อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

รายอแน(หก) ผู้ใดบัญญัติ


       ปรากฏการของมุสลิม ในแถบ 3 จังหวัด อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส รวมจังหวัดอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพล   ไม่ว่าจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล เป็นต้น เมื่อถือศิลอดครบ 6 วัน เดือนเชาวาล โดยศิลอดติดต่อกันนับแต่วันถัดจากวันอีดิลฟิตรี ก็มีการเฉลิมฉลองรื่นเริงกัน ที่เรียกติดปากว่า รายอแน หรือรายอหก นั้นเอง และยังถือว่าวันรายอนี้มีความสำคัญมากกว่า วันอีดิลฟิตรี และอีดิลอัฎฮา เลยทีเดียว มีการจัดฉลอง ประชันความงาม ด้วยชุดสวยๆหรูๆ และมีพิธีกรรมการละหมาดตัสบีหฺ มีการจัดเลี้ยงอาหารอย่างเอิกเกริก และต่อด้วยการเยี่ยมกุโบรฺอย่างครึกครื้น

มีเพื่อนคนหนึ่งแต่งงานกับคนยะลา วันอิดิลฟิตรี ก็กลับมาฉลองในบ้านตน แต่ถ้าเป็นรายอแน ต้องไปเฉลิมฉลองที่จังหวัดยะลา เพราะความอลังการของการเฉลิมฉองของวันรายอแน

แต่เมื่อปรากฏว่า วันอีดในอิสลาม มีเพียง 2 วัน แล้ววันรายอแน นั้น ใครเป็นผู้บัญญัติ ใครเป็นผู้กำหนดกฏเกณฑ์ขึ้นมา

عَنْ أَنَسِ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَدِمَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ الْمَدِينَةَ وَلَهُمْ يَوْمَانِ يَلْعَبُونَ فِيهِمَا، فَقَالَ : «مَا هَذَانِ الْيَوْمَانِ؟» قَالُوا :كُنَّا نَلْعَبُ فِيهِمَا فِي الْجَاهِلِيَّةِ، فَقَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : «إِنَّ اللهَ قَدْ أَبْدَلَكُمْ بِهِمَا خَيْرًا مِنْهُمَا : يَوْمَ الأَضْحَى وَيَوْمَ الْفِطْرِ». (أبو داود رقم 959، صحيح سنن أبي داود رقم1004: صحيح)

ความว่า จากท่านอะนัส เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ เล่าว่า
 "ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้เดินทางมาสู่มะดีนะฮฺ ชาวมะดีนะฮฺสมัยนั้นมีสองวันที่พวกเขาละเล่นรื่นเริงกัน ท่านจึงได้ถามว่า “สองวันนี้เป็นวันอะไร?” พวกเขาตอบว่า “พวกเราเคยรื่นเริงกันมาในสองวันนี้ตั้งแต่สมัยเก่าก่อน” ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวตอบว่า “แท้จริงอัลลอฮฺได้เปลี่ยนมันด้วยวันที่ดีกว่าทั้ง 2 วันนั้น นั่นคือวันอีดอัล-ฟิฏรฺ และอีดอัล-อัฎฮา”  (รายงานโดย อบู ดาวูด หมายเลข 959 ดู เศาะฮีหฺ สุนัน อบี ดาวูด หมายเลข 1004 เป็นหะดีษเศาะฮีหฺ)

มันไม่เพียงพอหรอกหรือ? กับวันอีด 2 วันนี้ ที่ศาสนาได้อนุมัติ(คือวันอิดิลฟิตรี และอิดิลอัฎฮา หากรวมวันศุกร์ ก็เป็น 3 วัน) จึงต้องเพิ่มเติมวันรื่นเริงขึ้นมาในศาสนาอีก



ต่อไปนี้เป็นทัศนะของอุละมาอ์เกี่ยวกับวันรายอแน

อิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ กล่าวว่า
“"เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า ไม่อนุญาตให้ผู้ใดยึดมั่นและศรัทธาว่าวันที่แปดของเดือนเชาวาลเป็นวันอีดที่มีถูกบัญญัติไว้ในอิสลาม ดั่งเช่นวันอีดิลฟิฏรฺและอีดิลอัฎฮา ยิ่งกว่านั้น อุละมาอฺบางท่านถึงกับระบุว่า ไม่อนุญาตให้เรียกวันนั้นว่าวันอีดที่ควรแก่การแสดงออกด้วยสัญลักษณ์ต่างๆของวันอีด เช่นการสวมเสื้อผ้าที่สวยงาม การจัดเลี้ยงอาหารที่หลากหลายชนิด และการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเฉกเช่นการปฏิบัติในวันอีดิลฟิฏรฺและอีดิลอัฎฮา”
(อัล-ฟะตาวี อัล-ฟิกฮียะฮฺ อัล-กุบรอ 1/272)

เชคอิบนุ อุษัยมีน กล่าวว่า
"มุสลิมบางคนมีความเชื่อว่าวันที่แปดของเดือนเชาวาลเป็นวันอีดและพวกเขาเรียกวันนี้ว่า "อีดอับร้อรฺ"
จนถึงกับมีบางคนในหมู่พวกเขาถามว่า "อนุญาตให้ถือศีลอดในวันนี้ไหมเพราะวันนี้เป็นวันอีดอับร้อรฺ?" ความเชื่อที่ว่าวันนี้เป็นวันอีดไม่ถูกต้องเพราะวันที่แปดของเดือนเชาวาลไม่ได้เป็นวันอีดสำหรับผู้ปฏิบัติดี(อับร้อรฺ)หรือผู้ปฏิบัติไม่ดี(ฟุจญารฺ) แต่มันเป็นเพียงวันธรรมดาๆวันหนึ่งที่ไม่อนุญาตให้มีการอุตริด้วยพิธีกรรมต่างๆที่เป็นสัญลักษณ์ของวันอีดเป็นอันขาด...เพราะแท้จริงบัญญัติวันอีดในอิสลามมีเพียงสามวันเท่านั้นนั่นคือ อีดิลฟิฏรฺ อีดิลอัฎฮา และอีดวันศุกร์และจะไม่มีวันอีดในอิสลามอื่นจากนั้น"
(ฟะตาวี อิบนุ อุษัยมีน www.binothaimeen.com)

แม้มุสลิมบางท่าน ก็รู้อยู่ว่ารายอแน ไม่มีที่มาจากหลักฐานศาสนา ไม่ได้มีการปฏิบัติเป็นแบบอย่างจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม และบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านตลอดจนบรรดาตาบิอีนและชนสะลัฟรุ่นแรกก็ตาม แต่พวกเขาก็ยังฟืนที่จะกระทำมัน โดยอ้างว่ามันเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะรายอแน จะเรียกอีกอย่างว่า รายอกูโบร์ หมายถึง วันที่ชาวบ้านทุกคน ญาติพี่น้องร่วมกันมาเยี่ยมกูโบร์ของบรรดาพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือญาติ ๆ ที่ล่วงลับไปแล้วโดยชาวบ้านจะร่วมกันมาพัฒนาทำความสะอาดพื้นที่บริเวณกูโบร์ล่วงหน้าก่อนวันรายอแน และกิจกรรมในวันรายอแนก็จะมี  ร่วมกันการอ่านอัลกุรอาน การทำอัรวะห์ เพื่ออุทิศผลบุญให้ผู้ตาย  กิจกรรมที่ ที่น่าส่งเสริม ช่วยให้คนปอซอซูนัตครบ6วันเร็ว ไม่มีการผ่อนผันไปจนสิ้นเดือนแล้วยังปอซอไม่ครบ 6

และยังกล่าวประชดประชันผู็้้ที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดรายอแน นั้นหมายรวมถึงนักวิชาการที่ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้ด้วย อันได้แก่ ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์ นักวิชาการในมัซฮับชาฟีอีย์ และเชคอิบนุ อุษัยมีน โดยกล่าวว่า "พวกคิดสั้น ไม่คิดให้รอบคอบถึงผลที่จะตามมา ก็บอกว่าเป็นบิดอะฮฺ"

นี่เป็นคำพูดของผู้ที่ไม่เข้าใจศาสนา เพราะหากเขาเข้าใจศาสนาแล้ว คำพูดเหล่านี้คงไม่ออกมาจากปากของเขา เพราะเรื่องศาสนา อัลลอฮฺเป็นเจ้าของ มุสลิมมีหน้าที่ปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่ใช่ไม่พอใจเรื่องใด ก็มีการแก้ไข เพิ่มเติม หรือคิดสูตรขึ้นมาใหม่เอง

แม้แต่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ท่านเองถึงแม้จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูต แต่ท่านก็มีหน้าที่ในการประกาศ และปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ถูกบัญชามายังท่านเท่านั้น

พระองค์อัลลอฮฺ ศุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
إِنْ أَتَّبِعُ إِلَّا مَا يُوحَىٰ إِلَيَّ وَمَا أَنَا إِلَّا نَذِيرٌ مُّبِينٌ ( 9 )
“ฉันมิได้ปฏิบัติตามสิ่งใดนอกจากสิ่งที่ถูกวะฮียฺให้แก่ฉัน และฉันมิใช่ใครอื่นนอกจากเป็นผู้ตักเตือนอันชัดแจ้ง”
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัลอะห์กอฟ 46 อายะที่ 9)

وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا مُبَشِّرًا وَنَذِيرًا ( 105 )
“และเรามิได้ส่งเจ้าเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นผู้แจ้งข่าวดี และเป็นผู้ตักเตือน”
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัลอิสรออ์ 17 อายะที่ 105)


اتَّبِعْ مَا أُوحِيَ إِلَيْكَ مِن رَّبِّكَ ( 106 )
“จงปฏิบัติสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้าจากพระเจ้าของเจ้าเถิด”
(อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัลอันอาม 6 อายะที่ 106)

ถามว่า รายอแน นำแบบอย่างมาจากไหน วิธีปฏิบัติมีหลักฐานรองรับไหม? ตอบว่า ไม่ !!!

การคิดค้นวันรายอแน่ขึ้นมา มันเป็นสิ่งนอกเหนือจากสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺถูกวะฮียฺมายังท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม

ถึงแม้มุสลิมบางคนจะมองมันเป็นสิ่งดีในความคิดสติปัญญาของพวกเขา แต่ศาสนาไม่ได้มองเช่นนั้น หากมันไม่มีที่มาจากศาสนาแล้ว มันก็ถูกปฏิเสธ เป็นโมฆะ  การปฏิบัติเป็นอันไร้ผล

หากเป็นเรื่องประเพณี หรือภูมิปัญญา ก็ต้องไม่นำหลักความเชื่อ หรืออิบาดะฮฺ มาเกี่ยวข้อง หากมีการปฏิบัติอิบาดะฮฺ หรือหลักความเชื่อมาเกี่ยวข้องในประเพณี หรือภูมิปัญญานั้นแล้ว ถือเป็นเรื่องศาสนา หากไม่มีหลักฐานศาสนามารองรับ การงานนั้นถูกปฏิเสธ

 รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร่อฎิญัลลอฮุอันฮา เล่าว่า ท่านรสูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า
 "บุคคลใดปฏิบัติ(อะมัล ไม่รวมถึงเรื่องดุนยา) ในสิ่งที่เราไม่ได้ปฏิบัติ การปฏิบัตินั้นดังกล่าวถูกปฏิเสธสิ้น"(บันทึกหะดิษโดยมุสลิม เศาะเฮียะฮ์มุสลิม หะดิษเลขที่ 1701)

 ท่านอับดุลลอฮิบนุมัร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า
“พวกท่านพึงระวังการบิดอะห์(อุตริ) ในศาสนาเถิด เพราะการบิดอะห์ในศาสนาทุกประเภทเป็นความหลงผิด แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะเห็นดีก็ตาม”

รายงานจากท่านอิบนุ มาญิชูน ว่า ท่านอิมามมาลิก บิน อนัส (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.179) ท่านกล่าวว่า
"ผู้ใดอุตริกรรมสิ่งใดขึ้นมาในอิสลาม โดยมองว่ามันเป็นเรื่องดี แน่นอนเขาผู้นั้นกล่าวหาท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่าทุจริต(หรือบกพร่อง) ในการปฏิบัติหน้าที่รสูล เพราะพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานาฮูวาตาอาลา ทรงกล่าวเอาไว้แล้วว่า วันนี้ ข้าฯ ได้ให้ศาสนาของพวกเจ้า สมบูรณ์แล้ว...ดังนั้น สิ่งใดก็ตามถ้าหากในวันนั้นมิใช่ (เป็นเรื่องของ)ศาสนา มาในวันนี้ มันก็มิใช่เรื่องศาสนา"(หนังสือ "อัล-เอี๊ยะอฺติศอม" ของท่านอัช-ชาฏิบียฺ เล่ม 1 หน้า 49)

หรือพวกเขายังจะทุรังที่จะกระทำเช่นนั้น เพราะพวกเขาได้ปฏิบัติตามกันมาจากปู่ ,ย่า , ยาย บรรพบุรุษแต่เก่าก่อนกระนั้นหรือ?

พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า

وَإِذا قيلَ لَهُمُ اتَّبِعوا ما أَنزَلَ اللَّهُ قالوا بَل نَتَّبِعُ ما أَلفَينا عَلَيهِ ءاباءَنا ۗ أَوَلَو كانَ ءاباؤُهُونَ

"และเมื่อได้ถูกกล่าวแก่พวกเขาว่าจงปฏิบัติตามสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาเถิดพวกเขาก็กล่าวว่า มิได้ เราจะปฏิบัติสิ่งที่เราได้พบบรรดาบรรพบุรุษของเราเคยปฏิบัติมาเท่านั้นและแม้ได้ปรากฏว่า บรรพบุรุษของพวกเขาไม่เข้าใจสิ่งใด และทั้งไม่ได้รับแนวทางอันถูกต้องก็ตามกระนั้นหรือ?"(อัลกุรอาน สูเราะฮิอัลบะเกาะเราะฮฺ 2:170)


بَل قالوا إِنّا وَجَدنا ءاباءَنا عَلىٰ أُمَّةٍ وَإِنّا عَلىٰ ءاثٰرِهِم مُهتَدونَ

 "เปล่าเลย พวกเขากล่าวว่า แท้จริงเราได้พบเห็นบรรพบุรุษของเราอยู่ในแนวทางนี้ ดังนั้นเราจึงดำเนินตามแนวทางของพวกเขา" (อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัซซุครุฟ 43:22)


พระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า

وَإِذَا فَعَلُوا فَاحِشَةً قَالُوا وَجَدْنَا عَلَيْهَا آبَاءَنَا وَاللَّهُ أَمَرَنَا بِهَا قُلْ إِنَّ اللَّهَ لَا يَأْمُرُ بِالْفَحْشَاءِ أَتَقُولُونَ عَلَى اللَّهِ مَا لَا تَعْلَمُونَ ( 28 )

"และเมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วช้าน่ารังเกียจ พวกเขาก็กล่าวว่า พวกเราได้พบเห็นบรรดาบรรพบุรุษของพวกเราเคยกระทำมา และอัลลอฮฺก็ทรงใช้พวกเราให้กระทำมันด้วย จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่าแท้จริงอัลลอฮฺนั้นไม่ทรงใช้ให้กระทำสิ่งชั่วช้าน่ารังเกียจดอก พวกท่านจะกล่าวให้ร้ายแก่อัลลอฮฺในสิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้กระนั้นหรือ?" (อัลกุรอาน สูเราะฮฺอัล-อะอฺรอฟ 7:28)


والله أعلم بالصواب

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น