อัสลามมุอาลัยกุมวาเราะฮมาตุลลอฮิวาบารอกาตุ

ครับ...มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาชีวิต แต่ไม่ช้าก็เร็ว เขาก็ต้องได้พบกับความตาย ถึงแม้เขาจะทำอะไรเก็บไว้มากมาย แต่เมื่อความตายมาถึงมันก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเขาไม่ทันได้เตรียมตัว มนุษย์มักมีเป้าหมายที่จะสร้างความสำเร็จและความรุ่งเรืองขึ้นบนโลก แต่ความตายก็มาทำลายภาพลวงแห่งสำเร็จที่เขาได้วาดหวังไว้ ด้วยเหตุนี้ความตายจึงสอนเขาว่าเขาไม่มีอำนาจอะไรเลยก่อนตาย

เราจะต้องเรียนรู้ความจริงจากความตาย เพราะความลับของชีวิตถูกซ่อนไว้อยู่ในนั้น ความตายแสดงให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่นายของตัวเอง เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงชั่วคราวเท่านั้นโลกนี้มิใช่สถานที่สำหรับการทำให้ความฝันของเราเป็นจริง ความตายสอนให้เรารู้ว่าเราควรจะมีชีวิตอย่างไรมันบอกให้เรารู้ถึงหนทางไปสู่ความสำเร็จที่แท้จริงต่างหาก...!!!

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การลุกขึ้นละหมาดภายหลังละหมาดตะรอเวียะฮฺและละหมาดวิเตรฺในช่วงเดือนรอมาฎอนเสร็จแล้ว

ตอบโดย อ.ปราโมทย์  ศรีอุทัย

คำถาม

 กรณีในเดือนรอมฎอน มีการรวมกันละหมาดตะรอเวียะฮ์และวิเตรฺเสร็จแล้ว
หลังจากนั้นประมาณตีสาม จะมีการอาซาน เพื่อปลุกให้มาละหมาดร่วมกันที่มัสยิดอีก
อยากทราบว่า ละหมาดตอนตีสามเขาเรียกละหมาดอะไร มีแบบอยากจากนบี และบรรดาสาวกของท่านอย่างไรบ้าง?

คำตอบ

เรื่องการละหมาดญะมาอะฮ์(หรือทำคนเดียว)ที่เข้าใจกันว่าเป็นการละหมาดตะฮัจญุดหลังจากละหมาดตะรอเวี๊ยะห์และวิเตรฺเสร็จพร้อมอิหม่ามแล้ว(แถมมีการอะซานเรียกคนมาละหมาดด้วย)

ผมมองว่า นอกจากการละหมาดดังกล่าวนั้นจะเป็นการฝ่าฝืนคำ "ปราม" ของท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมแล้ว การอะซานเรียกคนมาร่วมในละหมาดนี้ยังเข้าข่ายอุตริกรรมในศาสนาอีกด้วย ..

ที่ผมกล่าวว่าเป็นการฝ่าฝืนการปรามของท่านศาสดา ก็เพราะเศาะหาบะฮ์ท่านหนึ่ง คือท่านอบูซัรฺร์ อัล-ฆิฟารีย์ก็เคยขออนุญาตจากท่านนบีย์หลังจากละหมาดตะรอเวี๊ยะห์และวิเตรฺเสร็จพร้อมท่านนบีย์ในคืนที่สองแล้ว เพื่อจะใช้เวลาที่เหลือของกลางคืนทำละหมาดสุนัตต่อไปอย่างที่พวกเราบางกลุ่มทำกันนี่แหละ แต่ถูกท่านนบีย์ปรามนิ่มๆว่า ก็ผู้ใดที่ละหมาดตะรอเวี๊ยะห์และวิเตรฺพร้อมอิหม่ามจนเสร็จ อัลลอฮ์ก็จะบันทึกผลบุญให้เขา "เท่ากับละหมาดทั้งคืน" อยู่แล้ว ..

ท่านอบูซัรฺร์ อัล-ฆิฟารีย์ ร.ฎ.ได้รายงานมาว่า ...

صُمْنَا، وَلَمْ يُصَلِّ بِنَا صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ حَتىَّ بَقِىَ سَبْعٌ مِنَ الشَّهْرِ، فَقَامَ بِنَا حَتىَّ ذَهَبَ ثُلُثُ اللَّيْلِ، ثُمَّ لَمْ يَقُمْ بِنَا فِى السَّادِسَةِ، وَقَامَ بِنَا فِى الْخَامِسَةِ حَتىَّ ذَهَبَ شَطْرُ اللَّيْلِ، فَقُلْنَا : يَا رَسُوْلَ اللهِ! لَوْ نَفَّلْتَنَا بَقِيَّةَ لَيْلَتِنَا هَذِهِ؟ فَقَالَ : إِنَّهُ مَنْ قَامَ مَعَ اْلإِمَامِ حَتىَّ يَنْصَرِفَ كُتِبَ لَهُ قِيَامُ لَيْلَةٍ ....

“พวกเราถือศีลอด และท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมก็ไม่เคยนำเรานมาซ จนกระทั่งเหลืออีก 7 วันของเดือนนั้น (คือจนถึงคืนที่ 23 ของเดือนรอมะฎอน) ท่านจึงนำพวกเรานมาซจนถึงหนึ่งในสามของคืน (คือถึงประมาณ 4 ทุ่ม), แล้วท่านก็ไม่นำเรานมาซในคืนที่ 6 (ที่ยังเหลือ) แต่ท่านได้นำเรานมาซอีกในคืนที่ 5 (ที่ยังเหลือ)จนผ่านไปครึ่งคืน พวกเราจึงกล่าวว่า ..โอ้ ท่านรอซู้ลุลลอฮ์, สมมุติถ้าท่านจะอนุญาตให้เรานมาซ(หรือนำเรานมาซ)ในครึ่งคืนที่เหลือนี้ของเรา (จะได้หรือไม่?) ท่านจึงตอบว่า .. “แท้จริง ผู้ใดที่นมาซพร้อมกับอิหม่ามจนเสร็จสิ้น เขาก็จะถูกบันทึก (ผลบุญ) ให้เท่ากับได้นมาซทั้งคืนอยู่แล้ว” ...
(บันทึกโดย ท่านอบูดาวูด หะดีษที่ 1378, ท่านอัน-นะซาอีย์ หะดีษที่ 1604, ท่านอัต-ติรฺมีซีย์ หะดีษที่ 806, ท่านอิบนุมาญะฮ์ หะดีษที่ 1327, ท่านอิบนุอบีย์ชัยบะฮ์ เล่มที่ 2 หน้า 286, ท่านอัฏ-เกาะหาวีย์ในหนังสือ “ชัรฺหุมะอานีย์ อัล-อาษารฺ” เล่มที่ 1 หน้า 349, ท่านอัล-บัยฮะกีย์ เล่มที่ 2 หน้า 494, ท่านอิบนุคุซัยมะฮ์ หะดีษที่ 2206 และท่านมุหัมมัด อิบนุนัศร์ ในหนังสือ “กิยามุรอมะฎอน” หะดีษที่ 17)

เพราะฉะนั้น สมมุติถ้าการละหมาดต่อไปในส่วนที่เหลือของกลางคืนเป็นที่อนุญาต ท่านนบีย์ก็คงไม่ตอบคำถามท่านอบูซัรร์ในลักษณะปรามอย่างนี้หรอกครับ เพราะเท่ากับท่านขัดขวางเศาะหาบะฮ์จากการกระทำความดีเพิ่มเติม

ซึ่งผมมองว่า คำตอบของท่านนบีย์ดังข้างต้น บ่งบอกเป็นนัยว่า ถ้าเขาจะกระทำความดีเพื่อต้องการผลบุญเพิ่มในเวลาที่เหลือของกลางคืนก็ให้เขาทำความดีอย่างอื่นแทนละหมาด เช่นอ่านอัล-กุรฺอานหรือซิกรุ้ลลอฮ์ เป็นต้น แต่ผลบุญละหมาดนั้น มัน "ไม่มีช่องว่าง" ที่จะใส่แล้ว เพราะพระองค์อัลลอฮ์บันทึกให้ "เต็ม" ทั้งคืนแล้ว

วัลลอฮุ อะอฺลัมครับ ..





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น