อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

การละหมาดรวมในช่วงเดินทาง






ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« كَانَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَجْمَعُ بَيْنَ صَلاَةِ الظُّهْرِ وَالعَصْرِ، إِذَا كَانَ عَلَى ظَهْرِ سَيْرٍ وَيَجْمَعُ بَيْنَ المَغْرِبِ وَالعِشَاءِ » [أخرجه البخاري]

“ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม เคยรวมละหมาดซุฮ์รฺกับอัศรฺ เมื่อท่านอยู่ในช่วงเดินทาง และรวมละหมาดมัฆริบและอิชาอ์”  บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ

ท่านอับดุลลอฮฺ บินอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« رَأَيْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ إِذَا أَعْجَلَهُ السَّيْرُ فِي السَّفَرِ، يُؤَخِّرُ صَلاَةَ المَغْرِبِ حَتَّى يَجْمَعَ بَيْنَهَا وَبَيْنَ العِشَاءِ» قَالَ سَالِمٌ: «وَكَانَ عَبْدُ اللَّهِ بْنُ عُمَرَ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا يَفْعَلُهُ إِذَا أَعْجَلَهُ السَّيْرُ وَيُقِيمُ المَغْرِبَ، فَيُصَلِّيهَا ثَلاَثًا، ثُمَّ يُسَلِّمُ، ثُمَّ قَلَّمَا يَلْبَثُ حَتَّى يُقِيمَ العِشَاءَ، فَيُصَلِّيهَا رَكْعَتَيْنِ، ثُمَّ يُسَلِّمُ، وَلاَ يُسَبِّحُ بَيْنَهُمَا بِرَكْعَةٍ، وَلاَ بَعْدَ العِشَاءِ بِسَجْدَةٍ، حَتَّى يَقُومَ مِنْ جَوْفِ اللَّيْلِ » [أخرجه البخاري]

“ฉันเห็นท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม เมื่อการเดินทางต้องเร่งรีบ ท่านจะเลื่อนการละหมาดมัฆริบออกไปจนเอามันไปรวมกับอีชาอ์ และท่านได้ให้อิกอมะฮฺเพื่อละหมาดมัฆริบ แล้วละหมาดมัฆริบ 3 ร็อกอะฮฺ หลังจากนั้นท่านก็ได้ให้สลาม จากนั้นเพียงไม่กี่เล็กน้อยท่านก็ได้ให้อิกอมะฮฺเพื่อละหมาดอิชาอ์ แล้วท่านก็ละหมาดอีชาอ์ 2 ร็อกอะฮฺ จากนั้นท่านก็ได้ให้สลาม  และท่านก็ไม่มีละหมาดสุนนะฮฺใดแม้เพียงร็อกอะฮฺเดียวในระหว่างละหมาดทั้งสองนั้น และไม่มีแม้เพียงสุญูดเดียวหลังอีชาอ์ จนกระทั้งท่านลุกขึ้นมาอีกทีในตอนกลางคืน”  บันทึกโดยอัล-บุคอรียฺ

ท่านมุอาซ บินญะบัล เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

« كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِي غَزْوَةِ تَبُوكَ إِذَا زَاغَتِ الشَّمْسُ قَبْلَ أَنْ يَرْتَحِلَ، جَمَعَ بَيْنَ الظُّهْرِ وَالْعَصْرِ، وَإِنْ يَرْتَحِلْ قَبْلَ أَنْ تَزِيغَ الشَّمْسُ، أَخَّرَ الظُّهْرَ، حَتَّى يَنْزِلَ لِلْعَصْرِ، وَفِي الْمَغْرِبِ مِثْلُ ذَلِكَ، إِنْ غَابَتِ الشَّمْسُ قَبْلَ أَنْ يَرْتَحِلَ، جَمَعَ بَيْنَ الْمَغْرِبِ وَالْعِشَاءِ، وَإِنْ يَرْتَحِلْ قَبْلَ أَنْ تَغِيبَ الشَّمْسُ، أَخَّرَ الْمَغْرِبَ حَتَّى يَنْزِلَ لِلْعِشَاءِ ثُمَّ جَمَعَ بَيْنَهُمَا » [أخرجه أبو داود والترمذي]

“ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะสัลลัม ในสงครามตะบูก เมื่อดวงอาทิตย์เอียงคล้อยก่อนออกเดินทาง ท่านจะละหมาดรวมซุฮรฺกับอัศรฺ และหากว่าท่านออกเดินทางก่อนดวงอาทิตย์เอียงคล้อย ท่านจะเลื่อนละหมาดซุฮรฺออกไปจนกว่าท่านจะแวะพักเพื่อละหมาดอัศรฺ และในมัฆริบก็เช่นเดียวกันนั้น เมื่อดวงอาทิตย์ลับไปก่อนที่ท่านจะออกเดินทาง ท่านจะละหมาดรวมมัฆริบกับอิชาอ์ และหากท่านออกเดินทางก่อนที่ดวงอาทิตย์จะลับไป ท่านจะเลื่อนมัฆริบออกไปจนกว่าท่านจะแวะพักเพื่อละหมาดอิชาอ์ หลังจากนั้นท่านก็ละหมาดรวมทั้งสองละหมาด”  บันทึกโดยอบู ดาวูดและอัต-ติรมิซียฺ

คำอธิบาย
การผ่อนปรนของอัลลอฮฺที่มีต่อประชาชาตินี้ และยกเอาความลำบากออกไปจากพวกเขาประการหนึ่ง คือการที่พระองค์ทรงบัญญัติให้ละหมาดรวมในการเดินทางได้ เพราะคนเดินทางโดยทั่วไปแล้วจะพบกับความลำบากในการหยุดแวะในทุกๆเวลาละหมาด ฉะนั้น คนเดินทางจึงสามารถรวมละหมาดซุฮ์รฺกับอัศรฺในเวลาใดเวลาหนึ่งของทั้งสองได้ และเช่นกันกับละหมาดมัฆริบและอิชาอ์

ประโยชน์ที่ได้รับ
มีบัญญัติให้รวมละหมาดซุฮ์รฺกับอัศรฺ และละหมาดมัฆริบกับอิชาอ์ในช่วงเดินทางได้
อนุญาตให้ละหมาดรวมได้ ทั้งรวมแบบตักดีม หรือรวมแบบตะอ์คีร ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งใดเป็นความสะดวกแก่คนเดินทางมากกว่า
ไม่มีบัญญัติให้ละหมาดสุนนะฮฺในระหว่างละหมาดรวมทั้งสอง

..........................................................
ดร.รอชิด บิน หุเสน อัล-อับดุลกะรีม
แปลโดย : สะอัด วารีย์
ตรวจทานโดย : ฟัยซอล อับดุลฮาดี
ที่มา : หนังสือ อัด-ดุรูส อัล-เยามียะฮฺ มิน อัส-สุนัน วะ อัล-อะห์กาม อัช-ชัรอียะฮฺ, เว็บ al-islam.com




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น