อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557

อิสลามมี"พิธียกเสาเอก" ด้วยหรือ?



คนต่างศาสนิก อย่างพุทธศาสนา เมื่อเริ่มปลูกสร้างบ้านพักอาศัย จะมีพิธีกรรมหนึ่ง ที่เรียกว่า "พิธียกเสาเอก" หรือ"ลงเสาเอก" เพื่อให้เกิดความศิริมงคล แต่เดิมทีตามคำสอนของพุทธศาสนาไม่มีความเชื่อและพิธีกรรมดังกล่าว แต่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์อีกที


พิธีกรรมยกเสาเอกของชาวพุทธศาสนา

พิธีกรรมยกเสาเอกของคนพุทธศาสนา ได้แก่ การดูฤกษ์ยามดีเวลาการทำพิธียกเสาเอก  การทำพิธีลงเสาเอก การตั้งเสาเอก
ลำดับพิธี
-วางสายสิญจน์เริ่มจากโต๊ะบูชาไปยังโต๊ะสังเวยขวาบริเวณสถานที่ก่อสร้างเข้าสู่เสาเอก (ก่อนเวลาฤกษ์พอสมควร)
 -เจ้าภาพจุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา อธิษฐานเพื่อเกิดสิริมงคล กราบพระ
  -จุดเทียนธูปที่โต๊ะสังเวย บูชาเทวดาให้คุ้มครอง
  - พิธีกรกล่าวสังเวยเทวดา
 -เจ้าภาพตอกไม้มงคล 9 ชนิด (ถ้ามี)
  -วางแผ่นทอง นาก เงินในหลุมเสาเอก (ถ้ามี)
  -นำใบทอง นาก เงิน และเหรียญทอง เงิน ลงก้นหลุมแล้วนิมนต์พระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์โปรยทรายเสกที่หลุมเสา
 - เจิมและปิดทองเสาเอก
 - ผูกหน่อกล้วย อ้อย และผ้าสีแดงหรือผ้าขาวม้าที่เสาเอก
 - ถือด้ายสายสิญจน์ พร้อมทั้งญาติมิตรผู้ร่วมพิธี
  -ช่าง ช่วยกันยกเสาเอก จนตั้งเรียบร้อย (ขณะยกเสานั้นพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา) (ถ้ามี)
 - เจ้าภาพโปรยข้าวตอกดอกไม้ลงหลุมเสาเอก พร้อมทั้งญาติมิตรผู้ร่วมพิธีเสร็จพิธี



พิธีกรรมยกเสาเอกในบางชุมชนมุสลิม

สำหรับบางชุมชนมุสลิม ก็มีพิธี"ยกเสาเอก"เช่นกัน รูปลักษณ์ในการลงเสาเอกไม่ต่างกับพิธียกเสาเอกของพุทธศาสนาเท่าไหร่หนัก ไม่ว่ากรณีปลูกสร้างบ้านพักอาศัย,ร้านค้า, อาคารที่ทำการของหน่วยงานต่างๆ หรือปลูกสร้างบาลอ,มัสยิด แตกต่างเพียงองค์ประกอบในการประกอบพิธี ที่นำบทดุอาอ์ การกล่าวซิกรุลลอฮฺมาใช้ในพิธี

ลำดับขั้นตอน พิธียกเสาเอกของมุสลิมบางชุมชน ดังนี้

1.เชิญโต๊ะอิมาม โต๊ะละแบ(ละใบ,กลุ่มคน) มาบริเวณใกล้ที่ปลูกสร้างบ้าน และร่วมกันละหมาดฮะญัต หลังจากนั้นก็นั่งร่วมวง แล้วอ่านสูเราะยาซีน ร่วมกันกล่าวซิกรุลลอฮฺ และยกมือขดดุอาอ์ ตามลำดับ

2. เจ้าของที่จะปลูกสร้างบ้านจะเลี้ยงอาหารทำบุญแก่โต๊ะละแบ

3.เมื่อถึงเวลาฤกษ์ยามดี ก็ให้โต๊ะละแบคนหนึ่งไปอาซานที่ใกล้หลุ่มที่จะทำพิธีเสาเอก

4.โต๊ะละแบคนหนึ่งจะเป็นผู้นำกล่าวดุอาอ์ก่อนยกเสาลงหลุ่ม มีการถือเสาลงหลุ่มพร้อมกัน นำน้ำดุอาอ์ที่บรรจุในกาน้ำมารดลงไปในหลุ่มรอบเสาเอก หลังจากนั้นโต๊ะละแบทุกคนที่มาร่วมพิธีก็ร่วมกันนำปูนเทลงไปในหลุ่มเสาเอก จนเสร็จพิธี

นี้คือขั้นตอนรูปแบบพิธียกเสาเอกที่ปรากฏให้เห็นในนชุมชนมุสลิมบางพื้นที่







แต่พิธีกรรมเหล่านี้ มันไม่มีปรากฏหลังฐานใดๆ จากการกระทำ ของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) บรรดาเศาะหาบะฮฺสาวกของท่าน รวมถึงบรรดาบรรพชนยุคสลัฟเลยแม้แต่น้อย

ทั้งในบทเรียนการสอนศาสนาของมหาวิทยาลัยต่างๆของอิสลาม ไม่ว่า มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร ไคโร หรือมหาวิทยาลัยอิสลามมาดีนะฮฺก็ตามที  ก็ไม่ปรากฏให้เห็นถึงการสอนในเรื่องประกอบพิธีกรรมยกเสาเอกที่มุสลิมในบ้านเรากระทำอยู่นี้ แล้วพิธีกรรมเหล่านี้มาจากไหน เกิดขึ้นมาได้อย่างไรกัน?...

มันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพิธีกรรมยกเสาเอกนี้ มันไม่ใช่พิธีกรรมที่ถูกกำหนดไว้ตามบทบัญญัติอิสลาม แต่มันเป็นพิธีกรรมที่ถูกเพิ่มเติมอุตริขึ้นมาใหม่ในศาสนาในภายหลัง หากพิธีกรรมยกเสาเอก มีอยู่ในอิสลามแล้ว ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ก็จะไม่ลืมที่จะบอกหรือแจ้งให้ประชาชาติของท่านให้รับทราบ แต่ตามความเป็นจริงพิธีกรรมเหล่านี้มิได้ถูกกล่าวไว้เลย ทั้งในคำตรัสของพระองค์อัลลอฮฺ คืออัลกุรอาน และอัลหะดิษ ที่เป็นคำพูด การยอมรับ หรือการปฏิบัติของท่านรสูล รวมถึงบรรดาเศาะหาบะฮฺ และบรรพชนหลังจากนั้น ก็ไม่ปรากฏให้เห็นแม้แต่อักษรเดียว แต่พิธีกรรมเหล่านี้กลับปรากฏในพิธีกรรมของชาวพุทธศาสนา และชาวพุทธศาสนาได้หยิบยืมมาจากพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอีกที เมื่อชาวพุทธศาสนาสามารถนำพิธีกรรมเหล่านี้มาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความเชื่อของตนได้ แล้วมุสลิมจะหยิบยืมมาแล้วปรุงแต่งให้เข้ากับอิสลามไม่ได้หรือ? คำตอบ คือไม่ได้เด็ดขาด พระองค์อัลลอฮฺตะอาลา ทรงตรัสไว้แล้วว่า ศาสนาใครศาสนามัน ไม่ข้องเกี่ยวกัน ศาสนาเขาก็ทำไป มุสลิมอย่าไปร่วมด้วยกับพวกเขา หากมุสลิมคนใดไปเลียนแบบ รวมพิธี หรือสังคยานากับกลุ่มชนใด เขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนนั้น และการงานที่อุตริขึ้นมาใหม่ในศาสนานั้น คือสิ่งที่หลงผิด มันถูกปฏิเสธและสูญเปล่า ทั้งเป็นการสร้างความกริ้วโกรธและโทษทัณฑ์จากพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา

ที่น่าเจ็บปวดที่สุด ก็คือ ผู้ที่เป็นผู้นำในการทำพิธีกลับเป็นบุคคลที่มีความรู้ เป็นผู้นำในชุมชน ไม่ว่าโต๊ะอิมาม กลุ่มโต๊ะครูบาบอ ผู้รู้ศาสนาทั้งนั้น ทั้งๆที่พวกเขาก็รู้อยู่เต็มอกว่าพิธีเหล่านี้ไม่มีในคำสอนอิสลาม

แต่พวกเขาก็ยังคงมีความเชื่อและปฏิบัติมัน และปฏิเสธที่จะยุติพิธีกรรมเหล่านี้ ด้วยข้ออ้างสารพัด อันได้แก่

อ้างว่า พิธีกรรมยกเสาเอก เป็นพิธีกรรมที่กระทำสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษปู่ย่าตายายของพวกเขา

อ้างว่า ศาสนาไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามทำพิธีกรรมยกเสาเอก เมื่อศาสนาไม่ได้ห้าม ก็สามารถทำได้

อ้างว่า ถึงแม้พิธีกรรมยกเสาเอก จะไม่ปรากฏหลักฐาน ก็ถือเป็นบิดอะฮฺดี ไม่ใช่บิดอะฮฺฎอลาละฮฺ

อ้างว่า รายละเอียดพิธีกรรมต่างๆ ก็มาจากอิสลาม ได้แก่ การอ่านอัลกุรอานสูเราะฮฺยาซีน กล่าวซิกรุลลอฮฺ การอาซาน หรือบทดุอาอ์ต่างก็ตามที มันผิดด้วยหรือ? ที่เอาสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นองค์ประกอบพิธีกรรม

ฯลฯ

 นี้คือคำกล่าวอ้างของพวกเขา ที่นำมาแก้ต่าง สร้างความชอบธรรม และเสมือนว่ามันถูกต้องตามหลักการศาสนา พวกเขาคิดค้นพิธีโน้นพิธีนี้ แล้วไปหยิบยกหลักฐานนั้นหลักฐานนี้มารองรับพิธีกรรมตามความเชื่อของพวกเขา พวกเขาอ้างว่าพิธีกรรมยกเสาเอกที่สืบทอดมายังพวกเขา ปู่ย่าตายายได้มีความเชื่อและกระทำสืบต่อกันมา ทั้งที่ปู่ย่าตายายของพวกเขาไม่เข้าใจ และอยู่บนพื้นฐานศาสนากระนั้นหรือ?

แล้วพวกเขากล่าวว่า พิธีกรรมเหล่านี้ไม่มีศาสนาห้ามไว้ ทั้งที่กฏเกณฑ์หรือโครงสร้างที่มาของวิชาอรรถคดี (อุศูลุ้ลฟิกฮ์) นั้น สิ่งใดที่เป็นพื้นฐานของกิจการทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องดุนยา คือการอนุมัติ จนกว่าจะมีหลักฐานห้าม แต่หากเป็นพื้นฐานของอิบาดะฮฺทั้งหลาย ซึ่งเป็นเรื่องศาสนานั้น คือการห้าม หากไม่มีศาสนาสั่งใช้ ก็ไม่เป็นที่อนุมัติ ดังนั้นพิธีกรรมยกเสาเอกเป็นเรื่องอิบาดะฮฺ เมื่อไม่มีคำสั่งใช้ให้กระทำก็เป็นการห้ามที่จะก่อเพิ่มเติมมันขึ้นมาในศาสนา

พวกเขายังกล่าวอ้างว่า พิธีกรรมยกเสาเอก เป็นพิธีกรรมที่ถูกอุตริในทางที่ดี ทั้งที่ท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า ทุกบิดอะฮฺนั้นฎอลาละฮฺ หรือหลงผิด ท่านอิบนุ อุมัรฺ (ร่อฎีญัลลอฮุอันฮุมา) กล่าวว่า ถึงแม้มนุษย์จะมองมันเป็นสิ่งดีก็ตาม ทุกบิดอะฮฺที่สร้างขึ้นมาตามความหมายภาษา ใครก็มองดีไปหมด แต่ถ้าหากเป็นเรื่องศาสนามันก็คือบิดอะฮฺฎอลาละฮฺ ถึงแม้พวกเขาจะมองว่ามันดีก็ตาม

และพวกเขากล่าวอ้างอีกว่า สิ่งที่พวกเขานำมาเป็นองค์ประกอบพิธีกรรมนั้น มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วๆไปในศาสนา แล้วผิดตรงไหน?  ทั้งที่พวกเขาหยิบยืมพิธีกรรมของต่างศาสนิกมา นั้นคือตัวพิธีกรรม แล้วเอาองค์ประกอบของพิธีของคนต่างศาสนิกออกไป ไม่ว่าการวางสายสิญจน์เริ่มจากโต๊ะบูชาไปยังโต๊ะสังเวย, การจุดเทียนธูปที่โต๊ะหมู่บูชา, พิธีกรกล่าวสังเวยเทวดา, การตอกไม้มงคล การวางแผ่นทอง นาก เงินในหลุมเสาเอก หรือการเจิมและปิดทองเสาเอก แล้วนำการละหมาดฮายัต การอ่านอัลกุรอาน การกล่าวซิกรุลลอฮฺ และการขอดุอาอ์พร้อมกันเข้าไป  เฉกเช่นหยิบยืมเอาแก้วของคนต่างศาสนิกเขามา ซึ่งบรรจุกาแฟอยู่เต็มแก้ว แล้วพวกเขาก็ได้เทกาแฟที่บรรจุในแก้วนั้นทิ้งไป ให้คงอยู่เพียงแก้วใบนั้น แล้วจึงเติมชาเขียวลงไป เติมนม เติมน้ำตาลหรือครีมลงไปให้รสชาติพอดิบพอดีตามที่ใจพวกเขาปรารถนา

อันแท้จริงแล้ว การที่เราจะกระทำสิ่งใดสักอย่าง ก่อนเราจะเริ่มลงมือ ก็ให้กล่าวนามของพระองค์อัลลอฮฺตะอาลา คือให้กล่าวว่า "บิสมิลลาฮฺ" (ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ) ไปพร้อมกับการมอบหมายต่อพระองค์ก็เพียงพอแล้ว ดังนั้น เมื่อมุสลิมคนใดจะเริ่มปลูกสร้างบ้านพักอาศัย ก็ให้เขากล่าวนามของอัลลอฮฺเช่นเดียวกัน ส่วนการขอดุอาอ์ให้ตนเองปลูกสร้างบ้านให้สำเร็จ ให้อยู่ในบ้านที่กำลังปลูกสร้างอย่างเย็นเป็นสุข หรือประการอื่น ก็เป็นสิทธิของเขาที่จะขอต่อพระเจ้าของเขา โดยไม่มีการเจาะจง หรือมีแบบพิธีกรรม หรือความเชื่ออื่นใดเข้ามาในการปลูกสร้างบ้านของเขา...


والله أعلم بالصواب



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น