อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การนิกาห์ในมัสยิด

 

มีการอ้างรายงานมาจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ (ร่อฎียัลลอฮุอันฮา)  จากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า ...

            أَعْلِنُوْاهَذَاالنِّكَاحَ، وَاجْعَلُوْهُ فِى الْمَسَاجِدِ، وَاضْرِبُوْاعَلَيْهِ بِالدُّفُوْفِ

“พวกท่านจงให้มีผู้รู้เห็นการนิกาห์นี้,  จงทำมันในมัสยิด และจงตีกลองประโคมข่าวการนิกาห์ด้วย” ...
(บันทึกโดย ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 1089 และท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 7 หน้า 290) ...

คำว่า “จงให้มีผู้รู้เห็นการนิกาห์” อาจมีความหมายว่า จงให้มี “พยาน” ในการนิกาห์ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นในการนิกาห์,  หรืออาจมีความหมายว่า จงกระทำการนิกาห์อย่างเปิดเผยและให้ชาวบ้านทั่วไปรับรู้ ซึ่งเป็นเรื่องสมควรปฏิบัติในการนิกาห์ทุกครั้ง ...
(จากหนังสือ “ตุห์ฟะตุ้ลอะห์วะซีย์”  เล่มที่ 4 หน้า 210) ...

หะดีษบทนี้เป็นหะดีษที่เฎาะอีฟมาก เพราะในสายรายงานของมันมีชื่อของ “ท่านอีซา บินมัยมูน อัล-อันศอรีย์”  ซึ่งถูกท่านบุคอรีย์วิจารณ์ว่า “مُنْكَرُالْحَدِيْثِ” ...
(จากหนังสือ “อัฎ-ฎุอะฟาอ์ อัศ-ศอฆีรฺ” ของท่านบุคอรีย์ หน้า 90)

คำว่า “มุงหัรฺหะดีษ” ในทัศนะของท่านบุคอรีย์ หมายถึงบุคคลที่ห้ามรายงานหะดีษใดๆจากเขา ...
แต่ข้อความวรรคแรกที่ว่า “จงให้มีผู้รู้เห็นการนิกาห์” ถือเป็นรายงานที่เชื่อถือได้ เพราะมีการรายงานสนับสนุนมาจากกระแสอื่น ...

การเฎาะอีฟของหะดีษนี้ จึงอยู่ที่ 2 วรรคหลังของมัน คือ ให้นิกาห์ในมัสยิด, และให้ตีกลองประโคมข่าวการนิกาห์ ...

ความหมายที่ว่า “หะดีษเรื่องให้นิกาห์ในมัสยิดเป็นหะดีษเฎาะอีฟ” มิได้หมายความว่า ห้ามนิกาห์ในมัสญิด .. แต่หมายถึงว่า ถ้าผู้ใดจะทำพิธีนิกาห์ในมัสยิดก็ได้ เพียงแต่อย่าไปเข้าใจว่าการนิกาห์ในมัสยิดเป็นซุนนะฮ์ที่ท่านนบีย์สั่งหรือส่งเสริมให้กระทำ หรือเมื่อทำแล้วจะมีบะรอกะฮ์มาก อะไรทำนองนั้น ...
เพราะไม่มีหลักฐานที่ถูกต้องแม้แต่บทเดียวที่ส่งเสริมให้มีการนิกาห์ในมัสยิด หรือให้เข้าใจว่า การนิกาห์ในมัสยิดเป็นซุนนะฮ์ ...

.....................................
อาจารย์มะห์มูด ศรีอุทัย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น