ส่วนผู้ที่มีทัศนะว่า “อัลอิบานะฮฺ” คืองานประพันธ์เล่มสุดท้ายของอัลอัชอะรีย์ได้ยกหลักฐานต่างๆเพื่อยืนยันทัศนะของตนดังนี้
ก.รายงานของอิบนุอะสากิร จากอิบนัซเราะฮฺเกี่ยกวับเรื่องราวการกลับตัวของอัลอัชอะรีย์ ซึ่งมีเนื้อหาตอนหนึ่งกล่าวว่า “หลังจากนั้น ท่านได้ออกไปยังมัสญิดแล้วเดินขึ้นมินบัร และกล่าวว่า “โอ้ปวงชนทั้งหลาย แท้จริง เหตุที่ฉันได้หลบหน้าจากพวกท่านในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะฉันได้พิจารณาหลักฐานต่างๆที่ฉันมีอยู่ปรากฏว่าหลักฐานต่างๆเหล่านั้นมีความเท่าเทียมกัน และฉันไม่สามารถแยกแยะและตัดสินได้ว่าอันไหนจริงและอันไหนเท็จ ดังนั้นฉันจึงได้ขอให้อัลลอฮฺทรงชี้ทางนำฉัน และพระองค์ก็ได้ชี้นำฉันสู่ความเชื่อตามที่ฉันได้บรรจุมันไว้ในหนังสือต่างๆของฉันเหล่านี้ และฉันได้ถอนตัวออกจากความเชื่อทั้งหมดที่ฉันเคยยึดถือ เสมือนกับที่ฉันได้ถอดเสื้อของฉันตัวนี้ออกจากร่างกายของฉัน” แล้วท่านก็ถอดเสื้อออกจากตัว แล้วโยนมันทิ้ง และส่งมอบงานประพันธ์ชิ้นใหม่ของท่านแก่ปวงชน และในจำนวนงานประพันธ์เหล่านั้นมีหนังสือ “อัลลุมะอฺ” รวมอยู่ด้วย และหนังสือที่เปิดโปงข้อตำหนิและความบกพร่องของมุอฺตะวิละฮฺ ท่านให้ชื่อว่า “กัชฟุลอัสรอรฺ มะฮัตกุลอสตาร” และหนังสือเล่มอื่นๆ (อัตตับยีน หน้า 39) นี่คือหลักฐานที่บ่งบอกว่าหนังสืออัลลุมะอฺถูกประพันธ์ก่อนอัลอิบานะฮฺ
ข.เมื่อครั้งที่อัลอัชอะรีย์กล่าวถึงงานประพันธ์ต่างๆของท่านในหนังสือ “อัลอุมัด” ท่านไม่ได้ระบุหนังสืออัลอิบานะฮฺในจำนวนงานประพันธ์ของท่าน ในขณะที่อิบนุเฟาร็อกระบุว่างานประพันธ์ดังกล่าวท่านได้ประพันธ์ขึ้นในปี 320 ฮ.ศ. หมายความว่า ถูกประพันธ์ 4 ปีก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตตามทัศนะของอิบนุเฟาร็อก ดังนั้น ถ้าหากว่าหนังสืออัลอิบานะฮฺเป็นหนึ่งในจำนวนงานประพันธ์ของท่านก่อนหน้านั้น ท่านย่อมต้องระบุหนังสืออัลอิบานะฮฺรวมอยู่ในจำนวนหนังสือเหล่านั้นด้วย อิบนุเฟาร็อกก็เช่นกัน เมื่อครั้งที่ท่านได้เพิ่มเติมงานประพันธ์ของอัลอัชอะรีย์หลังจากนั้น ท่านก็ไม่ได้กล่าวถึงหนังสืออัลอิบานะฮฺเช่นกัน แต่อิบนอะสากิรผู้ซึ่งคัดลอกมาจากอิบนุเฟาร็อกกลับระบุชื่อหนังสืออัลอิบานะฮฺรวมอยู่ในบรรดางานประพันธ์ของอัลอัชอะรีย์ และท่านยังได้ยกเนื้อหาบางส่วนจากหนังสืออัลอิบานะฮฺมาอ้างด้วย นี่เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า หนังสืออัลอิบานะฮฺคืองานประพันธ์เล่มสุดท้ายของอัลอัชอะรีย์ ในขณะที่อัลอัชอะรีย์เองกลับกล่าวถึงหนังสืออัลลุมะอฺในจำนวนงานประพันธ์ของท่าน ซึ่งเป็นอีกหลักฐานหนึ่งที่บ่งชี้ว่าหนังสืออัลลุมะอฺถูกประพันธ์ขึ้นก่อนอัลอิบานะฮฺ (อัตตับยีน หน้า 128-135)
ค.เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างอัลอัชอะรีย์กับอัลบัรบะฮารีย์เชคหันบะลีย์ (ต.328 ฮ.ศ.) ที่แบกแดด ดังที่อบูยะอฺลาได้เล่าไว้ว่า “หลังจากที่อัลอัชอะรีย์ได้เข้าไปยังแบกแดด ท่านได้ไปหาอัลบัรบะฮารีย์ และกล่าวแก่ท่านว่า “ฉันได้ตอบโต้อัลญุบบาอีย์ และอบูฮาชิม และฉันได้วิพากษ์พวกเขาและชาวยิว นะศอรอว์ และมะญูสีย์...” พออัลอัชรีย์พูดจบ อัลบัรบะฮารีย์จึงกล่าวขึ้นว่า “ฉันไม่เข้าใจเลยแม้แต่นิดในสิ่งที่เจ้าพูด และเราไม่รู้นอกจากสิ่งที่อบูอับดิลลาฮฺ อะหมัด บิน หันบัลได้พูดไว้” ดังนั้น อัลอัชอะรีย์จึงจากอัลบัรบะฮารีย์ไป และประพันธ์หนังสืออัลอิบานะฮฺ แต่อัลบัรบะฮารีย์ก็ไม่ยอมรับ ดังนั้นท่านจึงไม่ปรากฎตัวในสังคมจนกระทั่งท่านเดินทางออกจากแบกแดก” (เฏาะบะกอต อัลหะนาบิละฮฺ 2/18, สิยัรอะอฺลาม อันนุบะลาอ์ 15/90) แต่อิบนอุสากิรระบุว่า “เป็นรายงานที่อ่อน โดยเฉพาะคำกล่าวตอนท้ายที่ว่า “ดังนั้นท่านจึงไม่ปรากฎตัวในสังคมจนกระทั่งท่านเดินทางออกจากแบกแดก” เพราะหลังจากที่อัลอัชอะรีย์เดินทางเข้าแบกแดก ท่านก็ไม่ได้เดินทางออกไปไหนจนกระทั่งท่านเสียชีวิตที่นั่น” (อัตตับยีน หน้า 391) จะเห็นได้ว่า อิบนุอะสากิรเองก็ไม่ได้ปฏิเสธถึงการมาทีหลังของหนังสืออัลอิบานะฮฺ ท่านเพียงแต่ปฏิเสธเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางออกจากแบกแดกของอัลอัชอะรีย์เท่านั้นเอง วัลลอฮุอะอฺลัม
มีอุละมาอ์จำนวนหนึ่งที่มีทัศนะว่าหนังสืออัลอิบานะฮฺคืองานประพันธ์เล่มสุดท้ายของอัลอัชอะรีย์ ในจำนวนอุละมาอ์เหล่านั้นได้แก่
1.อิมามอัลกุรรออ์ อบูอะลี อัลหะสัน บิน บิน อะลี บิน อิบรอฮีม อัลฟาริสีย์ (ดู ริสาละฮฺฟี อัซซับ อัน อบีอัลหะสัน อัลอัชอะรีย์ ของอิบนุดิรบาส หน้า 115)
2.อบู อัลกอสิม อับดุลมะลิก บิน อีซา บิน ดิรบาส (ต.605 ฮ.ศ.) (ดู ริสาละฮฺฟี อัซซับ อัน อบีอัลหะสัน อัลอัชอะรีย์ ของอิบนุดิรบาส หน้า 107)
3.อิบนุตัยมิยะฮฺ (อัลมัจญ์มูอฺ 5/93, 6/359)
4.อิบนุก็อยยิม อัลเญาซียะฮฺ (มุคตะศ็อร อัสเศาะวาอิก 2/136)
5.อิบนุลอะมาด อัลหันบะลีย์ (ชะซะรอต อัซซะฮับ 2/303)
6.อิบนุกะษีร (เฏาะบะกอต อัชชาฟิอียะฮฺ 1/210)
7.เชคอิบรอฮีม บิน มุศเตาะฟา อัลหะละบีย์ (ต.1190 ฮ.ศ.) (อัลลัมอะฮฺ ฟี ตะหฺกีก มะบาหิษ อัลวุญูด วัลหุดูษ วัลก็อดริ วะอัฟอาล อัลอิบาด หน้า 57)
8.เชคอิบรอฮีม บิน หะสัน อัลกูรอนีย์ (ต.1101 ฮ.ศ.) (หน้า 36)
9.เชคคอลิก อัลนักชะบันดีย์ อัชชาฟิอีย์ (ญะลาอุลอัยนัยน์ หน้า 157)
10.เชคนุอฺมาน ค็อยรุดดีน อัลอะลูสีย์ (ญะลาอุลอัยนัยน์ หน้า 462)
11.เชคมุหิบบุดดีน อัลเคาะฏีบ (เชิงอรรถหนังสืออัลมุนตะกอ หน้า 41, 43) และท่านอื่นๆ
อุละมาอ์เหล่านี้ต่างระบุว่า หนังสืออัลอิบานะฮฺ คืองานประพันธ์เล่มสุดท้ายของอัลอัชอะรีย์ และมีนักศึกษาวิจัยจำนวนหนึ่งที่ให้น้ำหนักกับทัศนะนี้ ในจำนวนท่านเหล่านั้น ได้แก่
-รอญิหฺ อัลกุรดีย์ ในหนังสือ อะลากอต ศิฟาติลลาฮฺ ตะอาลา บิซาติฮฺ หน้า 142
-มุหัมมัด อะหมัด มะหฺมูด ในหนังสืออัลหะนาบิละฮฺ ฟีบัฆดาด หน้า 186
-ริฎอ นะอฺสาน ในหนังสือ อะลากอต อัลอิษบาตร วะ อัตตัฟวีฎ หน้า 41-44
-โกลด์ ชีเฮอร์ ในหนังสือ อัลอะกีดะฮฺ วะอัชชะรีอะฮฺ ฟี อัลอิสลาม หน้า 122
นี่คือหลักฐานอย่างสรุปของผู้ที่มีทัศนะว่าหนังสืออัลอิบานะฮฺถูกประพันธ์หลังหนังสืออัลลุมะอฺ ซึ่งจะพบว่ามีน้ำหนักกว่าทัศนะที่ว่าหนังสืออัลลุมะอฺถูกประพันธ์หลังหนังสืออัลอิบานะฮฺ และยังเป็นการตอกย้ำถึงความอ่อนของทัศนะที่ว่า อัลอัชอะรีย์กลับตัวสู่แนวทางสะลัฟก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นท่านก็ยืนหยัดอยู่บนแนวทางสายกลาง หรือแนวทางอิบนุกุลลาบ วัลลอฮุอะอฺลัม
จากการวิจารณ์ที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์ว่าทัศนะที่ 1 เป็นทัศนะที่อ่อน พร้อมกันนั้น ยังไม่ได้อยู่ในกรอบของความขัดแย้งที่กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งทัศนะนี้วางอยู่บนข้ออ้างที่ว่า อัลอัชอะรีย์ทำการตะวีล (ตีความ) คุณลักษณะด้านการรายงาน (ศิฟาตเคาะบะรียะฮฺ) หรืออ้างว่าท่านมีทัศนะแบบมอบหมาย (ตัฟวีฎ) หรือเอาใจอุละมาอ์สายหันบะลีย์เมื่อครั้งที่ท่านประพันธ์หนังสืออัลอิบานะฮฺ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเนื้อหาตรงๆของหนังสืออัลอิบานะฮฺมิได้เป็นทัศนะที่ท่านยึดมั่นอยู่แต่อย่างใด ทั้งหมดนั้นก็เพื่อที่จะปฏิเสธวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นกับอัลอัชอะรีย์ เมื่อครั้งที่ชาวอะชาอิเราะฮฺได้เบี่ยงเบนและหันเหออกจากทัศนะของอัลอัชอะรีย์อย่างมากมาย เช่นเดียวกับที่ได้ชี้แจงไปแล้วว่าทัศนะที่ 3 และ 5 เป็นทัศนะที่อ่อน
หลักฐานของทัศนะที่ 2 และคำวิจารณ์
ส่วนผู้ที่มีทัศนะที่ว่าท่านยังคงดำเนินอยู่ตามแนวทางอิบนุกุลลาบ และยังไม่ได้กลับตัวอย่างสมบูรณ์ ในบรรดาอุละมาอ์ที่มีทัศนะนี้ได้แก่ อิบนุหัซมิน (อัลฟัศลุ 3/25), อับดุลญับบาร อัลฮะมะดารชนีย์ (ชัรหฺ อัลอุศูล อัลค็อมสะฮฺ หน้า 528), อิบนุ อบี อัลอิซฺ (ชัรหฺ อัตเฏาะหาวิยะฮฺ หน้า 180), อิบนุตัยมิยะฮฺ และอิบนุก็อยยิม
1. อิบนุตัยมิยะฮฺกล่าวว่า “หลังจากที่อบู อัลหะสัน อัลอัชอะรีย์กลับตัวจากแนวทางมุอฺตะซิละฮฺ ท่านได้ดำเนินตามแนวทางอิบนุกุลลาบ และเอนเอียงไปทางแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ และอัลหะดีษ พร้อมทั้งพาดพิงไปยังอิหม่ามอะหมัด ดังที่ท่านได้กล่าวไว้ในงานประพันธ์ต่างๆของท่าน อาทิ อัลอิบานะฮฺ, อัลมูญัซ, อัลมะกอลาต เป็นต้น ท่านชอบที่จะคลุกคลีกับอะฮฺลุสสุนนะฮฺและอัลหะดีษเสมือนกับการคลุกคลีของมุตะกัลลิม (นักตรรกะ) กับพวกเขา” (ดัรอุอัตตะอารุฎ 2/16)
ส่วนอิบนุก็อยยุมก็เห็นด้วยกับทัศนะของอิบนุตัยมิยะฮฺดังกล่าว(อิจญ์ติมาอฺอัลญุยูซฺอัลอิสลามิยะฮฺ หน้า 181)
2. อิบนุตัยมิยะฮฺกล่าวว่า “และบรรดาอิหม่ามชาวสุนนะฮฺพวกเขาจะปฏิเสธอิบนุกุลลาบและอัลอัชอะรีย์ด้านแนวคิดบางอย่างของญะฮฺมิยะฮฺและมุอฺตะซิละฮฺที่ยังหลงเหลือ (และมีอิทธิพลต่อทั้งสอง) อาทิ ความเชื่อด้านความถูกต้องของแนวทางอะอฺรอฎ (คุณลักษณะที่ไม่มีตัวตนและต้องพึ่งพาสิ่งอื่นที่มีตัวตน (เญาฮัร) อาทิ สี กลิ่น รส -อัรรอฆิบ-) และส่วนประกอบของร่างกายหรือมวลสาร...และอื่นๆที่เป็นปัญหาที่ยุ่งยากสำหรับบรรดาผู้ที่รอบรู้เรื่องอัสสุนนะฮฺ อัลหะดีษ และทัศนะต่างๆของชนสะลัฟและบรรดาอิมหม่ามต่างๆมากกว่าอัลอัชอะรีย์ เช่น อัลหาริษ อัลมุหาสิบีย์, อบู อะลี อัสษะเกาะฟีย์ และอบู บะกัร บิน อิสหาก อัสเศาะบะฆีย์...” (ดัรอุอัตตะอารุฎ 7/97)
3. จากอิบนุตัยมิยะฮฺหลังจากยกอ้างทัศนะของผู้ที่มีทัศนะเกี่ยวกับกะลามุลลอฮฺ (คำตรัสของอัลลอฮฺ) ว่า “หุรูฟหรืออักขระอัลกุรอานไม่ใช่คำตรัสของอัลลอฮฺ เพราะแท้จริงคำตรัสของอัลลอฮฺนั้นคือความหมายที่ยืนหยัดด้วยตนเอง นั่นคือ คำสั่งใช้ คำสั่งห้าม และการแจ้งข่าว” ท่านก็กล่าววิพากษ์ว่า “ทัศนะนี้ผู้แรกที่อุตริมันขึ้นมาคืออิบนุกุลลาบ แต่พร้อมกันนั้น ท่านเองและบรรดาผู้ที่ติดตามท่าน อาทิ อัลอัชอะรีย์ และอื่นๆ กลับกล่าวว่า “อัลกุรอานถูกรักษาไว้ในจิตใจอย่างแท้จริง ถูกอ่านด้วยลิ้นอย่างแท้จริง และถูกบันทึกลงในคัมภีร์อย่างแท้จริง...” (มัจญ์มูอฺ อัลฟะตาวา 8/424)
นี่คือหลักฐานสำคัญยิ่งที่บ่งชี้ถึงทัศนะของอิบนุตัยมิยะฮฺเกี่ยวกับหลักฐานนี้ซึ่งมีระบุในหนังสืออัลอิบานะฮฺ ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาหลักฐานต่างๆของผู้มีทัศนะว่าท่านอัลอัชอะรีย์กลับตัวจากแนวทางของอิบนุกุลลาบสู่ทัศนะของอะฮฺลุสสุนนะฮฺ
4. อิบนุก็อยยิมได้กล่าวถึงทัศนะต่างๆเกี่ยวกับกะลามุลลอฮฺ และในจำนวนนั้น ท่านได้กล่าวถึงทัศนะของอัลอัชอะรีย์ด้วย ท่านกล่าวว่า “แนวทางที่ห้า คือแนวทางของอัลอัชอะรีย์ และผู้ที่เห็นพ้องกับท่าน นั่นคือ กะลามุลลอฮฺ คือความหมายเดียวที่ยืนหยัดด้วยซาตของพระผู้อภิบาล ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่คงอยู่แต่ดั้งเดิม (เกาะดีมะฮฺ อะซะลิยะฮฺ) ไม่ได้อยู่ในรูปของอักขระและเสียง ไม่มีการแบ่งแยก และชิ้นส่วน...” (มุคตะศ็อรอัสเศาะวาอิกฺ 2/291)
5. อิบนุตัยมิยะฮฺไม่ได้จัดทัศนะต่างๆของอัลอัชอะรีย์ไว้ในบรรทัดฐานเดียวกันทั้งหมดในด้านความใกล้ชิดกับแนวทางสะลัฟ ท่านมีทัศนะว่า หลังจากที่อัลอัชอะรีย์เดินทางเข้าแบกแดด ท่านได้รับเอาสิ่งอื่นจากที่ท่านได้รับที่บัศเราะฮฺจากแนวทางของอะฮฺลุสสุนนะฮฺด้วย ท่านกล่าวว่า “อัลอัชอะรีย์ ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นหนึ่งในบรรดาสานุศิษย์ของแนวทางมุอฺตะซิละฮฺ แล้วกลับตัวจากแนวทางนั้น เพราะท่านเป็นลูกศิษย์ของอัลญุบบาอีย์ และโน้มเอียงไปทางแนวทางของอิบนุกุลลาบ และได้ศึกษาวิชาการหะดีษจากซะกะรียา อัสสาญีย์ที่บัศเราะฮฺ ต่อมาหลังจากที่ท่านเดินทางไปยังแบกแดด ท่านได้ศึกษาเพิ่มเติมกับอุละมาอ์หันบะลีย์ ซึ่งเป็นจุดยืนสุดท้ายของท่าน ตามที่ท่านและบรรดาสหายของท่านได้กล่าวไว้ในตำราของพวกเขา” (มัจญ์มูอฺ อัลฟะตาวา 3/228)
ดังนั้น สถานะของหนังสืออัลอิบานะฮฺตามทัศนะของอิบนุตัยมิยะฮฺ จึงแตกต่างจากหนังสืออื่นๆที่ท่านได้ประพันธ์ไว้ก่อนหน้าที่ท่านเดินทางไปยังแบกแดด
จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงพอสรุปหลักฐานของผู้ที่มีทัศนะว่าอัลอัชอะรีย์ยังคงดำเนินตามแนวทางของอิบนุกุลลาบอยู่จงบจนวาระสุดท้ายของชีวิตได้ดังนี้
1. อัลอัชอะรีย์ไม่ได้ระบุในหนังสืออัลอิบานะฮฺว่าท่านได้กลับตัวจากแนวทางอิบนุกุลลาบแล้ว ส่วนทัศนะของท่านเกี่ยกวับปัญหาอัลกุรอานและคำตรัสของอัลลอฮฺนั้น ท่านเพียงแค่เน้นด้านการวิพากษ์ทัศนะของมุอฺตะวิละฮฺที่มีทัศนะว่าอัลกุรอานเป็นมัคลูก (สิ่งที่ถูกสร้าง) เพราะถ้าหากท่านมีทัศนะว่าคำพูดหรือแนวทางของอิบนุกุลลาบเกี่ยวกับสถานะของอัลกุรอาน -ที่ท่านยึดตามอยู่- เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ท่านย่อมต้องกล่าววิพากษ์และกล่าวว่าเป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้องตามไปด้วย ดังนั้น จึงเป็นการบ่งชี้ว่า ทัศนะต่างๆของท่านที่สอดคล้องกับจุดยืนของอะฮฺลุสสุนะฮฺไม่ได้ขัดแย้งกับสิ่งที่ท่านยึดมั่นที่รับมาจากแนวทางของอิบนุกุลลาบ
2. ถ้าหากว่าอัลอัชอีย์กลับตัวสู่แนวทางสะลัฟอย่างเต็มรูปแบบจริง แน่นอนว่าอุละมาอ์อะฮฺลิสสุนนะฮฺบางท่านคงไม่จะตำหนิและปฏิเสธทัศนะหรือจุดยืนบางอย่างของท่านที่ค้านกับทัศนะของชนสะลัฟ วัลลอฮุอะอฺลัม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น