หน้า 7-8, อัดดุสูกีย์, อัลเกาะฎออ์ วัลเกาะดัร 2/298, อะหมัด ศุบหีย์, อัลอะชาอิเราะฮฺ หน้า 45-46)

ค.ผู้ที่ศึกษาหนังสืออัลลุมะอฺจะพบว่า เป็นแนวการประพันธ์ที่อยู่ในช่วงที่ความคิดกำลังเฟื่องฟูและสุกงอม โดยท่านจะประพันธ์ด้วยวิธีการนำเสนอหลักฐานต่างๆก่อนเป็นอันดับแรก แล้วตามด้วยการวิจารณ์ที่เป็นระบบและลื่นไหล ดังนั้นจึงพบว่า อัลอัชอะรีย์ในงานประพันธ์เล่มนี้มีวิธีการวิพากษ์ โต้ตอบและชี้แจงที่หนักแน่นกว่าวิธีการนำเสนอของท่านในหนังสืออัลอิบานะฮฺ ดังนั้น หนังสือที่ท่านประพันธ์ไว้ในช่วงท้ายของชีวิต จึงน่าจะเป็น อัลลุมะอฺ ไม่ใช่อัลอิบานะฮฺ (นัชอะตุลอัชอะรียะฮฺ วะตะเฏาวุรุฮา หน้า 194-195, อัลเกาะฎออ์ วัลเกาะดัร 2/298)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น