อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สิ่งซึ่งอยู่เบื้องหลังหัจญ์


 

                             การประกอบพิธีหัญจ์เป็นบทบัญญัติหนึ่งซึ่งมุสลิมต้องปฏิบัติตามที่ตนมีความสามารถ อัลลอฮ์ อัซซะวะญัล กล่าวไว้ในเรื่องการประกอบพิธีหัจญ์ว่า

และจงประกาศแก่มนุษย์ทั่วไปเพื่อการทำหัจญ์ พวกเขาจะมาหาเจ้าโดยทางเท้า และโดยทางอูฐเพรียวทุกตัว จะมาจากทางไกลทุกทิศทาง
(อัลหัจญ์ : 27)

      และพวกเจ้าจงให้สมบูรณ์ ซึ่งการทำหัจญ์ และการทำอุมเราะฮ์เพื่ออัลลอฮ์เถิด แล้วถ้าพวกเจ้าถูกสกัดกั้นก็ให้เชือดสัตว์พลีที่หาได้ง่าย และจงอย่าโกนศีรษะของพวกเจ้า จนกว่าสัตว์พลีนั้นจะถึงที่ของมัน แล้วผู้ใดในหมู่พวกเจ้าป่วยลง หรือที่เขามีสิ่งก่อความเดือดร้อนจากศรีษะของเขาก็ให้มีการชดเชย อันได้แก่การถือศีลอด หรือการทำทาน หรือการเชือดสัตว์ ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัยแล้ว ผู้ใดที่แสวงหาประโยชน์จนกระทั่งถึงฮัจญ์ด้วยการทำอุมเราะฮ์แล้ว ก็ให้เชือดสัตว์พลีที่หาได้ง่าย ผู้ใดที่หาไม่ได้ ก็ให้ถือศีลอดสามวันในระหว่างการทำหัจญ์ และอีกเจ็ดวันเมื่อพวกเจ้ากลับบ้านนั่นคือครบสิบวัน ดังกล่าวนั้น สำหรับที่ครอบครัวของเขามิได้ประจำอยู่ที่อัล-มัสยิดิลฮะรอม และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และพึงรู้ด้วยว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงลงโทษที่รุนแรง (บากอเราะฮ์ : 196)
     จากท่านอิบนุอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า : ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :
 
      อิสลามนั้นวางอยู่บนพื้นฐานหลักห้าประการ คือ การปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากองค์อัลลอฮฺ และมุหัมมัดคือศาสนทูตของพระองค์ การดำรงไว้ซึ่งการละหมาด การจ่ายซะกาต การประกอบพิธีหัจญ์ และการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน” (บันทึกโดย อิมามบุคอรีย์  อิมามมุสลิม)
     นอกจากหัจญ์จะเป็นหลักการซึ่งถูกกำหนดไว้เพื่อให้มุสลิมที่มีความสามารถพร้อมในทุกๆด้านปฏิบัติแล้ว หัจญ์ยังมีวิทยาปัญญา(หรือภาษาอรับว่า ฮิกมะ) ซึ่งอยู่เบื้องหลักศาสนกิจอันยิ่งใหญ่อันนี้ ได้แก่
           
              -หัจญ์สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพ ภราดรภาพ ความเป็นพี่น้องหนึ่งเดียวของประชาคมมุสลิม กล่าวคือ ศาสนาอิสลามมีคำสอนว่ามุสลิมคือพี่น้องกัน ในอดีตของอิสลามภาพความเป็นพี่นอ้งระหว่างมุสลิมฉายภาพออกมาอย่างชัดเจนผ่านการต่อสู้ร่มกันของมุสลิมในนามของนครรัฐมดีนะฮ์ซึ่งมีท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมเป็นผู้นำรัฐ แต่สภาพแวดล้อมของโลกปัจจุบันซึ่งกว้างใหญ่และมีประเทศมากมายที่มุสลิมอาศัยอยู่ซึ่งทำให้ภาพของความเป็นพี่น้องของมุสลิมพร่ามัวลงไปมาก อย่างไรก็ตามหัจญ์ยังคงฉายภาพความเป็นพี่น้องของมุสลิมอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ กล่าวคือ มุสลิมทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิว มารวมตัวกันด้วยสายเชือกแห่งอิสลาม

     หากจะกล่าวในเชิงปรัชญาการเมืองสมัยใหม่ซึ่งประเทศต่างๆโลกปัจจุบันถูกจำกัดอธิปไตยของตนเองเหนือเส้นเขตแดน (territory) หรือระบบรัฐชาตินั้นเอง (Nation State) แต่สำหรับปรัชญาการเมืองอิสลามซึ่งก็คือระบอบคอลีฟะฮ์แห่งอุมมะฮ์อิสลามียะฮ์(ประชาชาติอิสลามทั้งปวง) ระบอบดังกล่าวนี้มีปรัชญาอธิปไตยเหนืออุมอะฮ์(Ummah) กล่าวคือ อิสลามมองว่าอธิปไตยแห่งรัฐอิสลามจะไม่ถูกจำกัดด้วยความเป็นรัฐสมัยใหม่แต่อำนาจอธิปไตยแห่งรับอิสลามจะต้องเหนืออุมมะฮ์ทั้งปวง
     ในปัจจุบันหลังยุคเวสฟาเลีย[1]มุสลิมถูกแบ่งออกเป็นหลากหลายกลุ่มในหลายๆประเทศ ประกอบกับอิสลามปราศจากคอลีฟะฮ์หลังจากอาณาจักรอุษมานียะฮ์(ออตโตมัน)ล่มสลายกลายเป็ยสาธารณรัฐตุรกีและรัฐเล็กๆต่างๆ ส่งผลให้ภาพแห่งอธิปไตยเหนืออุมมะฮ์ถูกแทนที่ด้วยอธิปไตยเหนือดินแดนของความเป็นรัฐสมัยใหม่อย่างสิ้นเชิง
     อย่างไรก็ตามในการประกอบพิธีหัจญ์ ณ มหานครศักดิ์สิทธิ์มักกะฮ์และมดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย (ขออัลลอฮ์ประทานความจำเริญแก่ฮารอมัยน์และดินแดนอารเบีย) สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพี่น้องซึ่งมารวมตัวกันจากทั่วทุกสารทิศทอย่างปราศจากการถูกจำกัดจากระบอบรัฐสมัยใหม่อย่างสิ้นเชิง

    อัลลอฮ์ อัซซะวะญัล กล่าวว่า
แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นเป็นพี่น้องกัน (หุญรอต : 10)
               -หัจญ์แสดงให้เห็นถึงความเสมอภาคของมุสลิมทุกคนเพราะอิสลามปฏิเสธระบบที่วางอยู่บนความ ไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ อันได้แก่ ระบบวรรณะ ศักดินา ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์หรือสีผิว ปราศจากเหลื่อมล้ำระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ชนผิวขาวกับชนผิวดำ นายหรือบ่าวไพร่ เจ้าหน้าที่   หรือประชาราษฎร์ ทุกคนจะอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันหมด เมื่อผู้ประกอบพิธีหัจญ์เริ่มตั้งใจ
อิหฺรอมที่มิก็อต[2] โดยการนุ่ง1ผืน ห่มกาย 1ผืน ด้วยผ้าขาวสองผืนนี้ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตามซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมกันอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ภาพที่ผู้อ่านมเห็นเป็นประจำคือการที่มุสลิมทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิวภายใต้ผ้าขาวของผืนมารวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกัน ณ มีกอตเพื่อหลอมรวมเข้าสู่การประกอบพิธีหัจญ์อย่างพร้อมเพรียงกันและเท่าเทียมกัน
 
  รายงานจากอบีฮุรอยเราะฮฺ  เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า ท่านร่อซูลลุลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า แท้จริง อัลลอฮไม่ทรงพิจารณาที่รูปโฉมของพวกท่าน และทรัพย์สินของพวกท่าน แต่พระองค์จะทรงพิจารณาที่หัวใจของพวกท่าน และการกระทำของพวกท่าน   ( บันทึกโดยอิมามมุสลิม )

                 -หัจญ์เป็นการแสดงออกซึ่งรูปธรรมและนัยยะแห่งสันติภาพอย่างมีเหตุผลของศาสนาอิสลาม อันได้แก่ ดินแดนที่ใช้ประกอบพิธีหัจญ์ คือ มหานครศักดิ์สิทธิ์มักกะฮ์และมดีนะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย (ขออัลลอฮ์ประทานความจำเริญแก่ฮารอมัยน์และดินแดนอารเบีย) หรือเรียกว่า ฮารอมัยน์ ซึ่งมีความหมายว่า ดินแดนต้องห้ามทั้งสอง เพราะอัลลอฮ์ห้ามหลั่งเลือด(สงคราม)และการทำลายต่างๆในดินแดนแห่งสันติภาพทั้งสองนี้ นอกจากนี้ในช่วงเวลาของการทำหัจญ์ห้ามกระทำในสิ่งซึ่งเป็นการทำลายต่างๆ
     อัลลอฮ์อัซซะวะญัล กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า

        ในคัมภีร์ของอัลลอฮ์ตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดินจากเดือนเหล่านั้นมีสี่เดือน ซึ่งเป็นเดือนที่ต้องห้าม[3]นั่นคือบัญญัติอันเที่ยงตรง ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าอธรรมแก่ตัวของพวกเจ้าเองในเดือนเหล่านั้น (อัตเตาบะ : 36)

                -หัจญ์เป็นการกระตุ้นให้อุมมะฮ์ในยุคปัจจุบันได้ระลึกถึงเรื่องราวของสลัฟ อัศศอและห์ (กัลยาชนมุสลิมรุนแรก) ในการต่อสู้ ความพร้อมเพรียงกัน และความสำคัญในการก่อสร้างรัฐอิสลามแห่งมดีนะฮ์ผ่านซอฮิฟาตุลมดีนะฮ์(Madinah Charter ) ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญร่วมกันในการปกครอง นอกจากนี้ในอดีตคอลีฟะฮ์ อัรรอชิดีน (ผู้ปกครองอิสลามอันทรงธรรม)และคอลีฟะฮ์แห่งยุคที่อิสลามยิ่งใหญ่ทั้งสิ้น 12 ท่าน[4]   ยังใช้โอกาสที่มุสลิมจากทุกดินแดนที่อิสลามปกครองมาประกอบพิธีหัจญ์ กล่าวคุตบะ (เทศนาใหญ่ ถ้าเปรียบเปรียบปัจจุบันได้แก่การที่ผู้ปกครองกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าประชาชนกับแสนนั้นเอง) นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนในดินแดนห่างไกลต่างๆถือโอกาสหลังเสร็จสิ้นเทศกาลหัจญ์โดยมีข้าหลวงทุกคนที่ถูกส่งไปปกครองแต่ละดินแดนเข้าร่วมรับฟังด้วย เพราะในอดีตคอลีฟะฮ์ได้ออกกฏให้ข้าหลวงทุกคนมาประกอบพิธีหัจญ์ร่วมกันทุกปีเพื่อสอบถามในเรื่องการปกครองดินแดนห่างไกลต่างๆ

     นอกจากประเด็นซึ่งผู้เขียนได้กล่าวข้างต้นแล้ว การประกอบพิธีหัจญ์ยังมีวิทยปัญญาที่อยู่เบื้องหลังอีกหลายประการซึ่งผู้เขียนมาอาจกล่าวได้ทั้งหมดเนื่องจากข้อจำกัดของหน้ากระดาษ อันได้แก่ การทำหัจญ์เป็นการขัดเกลาจิตวิญญาณแห่งความเป็นมุสลิม การขัดเกลามาทยาทอันดีงามต่อพี่น้องมุสลิมและผู้คนทั่วไป นอกจากนี้เป็นการเสียสละความสะดวกสบายและทรัพย์สินแห่งดุนยา(โลกนี้) เพื่อเป็นเสบียงไปสู่โลกอาคิเราะฮ์ (โลกหน้าอันนิรันดร์)

 จากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า :
         ฉันได้ยินท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดประกอบพิธีหัจญ์ โดยที่เขาไม่พูดจาหยาบโลน (หรือมีเพศสัมพันธ์) และไม่กระทำบาปความผิดใดๆ เขาจะกลับไปโดยที่เขา (ปราศจากบาป) ประดุจวันที่มารดาของเขาคลอดเขาออกมา” (บันทึกโดย อิมามบุคอรีย์และอิมามมุสลิม )

จากท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า :

     พวกท่านจงประกอบพิธีหัจญ์และอุมเราะฮฺอย่างต่อเนื่อง แท้จริงแล้วทั้งสองสิ่งนี้จะทำให้ปราศจากซึ่งความยากจนและบาปความผิด ประดุจดั่งการหลอมไฟที่ปัดเป่าส่วนที่ไม่ดีของเหล็ก ทองคำ และเงิน ซึ่งหัจญ์มับรูรฺ[5]ที่ถูกตอบรับนั้นจะมีผลบุญอื่นไปไม่ได้นอกเหนือจากสรวงสวรรค์“(บันทึกโดยอิมามอะหฺมัดและอิมามตัรมิซีย์)

ขออัลลอฮ์ตอบรับการประกอบพิธีหัจญ์ของพี่น้องมุสลิมทั้งปวง อามีน

[1] ยุคแห่งการเกิดรัฐสมัยใหม่
[2] จุดพรมแดนที่ผู้ประกอบพิธีหัจญ์ต้องตั้งใจและปฏิบัติตาม
เงื่อนไขของหัจญ์
[3] คือต้องห้ามในการต่อสู้กัน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นเดือนที่ปลอดภัยแก่ผู้ประกอบพิธีอุมเราะฮ์ และพิธีหัจญ์ อันเป็นบัญญัติที่อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดไว้โดยผ่านท่านนะบีอิบรอฮีม และนะบีอิสมาอีล ซึ่งเดือนเหล่านั้นได้แก่เดือน ซุลเกาะดะฮ์ ซุลฮิจญะฮ์ อัล-มุฮัรรอม และเดือนร่อญับ
[4] ได้แก่  อบูบักร, อุมัร, อุษมาน, อะลี, มุอาวิยะ, ยะซีด,  อับดุลมาลิก, วะลีด, สุลัยมาน, อุมัร บินอับดุลอะซีซ,  ยะซีด บินอับดุลมาลิก, ฮิซาม บินอับดุลมาลิก
[5] หัจญ์ที่ถูกต้องซึ่งถูกตอบรับจากอัลลอฮ์            

............................................
   เขียนโดย ซาเล็ม  บุญมาศ

http://www.arabstudy.org/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น