อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

หลักประกันที่มั่นคง


ท่ามกลางข้อขัดแย้งที่ต่างก็อ้างความถูกต้องชอบธรรมนั้น หากไม่มีอะไรเป็นมาตรฐานวัดความถูกผิดละก็ คนในสังคมก็จะชี้นิ้วเข้าหากัน โดยต่างฝ่ายต่างก็ประณามซึ่งกันและกันและอ้างว่า ข้าถูกเอ็งผิด แต่ในสภาวการณ์เช่นนี้ ผู้ศรัทธาย่อมจะต้องเป็นผู้ที่รอดและปลอดภัยเสมอ เพราะมาตรฐานวัดความถูกผิดและเป็นหลักประกันที่มั่นคงนั้น ได้ถูกระบุไว้ในอัลกุรอานและฮะดีษของท่านรอซูลแล้ว

พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกล่าวว่า

يَأيُّهَا اَّلدِيْنَ آمَنُوا أَطِيْعُوا اللهَ وَأَطِيْعُوا الَّرسُوْلَ وَأُوْلِى الأَمْرِ مِنْكُمْ فَاِنْ تَنَازَعْتُمْ فِى شَئّ ٍفَرُدُّوْهُ اِلىَ اللهِ وَالَّرسُوْلِ

"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงภักดีต่ออัลลอฮ์และจงภักดีต่อรอซูล และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้า แต่หากพวกเจ้าขัดแย้งกันในเรื่องใด ก็จงนำเรื่องพิพาทนั้นกลับไปหาอัลลอฮ์และรอซูล" ซูเราะห์อันนิซาอ์ อายะห์ที่ 59

บนพื้นฐานของการภักดีนั้น ผู้ศรัทธาย่อมจะต้องน้อมรับคำบัญชาของพระองค์อัลลอฮ์โดยไม่มีข้อกังขาแต่อย่างใด ไม่ว่าการกลับไปตรวจสอบข้อบัญญัติจากอัลกุรอานและจากอัลฮะดีษนั้นจะตรงใจเขาหรือไม่ก็ตาม และเขาก็จะไม่เลือกเอาเฉพาะข้อบัญญัติที่ถูกใจตัวเองเท่านั้น

ในอายะห์ข้างต้นนี้กล่าวถึงข้อบัญญัติจากสองแหล่งด้วยกัน คืออัลกุรอาน และอัลฮะดีษหรือซุนนะห์ของท่านรอซูล แม้ว่าตอนขึ้นต้นอายะห์นั้นจะได้กล่าวถึงผู้นำด้วย แต่เมื่อเกิดข้อพิพาทก็ไม่ได้สั่งให้กลับไปยึดผู้นำเป็นมาตรฐานในการชี้ถูกหรือผิด ทั้งนี้เพราะผู้นำและผู้ตามก็ต้องอยู่ภายใต้บรรทัดฐานของการภักดีต่ออัลลอฮ์และการภักดีต่อท่านรอซูลเช่นเดียวกัน

ท่านนบีมูฮัมหมัด ศอ็ลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า
أُوْصِيْكُمْ بِتَقْوَى اللهِ وَالسَمْعِ وَالطَاعَةِ وَاِنْ عَبْدٌ حَبَشِيٌّ فَاِنَّهُ مَنْ يَعِشْ مِنْكُمْ يَرَى اِخْتِلاَفًا كَثِيْرًا وَاِيَّاكُمْ وَمُحْدَثَاتِ الأُمُوْرِ فَاِنَّهَا ضَلالَةٌ فَمَنْ أَدْرَكَ دَلِكَ مِنْكُمْ فَعَلَيْهِ بِسُنَّتِي وَسُنَّةِ الخُلَفَاءِ الرَاشِدِيْنَ المَهْدِيِيْنَ عَضُّوا عَلَيْهَا بِالنَوَاجِدِ

"ฉันขอสั่งเสียพวกท่านให้ยำเกรงต่ออัลลออ์ พร้อมทั้งเชื่อฟังและภักดี และหากผู้นำในหมู่พวกเจ้าจะเป็นบ่าวจากเอธิโอเปียก็ตาม หากผู้ใดมีชีวิตอยู่ต่อจากฉันเขาจะได้เห็นการขัดแย้งมากมาย และพวกท่านทั้งหลายพึงระวังสิ่งใหม่ในศาสนา เพราะมันคือความหลงผิด ฉะนั้นผู้ใดในหมู่พวกท่านได้ประสบเหตุการณ์นี้ ก็จงยึดซุนนะห์ของฉันและซุนนะห์ของบรรดาคอลีฟะห์ที่ปราชญเปรื่องที่ได้รับทางนำ พวกเจ้าจงยึดมันไว้ด้วยฟันกราม" สุนันอัตติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 2600

และข้างต้นนี้เป็นทางออกอีกประการหนึ่งที่ท่านรอซูลได้ชี้ให้เห็นว่า มุสลิมคนใดที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง และอุตริกรรมในศาสนา หน้าที่ของเขาก็คือ ยึดเอาซุนนะห์ของท่านรอซูล และซุนนะห์ของบรรดาค่อลีฟะห์ไว้อย่างมั่นคง จนกระทั่งท่านนบีเปรียบว่าให้ยึดด้วยกับฟันกราม

ก่อนหน้านี้เราได้รับทราบถึงมาตรฐานสองประการที่จะทำให้รอดปลอดภัยคือ อัลกุรอ่านและซุนนะห์ของท่านรอซูล แต่ในฮะดีษข้างต้นนี้เราได้รับข้อมูลเพิ่มเติมอีกหนึ่งประการคือ ซุนนะห์ของบรรดาค่อลีฟะห์ ซึ่งถือเป็นมาตรวัดในลำดับที่สาม โดยคำว่าซุนนะห์ของบรรดาค่อลีฟะห์ หรือแนวทางของบรรดาค่อลีฟห์ในบางเรื่องที่ได้กระทำแตกต่างไปจากซุนนะห์ของท่านรอซูลก็ถือว่าเป็นที่ปรับทางศาสนาด้วย เนื่องจากท่านรอซูลให้การรับรอง และซุนนะห์ของบรรดาค่อลีฟะห์นี้ถือเป็นบทเฉพาะกาล หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ก็ให้กลับไปยึดเอาซุนนะห์ของท่านรอซูลก่อนเป็นประการแรก

เรายังไม่พบตัวบทหลักฐานใดๆเลย ที่บอกว่า หากเกิดการขัดแย้งให้กลับไปเอาตำราประวัติศาสตร์เป็นมาตรวัดความถูกผิด เพราะไม่มีตำราเล่มใดในโลกที่จะเทียบเท่าหรือถูกต้องกว่าอัลกุรอานและฮะดีษของท่านรอซูล

......................................
โดยอาจารย์ฟารีด เฟ็นดี้

Sulaimarn Darakai โพส





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น