การละหมาด หรืออัส-ศอลาฮฺ ( الصَّلاَةُ ) คือ ศาสนกิจที่ประกอบด้วยอิริยาบถและคำอ่านต่าง ๆ ที่เริ่มพิธีด้วยการ กล่าวตักบีรและเสร็จพิธีด้วยการกล่าวสลาม
การละหมาดคือเสาหลักของศาสนาอิสลาม ท่านมุอาซบินญะบัล ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
رَأْسُ الأَمْرِ اْلإِسْلاَمُ وَعَمُودُهُ الصَّلاَةُ
“สิ่งสำคัญสุดของกิจการทั้งปวงคืออิสลาม และเสาหลักของอิสลามคือการละหมาด”
(บันทึกโดยอะหมัดและอัดติรมิซีย์)
การละหมาดเป็นรู่ก่นหรือโครงสร้างหลักของศาสนาอิสลาม ท่านอับดุลลอฮ์อิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
بُنِيَ اْلإِسْلاَمُ عَلَى خَمْسٍ
“ศาสนาอิสลามถูกสร้างขึ้นบนหลักพื้นฐาน (รู่ก่น) 5 ประการ”
และหนึ่งในห้าประการที่ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวถึงก็คือ
وَإِقَامِ الصَّلاَةِ
“การดำรงละหมาด”
(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)
การละหมาดคือภารกิจแรกที่จะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮ์ ท่านอาบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إِنَّ أَوَّلَ مَا يُحَاسَبُ النَّاسُ بِهِ يَوْمَ الْقِيَامَةِ مِنْ أَعْمَالِهِمْ الصَّلاَةُ
“ประการแรกที่มนุษย์จะถูกไต่สวนในวันกิยามะฮ์ จากภารกิจต่างๆของพวกเขาคือการละหมาด“
(บันทึกโดยอาบูดาวูดและอัลบัยฮะกีย์)
การละหมาดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ละหมาดฟัรฎูและหมาดซุนนะฮ์ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้บัญญัติให้ผู้ศรัทธาละหมาดฟัรฎูในวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง 5 เวลา คือ
(1) “ อัซซุฮรฺ ” ( الظُهْر ) เวลาบ่าย เมื่อตะวันเริ่มคล้อยจน ถึงเมื่อเงาของวัตถุยาวเท่าตัวเอง
(2) “ อัลอัศรฺ ” ( العَصْرُ ) เวลาเย็น เริ่มจากเมื่อเงาของวัตถุเริ่มยาวกว่าตัวเองจนถึงเมื่อดวงอาทิตย์ตก
(3) “ อัลมัฆริบฺ ” ( المَغْرِبُ ) เวลาหัวค่ำ เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงสิ้นสุดแสงสนธยา
(4) “ อัลอิชาอ์ ” ( الْعِشَاء ) เวลาค่ำ เมือสิ้นแสงสนธยาจนถึงครึ่งคืน และ
(5) “ อัลฟัจญ์รฺ ” ( الْفَجْرُ ) เวลาหัวรุ่ง เมื่อแสงรุ่งอรุณจริงปรากฏจนถึงก่อนอาทิตย์ขึ้น
พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า
إِنَّ الصَّلَاةَ كَانَتْ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ كِتَابًا مَوْقُوتًا
“แท้จริงการละหมาดได้ถูกกำหนดให้เป็นภารกิจหน้าที่แก่ผู้ศรัทธาโดยมีกำหนดเวลาที่แน่นอน ”
(ซูเราะฮ์อันนิซาอฺ อายะฮ์ที่ 103)
والله أعلم بالصواب
................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น