อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

บิดอะฮฺในเดือนเราะญับ







คำถาม :

มีผู้คนได้เจาะจงปฏิบัติอิบาดะฮฺบางชนิดในเดือนเราะญับ อาทิเช่น การละหมาดเราะฆออิบ และการเฉลิมฉลองใน ค่ำคืนวันที่ 27 ของเดือน อยากเรียนถามว่า การปฏิบัติสิ่งดังกล่าวมีรากฐานที่มาทางบทบัญญัติหรือไม่ ? ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่านด้วย

คำตอบ :

การเจาะจงในเดือนเราะญับด้วยการละหมาดเราะฆออิบหรือการการเฉลิมฉลองในค่ำคืนวันที่ 27 ของเดือน ซึ่งพวกเขาทั้งหลายต่างกล่าวอ้างว่ามัน (ค่ำคืนของวันที่ 27) เป็นคืนอิสรออฺและมิอฺรอจนั้น การกระทำดังกล่าว เป็นบิดอะฮฺ (อุตริกรรมทางศาสนา) ทั้งสิ้น ซึ่งไม่อนุญาตให้ปฏิบัติ และไม่มีรากฐานทางบทบัญญัติมายืนยัน

แน่นอนว่าบรรดาผู้ตรวจสอบจากบรรดาปวงปราชญ์ได้เตือนในสิ่งดังกล่าวนี้ และเราได้เขียนคำชี้แจงในเรื่องดัง กล่าวนี้หลายครั้งด้วยกัน และเราได้ให้ความชัดเจนแก่ผู้คนว่า ความจริงแล้วการละหมาดเราะฆออิบนั้น เป็นบิดอะฮฺ มันเป็นสิ่งที่ผู้คนมักจะปฏิบัติมันในค่ำคืนวันศุกร์ (มืดลงของวันพฤหัสบดี-ผู้แปล) สัปดาห์แรกของเดือนเราะญับ

และเช่นเดียวกัน การเฉลิมฉลองในค่ำคืนของวันที่ 27 โดยมีความเชื่อว่ามันเป็นคืนที่เกิดเหตุการณ์อิสรออฺ และมิอฺรอจ ทั้งหมดนั้นเป็นบิดอะฮฺและไม่มีรากฐานทางบทบัญญัติมายืนยัน ส่วนคืนอัลอิสรออฺและมิอฺรอจนั้น ไม่สามารถรู้อย่างแน่ชัดว่ามันคือคืนวันไหน และถึงแม้ว่าจะรู้โดยเจาะจง ก็ไม่อนุญาตให้ฉลองในค่ำคืนนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่เคยปฏิบัติ แม้กระทั่งบรรดาคุละฟาอฺผู้เที่ยงธรรม ตลอดจนบรรดาเศาะฮาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ก็ไม่เคยปฏิบัติเช่นเดียวกัน หากแม้นว่าสิ่งดังกล่าว เป็นซุนนะฮฺที่ต้องปฏิบัติแล้วไซ้ร แน่นอนพวกเขาต้องรุดหน้าปฏิบัติก่อนพวกเราอย่างแน่นอน

ความดีงามทั้งหมดคือการปฏิบัติตามแนวทางคนเหล่านั้น ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงตรัสไว้ว่า :

وَالسَّابِقُونَ الْأَوَّلُونَ مِنَ الْمُهَاجِرِينَ وَالْأَنصَارِ وَالَّذِينَ اتَّبَعُوهُم بِإِحْسَانٍ رَّضِيَ اللَّـهُ عَنْهُمْ وَرَضُوا عَنْهُ وَأَعَدَّ لَهُمْ جَنَّاتٍ تَجْرِي تَحْتَهَا الْأَنْهَارُ خَالِدِينَ فِيهَا أَبَدًا ۚ ذَٰلِكَ الْفَوْزُ الْعَظِيمُ

“บรรดาบรรพชนรุ่นแรกในหมู่ผู้อพยพ (ชาวมุฮาญิรีนจากมักกะฮฺ) และในหมู่ผู้ให้ความช่วยเหลือ (ชาวอันศอรจากมะดีนะฮฺ) และบรรดาผู้ดำเนินตามพวกเขาด้วยการทำดีนั้น อัลลอฮฺทรงพอพระทัยใน พวกเขา และพวกเขาก็พอใจในพระองค์ด้วย และพระองค์ทรงเตรียมไว้ให้พวกเขาแล้ว ซึ่งบรรดาสวน สวรรค์ที่มีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านอยู่เบื้องล่าง พวกเขาจะพำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล นั่นคือชัยชนะอันใหญ่หลวง”

(อัตเตาบะฮฺ : 100)

และมีหะดีษเศาะเฮี๊ยะฮฺจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า :

مَنْ أَحْدَثَ فِي أَمْرِنَا هَذَا مَا لَيْسَ مِنْهُ فَهُوَ رَدٌّ

"ผู้ใดประดิษฐ์สิ่งใหม่ขึ้นมาในกิจการของเรา (บทบัญญัติของเรา) นี้ เป็นสิ่งที่ไม่มี (หลักฐาน) จากมัน ดังนั้นมันจะถูกตีกลับ (ปฎิเสธ)"

(บันทึกโดยบุคอรียฺ : 2697  มุสลิม : 1718)

และหะดีษที่รายงานจากท่านหญิงอาอีชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา อีกสายรายงานหนึ่งของอิหม่ามมุสลิมว่า :

مَنْ عَمِلَ عَمَلاً لَيْسَ عَلَيْهِ أَمْرُنَا فَهُوَ رَدٌّ

"และผู้ใดปฏิบัติงานหนึ่งงานใด ที่ไม่มีอยู่ในกิจการของเรา (บทบัญญัติของเรา) กิจการงานนั้นคือ สิ่งที่ถูกตีกลับ (ปฏิเสธ)"

และความหมายของคำว่า “ดังนั้นมันจะถูกตีกลับ (ปฎิเสธ)”มันจะถูกปฏิเสธต่อผู้ที่ปฏิบัติมัน และปรากฎว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวในบทคุฏบะฮฺว่า :

أَمَّا بَعْدُ فَإِنَّ خَيْرَ الْحَدِيثِ كِتَابُ اللَّهِ ، وَخَيْرُ الْهُدَى هُدَى مُحَمَّدٍ ، وَشَرُّ الْأُمُورِ مُحْدَثَاتُهَا ، وَكُلُّ بِدْعَةٍ ضَلَالَةٌ

"ถ้อยคำอันประเสริฐคือคัมภีร์ของพระองค์อัลลอฮฺ และทางนำอันประเสริฐคือทางนำของท่านนบี มุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และกิจกรรมอันชั่วร้ายคือกิจกรรมที่เป็นบิดอะฮฺ (อุตริกรรมทางศาสนา) และบิดอะฮฺทุกชนิดเป็นฏอลาละฮฺ (การหลงผิด)"
(บันทึกโดยมุสลิม : 867)

เพราะฉะนั้น ความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับบรรดามุสลิมีนทั้งปวง ที่ต้องปฏิบัติตามซุนนะฮฺ และยืนหยัดในแนวทาง ซุนนะฮฺ และตักเตือนซึ่งกันและกันในการปฏิบัติตามซุนนะฮฺของท่านนบี พร้อมกับให้มีความระมัดระวังจาก บิดอะฮฺต่างๆ โดยปฏิบัติตามคำกล่าวของพระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสไว้ว่า :

وَتَعَاوَنُوا عَلَى الْبِرِّ وَالتَّقْوَى

“และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรมและความยำเกรง ”
(อัลมาอิดะฮฺ : 2)

และดำรัสของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่ว่า :

وَالْعَصْرِ   إِنَّ الْإِنْسَانَ لَفِي خُسْرٍ إِلَّا الَّذِينَ آَمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَتَوَاصَوْا بِالْحَقِّ وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ

“ขอสาบานด้วยกาลเวลา (1) ความจริงแล้วมนุษย์นั้นอยู่ในความขาดทุน (2) นอกจากบรรดาผู้ที่ศรัทธา และประกอบคุณงามความดีทั้งหลาย และสั่งใช้กันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม และสั่งใช้กันและกัน ให้มีความอดทน (3) ”

(อัลอัศรฺ : 1-3)

และตามคำกล่าวที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า :
اَلدِّينُ الْنَصِيْحَةُ (ثلاثا) قُلنا لِمَنْ يا رسول الله ؟ قال لِله (عزوجل) وَلْكِتابِهِ ولِرَسُولِهِ ولأَئِمَّةِ الْمُسْلِمِينَ وعامَتِهِمْ

"ศาสนาคือการตักเตือนกัน (สามครั้ง) พวกเรากล่าวว่า : (การตักเตือน) ต่อผู้ใดกันโอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ? ท่านร่อซูลได้ตอบว่าต่อพระองค์ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ต่อคัมภีร์ (อัลกรุอ่าน) ของพระองค์ ต่อร่อซูล (นบีมุฮัมมัด) ของพระองค์ ต่อบรรดาผู้นำมุสลิม และต่อบรรดามุสลิมทั่วไป "
(บันทึกโดยมุสลิม : 55)



สำหรับการปฏิบัติอุมเราะฮฺในเดือนเราะญับนั้น ไม่ใช่ปัญหาต่อย่างใด  ดังที่มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยปฏิบัติอุมเราะฮฺในเดือนเราะญับ และบรรดาชาวซะลัฟพวกเขาก็ปฏิบัติอุมเราะฮฺในเดือนเราะญับ และดังเช่นที่ท่านอิมามฮาฟิซอิบนุ เราะญับ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้ระบุในหนังสือ “อัลละฏออิฟ” ว่า มีรายงานจากท่านอุมัรและบุตรของท่าน และท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม ได้ประกอบอุมเราะฮฺในเดือนรอญับ และในหนังสือดังกล่าวมีระบุว่า ท่านมุฮัมมัด อิบนุซีรีน รายงานว่า บรรดาชาวซะลัฟนั้น พวกเขาก็กระทำเช่นนั้น วัลลอฮุวะลียุตเตาฟีก

(ฟัตวานี้ตีพิมพ์ใน “วารสารอัดดะอฺวะฮฺ” ฉบับ 1566 เดือนญุมาดาอัลอุครอ ฮ.ศ.1417 , และใน “มัญฺมัวอฺฟะตะวา ส่วนที่ 11”)


.................................................................
ที่มา : (http://www.binbaz.org.sa/mat/1105)
ตอบคำถามโดย ชัยคฺ อับดุลอะซีซ อิบนุ อับดุลลอฮฺ อิบนุ บาซ
แปลโดย วะร่อษะตุซซุนนะฮฺ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น