อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2558

สิทธิต่าง ๆ ของผู้หญิงในอิสลาม



ชัยคฺ มุหัมมัด ศอลิหฺ อัล-มุนัจญิด : เขียน
กฤติยา เพศยนาวิน : แปลและเรียบเรียง
.....................................................

คำถาม : สิทธิของสตรีในอิสลามคืออะไร ? และเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรตั้งแต่ยุคทองของอิสลาม (จากคริสต์ศตวรรษที่ 8 จนถึงกลางศตวรรษที่ 12) ถ้ามันมีการเปลียนแปลง ?

คำตอบ : การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

ประการที่ 1 อิสลามให้เกียรติสตรีเป็นอย่างมาก ให้เกียรติสตรีในฐานะแม่ที่ต้องเคารพ เชื่อฟังและปฏิบัติด้วยความเมตตา การที่แม่พึงพอใจก็ถือว่าเป็นส่วนในความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ อิสลามบอกพวกเราว่าสวรรค์นั้นอยู่ใต้ฝ่าเท้าของแม่ หมายความว่า วิธีที่ดีเลิศในการเข้าสู่สวรรค์คือการผ่านทางแม่ และอิสลามห้ามในเรื่องการไม่เชื่อฟังแม่หรือทำให้ท่านโกรธ แม้กระทั่งการกล่าวถ้อยคำที่รุนแรงดูหมิ่น สิทธิของแม่นั้นมีมากกว่าพ่อ และหน้าที่ (ของลูก) ที่จะต้องดูแลท่านจะมีเพิ่มขึ้น เมื่อแม่ของเขา ชราภาพมากขึ้นและอ่อนแอลง ทั้งหมดนี้ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอานและสุนนะฮฺ

อัลลอฮฺได้ตรัสว่า :

“และเราได้สั่งเสียมนุษย์ให้ทำดี ต่อบิดามารดาของเขา” (อัล-อะหฺกอฟ : 15)

“และพระเจ้าของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้นและจงทำดีต่อบิดามารดา เมื่อผู้ใดในทั้งสองหรือทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นอย่างกล่าวแก่ท่านทั้งสองว่า อุฟ ! และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง และจงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน.....และจงนอบน้อมแก่ท่านทั้งสองซึ่งการถ่อมตนเนื่องจากความเมตตาและจงกล่าวว่า ‘ข้าแต่พระเจ้าของฉัน ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสองเช่นที่ทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันเมื่อเยาว์วัย’ ” (อัล-อิสรออ์ : 23 – 24)

หะดีษบันทึกโดยอิบนุ มาญะฮฺ (เลขที่ 2781) รายงานว่า

มุอาวิยะฮฺ อิบนุ ญาหิมะฮฺ อัล-สุละมีย์ (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ฉันมาหาท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) และกล่าวว่า : “โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันต้องการออกไปญิฮาดกับท่าน เพื่อแสวงหาการพบพระพักตร์ของอัลลอฮฺและโลกหน้า” ท่านกล่าวว่า : “สำหรับท่านนั้น ! มารดาของท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ?” ฉันตอบว่า “มี” ท่านกล่าวว่า “จงกลับไปอยู่กับแม่ของท่านและทำดีต่อนาง” แล้วฉันก็เข้าหาท่านจากอีกด้านหนึ่งและกล่าวว่า “โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันต้องการออกไปญิฮาดกับท่าน เพื่อแสวงหาการพบพระพักตร์ของอัลลอฮฺและโลกหน้า” ท่านกล่าวว่า : “สำหรับท่านนั้น ! มารดาของท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ?” ฉันตอบว่า “มี” ท่านกล่าวว่า “จงกลับไปอยู่กับแม่ของท่านและทำดีต่อนาง” แล้วฉันก็เข้าหาท่านจากด้านหน้าและกล่าวว่า “โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ฉันต้องการออกไปญิฮาดกับท่านเพื่อแสวงหาการพบพระพักตร์ของอัลลอฮฺและโลกหน้า” ท่านกล่าวว่า : “สำหรับท่านนั้น ! มารดาของท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ?” ฉันตอบว่า “มี” ท่านกล่าวว่า “จงอยู่กับเท้าของนาง สวรรค์อยู่ที่นั่น!”

หะดีษเศาะฮีหฺ โดยชัยคฺ อัลบานีย์ ในเศาะฮีหฺสุนันอิบนุ มาญะฮฺ, บันทึกโดย อันนะสาอีย์ (เลขที่ 3104) ด้วยสำนวน

“จงกลับไปอยู่กับแม่ของท่าน เพราะแท้จริงสวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้าของนาง”

อัล-บุคอรีย์ (เลขที่ 5971) และมุสลิม ผ2548) รายงานว่า

รายงานจาก อบูฮุร็อยเราะฮฺ (ร.ฎ.) กล่าวว่า : ชายคนหนึ่งได้มาหาท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) และกล่าวว่า “บุคคลใดที่ฉันควรทำดีต่อเขามากที่สุด ?” ท่านกล่าวว่า “มารดาของท่าน” เขาได้กล่าวว่า “หลังจากนั้นคือใคร ?” ท่านกล่าวว่า “มารดาของท่าน” เขากล่าวอีกว่า “หลังจากนั้นคือใคร ?” ท่านกล่าวว่า “มารดาของท่าน” เขากล่าวต่อไปว่า “ หลังจากนั้นคือใคร ?” ท่านได้กล่าวว่า “บิดาของท่าน”

และยังมีตัวบทอื่น ๆ อีกที่มิได้กล่าวถึง ณ ที่นี้

หนึ่งในสิทธิที่อิสลามให้กับแม่ คือ ลูกชายของเธอจะต้องออกค่าใช้จ่ายให้แก่เธอหากเธอต้องการการสนับสนุน ตราบใดที่เขามีความสามารถและสามารถจ่ายได้ ดังนั้นหลายศตวรรษที่ผ่านมาจึงไม่เคยได้ยินจากผู้คนของอิสลามที่จะทอดทิ้งให้แม่ไปอยู่ในบ้านพักคนชรา หรือลูกชายที่ขับไล่เธอออกจากบ้าน หรือลูกชายของเธอปฏิเสธในการให้ค่าใช้จ่ายแก่เธอ หรือสำหรับเธอจะต้องทำงานเพื่อที่จะได้กินและดื่มหากลูกชายของเธอยังอยู่

อิสลามยังให้เกียรติสตรีในฐานะภรรยาอีกด้วย อิสลามเรียกร้องให้สามีปฏิบัติต่อภรรยาของเขาเป็นอย่างดีและด้วยมารยาทแห่งความเมตตาและกล่าวว่าภรรยานั้นมีสิทธิเหนือสามีเช่นเดียวกับสิทธิของเขาที่มีเหนือเธอ เว้นแต่ว่าเขาจะมีระดับที่เหนือกว่าเธออันเนื่องมาจากความรับผิดชอบของเขาในเรื่องค่าใช้จ่ายและการดูแลกิจต่าง ๆ ของครอบครัว อิสลามระบุว่าชายที่ดีที่สุดของมุสลิมคือผู้ที่ปฏิบัติต่อภรรยาของเขาในลักษณะที่ดีที่สุด และเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขาที่จะใช้เงินของภรรยาโดยปราศจากการยินยอมจากเธอ อัลลอฮฺตรัสว่า :

“...และจงอยู่ร่วมกับพวกนางด้วยดี...” (อันนิสาอ์ : 19)

“..และพวกนางนั้นจะได้รับเช่นเดียวกับสิ่งที่เป็นหน้าที่ของพวกนางจะต้อง ปฏิบัติโดยชอบธรรม และสำหรับบรรดาชายนั้นมีฐานะเหนือพวกนางชั้นหนึ่งและอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ : 228)

และท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ฉันกำชับพวกท่านให้ปฏิบัติต่อสตรีเป็นอย่างดี” (บันทึกโดยบุคอรีย์ เลขที่ 331 และมุสลิม เลขที่ 1468)

และท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า

“ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่พวกท่านก็คือผู้ที่ดีที่สุดกับภรรยาของเขา และฉันก็ดีที่สุดในหมู่พวกท่านที่ทำดีกับภรรยาของฉัน” (บันทึกโดย อัต-ติรมีซีย์ เลขที่ 3895 และอิบนุ มาญะฮฺ เลขที่ 1977 หะดีษเศษะฮีหฺ โดย อัล-อัลบานีย์ ใน เศาะฮีหฺ อัต-ตัรมีซีย์)

อิสลามให้เกียรติสตรีในฐานะลูกสาว และส่งเสริมให้พวกเราดูแลเอาใจใส่พวกเธออย่างดีและให้ความรู้แก่เธอ อิสลามระบุว่าการดูแลเอาใจใส่ลูกสาว จะนำมาซึ่งผลตอบแทนอันยิ่งใหญ่ อาทิเช่น ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

“บุคคลใดอบรมเลี้ยงดูเด็กผู้หญิงสองคน จนกระทั่งทั้งสองนั้นบรรลุศาสนภาวะ ในวันกิยามะฮฺฉันกับเขาจะได้อยู่เช่นทั้งสองนี้” แล้วท่านก็รวบนิ้วของท่านเข้าด้วยกัน (บันทึกโดย มุสลิม เลขที่ 2631)

อิบนุ มาญะฮฺ (เลขที่ 3669) รายงานว่า อุกบะฮฺ อิบนิ อามิร (ร.ฎ.) กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ซ.ล.) กล่าวว่า

“บุคคลใดมีลูกสาวสามคน และเขาอดทนต่อพวกเธอ ให้อาหารการกินแก่พวกเธอ ให้เครื่องดื่มและเสื้อผ้าแก่พวกเธอจากทรัพย์สินของเขา พวกเธอจะเป็นเกราะป้องกันสำหรับเขาจากไฟนรกในวันกิยามะฮฺ” (หะดีษเศาะฮีหฺ โดย อัล-อัลบานีย์ ใน เศาะฮีหฺ อิบนุ มาญะฮฺ)

อิสลามให้เกียรติสตรีในฐานะพี่สาว – น้องสาว และป้า อิสลามกำชับส่งเสริมในเรื่องการเชื่อมสัมพันธ์ของเครือญาติและห้ามตัดสัมพันธ์เอาไว้ในหลายถ้อยความ ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า

“โอ้ท่านทั้งหลาย พวกท่านจงให้สลามซึ่งกันและกันให้มาก จงให้อาหารแก่ผู้อื่น จงเชื่อมสัมพันธ์ญาติพี่น้อง และจงละหมาดในยามวิกาลในขณะที่ผู้คนต่างหลับใหล แล้วพวกท่านจะได้เข้าสวรรค์อย่างปลอดภัย”

อัล-บุคอรีย์ (เลขที่ 5988) รายงานว่า ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวว่า อัลลอฮฺตรัสว่า

“บุคคลใดที่เชื่อมสัมพันธ์เครือญาติ ข้าก็เชื่อมสัมพันธ์กับเขา บุคคลใดที่ตัดสัมพันธ์เครือญาติ ข้าก็ตัดสัมพันธ์กับเขา”

ทั้งหมดของคุณสมบัติเหล่านี้อาจรวมอยู่ในสตรีคนเดียว : เธออาจจะเป็นภรรยา ลูกสาว เป็นแม่ เป็นพี่สาว – น้องสาว เป็นป้า ดังนั้นเธอจะได้รับเกียรติในวิถีทางเหล่านี้ทั้งหมด

สรุปว่า อิสลามยกสถานะของสตรีและทำให้เธอนั้นเท่าเทียมกันกับบุรุษในข้อกำหนดส่วนใหญ่ ดังนั้นสตรีเสมือนบุรุษ ในการถูกสั่งใช้ให้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและอิบาดะฮฺต่อพระองค์ และสตรีจะเท่าเทียมกันกับบุรุษในแง่ของผลตอบแทนในโลกหน้า สตรีมีสิทธิที่จะแสดงออก ในการให้คำแนะนำอย่างจริงใจ กำชับในสิ่งที่ดีงามและห้ามปรามความชั่ว และเรียกร้องผู้คนมาสู่อัลลอฮฺ สตรีมีสิทธิในทรัพย์สินของตนเองในการซื้อและขาย การสืบทอดมรดก การบริจาคและให้ของขวัญ มันไม่เป็นที่อนุญาตแก่บุคคลใดที่จะใช้ทรัพย์สินของเธอโดยปราศจากการยินยอมจากเธอ สตรีมีสิทธิในเกียรติของเธอ โดยไม่ต้องเผชิญกับการถูกรุกรานหรือถูกข่มเหง สตรีมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษา ในความเป็นจริงนั้นมันเป็นข้อบังคับที่จะต้องสอนพวกเธอให้รู้ในเรื่องศาสนา

บุคคลใดก็ตามที่ได้เปรียบเทียบสิทธิของสตรีในอิสลามกับสภาวการณ์ในยุคญาฮิลียะฮฺ หรือในอารยธรรมอื่น ๆ จะเข้าใจว่าสิ่งที่เราได้กล่าวมานั้นเป็นความจริง และแท้จริงนั้นเรามั่นใจได้ว่าสตรีจะได้รับเกียรติอย่างที่ดีสุดในอิสลาม

ไม่มีความจำเป็นสำหรับเราที่จะต้องกล่าวถึงสภาวการณ์ของสตรีในกรีก เปอร์เซีย หรือสังคมชาวยิว แม้แต่สังคมของชาวคริสต์ก็มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสตรี นักศาสนศาสตร์ได้รวมตัวกันที่ Council of Macon เพื่อหารือเกี่ยวกับสตรีว่าเป็นเพียงร่างกายหรือร่างกายที่มีวิญญาณ พวกเขาส่วนใหญ่มีแนวโน้มว่าสตรีมิได้ถูกใส่จิตวิญญาณไว้ และพวกเขามีข้อยกเว้นเฉพาะในกรณีของพระนางมัรยัม (อ.ล.)

ในรัชกาลสมัยของกษัตริย์เฮนรีที่ 8 รัฐสภาของอังกฤษออกคำสั่งห้ามสตรีอ่านพันธสัญญาใหม่ เพราะพวกเธอถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ จนกระทั่ง ค.ศ. 1805 กฎหมายอังกฤษอนุญาตให้บุรุษขายภรรยาของเขาได้ และตั้งราคาของภรรยาไว้ที่ 6 เพนนี

ในยุคสมัยใหม่ (ภายหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมจนถึงปัจจุบัน) สตรีถูกขับไสไล่ส่งออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 18 ปี เพื่อให้พวกเธอเริ่มต้นทำงานเพื่อเลี้ยงปากท้อง หากสตรีต้องการจะอาศัยอยู่ที่บ้าน เธอต้องจ่ายเงินให้แก่พ่อแม่ในการาเช่าห้องและจ่ายสำหรับค่าอาหารและค่าซักรีดด้วย (ดู “เอาดะฮฺ อัล-หิญาบ” 2/47-56)

วิธีนี้สามารถนำมาเปรียบเทียบ กับอิสลามเพื่อที่จะกำชับให้รักษาเกียรติและวิถีที่พึงปฏิบัติต่อสตรี และเผยแพร่ไปยังพวกเขาได้อย่างไร ?

ประการที่ 2 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสิทธิเหล่านี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก แต่หลักการพื้นฐานมิได้เปลี่ยนแปลง ถึงกระนั้นประเด็นการประยุกต์ใช้หลักการเหล่านี้ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าในช่วงยุคทองของอิสลาม มุสลิมใช้ชะรีอะฮฺของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น โดยมีกำเกณฑ์ของชะรีอะฮฺนี้ ไม่ว่าการให้เกียรติต่อบิดามารดา การปฏิบัติต่อภรรยา ลูกสาว พี่สาว – น้องสาว และสตรีทั่วไป ต่อมาการยึดมั่นในศาสนาได้อ่อนแอลงและขยายวงกว้าง สิทธิเหล่านี้ถูกละเลยมากขึ้น อย่างไรก็ตามตราบจนถึงวันกิยามะฮฺก็จะยังคงมีกลุ่มที่ยึดมั่นในศาสนาของพวกเขา และได้ใช้ชะรีอะฮฺของพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา ผู้คนเหล่านี้เป็นบุคคลที่ให้เกียรติสตรีมากที่สุดและยอมรับในสิทธิของพวกเธอ

แม้จะมีความอ่อนแอในเรื่องการยึดมั่นต่อศาสนาในหมู่มุสลิมจำนวนมากในทุกวันนี้ สตรีก็ยังคงได้รับความพึงพอใจกับสถานะที่สูงส่งของเธอ ไม่ว่าจะเป็นลูกสาว ภรรยาหรือพี่สาว – น้องสาว ในขณะที่เราทราบถึงความบกพร่อง การกระทำผิดและการละเลยสิทธิของสตรีในผู้คนบางส่วน ซึ่งแต่ละคนนั้นต้องรับผิดชอบตัวเขาเอง

.......................................................
(จากหนังสือ : โลกของผู้หญิง)
อดทน  เพื่อชัยชนะ  โพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น