โดย อ.อาลี เสือสมิง
ข้อ 1. คำพูดที่ว่า “การปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ต้องเอาแบบอย่างมาจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ” เป็นคำพูดที่ถูกต้องและเป็นสิ่งจำเป็นที่มุสลิมต้องยึดมั่นในกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ การปฏิบัติตามโต๊ะครู (ผู้รู้ทางศาสนา) หรือคนเฒ่าคนแก่ หรือบรรพบุรุษที่มีความรู้ทางศาสนาอย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติตามได้ในกรณีที่สิ่งนั้นมิได้ขัดกับกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ
หากการกระทำของโต๊ะครูหรือคนเฒ่าคนแก่หรือบรรพบุรุษขัดแย้งกับกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺก็มิอาจถือตามได้ ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการกระทำนั้นถูกต้องหรือค้านกับกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ
ในเมื่อเราเป็นคนเอาวามฺที่ไม่รู้หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ตัวบททางศาสนา ก็ย่อมไม่พ้นจาก 2 กรณี คือ 1. เราต้องใช้กำลังสติปัญญาวิเคราะห์ (อิจญติฮาดฺ) ตามหลักเกณฑ์ในวิชาการที่เป็นศาสตร์ประกอบ เรียกว่า ต้องมีคุณสมบัติของการเป็นมุจญ์ตะฮิด 2. ถามผู้รู้ซึ่งก็คือโต๊ะครูนั่นเอง
ฉะนั้นหากจะว่าไปแล้ว การตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺก็ไม่วายต้องอาศัยผู้รู้ในการวิเคราะห์ตัวบทและอรรถาธิบายข้อชี้ขาดอยู่ดี คนที่บอกกับชาวบ้านว่าอย่าตามโต๊ะครูหรือคนเฒ่าคนแก่แต่ให้ตามกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺ พอเอาเข้าจริงก็ว่าตามโต๊ะครูหรือผู้รู้ที่ตนยอมรับและเชื่อถือนั่นเอง เรื่องมันจึงวนอยู่ในอ่างเช่นนี้แหล่ะ
เอาเป็นว่าตั้งใจศึกษาเรื่องราวทางศาสนาให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น สอบถามผู้รู้และขอหลักฐานสนับสนุนในคำตอบก็น่าจะเพียงพอแล้ว และหลักฐานที่สนับสนุนนี้มิได้หมายความว่าต้องเป็นอัล-กุรอานหรืออัล-หะดีษเสมอไป คำวินิจฉัยของผู้รู้ที่มีอยู่ในตำราอ้างอิงที่เป็นมาตรฐานโดยมากถูกสังเคราะห์และย่อยเนื้อหามาจากตัวบทของศาสนาแล้ว มิใช่เขียนเอาแบบเดาสุ่มแต่อย่างใด
ข้อ 2. คนที่นำเอาหลักฐานจากกิตาบุลลอฮฺและสุนนะฮฺมาบอกก็ต้องดูหนังสือมาก่อนแล้วว่าในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็นมีรายละเอียดอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นข้อปลีกย่อยที่มีการวิเคราะห์ตัวบทต่างกันของบรรดานักวิชาการ
ข้อ 3. ที่เขาว่ามาก็เป็นการวิเคราะห์ของนักวิชาการอีกนั่นแหล่ะ แต่ละฝ่ายก็มีหลักฐานมาสนับสนุนทัศนะของตน ที่อาจารย์ในทีวีเขาตอบอย่างนั้นก็อาศัยการวิเคราะห์ของนักวิชาการนั่นแหล่ะ เป็นเรื่องที่เขาพูดกันมานมนานแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร?
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น