อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2558

บะรอกะฮฺ ข่าน(Berke Khan)บุรุษผู้พิชิตมองโกล



เขียนโดย อบู อับบาส

ในหน้าประวัติศาสตร์โลกมุสลิม มีความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ภายหลังการเสียชีวิตของท่านนบีอยู่ 3 ครั้งใหญ่ๆ นั่นคือ การรุกรานของมองโกล, สงคราม Crusade, และการล่มสลายของอาณาจักรอุษมานิยะฮฺ (ออตโตมาน) อะซานในวงเล็บคราวนี้ จะพูดถึงเรื่องแรกกัน
ในช่วงศตวรรษที่ 12-13 เป็นช่วงที่มองโกลแผ่แสนยานุภาพกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ เกินกว่าครึ่งโลก ใครจะคาดคิดว่าชาวเผ่าเร่ร่อนทางตอนเหนือของจีนจะกล้าหาญและสามารถพิชิตอาณาจักรต่างๆ เรื่อยมาตั้งแต่ จีน เกาหลี รัสเซีย อินเดีย เปอร์เซีย เอเชียกลาง และบางส่วนของอาหรับ การแผ่อิทธิพลของมองโกลสร้างความครั่นคร้ามให้กับโลกอย่างมากมาย เพราะนอกจากทัพมองโกลจะไร้ความปรานีแล้วยังมีความเก่งกาจทางการรบบนหลังม้าเป็นอย่างมาก ว่ากันว่า หากพวกเขาจะครองโลก ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีทางเป็นไปไม่ได้
แต่แล้วความเกรี้ยวกราดของทัพมองโกลก็หยุดอยู่เพียงชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียน เป็นเพราะอะไร เรามาเปิดวงเล็บกัน
สงครามที่เป็นจุดพลิกผันการแผ่ขยายอำนาจของมองโกลนั้นคือ สงครามอัยนฺ ญาลูต ซึ่งสงครามครั้งนี้เป็นสงครามที่นักประวัติศาสตร์บันทึกว่าเป็นสงครามที่มีผลกระทบสำคัญต่อโลกทั้งหมด เนื่องจากหากสงครามครั้งนี้ฝ่ายมองโกลเป็นฝ่ายมีชัย แน่นอนว่า มองโกลจะสามารถบุกเข้าไปยังยุโรป, คาบสมุทรอาหรับ, แอฟริกา ได้ทั้งหมด อันเป็นผลให้โลกสูญเสียอย่างใหญ่หลวง แต่ครั้งนั้น ทัพมุสลิมโดยการนำของราชวงศ์มัมลู๊กของอิยิปต์สามารถหยุดการรุกรานของมองโกลไว้ได้
สงครามครั้งนี้มีอะไรหลายๆ อย่างให้น่าพูดถึง แต่ที่ผมจะนำเสนอกลับเป็นอีกเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครทราบ ในการหยุดมองโกลไม่ให้มีโอกาสกลับมาพิชิตโลกมุสลิมได้อีกต่อไปนั้น มีบุรุษอีกคนที่มีบทบาทอย่างมากในการหยุดการรุกรานของทัพมองโกล นั่นคือ บะรอกะฮฺ ข่าน
ใช่แล้วเจ้าชายมองโกลคนนี้แหละครับ ที่หยุดทัพมองโกล!
ข่านมุสลิมแห่งอาณาจักรโกลเดนฮอร์ด (Golden Horde)
เตมูจิน เจงกิสข่าน มีบุตรชาย 4 คน โจชิ (Jochi) เป็นบุตรคนโต
ภายหลังการตายของเจงกิสข่าน โอเกดิ ข่าน ลูกคนที่ 3 ของเตมูจินได้สืบทอดบัลลังก์ต่อ
เบอร์ก ข่าน เป็นลูกชายคนคนที่ 3 ในจำนวน 14 คนของ โจชิ เป็นหลานแท้ๆ ของเจงกิสข่านผู้ยิ่งใหญ่ ปีค.ศ. 1236 เบอร์ก ข่าน (Berke Khan) และพี่น้องของเขา ได้รับบัญชาจากข่าน โอเกดิ ข่าน จักรพรรดิ์มองโกลให้ ยกทัพ 150,000 คนเข้าสู่ไซบีเรียและเขตของอาณาจักรมุสลิม หลังจากนั้นท่านได้ถูกส่งไปยังพื้นที่ตอนเหนือของคอเซซัส เพื่อยึดเมืองคิพชัค (Kipchaks) ภายใต้การนำของ บาตู ข่าน (Batu Khan)
บาตู และเบอร์กนำทัพมองโกลที่เข้ายึดครองรัสเซียและประเทศในแถบนั้น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามโกลเดนฮอร์ด ซึ่งต่อมา บาตู ข่าน พี่ชายของเบอร์ก ข่าน ก็ก้าวขึ้นไปเป็นผู้ปกครองชาวมองโกลคนแรกแห่งเมืองคิพชัค
ครั้งหนึ่ง เบอร์ก ข่าน น้องชาย เจ้าเมืองคิพชัค ได้พบกับกองคาราวานมุสลิมที่มาจากเมืองบุคอรอ เบอร์ก ข่านได้สนทนากับพ่อค้าเกี่ยวกับหลักการศรัทธา หลักการยึดมั่นของอิสลาม จนในที่สุด เบอร์ก ข่านก็เข้ารับอิสลามโดย ซัยฟุดดีน อัลเดอวิช จากเมือง คอวาริซ ภายหลัง และใช้ชื่อว่าบะรอกะฮฺ ข่าน จากนั้นเป็นต้นมา เมื่อตนเข้ารับอิสลามก็ได้เรียกร้องเชิญชวน ทัค ทีเมอ (Tukh-timur) น้องชายของตนเข้ารับอิสลามด้วย
ในขณะที่ทัพมองโกลกำลังจะยาตราทัพไปยังยุโรป โอเกดิ ข่าน ก็ถึงแก่ชีวิต ลูกหลานทั้งหมดของเจงกิสข่านจึงต้องกลับไปยังมองโกเลีย เพื่อเลือกและให้สัตยาบันกับข่านคนใหม่ ปี 1248 บาตู ข่าน ได้ส่งบารอกะฮฺและ ทัค ทีเมอ น้องชายทั้งสอง ไปยังมองโกเลีย บะรอกะฮฺ ข่านและพี่น้องของเขาเสนอ บาตู ข่านแห่งอาณาจักรข่านคิพชัค เป็นจักรพรรดิ์แห่งมองโกล (the great khan) แต่ล้มเหลว คราวนั้น ฮูลากู ข่าน หลานชายคนหนึ่งของเจงกิสข่าน ขึ้นเป็นจักรพรรดิ์ หลังจากนั้นอาณาจักรข่านคิพชัค จึงถูกจัดสถาปณาขึ้นเป็นรัฐอิสลามในดินแดนโกลเดนฮอร์ด เป็นอาณาจักรย่อยในจักรวรรดิมองโกล
ที่มองโกเลีย บารอกะฮฺ ข่านยังมีอีกภารกิจหนึ่งที่ต้องทำ ซึ่งก็คือดะอวะฮฺเชิญชวนพี่น้องของท่านจาก สายของข่านคนอื่นๆ ให้ยอมรับอิสลาม ด้วยวิธีการที่ดีงามหลายต่อหลายครั้ง แต่พวกเขาก็ปฏิเสธ แม้ว่าการศรัทธาจะแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม บะรอกะฮฺยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างมองโกลด้วยกันมาตลอด ท่านพยายามจัดการเรื่องต่างๆ ภายใต้กฏระเบียบที่เคร่งครัด
หลังจากนั้นไม่นานบาตู ข่านก็เสียชีวิต ปี ค.ศ. 1257 บารอกะฮฺ ข่านเป็นผู้ปกครอง โกลเดนฮอร์ด และ ค.ศ. 1266 ซึ่งเกิดจากการรวม Blue Horde และ White Hordes ไว้ด้วยกัน
เมื่อบะรอกะฮฺ ข่านผู้นี้ขึ้นปกครอง โกลเดนฮอร์ด ต่อจากบาตู ข่าน พี่ชาย อาณาจักรข่านแห่งอาณาจักรข่านคิพชัค ท่านก็นำเอาชะรีอะฮฺมาใช้ในการบริหารดินแดนของท่านทันที นับได้ว่าเป็นอาณาจักรของมองโกลแห่งแรกที่ปกครองโดยอิสลามมา
ศึกอัยน์ ญาลูต
ขณะเดียวกันอาณาจักรอับบาสียะฮฺอันรุ่งเรืองก็ถึงคราวล่มสลาย ทัพมองโกลบุกเข้าทำลายอารยธรรมอิสลาม ณ กรุงแบกแดดอย่างย่อยยับ บรรดามุสลิมทยอยกันอพยพออกจากแบกแดดไปทางตะวันตก ในสมัยนั้นผู้คนคงคิดว่าเราคงไม่มีทางต่อกรกับทัพมองโกลหรือ ตาตาร์ได้แน่ เนื่องจากพวกเขาโหดร้ายและมีแสนยานุภาพมากมายนัก อาณาจักรอิสลามน้อยใหญ่ถูกตีพ่ายมาเรื่อยๆ ทัดทานไม่อยู่ คล้ายกันมากกับเหตุการณ์ยุคปัจจุบัน แค่เปลี่ยนมองโกลเป็นอเมริกา
แต่แผนการของอัลลอฮฺนั้นดีเลิศยิ่ง
พระองค์ได้เตรียมบรรดาคนของพระองค์ไว้เพื่อหยุดพวกมองโกลและสอนบรรดามุสลิมถึงหลายๆ บทเรียน
ทางฝั่งอียิปต์ อาณาจักรอิสลาม มัมลู๊ก ราชวงศ์ที่มาจากทาส ผู้มีพลกำลังและศักยภาพทางการรบพอสมควร อาสาเข้าปกป้องโลกมุสลิมจากการรุกคืบของทัพมองโกล กูตุซ คอลิฟะฮฺของอาณาจักร์มัมลู๊กได้นำทัพออกไปปะทะกับทัพมองโกลที่ เนินอัยน์ ญาลูต แถบปาเลสไตน์
ในการศึกครั้งนี้หาได้มีเพียงกำลังพลจากมัมลู๊กอย่างเดียวไม่ แต่อาณาจักรอิสลามเล็กๆ รวมทั้งอาณาจักรคริสเตียนใกล้เคียงเข้าร่วมเสริมกำลังรบด้วย ไม่เว้นแม้กระทั่งทัพจาก บะรอกะฮฺ ข่าน ผู้นำมองโกลมุสลิมแห่งโกลเดนฮอร์ด คนแรกเข้าต่อกรกับฮูลากู ข่านด้วยเข่นกัน
ด้วยตักดีรของอัลลอฮฺทัพมองโกลที่พิชิตทุกสมรภูมิได้ลิ้มรสความพ่ายแพ้ในศึกครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้และถอยร่นกลับไปยังเมืองหลวงของอาณาจักรมองโกลแถบเปอร์เซีย
ซุบฮานัลลอฮฺ หลังจากศึกอัยน์ ญาลูตเพียง 15 วัน กูตุซ คอลีฟะฮฺแห่งมัมลู๊กก็กลับไปสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺ ราวกับว่าชายผู้นี้ถูกส่งมาเพื่อการณ์ในครั้งนี้เป็นการเฉพาะเจาะจง
มองโกลถูกหยุดสนิท
ผู้นำมัมลู๊กสิ้นแล้ว แต่ฮูลากู ข่าน ผู้นำมองโกลยังคงอยู่ ความคิดที่จะแก้แค้นความพ่ายแพ้ในศึก อัยน์ ญาลูต ยังคงอยู่ สบโอกาสหลายต่อหลายครั้งที่ ฮูลากู ข่านนำทัพเข้าโรมรันอาณาจักรอิสลาม แต่ก็หาเป็นผลสำเร็จไม่ เนื่องจากยังมีชายอีกคนที่รักษาคำมั่นสัญญาที่เคยให้กับพันธมิตรอย่างกูตุซไว้ว่าจะร่วมต้านทัพมองโกล แม้สหายได้สิ้นชีวิตไปแล้ว แต่บะรอกะฮฺ ข่านยังรักษาสัตย์ นำทัพสกัดกั้นความอหังการของฮูลากู ข่านไว้หลายระลอก แม้เรื่องราวภายหลังศึกใหญ่อย่างอัยน์ ญาลูตจะไม่ถูกกล่าวถึงนัก แต่ผมเห็นว่าบทบาทของบะรอกะฮฺ ข่านกลับเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองอันสำคัญที่ทำให้มองโกลไม่สามารถเข้าโจมตีอาณาจักรอิสลามได้อีกต่อไป
บะรอกะฮฺ ข่าน ได้ประกาศว่า “เขา (ฮูลากู ข่าน) บุกทำลายทั่วทุกเมืองของมุสลิม และมอบความตายให้กับคอลีฟะฮฺแห่งอาณาจักรอิสลาม ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ, ข้าจะนำเขามาคิดบัญชีต่อเลือดผู้บริสุทธิ์ทุกหยดที่เขาอธรรม” (ในหนังสือ The Mongol Warlords, โดย รอชีด อัดดีน ที่บันทึกคำประกาศของบะรอกะฮฺ ข่าน และปรากฏในหนังสือ The Mamluk-Ilkhanid War)
ไม่นานนัก ฮูลากู ข่านก็เสียชีวิต อันเป็นเหตุให้อาณาจักรมองโกลถูกลดศักยภาพและเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ เนื่องจากภายหลังจากฮูลากู ข่าน ก็หามีชายมองโกลคนใดเทียบเท่าฮูลากู ข่านได้อีกแล้ว
เช่นเดียวกัน ภายหลังฮูลากู ข่าน เสียชีวิต บะรอกะฮฺ ข่าน บุรุษผู้หยุดมองโกลก็กลับสู่ความเมตตาของอัลลอฮฺเช่นเดียวกัน ราวกับว่าเขาถูกจัดเตรียมให้มาทำการณ์นี้โดยเฉพาะ
บทบาทที่มากกว่าการรบ
บทบาทของบะรอกะฮฺ ข่านที่มีต่อโลกมุสลิมนั้น มีมากกว่าการหยุดยั้งมองโกลจากการเข้าทำลายโลกมุสลิม เนื่องจากท่านเข้ารับอิสลามด้วยความเข้าใจ จากการศึกษาจริงๆ อีกทั้งยังเป็นผู้มีความเคร่งครัดในอิสลามอย่างมาก การรักษาสายสัมพันธ์และดำเนินการเชิญชวนผู้คนเข้ารับอิสลามเป็นเหตุให้ชาวมองโกลมากมายเข้ารับอิสลาม การเชื่อมความสัมพันธ์กับราชวงศ์มัมลู๊กแห่งอียิปต์นอกจากจะเสริมความเข้มแข็งทางการทหารให้แก่กันแล้ว ยังทำให้ชาวมองโกลมุสลิมจำนวนมากสามารถเข้ายังอียิปต์และเรียนรู้อิสลามเพิ่มมากขึ้น
บะรอกะฮฺ ข่าน มีชื่อในภาษามองโกเลี่ยน ว่า Berke Khan อันมีความหมายว่า ความยากลำบาก แต่สำหรับมุสลิมแล้วชื่อของท่านคือความบะรอกะฮฺ คือการเพิ่มพูน, ความดีงาม ที่อัลลอฮฺประทานลงมากแก่ประชาชาตินี้ผ่านทางท่าน บะรอกะฮฺ ข่าน บุรุษผู้หยุดมองโกล

..............................
เขียนโดย อบู อับบาส
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์อะซาน
ข้อมูลจาก : http://n0tebook.wordpress.com/2010/12/22/mongkol-conquer/
ที่มา - Blogs ดาบแห่งอัลเลาะห์ อะคาเดมี่
http://ansorimas200.blogspot.com/
http://ansorimas.blogspot.com/2013/07/berke-khan.html




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น