อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

อัล-อะมานะฮฺ ความซื่อสัตย์รับผิดชอบต่อหน้าที่



โดย  อ.อับดุลลอฮฺ สุไลหมัด


1. อัล-อะมานะฮฺ คือ ความซื่อสัตย์รับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้รับมอบหมายและไว้วางใจ

2. อะมานะฮฺ ความซื่อสัตย์รับผิดชอบต่อหน้าที่ คือภารกิจที่หนักและสำคัญยิ่ง สรรพสิ่งทั้งมวลปฏิเสธที่จะแบก รับไว้ มีเพียงมนุษย์ที่มีนิสัยชอบ ฉ้อฉลและคิดอะไร เพียงสั้นๆเท่านั้นที่เสนอตัวแบกรับภารกิจอันหนักอึ้งนี้ไว้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงรับสั่งว่า

إِنَّا عَرَضْنَا الْأَمَانَةَ عَلَى السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ وَالْجِبَالِ فَأَبَيْنَ أَنْ يَحْمِلْنَهَا وَأَشْفَقْنَ مِنْهَا وَحَمَلَهَا الْإِنْسَانُ إِنَّهُ كَانَ ظَلُومًا جَهُولًا

"แท้จริงเราได้เสนอ "อะมานะฮฺ" (คือหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ) แก่ชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และแก่ขุนเขา แต่พวก มันปฏิเสธ จะแบกรับมันและ ขยาดกลัวต่อมัน และมนุษย์ได้แบกรับมัน เพราะว่า มนุษย์เป็นผู้อธรรมโง่เง่ายิ่งนัก"

ซูเราะฮฺอัล-อะหฺซาบ อายะฮฺที่ 72

3. อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงกำหนดให้ "อะมานะฮฺ" ความซื่อสัตย์รับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นคุณลักษณะ ที่ดีและเป็นส่วนหนึ่งของความ อีหม่านศรัทธาที่ สมบูรณ์ และเป็นคุณสมบัติหรือจรรยาบรรณประการหนึ่งของ ผู้ศรัทธาที่จะได้รับชัยชนะและความสำเร็จในวันกิยามะฮฺ พระองค์ทรงดำรัสถึงคุณสมบัติของบ่าว ผู้ศรัทธา ที่จะได้รับชัยชนะไว้ว่า

قَدْ أَفْلَحَ الْمُؤْمِنُونَ  الَّذِينَ هُمْ فِي صَلَاتِهِمْ خَاشِعُونَ  ...............وَالَّذِينَ هُمْ لِأَمَانَاتِهِمْ وَعَهْدِهِمْ رَاعُونَ

"บรรดาผู้มั่นในศรัทธาจักต้องได้รับชัยชนะ ด้วยพวกเขาเป็นผู้นอบน้อมสำรวมในการละหมาดของ พวกเขา....และเป็น ผู้รับผิดชอบด้วยดีต่อ สิ่งที่ได้รับมอบหมาย-อะมานะฮฺฺ-ของพวกเขา และต่อคำมั่น สัญญาของพวกเขา"

ซูเราะฮฺอัลมุอฺมินูน อายะฮฺที่ 8

และท่านอะนัส อิบนิมาลิก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

لاَ إِيمانَ لِمَنْ لا أَمانَةَ لَهُ ، ولا دِينَ لِمَنْ لا عَهْدَ لَهُ

"ไม่ถือเป็นอีหม่านที่สมบรูณ์สำหรับผู้ไม่มีอะมานะฮฺความซื่อสัตย์รับผิดชอบ และไม่มีศาสนาที่สมบรูณ์ สำหรับผู้ที่ไม่รักษา คำมั่นสัญญา "

บันทึกโดยอะหมัด และอัดฏ็อบรอนีย์

4. อะมานะฮฺ ความรับผิดชอบมี 2 ประเภท คือ

  (1) ความรับผิดชอบในหน้าที่ระหว่างบ่าวและอัลลอฮฺองค์พระผู้เป็นเจ้า และ

  (2) ความรับผิดชอบในหน้าที่ระหว่างบ่าวด้วยด้วยกัน และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงห้ามปวงบ่าว ผู้ศรัทธาบิดพลิ้วไม่ซื่อสัตย์รับผิดชอบ ต่อหน้าที่ทั้ง 2 กรณี อัลลอฮฺทรงรับสั่งว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا لَا تَخُونُوا اللَّهَ وَالرَّسُولَ وَتَخُونُوا أَمَانَاتِكُمْ وَأَنْتُمْ تَعْلَمُونَ

"โอ้บรรดาผู้มีศรัทธา จงอย่าบิดพลิ้วต่ออัลลอฮฺและต่อศาสนฑูต และจงอย่าบิดพลิ้วต่อหน้าที่ความรับ ผิดชอบของพวกเจ้า เอง ทั้งนี้พวกเจ้า นั้นรู้เป็นอย่างดี"

ซูเราะฮฺอันฟาล อายะฮฺที่ 27

5. อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงบัญชาใช้ให้ผู้ศรัทธาซื่อสัตย์รักษาและรับผิดชอบต่ออะมานะฮฺ โดยเฉพาะ สิ่งที่เป็นหน้าที่นั้นต้องรับผิดชอบ ด้วยดีไม่ทุจริต ต่อหน้าที่ และส่วนที่เป็นภาระผูกพัน เช่น หนี้สินและของรับฝาก ให้รีบชดใช้และมอบคืนแก่ผู้เป็นเจ้าของเิดิมหรือแก่ผู้มีสิทธิ์ และส่วนได้เสียในทรัพย์นั้นๆ เช่น ทายาทเป็นต้น เพราะจะมีผลผูกพันถึงวันอาคิเราะฮฺ และจะไม่ได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แต่อย่างใด หากไม่ได้รับการอโหสิกรรม หรือการอภัยจากเจ้าของสิทธิ์นั้น ต่างกับสิ่งที่เป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงรับสั่งว่า

إِنَّ اللَّهَ يَأْمُرُكُمْ أَنْ تُؤَدُّوا الْأَمَانَاتِ إِلَى أَهْلِهَا وَإِذَا حَكَمْتُمْ بَيْنَ النَّاسِ أَنْ تَحْكُمُوا بِالْعَدْلِ إِنَّ اللَّهَ نِعِمَّا يَعِظُكُمْ بِهِ إِنَّ اللَّهَ كَانَ سَمِيعًا بَصِيرًا

"แท้จริงอัลลอฮฺทรงบัญชาให้พวกเจ้ามอบคืนของรับฝากแก่เจ้าของเดิมของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสิน ระหว่างผู้คน พวกเจ้าจักต้องตัดสิน ด้วยความยุติธรรม ทั้งนี้อัลลอฮฺทรงชี้แนะพวกเจ้าไว้อย่างดีแล้ว แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยินและผู้ทรงเห็น"

ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ อายะฮฺที่ 58

ท่านอาบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

أَدِّ الأَمانَةَ إِلَى مَنِ ائْتَمَنَكَ ، وَلا تَخُنْ مَنْ خَانَكَ

"ท่านพึงต้องซื่อสัตย์รับผิดชอบต่อผู้ที่ให้ความไว้วางใจต่อท่าน และท่านอย่าบิดพลิ้วแม้กับผู้ที่เคย บิดพลิ้วต่อท่านก็ตาม"

บันทึกโดยอาบูดาวุด และอัตติรมีซีย์

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงไม่โปรดและไม่ชอบการบิดพลิ้วและผู้บิดพลิ้ว ทรงห้ามแม้กระทั่งการเข้าข้าง, เถียงแทนหรือออกรับแทน ผู้บิดพลิ้ว อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงรับสั่งว่า

وَلَا تُجَادِلْ عَنِ الَّذِينَ يَخْتَانُونَ أَنْفُسَهُمْ إِنَّ اللَّهَ لَا يُحِبُّ مَنْ كَانَ خَوَّانًا أَثِيمًا

"และเจ้าจงอย่าโต้เถียงแทนบรรดาผู้ที่บิดพลิ้วต่อตัวพวกเขาเองเลย แท้จริงอัลลอฮฺไม่ทรงชอบผู้บิด พลิ้ว ผู้ทำบาป"

ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ อายะฮฺที่ 107

6. การบิดพลิ้วและไม่ซื่อสัตย์รับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นนิสัยสันดานของพวกมุนาฟิกีนสับปรับหน้าไหว้หลังหลอก ท่านอาบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

آيَةُ الْمُنافِقِ ثَلاَثٌ : إِذَا حَدَّثَ كَذَبَ ، وإِذَا وَعَدَ أَخْلَفَ ، وإِذا اؤْتُمِنَ خانَ

"สัญลักษณ์สำแดงความเป็นผู้สับปรับมี 3ประการ คือ (1) เมื่อเขาพูดก็มักจะโกหกพกลม (2) เมื่อเขา ให้สัญญาก็มักจะผิด สัญญา  (3)และเมื่อเขาได้รับความไว้วางใจเขาก็มักจะบิดพลิ้วไม่รับผิดชอบ"

บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม

7. การเพิกเฉยละเลยและไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่เป็นสัญญาณของกาลอวสานของโลกนี้ หรือเมื่อผู้ขาดคุณ สมบัติและจรรยาบรรณได้รับความ ไว้วางใจให้ทำหน้าที่ สำคัญทั้งๆที่ไม่มีความเหมาะสม ท่านอาบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า

فَإِذَا ضُيِّعَتِ الأَمانَةُ فَانْتَظِرِ السِّاعَةَ

"เมื่อใดที่อะมานะฮฺความรับผิดชอบถูกทิ้งขว้าง-เพิกเฉยไม่ใส่ใจ-เมื่อนั้นท่านก็จงรอวันแห่งกาลอวสาน ได้เลย"

บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม

ในอีกรายงานระบุว่า

إِذَا أُسْنِدَ الأَمْرُ إِلَى غَيْرِ أَهْلِهِ فَانْتَظِرِ السِّاعَةَ

"เมื่อใดที่ตำแหน่งหน้าที่ถูกมอบหมายให้แก่ผู้ที่ไม่คู่ควร-ขาดคุณสมบัติ-เมื่อนั้นท่านก็จงรอวันแห่งกาล อวสานได้เลย"

บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม

8. มุสลิมทุกคนมีอะมานะฮฺ สามีมีอะมานะฮฺ ภรรยามีอะมานะฮฺ พ่อมีอะมานะฮฺ แม่มีอะมานะฮฺ ลูกมีอะมานะฮฺ ครูมีอะมานะฮฺ นักเรียนมีอะมานะฮฺ อิหม่ามมีอะมานะฮฺ กรรมการมัสยิดมีอะมานะฮฺ ผู้นำชุมชนมีอะมานะฮฺ พ่อค้ามีอะมานะฮฺ ทุกคน ทุกระดับมีอะมานะฮฺ หน้าที่และบทบาทของ แต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือน กันคือทุกคนต้องรับผิดชอบ

9. ทุกคนมีอะมานะฮฺหน้าที่และความรับผิดชอบ และทุกคนต้องถูกสอบสวนถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ นั้น ๆ ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ รายงานว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า

كُلُّكُمْ رَاعٍ وَ كُلُّكُمْ مَسْئُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ ، فَالأَمِيْرُ رَاعٍ عَلَى رَعِيَّتِهِ وهُوَ مَسْئُولٌ عَنهُمْ ، وَالرَّجُلُ راعٍ عَلَى أَهلِ بَيتِهِ وهو مسئولٌ عنهُمْ ، والعَبْدُ راعٍ على مالٍ سَيِّدِهِ وهو مسئولٌ عنهُ ، والمَرْأَةُ راعِيَةٌ على بَيتِ زَوْجِها ومسئولَةٌ عنهُ

"พวกท่านทุกคนล้วนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และพวกท่านทุกคนต้องถูกสอบสวนจากหน้าที่ความรับ ผิดชอบนั้น ผู้นำมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในปกครองของเขา และเขาต้องถูกสอบสวนถึง ความรับผิดชอบต่อประชาชนด้วย และบุรุษ (สามี,พ่อบ้าน) มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสมาชิกในครอบ ครัว และเขาต้องถูกสอบสวนถึงความรับผิดชอบต่อสมาชิกในครอบครัวด้วย และทาสรับใช้มีหน้าที่ ต้องรับผิดชอบดูแลทรัพย์สินของผู้เป็นนาย และเขาจะถูกสอบสวนถึงความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินนั้น ด้วย และสตรี (ภรรยา,แม่บ้าน) มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลบ้านให้สามี และนางต้องถูกสอบสวนถึงความ รับผิดชอบนั้นๆ ด้วย"

บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม

............................................................
http://webcache.googleusercontent.com/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น