ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ได้กล่าวแก่ผู้ชายที่เข้ารับอิสลามว่า
“จงเอาขนแห่งการปฏิเสธโยนทิ้งออกไปจากท่าน และจงขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเสีย” (บั้นทึกหะดิษโดยอบูดาวูด รายงานโดยอุซัยมฺ)
ท่านรสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า
“การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศนั้น เป็นสุนนะฮฺสำหรับผู้ชาย เป็นความประเสริฐสำหรับผู้หญิง” (บันทึกหะดิษโดยอะหฺมัด และอัลบัยฮะกี)
การขริบหรือคิตาน ถูกเรียกชื่อต่างกันแล้วแต่พื้นที่ชุมชน ได้แก่ การเข้าสุนัต การเข้าแขก การเข้ามาลายู การเข้าบวด หรือมาโซ๊ะยาวี เป็นต้น
สำหรับการขริบหรือคิตาน เป็นการตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะสืบพันธุ์ของชายเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความสะอาด หากหนัง หุ้มนั้นยังปกคลุมอยู่ ส่วนวัตถุที่คล้ายเนยแข็งซึ่งขับถ่ายออกมาโดยผิวหนังของบริเวณปลายอวัยวะสืบพันธุ์ที่เรียกว่า “ เสมกม่า ” ก็จะหมักหมมอยู่ การขริบหรือคิตานเป็นการขจัดสิ่งนี้โดยวิธีที่ดีที่สุด
เมื่อก่อนการทำคิตานถือเป็นที่ลำบาก เพราะเครื่องมือไม่พร้อมเหมือนปัจจุบัน แต่ปัจจุบัน การทำคิตานเป็นที่สะดวกและง่ายดาย พร้อมทั้งการแพทย์และเครื่องมือ
การทำคิตาน อาจทำแบบหมู่ คือมีการทำคิตานพร้อมกันหลายคน หรือจะมีการทำคิตานเพียงคนเดียว
ปัจจุบัน การทำคิตาน ในพื้นที่มลายู อาจมีประเพณีแปลกๆเพิ่มเติมขึ้นมา เช่น มีการเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โต มีการให้ผู้ที่ทำการคิตานขี่คอแล้วมีการแห่ขบวน รวมถึงมีการละเล่นๆต่างๆ
แต่ที่แปลกไปกว่านั้น บางพื้นที่จะไม่ยอมทำคิตานร่วมกัน ทั้งที่บ้านอยู่ติดกัน เป็นเครือญาติเดียวกัน แต่จะแยกกันทำ โดยวันแรกจะมีการทำคิตาน และทำบุญเลี้ยงโต๊ะละใบ และในวันถัดมาจะมีการจัดเลี้ยงผู้คน โดยมีการเก็บเงิน เหมือนกับการจัดเลี้ยงงานแต่งงาน และจะเรียกผู้ทำคิตานว่า "เจ้าบ่าวแขก" และปรากฎในแต่ละวันในชุมชนหนึ่งๆ จะมีงานจัดเลี้ยงเจ้าบ่าวแขกเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ได้รับบัตรเชิญก็มีการเอือมระอา เพราะต้องนำเงินไปจ่ายงานเลี้ยงเจ้าบ่าวแขก จนหมุนเงินค่าใช้จ่ายในแต่ละวันไม่ทัน
ประเพณีเหล่านี้เกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ดผุด กลัวว่าประเพณีเหล่านี้ยิ่งนานวันมีการสืบทอดกันแล้วลูกหลานจะเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำคิตาน และมีความจำเป็นต้องทำ และเป็นเรื่องศาสนาไป จริงๆแล้วประเพณีเหล่านี้มันไม่เกี่ยวข้องอันใดเลยกับการทำคิตานตามบทบัญญัติศาสนา
والله أعلم بالصواب
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น