อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เรื่องมุตอะฮฺ



แปลและเรียบเรียงโดย อามีนะฮฺ บินติ อิบรอฮีม

อับดฺ อัล-ฮุเซน อะหฺมัด อัล-อะมินีย์ นักปราชญ์ของชีอะฮฺผู้เขียนหนังสือ อัล-ฆอดิรฺ ( ฉบับตีพิมพ์ที่กรุงเบรุต ปี ค.ศ. 1967 ) ยืนยันว่าอายะฮฺ 4:24 นั้นเป็นอายะฮฺที่เกี่ยวข้องกับเรื่องมุตอะฮฺ ท่านอ้างว่านักตัฟซีรฺอะหฺลุซซุนนะฮฺหลายท่านให้การสนับสนุนทัศนะดังกล่าว ท่านพยายามที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ใช่เพียงชีอะฮฺเท่านั้นที่ยอมรับในประเด็นนี้ แต่อะหฺลุซซุนนะฮฺเองยังยอมรับในเรื่องนี้ด้วย

ความจริงนักตัฟซีรฺฝ่ายอะหฺลุซซุนนะฮฺส่วนใหญ่ไม่ได้มีทัศนะเช่นนั้น และผู้ใดก็ตามที่อ้างว่ามุตอะฮฺมีอ้างอยู่ในอัล-กุรฺอาน ขอบอกว่านั่นเป็นเพียงสมมุติฐานอย่างหนึ่งเท่านั้น และเราขอปฏิเสธเรื่องนี้ว่าไม่จริง ต่อไปนี้เป็นทัศนะจริงๆ ของนักปราชญ์ฝ่ายอะหฺลุซซุนนะฮฺที่หนังสืออัล-ฆอดิรฺอ้างถึง :

อัล-รอซีย์( มุฮัมมัด ฟัครุดดีน อิบนฺ เซียอุดดีน )

อัล-รอซีย์กล่าวถึงทัศนะของทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านมุตอะฮฺ เหมือนกับที่คาซานีย์นำเสนอในหนังสือ บะดาอี อัล-ซานาอี ของเขา( เล่ม 2 หน้า 272-274, ไคโร ฮ.ศ. 1327 ) อัล-รอซีย์กล่าวว่านักปราชญ์มีความเห็นขัดแย้งกันเกี่ยวกับการยกเลิกอัล-กุรฺอานอายะฮฺดังกล่าว( 4:24 ) แต่ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าคำสั่งอนุญาตให้ทำมุตอะฮฺตามความในอายะฮฺดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว มีนักปราชญ์เพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ถือว่ามุตอะฮฺยังเป็นที่อนุมัติอยู่ ท่านพยายามนำทัศนะของทั้งสองฝ่ายมาแจกแจง และในตอนท้ายท่านสรุปว่า เหตุผลของผู้ที่ต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่า มุตอะฮฺเป็นที่อนุมัตินั้นไม่สามารถนำมาหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่ามีการยกเลิกอายะฮฺดังกล่าวไปแล้ว

มีผู้โต้แย้งว่าหะดีษที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกมุตอะฮฺนั้นขาดความต่อเนื่อง อัล-รอซีย์มีความเห็นว่าการโต้แย้งนี้ไม่ถูกต้อง เพราะมันอาจจะเป็นไปได้ว่าผู้ที่เคยได้ยินเกี่ยวกับคำสั่งยกเลิกเกิดหลงลืมมันไป ครั้นเมื่อท่านอุมัร รอฎิฯ ได้เตือนสติพวกเขาในที่ประชุม พวกเขาจึงนึกขึ้นได้และยอมรับคำพูดของท่าน ข้อโต้แย้งที่ระบุว่าท่านอุมัร รอฎิฯ เป็นคนแรกที่สั่งห้ามมุตอะฮฺนั้นเป็นสิ่งที่ยึดถือไม่ได้ เพราะถ้ามุตอะฮฺเป็นที่อนุมัติให้กระทำได้ แต่ท่านอุมัรฺ รอฎิฯ กลับประกาศสั่งห้ามเสีย อย่างนี้ก็หมายความว่าท่านอุมัรเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา และทุกคนที่เชื่อฟังโดยไม่ทำการต่อต้านคัดค้านย่อมตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ท่านอะลี รอฎิฯ ซึ่งปิดปากเงียบก็จะพลอยมีความผิดไปด้วยเช่นกัน

ข้อโต้แย้งเหล่านี้ใช้ไม่ได้ เพราะคำประกาศของท่านอุมัร รอฎิฯ สามารถสืบย้อนและมีหลักฐานมาจากคำประกาศของท่านนบี ศ็อลฯ ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่าท่านนบี ศ็อลฯ เองนั่นแหละที่สั่งห้ามมิให้มีการทำมุตอะฮฺ ( ตัฟซีรฺ กะบีรฺ เล่ม 2 หน้า 415, ไคโร ) อบู ฮัยยานเองก็มีความเห็นในลักษณะคล้ายๆ กัน ตะบารีย์เป็นอีกผู้หนึ่งที่กล่าวเอาไว้ในหนังสือตัฟซีรฺของท่านว่าอายะฮฺ( 4:24 )ที่พูดถึงนี้เกี่ยวข้องกับนิกะฮฺหรือการแต่งงานตามแบบปกติ และข้อความ " ตามระยะเวลาที่กำหนด " ที่อุบัย บิน กะอับ และอิบนฺ อับบาสเพิ่มเข้าไปในอายะฮฺ 4:24 ถือว่ายอมรับไม่ได้เพราะสิ่งที่ไม่มีอยู่ในอัล-กุรฺอาน ใครจะเพิ่มเติมเข้าไปไม่ได้โดยเด็ดขาด( ตัฟซีรฺ ตะบารีย์ เล่ม 8 หน้า 179 , ไคโร )

ขอชี้แจงให้เข้าใจไว้ ณ ที่นี้ว่าท่านอุบัย บิน กะอับ และอิบนฺ อับบาสเคยอ่านข้อความว่า " ตามระยะเวลาที่กำหนด " หลังคำว่า " อิสตัมตะตุม " ในอายะฮฺ 4:24 เพื่อแสดงว่าอายะฮฺนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องมุตอะฮฺ เรื่องของท่านอิบนฺ อับบาสนี้ปรากฏอยู่ในรายงานหะดีษหลายแห่ง เช่น หนังสือสุนันของบัยฮากีย์ ในคำอรรถาธิบายหะดีษเศาะเฮียะฮฺบุคอรีและหะดีษเศาะเฮียะฮฺมุสลิมของท่านอุซกะลานีย์และนะวาวีย์ โดยที่มีบันทึกว่าในท้ายที่สุดแล้ว ท่านอิบนฺ อับบาสได้เปลี่ยนไปมีความคิดในทางตรงข้าม( นั่นคือมุตอะฮฺเป็นสิ่งหะรอม ) ในช่วงปลายชีวิตของท่าน

อัล-ญัสซาส( อบูบักร อะหฺมัด อิบนฺ อะลี )

พอเริ่มต้นท่านอัล-ญัสซาสก็ปฏิเสธว่าอายะฮฺ 4:24 นั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับมุตอะฮฺแต่อย่างใด แต่มันเกี่ยวข้องกับสิ่งที่อายะฮฺก่อนหน้าพูดถึง นั่นคือการนิกะฮฺ หรือการแต่งงานตามแบบปกติกับผู้หญิงที่ไม่ได้อยู่ในข่ายห้ามแต่งงานด้วย หลังจากอธิบายว่าผู้หญิงประเภทไหนบ้างที่ห้ามมิให้แต่งงาน อัล-กุรฺอานยังกล่าวต่อไปว่า " และเป็นที่อนุมัติสำหรับพวกเจ้าได้แก่สิ่งที่นอกเหนือไปจากนี้ (ถ้า)พวกเจ้าจะแสวงหา(หญิงมาแต่งงาน)ด้วยทรัพย์สินของพวกเจ้าโดยปรารถนาความบริสุทธิ์ผุดผ่อง มิใช่โดยการมักมากเสพกาม " หลังจากนั้นอัล-กุรฺอานได้กล่าวต่อไปว่า " ดังนั้นหญิงใดที่พวกเจ้ามีความสุขกับพวกนางแล้ว จงมอบสินตอบแทน( มะฮัรฺ )แก่พวกนางตามข้อกำหนด "

ตามทัศนะของอัล-ญัสซาส คำว่า " มีความสุข " นั้นหมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นเหตุให้จำเป็นต้องจ่ายมะฮัรฺ( ของขวัญการแต่งงาน ) อายะฮฺนี้ลงมาเพื่อชี้ให้เห็นข้อกำหนดในการจ่ายมะฮัรเต็มจำนวนถ้าฝ่ายชายได้หลับนอนกับฝ่ายหญิงเรียบร้อยแล้ว ยิ่งกว่านั้นคำว่า " โดยปรารถนาความบริสุทธิ์ผุดผ่อง มิใช่โดยการมักมากเสพกาม " ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการแต่งงานแบบปกติ มิใช่มุตอะฮฺซึ่งทำเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศอย่างเดียว ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามุตอะฮฺไม่มีการรับมรดก ไม่มีอิดดะฮฺ ถ้าฝ่ายชายเผอิญตายไปก่อนครบกำหนดเวลา หรือไม่มีอิดดะฮฺเมื่อครบกำหนดตามสัญญา และยังไม่มีการรับเป็นพ่อของเด็กที่อาจจะเกิดขึ้นอีกด้วย

จากนั้นอัล-ญัสซาสได้พูดถึงท่านอิบนฺ อับบาส เนื่องจากท่านตีความว่าอายะฮฺ 4:24 เกี่ยวข้องกับการทำมุตอะฮฺ อัล-ญัสซาสระบุว่า เมื่อท่านอิบนฺ อับบาสได้ยินว่าคำชี้ขาดของท่านทำให้มีคนทำมุตอะฮฺกันอย่างตะกละมูมมาม ท่านจึงกล่าวว่าท่านอนุญาตการทำมุตอะฮฺเฉพาะตามความจำเป็นเท่านั้น เหมือนกับกรณีของซากสัตว์ เลือดและเนื้อสุกรซึ่งอนุญาตให้บริโภคได้เมื่อมีความจำเป็นจริงๆ และตามรายงานของญาบิรฺ บิน ซะอิดระบุว่า ท่านอิบนฺ อับบาสได้ถอนคำพูดของท่านที่ท่านเคยพูดเกี่ยวกับมุตอะฮฺและริบาอฺ( ดอกเบี้ย ) เรื่องนี้ยังได้รับการพิสูจน์จากรายงานของอฺะตะ อัล-คุเราะซานีย์ว่า ท่านอิบนฺ อับบาสได้กล่าวว่า อายะฮฺเกี่ยวกับมุตอะฮฺถูกยกเลิกโดยอายะฮฺอีกอายะฮฺที่มีใจความว่า " เมื่อเจ้าจะหย่าภรรยา ก็จงหย่าพวกนางตามกำหนด( อิดดะฮฺ )ของพวกนาง " ( 65:1 ) กำหนดของพวกนาง ณ ที่นี้ หมายถึงสภาวะที่สะอาด( หรือไม่มีประจำเดือน )และไม่ได้ตั้งครรภ์

นอกจากนี้ อัล-ญัสซาสยังได้อธิบายถึงเรื่องมุตอะฮฺในแง่มุมต่างๆ โดยครบถ้วน และโดยอาศัยอัล-กุรฺอานอายะฮฺอื่นๆ ท่านพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงที่ร่วมทำมุตอะฮฺไม่นับว่าเป็น " ภรรยา " มุตอะฮฺถูกท่านนบี ศ็อลฯ สั่งห้ามในวันคัยบัรฺตามหะดีษที่รายงานโดยท่านอะลี รอฎิฯ และอีกครั้งหนึ่งในปีที่มีการยึดคืนนครมักกะฮฺตามหะดีษที่รายงานโดยศ็อบเราะฮฺ บิน มะบาด เรื่องคำสั่งห้ามนี้ยังได้รับการพิสูจน์โดยอัล-บุคอรีและมุสลิมด้วยเช่นกัน ดังนั้น รายงานอื่นๆ ที่ระบุวันที่ที่ท่านนบี ศ็อลฯ สั่งห้ามมิให้ทำมุตอะฮฺแตกต่างไปจากนี้ ตามทัศนะของอัล-ญัสซาสถือว่าเชื่อถือไม่ได้ทั้งสิ้น

อัล-ญัสซาสยังกล่าวอีกว่า บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลฯ จะคัดค้านคำประกาศของท่านอุมัร รอฎิฯ อย่างแน่นอน ถ้าพวกเขาไม่เชื่อว่าท่านนบี ศ็อลฯ เป็นผู้สั่งมิให้ทำมุตอะฮฺด้วยตัวของท่านเอง( อะฮฺกาม อัล-กุรฺอาน เล่ม 2 หน้า 177-188 , ไคโร พิมพ์ปี ฮ.ศ. 1347 )

อัล-ซฺะมัคชารีย์( มุฮัมมัด อิบนฺ อุมัร )

ตามทัศนะของท่านอัล-ซฺะมัคชารีย์ อายะฮฺ 4:24 กล่าวถึงผู้หญิงที่เข้าพิธีนิกะฮฺหรือการแต่งงานแบบปกติ กล่าวถึงพันธะหน้าที่ของสามีที่เกิดขึ้นจากสัญญาการแต่งงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสามีได้มีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของตนแล้ว อัล-ซฺะมัคชารีย์ยังให้ข้อสังเกตุว่า มีรายงานว่าอายะฮฺนี้ลงมาเกี่ยวข้องกับการทำมุตอะฮฺซึ่งดำเนินอยู่เพียงแค่สามวันในช่วงที่นครมักกะฮฺถูกยึดกลับคืนมา แล้วก็ถูกสั่งห้าม ผู้ชายเคยแต่งงานกับผู้หญิงภายในช่วงเวลาที่กำหนด คืนหนึ่งหรือสองคืนหรือสัปดาห์หนึ่งเพื่อแลกเปลี่ยนกับเสื้อคลุมสักตัวหนึ่ง หรือสิ่งอื่นๆ แล้วปล่อยให้เธอไปหลังจากที่ผู้ชายได้สิ่งที่ตัวเองต้องการสมใจแล้ว ท่านอัล-ซฺะมัคชารีย์กล่าวว่า นี่เรียกว่ามุตอะฮฺ หรือการเสพสุขกับผู้หญิงโดยแลกเปลี่ยนกับสิ่งของที่มอบให้กับเธอ และอุมัรกล่าวว่าท่านจะขว้างผู้ชายที่แต่งงานกับผู้หญิงในกำหนดระยะเวลาหนึ่งให้ตายเพื่อเป็นการทำโทษ ท่านอัล-ซฺะมัคชารีย์ยังกล่าวว่า มีรายงานว่าท่านนบี ศ็อลฯ เคยอนุญาตให้มีการทำมุตอะฮฺและภายหลังท่านได้กล่าวว่า "โอ้ประชาชนทั้งหลาย! ฉันเคยอนุญาตให้พวกท่านทำการมุตอะฮฺกับพวกผู้หญิงเหล่านี้ แต่อัลลอฮฺได้ทรงห้ามมันจวบจนวันกิยามะฮฺ( วันแห่งการฟื้นคืนชีพ )

นอกจากนี้ยังปรากฏรายงานว่ามุตอะฮฺเคยได้รับการอนุญาตสองครั้ง และได้ถูกสั่งห้ามสองครั้งเช่นกัน และตามทัศนะของท่านอิบนฺ อับบาส ท่านถือว่าอายะฮฺนี้มีความแน่นอนและมิได้ถูกยกเลิกแต่ประการใด ท่านอิบนฺ อับบาสยังเคยอ่านข้อความว่า " ตามระยะเวลาที่กำหนด " หลังข้อความที่กล่าวว่า " ดังนั้นหญิงใดที่พวกเจ้ามีความสุขกับพวกนางแล้ว จงมอบสินตอบแทนแก่พวกนางตามข้อกำหนด " อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าในบั้นปลายชีวิต ท่านได้ยกเลิกคำตัดสินชี้ขาดเรื่องนี้ และได้กล่าวว่า " โอ้อัลลอฮฺ! ข้าฯ ขออภัยโทษต่อพระองค์ด้วยข้าฯ เคยมีทัศนะผิดๆ เกี่ยวกับมุตอะฮฺและริบาอฺ " นี่คือสิ่งที่ท่านอัล-ซฺะมัคชารีย์ได้กล่าวเอาไว้ ( อัล-กัชชัฟ เล่ม 1 หน้า 169 ) และนี่สวนทางกับสิ่งที่อัล-อะมินีย์ผู้แต่งหนังสืออัล-ฆอดิรฺกล่าวอ้างไว้

ตัฟซีรฺ บะฆอวีย์ก็ได้ทำการสรุปเอาไว้ในลักษณะเดียวกัน ขณะที่กอซีย์ อบูบักร( หรือที่รู้จักกันในนาม อิบนฺ อะรอบีย์ )ได้ให้ความเห็นว่าท่านอุบัย บิน กะอับและท่านอิบนฺ อับบาสทำไม่ถูกต้องในการเติมข้อความของตนเองลงไปในอายะฮฺอัล-กุรฺอานเพื่อสนับสนุนว่าความคิดของตนถูกต้อง

ตามความเห็นของอิบนฺ อะรอบีย์ ท่านเห็นว่าอายะฮฺ 4:24 ลงมาเพื่อชี้ให้เห็นว่า มะฮัรฺนั้นถ้าไม่ได้มีการตกลงกันเอาไว้ก่อน ผู้ชายจะต้องมอบให้กับผู้หญิงอยู่ดี หากเขาได้หลับนอนกับเธอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อายะฮฺนี้ต้องการที่จะแจกแจงให้เป็นที่ชัดเจนว่า ถึงแม้จะไม่มีการระบุถึงมะฮัรฺเอาไว้ในสัญญาการแต่งงานก็ตาม เมื่อฝ่ายหญิงได้เป็นภรรยาอย่างแท้จริงแล้ว( โดยการที่สามีได้หลับนอนกับเธอ ) เธอย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับมะฮัรฺ อัล-มิษลฺ( ของขวัญการแต่งงานที่ถูกกำหนดเอาไว้เป็นธรรมเนียมสำหรับผู้หญิงในครอบครัวของเธอ ) ดังนั้นอายะฮฺนี้จึงเกี่ยวข้องกับการแต่งงานตามแบบปกติ ไม่ใช่การทำมุตอะฮฺแต่อย่างใดทั้งสิ้น

อิบนฺ อะรอบีย์ยังกล่าวเสริมว่า มุตอะฮฺตามหลักชะรีอะฮฺ( กฎหมายอิสลาม )เป็นเรื่องพิเศษและมีน้อยกรณีมาก เนื่องจากมีการอนุญาตให้ทำมุตอะฮฺในสมัยต้นๆ ของอิสลาม และต่อมาได้ถูกสั่งห้ามในวันคัยบัรฺ ครั้นถึงช่วงระหว่างยุทธการเอาว์ตาส มุตอะฮฺก็ได้รับอนุญาตอีกครั้งหนึ่ง และถูกสั่งห้ามไปตลอดกาล

ขอให้หมายเหตุไว้ ณ ที่นี้ว่ายุทธการเอาว์ตาสกับยุทธการยึดนครมักกะฮฺนั้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันและอยู่ในปีเดียวกัน นั่นคือปีที่มีการยึดคืนนครมักกะฮฺ

อัล-กุรฺตุบีย์( อบู อับดุลลอฮฺ มุฮัมมัด อิบนฺ อะหฺมัด )

สำหรับอายะฮฺ 4:24 ที่เรากำลังพูดถึงนี้ อัล-กุรฺตุบีย์กล่าวว่าบรรดานักปราชญ์มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับความหมายของอายะฮฺนี้ แต่อายะฮฺนี้เกี่ยวข้องกับการแต่งงานแบบปกติอย่างแน่นอน เนื่องจากอายะฮฺนี้กำหนดพันธะหน้าที่อย่างหนึ่งให้กับฝ่ายสามี ถ้าสามีได้เข้าหาภรรยาของเขาแล้ว ในกรณีนี้ ฝ่ายสามีจะต้องจ่ายมะฮัรฺให้กับภรรยาเต็มจำนวนตามที่ระบุไว้ในระหว่างทำพิธีแต่งงาน แต่ถ้าในระหว่างทำพิธีไม่มีการระบุถึงจำนวนมะฮัรฺ ฝ่ายสามีจะต้องจ่ายมะฮัรฺ อัล-มิษลฺ หรือของขวัญการแต่งงานที่ถูกกำหนดเอาไว้เป็นธรรมเนียมสำหรับผู้หญิงในครอบครัวของเธอ

อัล-กุรฺตุบีย์ยกเอาคำพูดของอิบนฺ คุอัยซฺ มุนดาดขึ้นมาอ้าง ซึ่งอิบนฺ คุอัยซฺกล่าวว่า " มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่จะตีความอายะฮฺอัล-กุรฺอานว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องมุตอะฮฺ เพราะท่านนบี ศ็อลฯ ได้สั่งห้ามเรื่องมุตอะฮฺแล้ว และอัลลอฮฺ สุบหฯ ตรัสว่า ' ....ดังนั้นจงแต่งงานกับพวกนางด้วยการอนุมัติจากผู้เป็นนายของพวกนาง..... ' ( 4:25 ) " จะเห็นได้ว่านิกะฮฺหรือการแต่งงานนี้จะเป็นอะไรอื่นไปไม่ได้นอกจากการแต่งงานตามแบบปกติเท่านั้น สำหรับมุตอะฮฺนั้นมันมิได้เป็นไปเช่นนั้น บรรดาอุลามะฮฺโดยทั่วไปให้ความหมายมุตอะฮฺว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ปรากฏอยู่ในระยะต้นๆ ของอิสลาม ท่านอิบนฺ อับบาส, อุบัย บิน กะอับและอิบนฺ ญุเบรฺเคยอ่านอายะฮฺ 4:24 ในลักษณะที่แตกต่างออกไป โดยการเพิ่มข้อความว่า " ตามระยะเวลาที่กำหนด " เข้าไปในอายะฮฺดังกล่าวด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่าอายะฮฺนี้เกี่ยวข้องกับการทำมุตอะฮฺ แต่การทำเช่นนี้ไม่ถูกต้อง เพราะท่านนบี ศ็อลฯ ได้สั่งห้ามเรื่องมุตอะฮฺเอาไว้แล้ว

อัล-กุรฺตุบีย์ยังได้อ้างถึงทัศนะของสะอีด อิบนฺ อัล-มุซัยยับซึ่งท่านผู้นี้ได้กล่าวว่า : มุตอะฮฺถูกยกเลิกโดยอัล-กุรฺอานอายะฮฺที่เกี่ยวข้องกับมรดก เพราะในมุตอะฮฺไม่มีข้อกำหนดว่าด้วยมรดก นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฎิฯ และอัล-กอซิม บิน มุฮัมมัดพูดว่า " คำสั่งห้าม( มิให้ทำมุตอะฮฺ )สามารถพิสูจน์ได้จากอายะฮฺที่มีใจความว่า ' และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาอวัยวะลับของพวกเขา(ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง) ยกเว้นกับบรรดาภริยาของพวกเขา หรือ(ทาสหญิง)ที่มือขวาของเขาครอบครองอยู่ ในกรณีเช่นนั้นพวกเขาจะไม่ถูกตำหนิ ( 23:5-6 ) ' "

มุตอะฮฺเองไม่ใช่การแต่งงานในแบบปกติและมุตอะฮฺจะนำมาปฏิบัติกับทาสหญิงไม่ได้ อัล-ดารฺ กุตนีย์รายงานว่า ท่านอะลี รอฎิฯ พูดว่า " ท่านนบี ศ็อลฯ สั่งห้ามเรื่องมุตอะฮฺ มัน( เคยเป็นที่อนุมัติ )สำหรับคนที่ถูกกดดันอย่างหนัก แต่ถูกยกเลิกเมื่ออายะฮฺที่เกี่ยวข้องกับการนิกะฮฺ( การแต่งงานแบบปกติ ), การหย่า, อิดดะฮฺและมรดกถูกประทานลงมา " ท่านอิบนฺ มัสอูดเองยังพูดถึงมุตอะฮฺในลักษณะเดียวกัน เหล่านี้คือความเห็นที่อัล-กุรฺตุบีย์นำมาตั้งเป็นข้อสังเกตทั้งสิ้น

อัล-กุรฺตุบีย์ได้พูดถึงความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวันที่ที่ท่านนบี ศ็อลฯ อนุญาตและสั่งห้ามเรื่องมุตอะฮฺ ท่านได้สรุปว่า ตามทัศนะของนักปราชญ์ทั้งหมดถือว่ามุตอะฮฺนั้นสำหรับผู้ที่ออกศึกสงครามหรือเดินทางไกล สำหรับทัศนะที่อ้างว่ามุตอะฮฺถูกสั่งห้ามในระหว่างฮัจย์อำลานั้น อัล-กุรฺตุบีย์บอกว่าทัศนะนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากในระหว่างการทำฮัจญ์ ภรรยาจะเดินทางไปกับสามีของตนด้วย จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีการทำมุตอะฮฺ ที่ถูกต้องแล้ว เราควรสรุปเรื่อง " วันที่ " ว่าท่านนบี ศ็อลฯ ได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ทำมุตอะฮฺในระหว่างการพิชิตนครมักกะฮฺ และในระหว่างฮัจย์อำลาของท่านเมื่อพี่น้องมุสลิมได้มาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก ท่านจึงนำเอาคำสั่งห้ามในเรื่องนี้มากล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่ง

ตามทัศนะของอัล-นุหัสถือว่า การรับผิดชอบเป็นพ่อให้กับเด็กไม่มีอยู่ในข้อตกลงทำมุตอะฮฺ เพราะฉะนั้นตามที่อิบนฺ อะตียะฮฺ อัล-อันดะลูสีย์ระบุไว้ในตัฟซีรฺของเขาเกี่ยวกับการรับผิดชอบเป็นพ่อให้กับเด็กจึงเป็นเรื่องไร้หลักฐานและเป็นเท็จ อัล-นุหัสกล่าวว่ามุตอะฮฺเป็นซินาอฺหรือการผิดประเวณี เพราะมันเป็นข้อตกลงเพียงหนึ่งวันหรือเท่านั้นเท่านี้ ไม่มีอิดดะฮฺและไม่มีการรับมรดก นอกจากนี้ยังไม่มีพยานรับรู้ในการทำข้อตกลงอีกด้วย เพราะเหตุดังกล่าว ท่านอุมัร รอฎิฯ จึงขู่ที่จะประหารชายที่ทำมุตอะฮฺด้วยการใช้หินขว้างให้ตาย ทัศนะของอัล-นุหัส ท่านอัล-กุรฺตุบีย์ได้นำมาอ้างเอาไว้ด้วยเช่นกัน

อัล-กุรฺตุบีย์ยังกล่าวถึงบทลงโทษบุคคลที่ทำมุตอะฮฺ ท่านระบุว่าควรลงโทษผู้ทำมุตอะฮฺอย่างหนัก สุดท้ายท่านกล่าวว่าบรรดาอุลามะฮฺ ผู้พิพากษา เศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลฯ และบรรดาผู้สืบทอดของพวกท่านล้วนมีความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า คำสั่งอนุมัติให้ทำมุตอะฮฺตามที่อนุมานจากอายะฮฺ 4:24 นั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และมุตอะฮฺเป็นหะรอม( ต้องห้าม )ในทัศนะของอิสลามเพราะเหตุนี้ ( อัล-กุรฺตุบีย์, อัล-ญาเมี๊ยะอฺ อัล-อะหฺกาม อัล-กุรฺอาน, เล่ม 5, หน้า 129-132 )

อัล-คอซิน( อะลี อิบนฺ มุฮัมมัด )

อัล-คอซินอธิบายว่ามุตอะฮฺมีอยู่ในยุคต้นๆ ของอิสลาม และท่านนบี ศ็อลฯ ได้สั่งห้ามไม่ให้ทำตามรายงานของศ็อบเราะฮฺ บิน มะบาดซึ่งระบุว่าท่านนบี ศ็อลฯ กล่าวว่า "โอ้ประชาชนทั้งหลาย! ฉันได้อนุญาตให้พวกท่านทำมุตอะฮฺกับผู้หญิงได้ แต่อัลลอฮฺ สุบหฯ ได้ทรงห้ามมันจวบจนกระทั่งวันกิยามะฮฺ พวกท่านผู้ใดก็ตามที่แต่งงานกับผู้หญิงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เขาจะต้องมอบสิ่งที่เขาได้สัญญาไว้ให้แก่เธอ และจะเรียกร้องเอากลับคืนมิได้"

เพราะเหตุนี้อุลามะฮฺส่วนใหญ่ บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลฯ และผู้สืบต่อจากพวกเขาถือว่ามุตอะฮฺเป็นหะรอม และอายะฮฺ 4:24 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่พวกเขามีความเห็นไม่สอดคล้องต้องกันเกี่ยวกับที่มาของการยกเลิก คือยกเลิกตามสุนนะฮฺ( แบบอย่าง )ของท่านนบี ศ็อลฯ หรือว่ายกเลิกด้วยอัล-กุรฺอานอายะฮฺอื่น ผู้ที่เชื่อว่าสุนนะฮฺสามารถยกเลิกข้อความของอัล-กุรฺอานได้อาศัยหะดีษของท่านนบี ศ็อลฯ ตามรายงานของศ็อบเราะฮฺ บิน มะบาด และของท่านอะลี รอฎิฯ ที่ระบุว่าท่านนบี ศ็อลฯ ห้ามทำมุตอะฮฺในวันคัยบัรฺมาประกอบเป็นหลักฐาน ส่วนท่านชาฟิอีเชื่อว่าสุนนะฮฺไม่สามารถยกเลิกข้อความของอัล-กุรฺอานได้ แต่มันได้ถูกยกเลิกโดยอัล-กุรฺอานอายะฮฺอื่น นั่นคืออายะฮฺที่มีใจความว่า " และบรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้รักษาอวัยวะลับของพวกเขา(ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง) ยกเว้นกับบรรดาภริยาของพวกเขาหรือ(ทาสหญิง)ที่มือขวาของเขาครอบครองอยู่ ในกรณีเช่นนั้นพวกเขาจะไม่ถูกตำหนิ ( 23:5-6 ) "

ดังนั้นอัล-คอซินจึงกล่าวว่า ผู้หญิงที่รับทำมุตอะฮฺไม่นับว่าเป็นภรรยาและไม่ใช่กรณีแบบทาสสาว และตามทัศนะของอิบนฺ อับบาส มุตอะฮฺไม่ใช่การนิกะฮฺ( การแต่งงานแบบปกติ ) และไม่ใช่ซินาอฺ( การผิดประเวณี ) และชาย-หญิงที่ทำมุตอะฮฺต่างไม่มีสิทธิในมรดกของกันและกัน เมื่อท่านอิบนฺ อับบาสทราบว่ามีคนเยาะเย้ยคำตัดสินชี้ขาดของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านอธิบายว่าท่านอนุญาตมุตอะฮฺเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าท่านอิบนฺ อับบาสได้ยกเลิกคำชี้ขาดดังกล่าวของท่านในภายหลัง ตามรายงานของอฺะตะ อัล-คุเราะซานีย์ระบุว่า ท่านอิบนฺ อับบาสเชื่อว่าอายะฮฺที่ท่านถือว่าเกี่ยวข้องกับมุตอะฮฺได้ถูกยกเลิกโดยอายะฮฺที่มีใจความว่า " เมื่อเจ้าจะหย่าภรรยา ก็จงหย่าพวกนางตามกำหนด( อิดดะฮฺ )ของพวกนาง " ( 65:1 ) ซึ่งกำหนดของพวกนาง ณ ที่นี้หมายถึงสภาวะที่สะอาด( หรือไม่มีประจำเดือน )และไม่ได้ตั้งครรภ์

ตามรายงานของอับดุลลอฮฺ บิน อุมัรฺ ระบุว่าท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัร รอฎิฯ ได้ประกาศจากบนมิมบัรฺว่า " เกิดอะไรขึ้นกับประชาชนทั้งหลาย ถึงทำให้พวกเขาทำมุตอะฮฺ ทั้งๆ ที่ท่านนบี ศ็อลฯ ได้ห้ามมันแล้ว และฉันจะใช้หินขว้างชายที่ทำมุตอะฮฺให้ตาย " นอกจากนี้ท่านยังกล่าวเพิ่มเติมว่ามุตอะฮฺนั้นเป็นโมฆะโดยอายะฮฺที่เกี่ยวข้องกับนิกะฮฺ( การแต่งงานตามปกติ ), การหย่า, อิดดะฮฺและมรดก ท่านชาฟิอียืนยันว่าท่านทราบเพียงว่ามุตอะฮฺได้ถูกอนุมัติและได้ถูกสั่งห้าม ต่อมาได้ถูกอนุมัติอีกครั้งและก็ถูกสั่งห้ามไปอีกครั้งหนึ่ง ท่านกล่าวว่าเท่าที่ท่านทราบมาในอิสลามมีเพียงเท่านี้ ไม่มีอะไรอีกแล้ว

ตามทัศนะของอบู อุบัยดฺ ประชาคมมุสลิมมีความเห็นร่วมกันว่า โดยข้อเท็จจริงแล้วมุตอะฮฺเป็นสิ่งหะรอม และบรรดาอุลามะฮฺทั้งหมดในฮิญาซ, ซีเรียและอิรัคถือว่ามุตอะฮฺเป็นโมฆะโดยอัล-กุรฺอานและสุนนะฮฺ ดังนั้นจะอนุญาตให้มีมุตอะฮฺไม่ได้แม้ในกรณีจำเป็นก็ตาม

ดังกล่าวนั้นเป็นถ้อยแถลงของอัล-คอซิน และในตอนท้ายท่านได้อ้างถึงทัศนะของอิบนฺ อัล-ญะอูซีย์ ซึ่งท่านผู้นี้ได้กล่าวเอาไว้ในตัฟซีรฺอัล-กุรฺอานของท่านว่า อายะฮฺ 4:24 ไม่ได้อนุญาตเรื่องมุตอะฮฺ เพราะข้อความที่มาก่อนหน้าเป็นพระบัญชาของอัลลอฮฺ สุบหฯ ให้แสวงหาผู้หญิงมาแต่งงานโดยการมอบมะฮัรฺ( ของขวัญการแต่งงาน ) ด้วยปรารถนาความบริสุทธิ์ผุดผ่อง มิใช่การมักมากเสพกาม ข้อความอย่างนี้จะหมายถึงสิ่งอื่นไปไม่ได้ นอกจากนิกะฮฺหรือการแต่งงานตามปกติเท่านั้น

นักตัฟซีรฺจำนวนมากเสียเวลาไปกับการตีความอายะฮฺที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับมุตอะฮฺไปโดยไม่จำเป็น ขณะที่อิบนฺ อัล-ญะอูซีย์กล่าวว่า มุตอะฮฺเป็นเพียงสิ่งที่ท่านนบี ศ็อลฯ เคยอนุญาตให้กระทำได้และได้ถูกสั่งห้ามอย่างเด็ดขาดในที่สุด มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกกล่าวไว้ในอายะฮฺ 4:24 ดังที่กล่าวอ้างและเข้าใจกัน

กล่าวได้ว่าอัล-คอซินเห็นด้วยกับทัศนะของอิบนฺ อัล-ญะอูซีย์มากที่สุด ( อัล-คอซิน, ตัฟซีรฺ อัล-กุรฺอาน, เล่ม 1, หน้า 322 )

อิบนฺ กะษีรฺ( อิมาดุดดีน อะบี อัล-ฟิดา อิสมาอีล )

อิบนฺ กะษีรฺให้ความเห็นว่าอุลามะฮฺมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับความหมายของอายะฮฺ 4:24 มุตอะฮฺเคยได้รับอนุญาตให้กระทำได้ในสมัยต้นๆ ของอิสลาม และได้ถูกสั่งยกเลิกในภายหลัง ตามทัศนะของชาฟิอีและอุลามะฮฺกลุ่มหนึ่งระบุว่า มุตอะฮฺเคยเป็นที่อนุมัติสองครั้งและถูกสั่งห้ามสองครั้งเช่นกัน ขณะที่อุลามะฮฺอีกส่วนหนึ่งกล่าวว่าเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นมากกว่าสองครั้ง

อิบนฺ อับบาสและเศาะหาบะฮฺอีกหลายคนมีความเห็นว่า มุตอะฮฺเป็นที่อนุมัติสำหรับให้คนที่มีความจำเป็นจริงๆ ได้ตอบสนองความต้องการ อิบนฺ อับบาส, อุ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น