พระองค์อัลลอฮฺ (ศุบฮานะฮูวะตะอาลา) ตรัสว่า
"พระองค์ผู้ทรงมหาบริสุทธิ์ยิ่งนัก พระองค์ผู้ทรงนำบ่าวของพระองค์(มุฮัมมัด) ให้เดินทางในยามค่ำคืนจากมัสยิดอัลฮะรอมสู่มัสยิดอัลอักซอ ซึ่งเราได้ให้ความสิริมงคลแก่รอบ ๆ ของมัน ทั้งนี้เพื่อเราจะให้เขามองเห็นบางส่วนแห่งสัญลักษณ์ของเรา แท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้ได้ยินยิ่ง อีกทั้งทรงมองเห็นยิ่ง" (อัลกุรอาน สุเราะฮฺอัลอัสรออฺ :1)
อุลามาอฺอิสลามจำนวนมากมีทัศนะว่าเหตุการณ์อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นก่อนการอพยพ 1 ปี นั่นคือ ปีที่ 12 แห่งความเป็นศาสนทูตของท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม
ส่วนเดือนที่มีการอิสรออฺและมิอฺรอจญ์นั้น รายงานที่ดีที่สุดระบุว่าเหตุการณ์อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นในเดือนเราะบีอุลเอาวัล โดยที่ อิบนิอับบาส และญาบิร (รอฎิยัลลอฮุอันฮุมา) กล่าวว่า
(وُلِدَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَامَ الْفِيْلِ يَوْمَ الاِثْنَيْنِ الثَّانِي عَشَرَ مِنْ رَبِيْعِ الأَوَّلِ، وَفِيْهِ بُعِثَ، وَفِيْهِ عُرِجَ بِهِ إِلَى السَّمَاءِ، وَفِيْهِ هَاجَرَ، وَفِيْهِ مَاتَ)
“รสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถูกให้กำเนิดในปีช้าง วันจันทร์ที่ 12 เดือนเราะบีอุลเอาวัล ในเดือนนี้ท่านถูกแต่งตั้งเป็นรสูล และในเดือนนี้ท่านถูกพาขึ้นสู่ฟากฟ้า (มิอฺรอจญ์) และในเดือนนี้ท่านเดินทางฮิจญ์เราะฮฺ (สู่มหานครมะดีนะฮฺ) และในเดือนนี้ (อีกเช่นกัน) ท่านได้เสียชีวิตลง” (บันทึกโดยอิบนุ อบีชัยบะฮฺ ในอัลมุศ็อนนัฟ และอัลญูซกอนีย์ ในอัลอะบาฏิล เล่ม 1 หน้า 126 ด้วยสายรายงานที่เศาะหีหฺตามเงื่อนไขของอัลบุคอรีย์ (ดูหนังสือ ตารีฆเมาลิด อันนะบี ของฏ็อรฮุนีย์))
นี่คือทัศนะของอุลามาอฺผู้สอบสวนพิสูจน์ส่วนใหญ่ เช่น อัซซุฮฺรีย์ และอุรวะฮ์ และนี่แหละคือทัศนะที่ถูกต้อง วัลลอฮุอะลัม
ยังมีอีกทัศนะหนึ่งที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางของผู้คนส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าสายรายงานของมันจะไม่เศาะหีหฺก็ตาม หนำซ้ำอุลามาอฺหะดีษบางท่านยังถือว่าเป็นรายงานปลอมอีกด้วย นั่นคือทัศนะที่ว่า เหตุการณ์อิสรออฺและมิอฺรอจญ์เกิดขึ้นในค่ำคืนที่ 27 ของเดือนเราะญับ (ดู อัลบิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 109, ฟัตหุลบารีย์, เล่ม 7 หน้า 204)
ละหมาดรอฆออิบ
หลักฐานเก๊ที่เป็นหะดีษปลอม อ้างว่า นบีกล่าวว่า
" ระญับเดือนของอัลลอฮฺ ชะอฺบานเดือนของฉัน รอมฎอนคือเดือนของประชาชาติของฉัน ไม่มีผู้ใดที่ถือศีลอดในวันพฤหัสแรกของเดือนระญับและละหมาดช่วงมัฆริบและอิซา(คืนศุกร์) จำนวน 12 ร็อกอัต ทุกร็อกอัตอ่านฟาติหะฮฺ 1 ครั้ง และ انا انزلناه في ليلة القدر จำนวน 3 ครั้ง และ قل هو الله احد จำนวน12 ครั้ง ทุกๆ 2 ร็อกอัต มี 1 สลาม หลังละหมาดเสร็จเขากล่าวเศาะละวาตจำนวน 70 ครั้ง และเขาดุอาตามตามที่เขาต้องการ ยกเว้นดุอาเขาจะถูกตอบรับ"
อิบนุกะษีร (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. 774) กล่าวว่า
“ส่วนบางคนเข้าใจว่าเหตุการณ์อิสรออฺเกิดขึ้นในช่วงต้นของคืนวันศุกร์ ในเดือนเราะญับ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของคืน (อัรเราะฆออิบ) ซึ่งแปลว่า “ของขวัญอันมีค่า” ซึ่งได้มีการประดิษฐ์ละหมาดเราะฆออิบที่เป็นที่รู้จักกันในค่ำคืนนั้น โดยที่ทัศนะดังกล่าวไม่มีต้นตอ หรือที่มาและหลักฐานใดๆสนับสนุนเลย” (ดู อัลบิดายะฮฺ วันนิฮายะฮฺ, เล่ม 3 หน้า 109, ละหมาดเราะฆออิบนี้เป็นละหมาดที่อุตริที่น่ารังเกียจยิ่ง และได้รับการปฏิเสธจากบรรดาอุละมาอฺอิสลาม เช่นอันนะวะวีย์ และอัสสะยูฏีย์ เป็นต้น (ดู ชัรห์เศาะหีหฺมุสลิม, เล่ม 8 หน้า 20, อัลอัมรุ บิลอิตติบาอฺ วันนะฮฺยุ อัน อัลอิบติดาอฺ, หน้า 167))
อบูชามะฮฺ (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. 665) (ดู อัลบาอิษ อะลาอินการ อัลบิดะอฺ, หน้า 71 ) และอิบนุหะญัร อัล อัสเกาะลานีย์ (เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ.852) (ดู ตับยีน อัลอุญับ บิมา วะเราะดะ ฟีชะฮฺริ เราะญับ, หน้า 11) กล่าวว่า “มีนักประวัติศาสตร์บางคนระบุว่า (เหตุการณ์อิสรออ์เกิดขึ้นในเดือนเราะญับ) ทัศนะนี้เป็นทัศนะที่โกหกอย่างชัดแจ้ง”
อิมามอิบนุตัยมียะฮฺ ว่า
" นบีไม่เคยละหมาดประเภทนี้ เศาะฮาบะฮฺ ตาบิอีน อิมามมุสลิมีนไม่เคยละหมาดชนิดนี้ ไม่เคยสอนให้ละหมาดนี้แม้แต่คนเดียว ไม่เคยพูดถึงประเสริฐของคืนดังกล่า นี้คือหะดีษโกหก โดยมติของอุละมาอฺส่วนใหญ่ (อัลฟะตาวา 2/261)
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น